เรียนโดยลงมือทำ : ๖. AAR นักเรียนนักทำงาน และสร้างสรรค์


 

          บันทึกชุดเรียนโดยลงมือทำ รวม ๖ ตอนนี้ ตีความจากหนังสือ Who Owns the Learning? : Preparing Students for Success in the Digital Age โดย Alan November   ซึ่งผมตีความว่า เป็นเรื่องการใช้ digital technology ช่วยให้เกิด active learning หลากหลายรูปแบบ    ทำให้เปลี่ยนแปลงบทบาทของนักเรียน เป็นผู้ทำงานสร้างสรรค์ หรือสร้างความรู้เพื่อการเรียนรู้ของตน   ครูเปลี่ยนไปทำหน้าที่ โค้ช หรือ “คุณอำนวย” (learning facilitator)

          ตอนที่ ๖ ซึ่งเป็นตอนจบ    เป็นทบทวนสะท้อนความคิด (reflection)  หรือ AAR  หรือโยนิโสมนสิการ    ว่าหนังสือเล่มนี้บอกอะไรเราบ้าง

          หัวใจของเรื่องที่ผู้เขียน คือ Alan November สื่อคือ    ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ นี้ นักเรียนต้องย้อนกลับไป เรียนเหมือนสมัยที่สังคมยังเป็นสังคมเกษตรกรรม คือเด็กเรียนจากการทำงาน    เพื่อให้การเรียนรู้เป็น กระบวนการเรียนที่จริงแท้(authentic learning)    เกิดผลการเรียนแบบรู้จริง(mastery learning)    โดยเด็กสมัยก่อนเรียนโดยช่วยพ่อแม่ทำฟาร์ม    Alan November จึงเสนอโมเดลการเรียนรู้แบบทำฟาร์มสมัยใหม่   ที่เขาเรียก ดิจิตัล ฟาร์ม    คือใช้โลกดิจิตัล เป็นเครื่องช่วยให้นักเรียนทำงานเพื่อเรียนรู้ 

          จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ ชี้แนวทางทำงานที่หลากหลายให้นักเรียนจัดแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ ทำงานเป็นทีม    เพื่อเอื้อเฟื้อช่วยเหลือการเรียนรู้ในหมู่เพื่อนและเอื้อเฟื้อออกไปภายนอก กว้างขวางออกสู่โลกด้วย    เป็นการบ่มเพาะนิสัยและทักษะความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  และการเป็นพลเมืองโลก

          และแน่นอนว่า การเข้าไปฝึกฝนการใช้เทคโนโลยี ไอซีที  และใช้ตัวสารสนเทศที่ค้นได้ อย่างชาญฉลาดและรู้เท่าทัน    จะเป็นการวางพื้นฐานชีวิตที่สำคัญในอนาคต ที่ระบบเทคโนโลยีการสื่อสาร และโซเชี่ยลมีเดียจะก้าวหน้าไปในลักษณะที่คาดไม่ถึง    พื้นความรู้นี้จะช่วยสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้แก่นักเรียน

          นี่คืออีกรูปแบบหนึ่งของการเรียนรู้ ที่จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนบรรลุทักษะ ๓ร  ๑ว   คือทักษะการสร้างแรงบันดาลใจ  การเรียนรู้  ความร่วมมือ  การมีวินัยในตน    รวมทั้งทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ทั้งชุด

          จุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้สำหรับสังคมไทยคือ เขาเน้นที่การใช้เทคโนโลยี ไอซีที มากเกินไป    ละเลยเรื่องราวในชีวิตจริงที่นักเรียนเข้าไปทำงานได้มากมาย    เช่น (๑) เข้าไปดูแลความสะอาดเป็นระเบียบ เรียบร้อย ของโรงเรียน ในสารพัดแง่มุม    เพื่อช่วยกันทำให้เป็นโรงเรียนที่ร่มรื่นน่าอยู่น่าเรียน    ความเป็นระเบียบ เรียบร้อย และให้ความสุขนี้ตีความได้กว้างขวางมาก รวมทั้งสภาพบรรยากาศที่ปลอดการข่มเหงรังแก    มีที่เล่นออกกำลังกาย มีที่ให้ฝึกคุณลักษณะ (พหุปัญญา) เด่นพิเศษของแต่ละคน   (๒) เข้าเป็นทีมอาสาพัฒนา ชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ หรือตัวนักเรียนอาศัยอยู่    นี่ก็มีประเด็นให้ทำเพื่อการเรียนรู้มากมาย เช่น การจัดการขยะ  การดูแลสภาพแวดล้อม  การดูแลคนชรา ผู้พิการ ผู้ป่วย    การเป็นพี่เลี้ยงเด็กเล็ก   การจัดการป่าชุมชน  เป็นต้น  

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๕๗

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 562208เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2014 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2014 08:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท