ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๙๐. ระบบการจัดการงานวิจัยระบบสุขภาพ


 

          หนังสือ ๒ ทศวรรษบทเรียนการจัดการงานวิจัยระบบสุขภาพ  ช่วยให้ผมทำโยนิโสมนสิการ ระลึกชาติกลับไป ๒๐ ปี    สมทบการทบทวนไตร่ตรองงานของทีมงาน สวรส. ในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สวรส. ของ นพ. พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข    จัดทำออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้    น่าชื่นชมว่า เป็นกระบวนการสั่งสมความรู้ด้านการจัดการงานวิจัยที่ดี   

          ผมมีอุดมการณ์ว่า ไม่ว่าไปทำงานใด ต้องตีความและสั่งสมความรู้จากประสบการณ์ออกแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสังคมวงกว้าง    โดยเขียนหนังสือออกเผยแพร่    ดังนั้นการทำหนังสือเล่มนี้ออกตีพิมพ์ แถมยังให้ดาวน์โหลดได้ฟรี จึงถูกใจผมอย่างยิ่ง   

          ในหน้า ๒๙ ของหนังสือ เป็นเรื่องราวของกิจกรรม NEBT (National Epidemiology Board of Thailand)    หรือชื่อในภาคไทยว่า คณะกรรมการระบาดวิทยาแห่งชาติ    ที่แม้ผมจะทำงานอยู่ที่หาดใหญ่ และไม่มีพื้นความรู้เรื่องนี้เลย    แต่ก็โดน อ. หมอประเวศ ตามให้มาทำงานด้วย    เป็นพื้นความรู้ที่ผมได้เอาไปใช้งาน สมัยทำหน้าที่ ผอ. สกว.   ในบทนี้คุณหมอสมศักดิ์เล่าตกไป ว่า NEBT นี้เป็นที่มาขององค์กรถึง ๒ องค์กร    คือ สวรส. กับ มสช. (มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ) ที่คุณหมอสมศักดิ์ทำหน้าที่เลขาธิการในขณะนี้    โดยมีการตั้ง สวรส. ขึ้นใหม่   โดยการตรา พรบ. จัดตั้งตามที่เล่าในหนังสือ    และ อ. หมอประเวศกับ นพ. ไพโรจน์ นิงสานนท์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันมอบหมายให้ นพ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ไปจดทะเบียนมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติเก็บสำรองไว้     ต่อมาเมื่อรัฐมนตรีว่าการ  กระทรวงสาธารณสุขคนหนึ่ง คือคุณบุญพันธ์ แขวัฒนะ ไม่พอใจ อ. หมอประเวศ ต้องการเข้าไปรุกราน NEBT    จึงหอบสมบัติ หนีมาทำงาน มสช. จนปัจจุบันนี้

          การทำงานสร้างสรรค์เพื่อรับใช้สังคม ย่อมมีมารผจญได้เสมอ

           ผมจะไม่ทบทวนหนังสือเล่มนี้ทั้งเล่ม    ใครอยากรู้ไปอ่านเอาเอง    แต่จะตีความย้ำประเด็นที่ยังไม่ได้ระบุให้ชัดในหนังสือ    คือวิธีทำงานของ สวรส. ในช่วง ๒ ทศวรรษนี้   อยู่ในสภาพ Good impact at low cost    เพราะทำงานในระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว (complex-adaptive systems) เป็น     ไม่ตั้งตัวเป็นแหล่งทุนที่ไปสั่งการให้นักวิจัยทำงาน    แต่ทำงานแบบเชื่อมโยงเครือข่าย    ทำให้เกิดหน่วยงานย่อยๆ ที่ทำงานร่วมมือกับ สวรส.    แต่ไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชามากมาย    ที่เรียกในหนังสือว่า สถาบันภาคี  และ เครือสถาบัน (หน้า ๕๒ - ๕๔) 

          เครือข่ายเหล่านี้ส่วนใหญ่หาเงินมาทำงานจากภายนอก จากฝีมือการทำงานของตนเอง    และได้รับการสนับสนุนจาก สวรส. ในลักษณะร่วมมือทำงานให้ สวรส.   ไม่ใช่แบมือขอเงินฟรีๆ     การจัดการความสัมพันธ์กับเครือข่ายองค์กรเล็กๆ เหล่านี้แหละ ที่ผมถือว่าเป็นสุดยอดของการจัดการงานวิจัย    หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนวิธีการจัดการความสัมพันธ์ กับเครือข่ายเหล่านี้โดยละเอียด    ในบทที่ ๔ - ๗ ในลักษณะของการก่อเกิดและการดำเนินการของหน่วยงานภาคี    ซึ่งผมคิดว่า น่าจะได้มีการตีความลงลึก เพื่อสรุปไว้เป็นข้อเรียนรู้ว่า เพื่อให้เกิดเครือข่ายที่ทำงานรับใช้ประเทศชาติได้กว้างขวาง    หลักการหรือแนวความคิด รวมทั้งวิธีปฏิบัติต่อหน่วยงานเหล่านี้ ควรเป็นอย่างไร    และไม่ควรทำอย่างไร

          ได้ข่าวว่าตอนนี้ ผอ. สวรส. ท่านใหม่กำลังหาทางสลัดเครือข่ายเหล่านี้ออกไป    ผมทำนายว่าจะทำให้ สวรส. ยุคนี้มีผลงานตกต่ำ     แต่ก็ได้ข่าวแว่วๆ ว่า นักการเมืองที่บ้าอำนาจ เขาต้องการให้เป็นเช่นนั้น

          การจัดการงานวิจัยแบบที่คลาสสิคมากสำหรับ สวรส. คือ จัดการแบบ “ออกลูก”    คือให้กำเนิดหน่วยงานใหม่ ดังระบุในหนังสือแล้ว    หน่วยงานใหม่นี้มี ๒ กลุ่ม คือกลุ่มหน่วยงานเชิงนโยบาย หรือเชิงจัดการระบบใหม่    ได้แก่ สปสช., สสส.,    สช.  และ สรพ.    อีกกลุ่มหนึ่งหน่วยงานเล็กกว่ามาก แต่มีจำนวนมากกว่า คือเป็นหน่วยวิจัย    ได้แก่สถาบันภาคีและเครือสถาบัน ที่ระบุในหน้า ๕๓ - ๕๔   ที่มาของหน่วยงานใหม่กลุ่มแรกตอนต้นน้ำสุดๆ คือตอนอยู่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนา     น่าจะเป็นประสบการณ์การจัดการงานวิจัยและพัฒนาเชิงนโยบายที่มีค่ายิ่ง    แต่ไม่ได้รวบรวมไว้    ผมเอามาเสนอไว้ เผื่อในอนาคตมีคนคิดจัดทำหนังสือรวบรวมและสังเคราะห์ประสบการณ์ขึ้นอีก

 

หมายเหตุ

ผมส่งบันทึกนี้ให้คุณหมอสมศักดิ์อ่าน  และได้คำตอบดังนี้

อ่านแล้วไม่แรงหรอกครับ เรื่อง นักการเมืองบ้าอำนาจ อยากให้ผลงานตกต่ำ ความจริง อจ. อาจจะเห็นชัดที่สุดด้วยการใช้ประโยคนี้ 

 

มี 2 รายละเอียดที่อยากเพิ่มครับ

 

1 ตอนยุบ กก. ระบาด ปัจจัยใหญ่มาจาก ไม่พอใจ อจ. หทัย ที่ไปตามเปิดโปง เรื่องพยายามไปยอมบริษัทบุหรี่ เลยอ้างว่า มี สวรส. แล้วไม่ต้องมี NEBT  จะเพราะไม่พอใจ อจ ประเวศ ด้วยหรือไม่ ไม่ชัดเจน แต่ที่แน่ๆ เขาไม่พอใจ ที่ สำนักงานมีส่วนในการเผยแพร่ข้อความต่อต้าน สุจินดา เพราะมี fax จำนวนหนึ่ง ส่งจากเบอร์ fax office NEBT ในตอนนั้น (และคนที่ไปบอก นักการเมือง หรือช่วยค้นจนเจอว่า เบอร์ที่ว่ามาจากสำนักงานไหนใน กสธใ ก็คืออดีต รองปลัดฯ ที่เป็นลูก           ท่านหนึ่งนั่นแหละครับ

 

2. เรื่อง เครือสถาบัน ที่พงษ์พิสุทธิ์ ไปจัดระบบใหม่ จนกลายมาเป็นประเด็นให้ สมเกียรติมาแสดงอำนาจเหนือภาคีสถาบัน เป็นตัวอย่างหนึ่งของการคิดไม่ชัด ถึง ความสัมพันธ์ทางอำนาจ ระหว่าง เครือสถาบัน กับ สวรส. พูดง่ายๆ คือ แทนที่จะไปออกแบบ ให้เขามี autonomy กลับไปทำให้ อำนาจทั้งหมดไปรวมอยู่ที่ ผอ. สวรส. เลยทำให้           มาก่อความเดือดร้อนให้กับ เครือสถาบันได้ขนาดนี้ ซึ่งแน่นอนว่า จะไปโทษ พงษ์พิสุทธิ์ คนเดียวก็ไม่ได้ เพราะดูเหมือน เครือสถาบันจำนวนหนึ่งก็อยากให้มันใกล้ชิดกันมากๆ จะได้สร้าง security ให้กับทีมงาน ว่าเป็น พนง. สวรส ผมเพิ่งพูดกับ ถาวร และพงษฺพิสุทธิ์ไปว่า ผมชอบออกลูก ไม่ชอบออกดอก การตั้งเครือสถาบันแบบที่เป็นอยู่ เป็นการออกดอก พอต้นตาย หรือแย่ก็แย่ไปด้วย แต่ถ้าออกลูก ลูกก็ไปเติบโต หากิน ได้เอง พ่อแม่ ที่ดีก็จะไม่ทอดทิ้ง แต่คอยดูแล  แต่ก็อย่างว่าครับ บรรดา เครือสถาบัน ก็กลายเป็นลูกที่ไม่ยอมโตไปเหมือนกัน ถ้าเกิดให้ไปเป็นลูก แทนที่จะให้มาเป็น ดอก

 

สมศักดิ์

 

วิจารณ์ พานิช

๕ ม.ค. ๕๗  ปรับปรุง ๒๑ ม.ค. ๕๗

 

 

หมายเลขบันทึก: 560890เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2014 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2014 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ.หมอสมศักดิ์เปรียบเทียบได้เห็นภาพชัดมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท