ปกเกล้าปกกระหม่อม


ปกเกล้าปกกระหม่อม(8)

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 00:00 น.

สุขาภิบาล ที่รัชกาลที่ 7 โปรดฯ ให้ฟื้นใหม่แต่ดัดแปลงเป็น “ประชาภิบาล” หรือ “เทศบาล” นั้น มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยเริ่มจัดที่ท่าฉลอม สมุทรสาครเป็นแห่งแรก ตรงนี้น่าจะต้องร้องเพลงท่าฉลอมของชรินทร์ประกอบเสียหน่อย จะว่าสุขาภิบาลท่าฉลอมเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบแรกของไทยก็ได้ แต่ไม่เหมือนท้องถิ่นตามความหมายทุกวันนี้เพราะราษฎรยังไม่มีสิทธิมีเสียง ปกครองตนเอง เพียงแต่มีกรรมการมีเจ้าหน้าที่ (แต่งตั้ง) ดูแลความสงบเรียบร้อย ตลาด ท่าเรือ ถนนหนทางเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น

รัชกาลที่ 7 ทรงคิดใหม่ว่าควรทำให้สุขาภิบาลที่เคยมีมาแล้วเข้มเข็งขึ้นโดยยกเป็น ประชาภิบาลและให้ราษฎรจัดการปกครองกันเองอย่างแท้ จริง โดยเฉพาะให้มีอำนาจทางการเงินการคลังการทำบัญชีจน “เลี้ยงตัวเองได้” มีอำนาจในการออกกฎระเบียบต่าง ๆ ใช้ในการปกครอง และมีอำนาจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นหูเป็นตาแทนราชการ ข้อสำคัญคือให้มีการเลือกตั้งคนขึ้นมาจัดการ ทำได้ดังนี้จึงจะเป็น Municipality แบบฝรั่ง

กระทรวงมหาดไทยและกรมร่างกฎหมายในเวลานั้นคงจะไม่เข้าใจพระราชประสงค์ จึงล่าช้าอยู่นาน ครั้นเมื่อทรงสอบถามกลับไปก็ได้คำตอบว่า ทำไม่เป็นเพราะขาดผู้แนะนำจึงโปรดฯ ให้มิสเตอร์เครกชาวต่างประเทศไปเป็นที่ปรึกษา แต่ก็ยังช้าอีก เมื่อสอบถามว่าไปถึงไหนแล้วก็ได้คำตอบว่า ไม่สู้จะเข้าใจรูปแบบนักเพราะเป็นของใหม่ ไม่เคยเห็น จึงโปรดฯ ให้ส่งคณะผู้แทนไปดูงานที่ชวา กลับมาก็ยังล่าช้า ทวงถามไปอีกก็ได้ความว่ามีราชการอื่นเร่งด่วนกว่า ล้วนแต่ถูกเสนาบดีเร่งรัดมาทั้งนั้น ได้มีพระราชดำริว่างั้นไม่ต้องรอกฎหมายแต่ให้ริเริ่มทดลองทำได้เลยที่ กรุงเทพฯ (เมืองใหญ่) นครปฐม (เมืองกลาง) และสมุทรสาคร (เมืองเล็ก) กระทรวงมหาดไทยไม่เห็นด้วย แย้งว่าถึงอย่างไรก็ต้องรอพระราชบัญญัติมิฉะนั้นจะหาระเบียบแบบแผนไม่ได้ หากผลีผลามจะยุ่งกันใหญ่ วันที่ 19 สิงหาคม 2473 ได้มีพระราชหัตถเลขาถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า

’ที่จะรอการพิจารณาเรื่องกรุงเทพไว้ก่อนจนกว่าจะทำพระราชบัญญัติสำเร็จนั้น ก็ดีแล้ว แต่ก็ควรคิดไปพลาง ๆ บ้าง เพราะข้าพเจ้าอยากเห็นกรุงเทพมี municipality และเลี้ยงตัวเองได้ก่อนข้าพเจ้าสิ้นชีวิตประชาธิปก”

คำว่า “คิดไปพลาง ๆ” คงหมายความว่าอะไรพอทำได้ก่อนให้ทำไปพลาง

เจอเข้าไม้นี้กระทรวงมหาดไทยก็เร่งร่างพระราชบัญญัติจนสำเร็จ แต่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาในชั้นเสนาบดีสภาและสภากรรมการองคมนตรีอีกยาว ในที่สุดจนถึง พ.ศ. 2475 ก็ยังไม่เรียบร้อย

พระราชประสงค์ที่จะทรงจัดให้มีผู้เข้ามาแนะนำช่วยเหลือราชการนั้นได้แสดงออก หลายครั้งต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ปรากฏว่าในบรรดาที่ปรึกษาที่มีก็ล้วน “คนนั้นไปทาง คนนี้ไปทาง” ต่างแนวความคิดกัน เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) องคมนตรีเคยถวายความเห็นว่าการมีหลายสภาที่ปรึกษายุ่งยากมาก ควรยุบอภิรัฐมนตรีสภา เสนาบดีสภา และสภากรรมการองคมนตรีเข้าด้วยกันเรียกว่าสภารัฐมนตรีจะได้เป็นเอกภาพ รัชกาลที่ 7 ทรงตอบว่า

“เป็นเรื่องที่กำลังดำริกันอยู่เหมือนกัน เท่าที่ได้ฟังความเห็นต่าง ๆ มาแล้วยังมีความเห็นแตกต่างกันมาก จะยุติเอาเป็นแน่ว่าอย่างไรจะเป็นผลดีหาได้ไม่ จึงยังได้รั้งรอไว้ก่อนเพื่อดำริให้รอบคอบ”

มีพระราชกระแสด้วยว่า “ถ้าอะไรไม่ดีมักจะติและโทษเอาพระองค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียวนั้น เป็นของธรรมดาไม่แปลกอะไร การสิ่งนี้ย่อมเป็นอยู่เสมอ พระเจ้าแผ่นดินจะต้องทรงถูกซัดทุกอย่าง แม้ดินฟ้าอากาศวิปริตไม่ต้องตามฤดูกาลก็ยังถูกซัด เป็นของธรรมดาที่จะต้องรับความซัดทอดเหล่านั้นด้วยขันติ ถ้าหากการที่ฉันได้ดำริจัดขึ้นได้ผลดี แม้จะไม่มีใครชมหรือหลงชมว่าเป็นความดีของคนอื่นก็หาโทมนัสไม่ ด้วยเมื่อทราบอยู่แก่ตนแล้วว่าสิ่งที่ได้จัดไปนั้นเป็นผลดีก็เป็นรางวัลอัน เพียงพอแล้ว”

พระราชหัตถเลขานี้ควรอ่านช้า ๆ หลาย ๆ ครั้ง แล้วจะเห็นว่าในเวลานั้นสถานการณ์กดดันพระเจ้าอยู่หัวเพียงใด และน้ำพระราชหฤทัยเป็นอย่างไร

ความคาดหมายว่ากระแสประชา ธิปไตยจะต้องเข้ามาในเร็ววันไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินกว่าใครจะนึกคิด ยิ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักเรียนนอกเสด็จต่างประเทศมาแล้ว และทรงพระอักษรหนังสือพิมพ์ต่างประเทศมาก ทรงฟังวิทยุข่าวสารเมืองนอก จึงทรงทราบได้ดี สิ่งที่ทรงพยายามทำคือการเตรียมรับมืออย่างสันติและรอบคอบ ได้มีพระราชหัตถเลขาไปถึงพระองค์เจ้าธานีนิวัติ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ (ต่อมาเป็นกรมหมื่นพิทยสาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรีในสมัยรัชกาลที่ 9) ว่าถ้าวันหนึ่งเราจะต้องเป็น democracy หรือประชาธิปไตยก็ควรเป็นให้ดี ถ้าคิดว่าจะต่อต้านได้สามารถรักษา absolute monarchy หรือสมบูรณาญา สิทธิราชย์ไว้ได้ก็แล้วไป แต่ถ้าต่อต้านไม่ได้ รักษาไว้ไม่ได้ ก็ควรเตรียมรับมือdemocracy ให้เข้ามาอย่างเรียบร้อยและราบรื่นเถิด

น่าคิดว่าทำไมจึงไม่มีพระราชหัตถ เลขาไปถึงกระทรวงกลาโหมหรือกระทรวงมหาดไทยให้จับกุม หรือตั้ง ศอฉ. เตรียมรับมือพวกคิดเปลี่ยนแปลง คำตอบน่าจะเป็นว่าไม่ทรงคิดว่าควรต่อต้านหรือจับกุมผู้มีความคิดเห็นในทาง เปลี่ยนแปลงแบบ “จัดหนัก” แต่ควรใช้แนวทางเตรียมรับมือให้ประชาธิปไตยบังเกิดขึ้นอย่างสันติและเรียบ ร้อยมากกว่า จึงทรงเลือกที่จะหารือเสนาบดีกระทรวงครู พูดง่าย ๆ ก็คือ ทรงคิดถึงการปรับปรุงหลักสูตร การให้ความรู้ การให้การศึกษา การเตรียมการในระดับโรงเรียนให้เด็กนักเรียนรุ่นใหม่มีความรู้ความเข้าใจ คนรุ่นเก่านั้นเป็น “ไม้แก่” เห็นจะดัดยากเสียแล้ว

ตอนต้นรัชกาล พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ ราชทูตไทยในปารีสเคยมีหนังสือกราบบังคมทูลรายงานเข้ามาว่านายปรีดี พนมยงค์ นักเรียนทุนนักเรียนหลวงกระทรวงยุติธรรมที่ไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสมี อาการกระด้างกระเดื่อง ทำท่าเหมือนจะเป็นผู้นำสหภาพแรงงานเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อไปจะเป็นภัยต่อการปกครองจึงขอให้เรียกตัวกลับทันที เจ้าพระยาพิชัยญาติ เสนาบดีกระทรวงยุติ ธรรมได้กราบบังคมทูลว่านายปรีดีจวนจะจบได้ปริญญาเอกแล้ว ถ้ากลับก็จะเสียอนาคต จะขอรับอาสาตักเตือนเอง รัชกาลที่ 7 จึงมีพระบรมราชานุญาตให้ศึกษาต่อไปจนสำเร็จการศึกษากลับมาทำราชการเป็นผู้ พิพากษาได้เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

ฉากต่อจากนี้ไปคงต้องตัดไปที่คนไทยในต่างประเทศซึ่งมองเข้ามายังประเทศชาติ บ้านเมืองของตนด้วยความเป็นห่วง ความรู้สึกนี้มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้วดังที่เคยกล่าวถึงเจ้านายและขุนนางจำนวนหนึ่งเคยมีหนังสือกราบบังคมทูล ขอให้ทรงแก้ไขธรรม เนียมการปกครองแผ่นดิน ต่อมาก็เริ่มรุนแรงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะปรากฏตัวอย่างในต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มตกต่ำลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ช่องโหว่ต่าง ๆ ก็มากขึ้นโดยเฉพาะการข่มเหงของเจ้าหน้าที่ ความไม่ลงรอยในบรรดาพระ บรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งต่างมีความรู้และมีความคิดเห็นของตนเองจนข้า ราชการชั้นผู้น้อยไม่รู้จะเดินตามใครถึงจะปลอดภัย

พวกนักเรียนไทยที่ไปเรียนอยู่ในฝรั่งเศสมีโอกาสพบปะกันบ่อยกว่าในประเทศอื่น จึงดูจะเป็นแกนนำพูดคุยถึงเรื่องปัญหาชาติบ้านเมืองมากหน่อย ราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 นักเรียนไทย 7 คนได้นัดแนะพบปะกันที่หอพักถนนซองเมอราด์ ในกรุงปารีสเพื่อคิดหาทางแก้ปัญหาประเทศ นักเรียนทั้ง 7 คนนี้เรียกว่าผู้ก่อการชั้นวางศิลาฤกษ์เชียวล่ะ ได้แก่

1. นายปรีดี พนมยงค์ มาเรียนกฎหมาย

2. นายร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ มาเรียนต่อที่โรงเรียนนายทหารปืนใหญ่

3. นายร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี นักเรียนทหารแต่มาเรียนรัฐศาสตร์

4. นายร้อยตรี ทัศนัย นิยมศึก มาเรียนต่อที่โรงเรียนนายทหารม้า

5. นายตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิทยาศาสตร์มาเรียนชั้นปริญญาเอกที่สวิตเซอร์แลนด์

6. นายแนบ พหลโยธิน มาเรียนกฎหมายที่อังกฤษ

7. หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) ผู้ช่วยเลขานุการทูตไทยประจำปารีส

ในเวลาต่อมาก็ได้ขยายแนวร่วมมากขึ้น โดยชักชวนนายทหารและพลเรือนที่ผ่านไปเรียนทางยุโรปหรือได้กลับมาพบปะที่ กรุงเทพฯ ให้มาหารือด้วย เช่น นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) นายควง อภัยวงศ์ เป็นต้น

การพบปะหารือในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นลับ ๆ หลายครั้งโดยวิธีลับ ลวง พราง ย้ายไปจัดที่โน่นที่นี่หลอกล่อรัฐบาลหลังจากที่คนเหล่านี้เดินทางกลับมาทำ งานในเมืองไทยแล้ว ราวปี 2474 ก็เป็นอันแน่ว่าได้ผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันไว้หลายคน และมีทั้งฝ่ายคุมกำลัง ถืออาวุธ ฝ่ายมันสมอง ฝ่ายออกทุนรอน รอแต่ว่าจะทำอะไรเมื่อใดเท่านั้น

ขณะนั้นความขัดแย้งในวงราชการค่อนข้างหนัก นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหมซึ่งทรงเสนออะไรมักถูกค้านจากกระทรวงพระคลังและกระทรวง อื่นจนน้อยพระทัยได้ลาออก พวกทหารยิ่งไม่พอใจรัฐบาลหนักหาว่าไม่เลี้ยง “คนดี” เชื่อฟังแต่พวก “ช่างพูด” พระองค์เจ้าบวรเดชเลยกลายเป็นฮีโร่ของนายทหารหนุ่ม ๆ เสนาบดีบางพระองค์ได้ครองตำแหน่งอภิรัฐมนตรีควบคู่กันจึงมีอำนาจมากขึ้น เสนาบดีกระทรวงพระคลังซึ่งดูจะเป็น “ก้างขวางคอ” คณะเสนาบดีหลายเรื่องเพราะมุ่งรักษาวินัยการคลังเกินไปก็อยู่ไม่ได้ต้องถูก “ปรับออก” เหล่านี้เป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ประดังเข้ามา

ลำพังเหตุแค่นี้ไม่ทำให้สถานการณ์สุกงอมหรอกครับ เพราะเห็นกันมาหลายปีจนชักชินแล้ว ครั้นพอได้ “โหราศาสตร์” เข้ามาสมทบอีกเหตุ ทีนี้ล่ะเป็นอุดมมงคลฤกษ์เชียวล่ะครับ! ประเทศไทยกับโหราศาสตร์ดูจะเข้าคู่กันมานานแล้ว ไม่เชื่อก็อย่าได้ลบหลู่เชียว!

มีพระราชกระแสด้วยว่า “ถ้าอะไรไม่ดีมักจะติและโทษเอาพระองค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียวนั้น เป็นของธรรมดาไม่แปลกอะไร การสิ่งนี้ย่อมเป็นอยู่เสมอ พระเจ้าแผ่นดินจะต้องทรงถูกซัดทุกอย่าง แม้ดินฟ้าอากาศวิปริตไม่ต้องตามฤดูกาลก็ยังถูกซัด เป็นของธรรมดาที่จะต้องรับความซัดทอดเหล่านั้นด้วยขันติ ถ้าหากการที่ฉันได้ดำริจัดขึ้นได้ผลดี แม้จะไม่มีใครชมหรือหลงชมว่าเป็นความดีของคนอื่นก็หาโทมนัสไม่ ด้วยเมื่อทราบอยู่แก่ตนแล้วว่าสิ่งที่ได้จัดไปนั้นเป็นผลดีก็เป็นรางวัลอัน เพียงพอแล้ว”

วิษณุ เครืองาม
[email protected]

 

หมายเลขบันทึก: 560144เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2014 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2014 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท