ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๘๑. เรียนรู้จากสี่ดรุณีนักถักทอ


 

          วันที่ ๒๐ ธ.ค. ๕๖ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทาง โครงการถักทอเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของจังหวัด ครั้งที่ ๓/๒๕๕๖ ของ สสค. 

          เหมือนไปเข้าโรงเรียน ทำความเข้าใจสังคมไทย ในระดับจังหวัด    ว่าเราเป็นสังคมแนวดิ่ง สังคมแยกส่วนที่มีหน่วยงานราชการในกรุงเทพ หรือส่วนกลาง เป็นผู้กำหนดและสั่งการ    รุนแรงอย่างไม่น่าเชื่อ

          ผมเรียกว่า เป็นสังคม ไซโล   หรือสังคมแยกส่วน    ส่วนใครส่วนมัน ไม่คุยหรือปรึกษาหารือกัน

          โครงการถักทอเครือข่ายในพื้นที่เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของจังหวัด ชื่อก็บอกแล้วว่า ต้องการยกระดับการเรียนรู้ของจังหวัด    เน้นการสร้างสรรค์แบบ area-based 

          สี่ดรุณีไปพบว่า พื้นที่จังหวัดไม่ได้ประสานเป็นหนึ่งเดียว    หน่วยงานในจังหวัดไม่ได้เอาความเจริญก้าวหน้าของจังหวัด เป็นที่ตั้ง    แต่มุ่งทำงานตามคำสั่งของหน่วยเหนือที่กรุงเทพเป็นหลัก

          ทำให้ผมได้เรียนรู้และตระหนักว่า ผมเป็นกบฏมาตั้งแต่ยังหนุ่ม และไปทำงานต่างจังหวัดที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    ผมทำตัวเป็นกบฏต่อหน่วยเหนือที่งี่เง่ามาตลอด    หากเขาสั่งหรือขอข้อมูลแบบงี่เง่า ผมก็จะไม่ส่งหรือไม่ทำตาม    และหากผมมีตำแหน่งสั่งการได้ ผมก็จะสั่งห้ามให้ข้อมูล    เป็นที่เอือมระอาของผู้บริหารที่อยู่เหนือผม    ตอนนี้ลูกกะโล่ของ รัฐบาลรักษาการที่ประชาชนไม่ยอมรับกำลังหาเรื่องกับคนที่เขาตราว่า กบฏ”    น่าจะมาจับผมด้วย เพราะผมเป็นเลือดกบฏแท้   แถมยังบริจาคเงินสนับสนุน กปปส. อีกด้วย 

          เลือดกบฏในสายโลหิตผมมันแรงจริงๆ    ลูกๆ จึงกบฏต่อผมด้วย    คือเขาเป็นตัวของเขาเอง    ไม่ทำตามใจพ่อแม่

          กบฏแปลว่าไม่ทำตามคำสั่งของหน่วยเหนือ หรือคนที่ถือว่ามีอำนาจสั่งการ    คนในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ควรเป็นกบฏทั้งแผ่นดิน   คือเราทำอะไรร่วมกันเพราะเราเห็นคุณค่าและเป้าหมายร่วมกัน    ไม่ใช่ทำตามคำสั่งแบบไร้ปัญญา หรือแบบเอาใจผู้เผด็จการ   

          กลับมาที่โคงการถักทอการเรียนรู้ในพื้นที่ ซึ่งในกรณีนี้คือในจังหวัด    สี่ดรุณี (เจือจันทร์ จงสถิตอยู่, ศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล, วลัยรัตน์ ศรีอรุณ, และ ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร) เขารับคำสั่งจาก ศ. นพ. ประเวศ วะสี ให้ดำเนินการทดลองถักทอภาคีในจังหวัด เพื่อยกระดับการศึกษาในจังหวัด    เป็นโครงการของ สสค. ที่มีหนุ่มน้อย ดร. ไกรยส ภัทราวาส เป็นผู้ประสานงาน

          สี่ดรุณีเลือกจังหวัดแม่ฮ่องสอน  กระบี่  และกาญจนบุรี    ได้ข้อเรียนรู้สรุปประโยคเดียวคือ    การถักทองานในพื้นที่จังหวัดมันยากและซับซ้อนกว่าที่คิดมาก    ต้องไม่ดูเบาความยากและซับซ้อนนี้    และต้องมีวิธีขับเคลื่อนต่อเนื่อง เพื่อถักทอให้ภาคีที่ร่วมงานกันยาก ค่อยๆ เข้ามาร่วมกัน    เพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่  

          หมายความว่า จะหวังให้กลไกในพื้นที่ถักทอกันเองนั้น    หวังได้บางส่วนเท่านั้น    ตัวโครงการต้องใส่กลไกของการถักทอ จากภายนอกจังหวัดเข้าไปด้วย

          แต่ที่ร้ายกว่านั้น หรือสำคัญยิ่งกว่านั้น    โครงการถักทอฯ ต้องหาทางดำเนินการให้หน่วยเหนือในกรุงเทพลด หรือระงับการสั่งการ    เปิดโอกาสให้กลไกในจังหวัดเขาคิดเอง ทดลองพัฒนาเอง    เขาก็จะหันไปหาภาคีร่วมมือในพื้นที่

          เป็นการเรียนรู้เรื่องการดำเนินการกระจายอำนาจ    ที่เป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปสังคมไทย

          ผมเคยบันทึกเรื่องโครงการถักทอเครือข่ายในพื้นที่ไว้ ที่นี่ และ ที่นี่  

 

 

วิจารณ์​ พานิช

๒๒ ธ.ค. ๕๖

 

 

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 559827เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2014 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2014 15:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

:)

เป็นกำลังใจให้อาจารย?นะครัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท