จิตตปัญญาเวชศึกษา 200: ผิดไปแล้ว


ผิดไปแล้ว

บทความนี้ครบจำนวน ๒๐๐ ของกระทู้ "จิตตปัญญาเวชศึกษา" จึงเป็นวาระดิถีอันเหมาะสมที่จะทำการสะท้อนตนเองและบันทึกเอาไว้ศึกษาเรียนรู้ในอนาคต (และเริ่มจากปัจจุบัน)

เมื่อแรกเริ่มเดิมทีตอนเรียนจบแพทยศาสตรบัณฑิต ก็มาทำงานชดใช้ทุนที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จนกระทั่งได้สอบบอร์ดกลายเป็นศัลยแพทย์ ได้รับความเมตตาเชื้อเชิญชักชวนทำงานเป็นอาจารย์แพทย์ต่อ ณ​ ที่นี้ ตอนนั้นก็คิดว่าสิ่งที่เรารู้ในวิชาการน่าจะพอมีประโยชน์กับน้องๆแพทย์อยู่บ้าง ก็รับงานด้วยความดีอกดีใจ กอปรกับเป็นคนชอบพูดโดยมีคนฟังเยอะๆอยู่แล้ว การเป็นครูพร้อมๆกับการเป็นแพทย์ดูจะเป็นงานในอุดมคติ ดีใจที่อ่านมาเยอะ มีอะไรมาพูดให้น้องๆได้ฟัง ยิ่งตอนจะไปสอบ USMLE ยิ่งได้ลง basic sciences ยิ่งสนุก

ชั่วพริบตาเดียว ยี่สิบสองปีผ่านไป ได้มองย้อนผลงานของตนเอง ก็พบว่าเราได้ใช้เวลาอย่างไม่คุ้มค่าไปเยอะ

เพราะการแพทย์ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของชีววิทยา (biology) เท่านั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของแพทยศาสตร์เท่านั้น แต่งานที่เรารับมาทำนั้นคือ "ผลิตบัณฑิตแพทย์ให้สังคม" ต่างหาก ที่เป็นพันธกิจขององค์กรที่ใช้พระนาม "สงขลานครินทร์" เป็นสัญญลักษณ์ เป็นชื่อเรียก

ถึงแม้ว่าเราจะบอกกับตนเองว่า เราก็ได้พร่ำสอนจริยธรรม จรรยาบรรณ ในโอกาสที่มี แต่ก็เกิดคำถามว่าเราได้ทำดีที่สุดแล้วหรือไม่?

เพราะเมื่อมองดูจากสังคมในปัจจุบัน เกิดคำถามว่าสถาบันอุดมศึกษานั้น ได้ผลิต "บัณฑิต" เพื่อสังคมอย่างแท้จริง หรือเพื่ออะไรกันแน่? บางครั้งเมื่อถามนักศึกษาว่าถ้าหากมหาวิทยาลัยเป็นผู้ให้บริการ ถ้าอย่างนั้นใครเป็น "ลูกค้า" ปรากฏว่านักศึกษาส่วนหนึ่งจะตอบอย่างมั่นใจว่า "นักศึกษาเป็นลูกค้า" ที่มหาวิทยาลัยจะต้องบริการให้บรรลุเป้าหมาย ให้พึงพอใจ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด

แท้ที่จริงแล้ว มหาวิทยาลัยนั้นมี commitment ต่อ "ประชาชน ต่อสังคม ต่อประเทศ" ในการที่จะส่งผลผลิต (products) ที่ได้มาตรฐานสูง คือ "บัณฑิต" นั่นเองออกไป

ประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด ไม่สามารถการันตีว่าคนทุกคนจะได้เข้ารับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ (หรือการันตีสำหรับ "ทุกคนที่ปราถนา" จะเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา) แต่ยังต้องใช้เงินงบประมาณจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นเงินภาษีของคนทุกคนมา สิ่งที่เป็นหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาคือต้อง "คืนความยุติธรรมให้สังคม" บัณฑิตที่ผลิตออกมานั้น ได้รับเงินช่วยเหลือจากส่วนกลางอย่างมากมาย จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สังคม มีจิตสาธารณะ และสำนึกในหน้าที่ต่อสังคม ที่พวกตนได้เสพอภิสิทธิ์ที่ได้เข้ามาเรียนในที่ที่จำกัดนี้ได้

ดังนั้นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็คือ "ประสบการณ์ปลูกฝังและหล่อเลี้ยงจิตสาธารณะ และหน้าที่ของตนเองต่อสังคม" นอกเหนือไปจากความรู้ลงลึกในแต่ละสาขาวิชาชีพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในเฉพาะภายในหลักสูตรเท่านั้น แต่ต้องรวมไปถึงกิจกรรมนอกหลักสูตร วัฒนธรรมองค์กร จริยะในสังคม จริยธรรมวิชาชีพ

ผมพบว่าเท่าที่ผ่านมา ยังไม่ได้กระทำเรื่องเหล่านี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากแต่เป็นเพียง "เลือกกระทำ" เท่านั้น ไม่ได้กระทำโดยมีสติระลึกถึงความสำคัญในเรื่องนี้ตลอดเวลา ซึ่งมีผลต่อการแสดงออกทางภาษา ทั้งวจนภาษา และอวจภาษา น้ำเสียง ความหนักแน่นในการสื่อสาร และยังคงมีโอกาสที่สามารถกระทำได้แต่ก็ไม่ได้กระทำอีกมากมายนัก

ความจริงเรื่องนี้คึอสิ่งที่สะท้อนขึ้นมาจากประสบการณ์ทำงาน

ผมผิดไปแล้ว guilty as charge

แต่ทว่าก็จะขอเรียนรู้จากความจริงที่มองเห็นนี้ ว่าต่อไปนี้ เราจะต้องมีสติสัมปชัญญะว่า "การไม่กระทำ ก็คือการกระทำอย่างหนึ่ง" เช่นกัน ทุกๆครั้งที่เราไม่ได้สอน ไม่ได้ชี้แนะ ไม่ได้ตั้งโจทย์คำถามที่จะนำไปสู่การเพาะปลูก หล่อเลี้ยง จิตสาธารณะของน้องๆนักเรียน ก็เท่ากับเราไม่ได้ทำหน้าที่ครูที่ดี และกำลังทำร้ายน้องๆว่าที่บัณฑิตเหล่านี้ ทำร้ายสังคม ทำร้ายสถาบัน ทำร้ายประเทศ เราจะต้องใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด เพราะเราได้มาอยู่ในที่ที่มีอภิสิทธิ์ที่จะทำเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว

สกล สิงหะ

เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล รพ.สงขลานครินทร์

๑๒ นาฬิกา ๔๗ นาที วันจันทร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

วันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเส็ง

หมายเลขบันทึก: 561847เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2014 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2014 12:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท