"กานา..กับ..ปัญญาคน"


                                        

                                                  pic. from www.pixpros.net

             สมัยก่อนตอนเป็นเด็ก อยู่ในท้องทุ่งนา มักจะได้ยินเสียงอีกาเสมอ ทำไมต้องเรียกว่า "อีกา" ไม่รู้ หรือว่า กามีแต่ตัวหญิง ตัวชายไม่มีหรือ พูดให้เพราะได้ไหมว่า "คุณกา" ถ้ามีตัวชาย คงต้องเรียกว่า "ไอ้กา" แน่เลย คนในชนบทมักไม่ค่อยชอบไล่ล่ากา เป็นอาหาร เนื่องจากว่า เหม็นสาบ อีกอย่างกาก็มีนิสัยไม่ค่อยดี เพราะชอบกินลูกไก่ ไข่ไก่ ผู้คนจึงชอบแค่ไล่ให้ไปไกลๆ

               อีกทั้งรูปร่าง สีผัวเป็นสีดำ สีไม่เป็นมงคล สีแห่งความืดมน เหมือนเป็นนกแห่งความชั่วร้าย ที่จริงเหตุผลในสีอาจมิใช่อย่างที่ผู้คนจินตนาการกัน เพราะสีดำอาจพรางตัวได้หรือลดความร้อนได้ สิ่งที่โดดเด่นของมันคือ การร้อง มันชอบอวดสกุลตัวเองหรือชอบประกาศอยู่เองเสมอว่า "กาๆ" เคยเห็นสัญชาตญาณลูกไก่ เวลาได้ยินเสียงมันจะหลบหรือหมอบหาที่ซ่อน เพราะกลัวกามาขยุ้มไปกินหรือบางทีก็เข้าไปซุกปีกแม่เพื่อความปลอดภัย

               มีช่วงหนึ่งกาหายไปจากทุ่งนาเกือบ ๒๐ ปี เมื่อเดินทางกลับไปบ้านนา เริ่มเห็นกามากขึ้น เป็นฝูง ซึ่งทำให้รู้สึกดียังมีสัตว์สีดำย่ำอยู่ตามทุ่งนาอีกหน ทำให้ลูกไก่ได้เรียนรู้อันตรายจากเบื้องบน และทำให้สัญชาตญาณความกลัวไม่หายไป ย้อนไปไกลในอดีตสมัยเด็กป.๑ เราได้เรียน ก กา จากบทเรียนในตำรา ปิติ ชูใจ เจ้าโต ฯ กา มีตา ปู มีตา สองตา ฯ ยังจำได้มะครับ

               ในช่วงทำนาเวลาข้าวแก่จวนเหลือง นก กา หนู ฯ ชอบมาจิกกินเมล็ดข้าวก่อน ทำให้ชาวนาต้องไล่อยู่ประจำ แต่นั่นคือ อาหารของนก มันคงหนีไปไม่ไกล เพราะอาศัยข้าวที่ไม่ต้องซื้อ ไม่เหมือนชาวนาเกี่ยวข้าวแล้วยังต้องหาที่ขาย ที่จำนำอีก แถมไม่ได้เงินจำนำอีกแนะ สมัยก่อนทำนามิได้เพื่อขาย แต่ยุคนี้ทำนาหาเงิน แต่ไม่เคยรวย ยิ่งทำยิ่งมีหนี้ จนหนีไม่ออก ต้องกรอกยาฆ่าตัวตาย น่าสงสารกระดูกของชาติ

              วิธีหนึ่งที่ชาวนาป้องกันมิให้ข้าวถูกนกกินคือ "ทำหุ่นไล่กา" แต่ก่อนต้องไล่เอง จากนั้นก็ทำหุ่นแทนคน เพื่อให้นกหวาดกลัวหรือให้นกรู้ว่า "ฉันอยู่" พอหุ่นต้องลมทำท่าเหมือนขยับหัว มือ นกก็รู้แล้วบินไป แต่พอนานไปถึง ๑๐๐ ปี ชาวนาก็ยังคงใช้วิธีแบบเดิมคือ "ทำหุ่นจำลอง" เหมือนดั่งพ่อแม่สอนมา ไม่พัฒนาไปใช้รูปแบบอื่น ในขณะนก กา เริ่มพัฒนารู้กลเกมไล่ของชาวนาแล้ว มันก็ไม่กลัวอีกต่อไป แถมยังเป็นคอนเกาะอีก

                                              

              แสดงให้เห็นว่า ชาวนาทำนาแบบใดก็ยังทำแบบนั้น ไล่นก ไล่กา ก็ทำเหมือนเดิม ในขณะฤดูกาล สัตว์ แมลง วัฒนาไปไกลกว่าชาวนาอีก เวลาทำนาสมัยก่อนเดือนหกตกกล้า ไถนา ดำนา แต่ยุคนี้เวลาล่วงเลยไปแล้ว สัตว์ แมลง ที่เป็นศัตรูข้าวก็พัฒนาตนเอง ในขณะชาวนากลับย่ำอยู่กลับที่เหมือนเดิม ไม่พัฒนาชีพของตน ทำให้เกิดความทื่อในปัญญา ที่ดำเนินไปตามบรรบุรุษ จึงกลายเป็นชาวนาถูกหลอก ถูกเสนอด้วยข้อเสนอใหม่ๆ ของพ่อค้าหน้าเงินเช่น ค่าปุ๋ย รถไถ สีข้าว เกี่ยวข้าว จำนำข้าว ฯ จนชาวนาหน้าซื่อ ถือสัตย์จนเสียสัตว์ (ขายวัว ควายทิ้งหมด)

              เมื่ออีกาเริ่มฉลาดรู้กลไล่ของชาวนาแล้ว มันก็ไม่กลัวอีกต่อไป แต่ชาวนาก็ยังสร้างหุ่นไล่กาอยู่ดี อีก ๑๐๐ ปีต่อไป ชาวนาจะยังคงใช่หุ่นไล่กาหรือไม่ แล้วกาจะพัฒนาไปเช่นไร นี่คือ ปัญญากากับชาวนา ทางที่จะพัฒนาของชาวนาคือ เลิกทำนา หันมาทำเกษตรผสมผสาน แบบพอเพียงในตัวเอง..รับรองพ่อค้าคนกลางและประชาชนอดข้าว จะขอร้องให้ชาวนาทำข้าว ตอนนนั้น ชาวนาต้องมีข้อเงื่อนไขว่า ให้ชาวนาตั้งราคาข้าวเองได้เด็ดขาด มิฉะนั้น จะไม่ทำนาอีกต่อไป ซึ่งแนวโน้มเด็กยุคใหม่ไม่ค่อยทำแล้ว

             คนยุคใหม่ไม่รู้ความเหน็ดเหนื่อยของชาวไร่ ชาวนา เห็นแต่ข้าวในจานกับกับ หิวเมื่อไหร่ก็ซื้อกิน พออิ่มก็ลุกจากไป ข้าวสำเร็จรูปอยู่ในเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการอยู่รอด แต่ชาวนากลับเรียกร้องต้องการเงินตรามากกว่าข้าว นี่คือ ความสมเหตุสมผลที่น่าเวทนาและน่าสมเพช สังคมมนุษย์ไม่เท่าเทียมกันวันยันค่ำเพราะกำแพงเงินตรา เมื่อสังคมมีแรงขับจากสิ่งนี้ ทำให้ชาวนาก็ไขว่คว้าหาทางเท่าเทียมกับคนเมืองด้วย แต่ก็แพ้ทางคนเมืองอยู่ดี

             จะมีใครสักกี่คนจะเข้าใจจิตวิญญาณคำว่า "ชาวนา" ที่แท้จริง อย่างจริงใจ แม้แต่นกกา ยังแสวงหาผลประโยชน์จากแรงของชาวนาฝ่ายเดียว ชาวนาจึงเหมือนต้นแรง ต้นผลิต ต้นพลังงานของพลโลก แต่ผลลัพธ์ของพลังงานเหล่านี้กลับทำร้ายแรงชาวนาเองเช่น แก่เฒ่า เคล้าพิษ จิตม้วย ป่วยไข้ โรคร้ายสารพัด แต่มีแค่คำพูดปลอบโยนว่า ราคาข้าวจะสูงขึ้น หรือฝนจะมากกว่าปีกลาย หลอกจนหลอน นอนก็ไม่หลับ

             มีแต่อีกาเท่านั้นหรือคือ เพื่อนแท้ที่คอยดูแลท้องนาให้ มีหุ่นแทนไว้ลวงตา เหมือนดังว่า หลอกตาตัวเอง อีการู้แกว มันร้องแซวแว่วๆแล้วผ่านไป ชาวนาหน้าเศร้า มีแต่สิ่งรุมเร้าให้ทุกข์ระทม ขอแค่คนกินข้าวเข้าใจว่า ชาวนาคือ แรงงานของประเทศชาติ ถ้าขาดพวกเขาเราจะเอาแรงมากจากไหน หรือจะเปลี่ยนไปกินพิชช่า ขนมปัง หรือจะอยู่ชีพยั้งด้วยโรตี

            อีกาโปรดช่วยไล่นก ช่วยไล่กา อย่าอยู่นิ่ง จงกระตุ้นหุ่นไล่กา ให้อะเลิต ทำงานช่วยชาวนา อย่าดูดาย อย่าคิดแต่จะขายข้าว เอาเงินตรา เพื่อซื้อหาไอโฟน ไอแพคเลย ก่อนชาวนาจะสิ้นสลาย โปรดไล่หุ่นกา เป็นไล่หุ่นคนนะจ๊ะ คุณกา เผื่อชาวนาจะได้มีเวลาไปเข้ามหาวิทยาลัยด้านเกษตรวิทยา มาพัฒนาตนเอง

-------------<>---------------

 

คำสำคัญ (Tags): #ชาวนา
หมายเลขบันทึก: 561803เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2014 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2014 07:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

"อีกร้อยปี..ข้างหน้า"...รุ่นต่อๆไป.คงจะได้เห็น..แต่.."หุ่นยนต์ ทำนา"...อ้ะะ..หุ่นไล่กา..คงเป็นเพื่อนที่ดี..ของหุ่น..ยนต์ นะเจ้าคะ...ยายธี

พัฒนาปัญญาด้วยภาวนาปัญญาคน ขอรับท่านอาจารย์

มีปัญญา เกิดการพัฒนา นะคะ

ผมชอบข้อความตรงนี้มาก "...ทางที่จะพัฒนาของชาวนาคือ เลิกทำนา หันมาทำเกษตรผสมผสาน แบบพอเพียงในตัวเอง..รับรองพ่อค้าคนกลางและประชาชนอดข้าว จะขอร้องให้ชาวนาทำข้าว ตอนนนั้น ชาวนาต้องมีข้อเงื่อนไขว่า ให้ชาวนาตั้งราคาข้าวเองได้เด็ดขาด มิฉะนั้น จะไม่ทำนาอีกต่อไป..." ผมเห็นด้วยกับแนวทางการทำเกษตรผสมผสานมาก...แต่ตอนนี้หากถามชาวนาหรือให้ชาวนาเขาทำตาม เขาก็จะย้อนเราว่า

"ถ้าทำแบบที่คุณแนะนำมา มันจะทันกินเหรอ? เดี๋ยวนี้เขาไปถึงไหนกันแล้ว?" ผมเคยเขียนแนะนำไว้ว่า หากชาวนาจะสามารถลืมตาอ้าปากได้จะต้อง เริ่มต้นที่ เปลี่ยนแนวคิด หรือทัศนคติเสียก่อน คือ ต้องพึ่งตนเองให้มาก อย่าพึ่งภายนอก มั่นใจในแนวทางที่จะทำ หากไม่มีความมั่นใจหรือคิดว่ายากแล้ว ก็ยากที่จะแก้ปัญหาได้ เมื่อเปลี่ยนแนวคิดแล้ว ก็ต้องศึกษาเรียนรู้แนวทางการปฏิบัติตามที่ปราชญ์(ชาวบ้าน)แนะนำ จากนั้นก็นำมาปฏิบัติในสถานที่ของตน ค่อยปรับพัฒนาไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็หมดหนี้ไปเอง และยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาลหรือพ่อค้าคนกลาง ใช่ไหมครับ...

ถูกต้องมากเลยคุณพี่หนาน..ชาวนาต้องเรียนรู้อดีตที่เป็นบทเรียนแบบบรรพบุรุษที่ทำมา แล้วพัฒนาตัวเองให้ก้าวไกลกว่าพ่อค้าคนกลางหรือรัฐ..มิฉะนั้น ชาวนา (อาชีพของพ่อแม่ผม) ก็จะยังคงเป็นทาสของรัฐหรือพ่อค้าต่อไป..ชาวนาก็ยังคงเป็นหนี้ถาวร ส่วนเจ้าหนี้คือ ธกส. ก็ลอยนวนเสพทรัพย์ชาวนาอย่างสบาย ในหลวงแนะนำมาแล้ว และปราชญ์ชาวบ้านที่พลิกผันตัวเองที่ออกจากหลุมดำที่ซ้ำซากมาแล้ว จนกลายเป็นครูวิทยากรของชาวนา..

แต่ชาวนาอีกมากยังคงย่ำเหยียบในที่เก่าอยู่..น่าสงสารหรือน่าสมเพชที่ถูกรัฐหลอกลวง ถูกพ่อค้าคนกลางยกยอ หรือถูกพ่อค้าขายผลิตภัณฑ์เกษตรและปุ๋ยลวงจนหมดตัว..เหมือนพี่หนานกล่าวครับ.. จุดเปลี่ยนคือ.. เปลี่ยนความคิด มุมมอง โลกเปลี่ยนไป วิธีการก็ต้องเปลี่ยนแปลง เหมือนท่านว. วชิรเมธี กล่าวว่า เราจะเปลี่ยนประเทศอยู่ที่การเปลี่ยนความคิด ลองถามพ่อผาย สร้อยสระกลาง ดูก็ได้ ขอบคุณพี่หนานที่ให้แง่คิดนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท