สังเคราะห์ความเข้าใจของตนเองเรื่อง "การเรียนรู้วิถีพุทธ"


กระโดดมาทำงานด้านการเรียนรู้อยู่หลายปี มีความเข้าใจว่า ทุกอย่างล้วนแล้วแต่อยู่ในตำราพุทธทั้งสิ้น ... จับเอาหลักที่เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น มาแบ่งปัน ผิดถูกอย่างไร ท่านโปรดแก้ไขด้วยจักเป็นพระคุณครับ

มนุษย์มีองค์ประกอบ ๕ ประการ (ขันธ์ ๕) แบ่งได้ ๒ ส่วน ได้แก่ ส่วนรูปธรรม (รูป) คือ ร่างกายรวมทั้งสมอง และส่วนนามธรรม ได้แก่ “จิตใจ”(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ธรรมชาติของ “จิตใจ” ที่ครูจำเป็นต้องรู้ ๗ ประการ (ผู้เขียน) ได้แก่

๑) “จิตใจ” ทำหน้าที่ “รับรู้” เป็นส่วนสำคัญที่สุด มนุษย์ใช้ “ใจ” ฟัง ดู และรับรู้ หากไม่ตั้งใจฟัง ตั้งใจดู จะไม่รับรู้ ทำให้ไม่ได้เกิดการเรียนรู้

๒) “จิต” จะทำหน้าที่รับรู้ “อารมณ์” (สิ่งที่ถูกรู้) ได้เพียงที่ละอย่างเท่านั้น

๓) การเรียนรู้ของ “จิตใจ” จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเป็น “สมาธิจิต” คือมีการจดจ่อหรือตั้งมั่นเพื่อรับรู้ และเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสมาธิคือความผ่อนคลาย ความสุข หรือความชอบ

๔) “จิต” ทำหน้าที่คิด (ใช้สมองเป็นเครื่องมือ: ผู้เขียน) กระบวนการคิดเกิดขึ้นทั้งแบบไม่ “ไม่ตั้งใจ” หลังจากถูกเร้าหรือกระตุ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย หรือแบบ “ตั้งใจคิด” เกิดจาก “ใจ” (ใจสั่งสมองคิด: ผู้เขียน)

๕) การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างเป็นกระบวนการตั้งแต่ การรับรู้จากทวารทั้ง ๖ คือประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ทำให้เกิดการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย หรือการรับรู้ทางใจ (วิญญาณ) การรับรู้ด้วยความรู้เดิม (สัญญา) แล้วคิด (ปรุงแต่ง สังขาร) หรือพิจารณาเป็นเห็นเป็นผล ก่อนจะจดจำเป็นองค์ความรู้ในตน

๖) ทุกอย่างล้วนเกิดแต่เหตุ เราไม่สามารถบังคับ “จิตใจ” ได้จริง แต่สามารถฝึกได้ การสร้างเหตุปัจจัยที่เหมาะสมจะส่งผลดีต่อผู้เรียน

๗) องค์ประกอบสำคัญที่จำเป็นต้องมีในการพัฒนา “จิตใจ” ให้เกิดปัญญาและคุณธรรม คือ “สติ”(สตินั้นจำเป็นในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ)

พุทธธรรมกล่าวถึงเหตุที่เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาไว้ ๓ ทาง ได้แก่ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณา และปัญญาที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติ การฟังมาก อ่านมาก จะเป็นเหตุส่งผลให้เป็นคนมีความรู้มาก เป็นพหูสูตร เมื่อได้อ่านหรือได้ฟังแล้ว นำมาคิดพิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผลโดยแยบคายหรือมีโยนิโสมนสิการ จะทำให้เป็นผู้แตกฉานในหลักธรรมหลักทฤษฎี เป็นปราชญ์ราชบัณฑิต และถ้าได้ลงมือพัฒนาฝึกฝนตนเองด้วยการลงมือปฏิบัติภาวนา จะทำให้เกิดทักษะความสามารถและปัญญารู้เห็นตามจริงได้

หมายเลขบันทึก: 560226เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2014 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2014 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ปัญญาในการลบทำลายมีไหม

เพราะมีคนทำมันจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท