Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

การวิเคราะห์คุณค่าของงานฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในประเทศไทย (2)


พ.ศ.2556 นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์คุณค่าของงานฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในประเทศไทย”. ในการประชุมวิชาการแห่งชาติ ครั้งที่ 10 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน วันที่ 6-7 ธันวาคม 2556 จังหวัดนครปฐม.

4.คุณค่าด้านสัญลักษณ์แห่งพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เสนอรูปแบบธงสัญลักษณ์งานฉลองพุทธชยันตี ตามคำแนะนำของมหาเถรสมาคม เพื่อเผยแพร่ให้คณะสงฆ์หน่วยงานราชการ และพุทธศาสนิกชนทั่วไป ได้ใช้ประดับตกแต่งสถานที่ราชการ วัด และเคหสถาน ซึ่งขนาดของธงเท่ากับธงธรรมจักรทั่วไป พื้นสีเหลือง มีรูปใบโพธิ์รอบธรรมจักร ในวงธรรมจักรเป็นสีธงฉัพพรรณรังสี รูปธรรมจักร มีซี่ จำนวน 12 ซี่ หมายถึง ญาณ 3 ในอริยสัจ 4 มีชื่อภาษาไทยด้านล่างใบโพธิ์ ส่วนชื่อภาษาอังกฤษอยู่รอบวงธรรมจักร หากใช้ประดับในต่างประเทศ หรือสถานที่ระดับสากลสามารถสลับระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษก็ได้ โดยแบบธงสัญลักษณ์ได้ผ่านความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม (พระวิจิตรธรรมาภรณ์, 2555)

ภาพที่ 7 สัญลักษณ์แห่งพุทธชยันตี2,600 ปีแห่งการตรัสรู้

 

ความหมายของธงสัญลักษณ์แห่งพุทธชยันตี

ใบโพธิ์ หมายถึง การตรัสรู้แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สีเขียวแห่งใบโพธิ์ หมายถึง ความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ธรรมจักรกลางผืนธงฉัพพรรณรังสี หมายถึง รัศมีแห่งพระธรรมได้ฉายแสงเหนือผืนแผ่นดินไทย และส่องประกายไปยังนานาประเทศ จนประเทศไทยได้กลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก

กนกลายไทยชูช่อฟ้า หมายถึง ผืนแผ่นดินไทยรุ่งเรืองด้วยอารยธรรมแห่งชนชาติไทย ได้เชิดชูพระธรรมคำสั่งสอนของพระพระพุทธเจ้า ให้อำนวยประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ และจะดำรงอยู่คู่ผืนแผ่นดินไทยตราบชั่วกัลปาวสาน

 

5.คุณค่าด้านสถานที่จัดงาน

            ประเทศไทย ในฐานะที่เป็นดินแดนพระพุทธศาสนาที่สำคัญ ทั่วโลกยกย่องให้เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา รัฐบาลได้มีการจัดสร้างพุทธสถานที่สำคัญเกิดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ 2,500 ปีแห่งการตรัสรู้ ในพื้นที่ 2,500 ไร่ คือ พุทธมณฑล ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เมื่อปี พ.ศ.2498 รัฐบาลสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยความพร้อมใจของชาวพุทธทั้งประเทศได้ร่วมกันจัดสร้างปูชนียสถานขึ้นเป็นพุทธานุสรณีย์ เนื่องในวโรกาสมหามงคลกาลที่พระพุทธศาสนาเวียนมาบรรจบครบรอบ 2,500 ปี ซึ่งจะครบในวันวิสาขบูชา พ.ศ.2500 และเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2498 รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล การจัดสร้างพุทธมณฑลใช้เงินงบประมาณของรัฐและการบริจาคของประชาชน อีกทั้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้งานก่อสร้างพุทธมณฑลได้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้การก่อสร้างได้สำเร็จก้าวหน้าไปอย่างมาก

การก่อสร้างพุทธมณฑลได้ดำเนินการมาแล้วเสร็จสมบูรณ์ ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อสร้างองค์ "พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" สำเร็จ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประกอบพิธีสมโภช เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 และหลังจากนั้นก็ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมถาวรวัตถุต่าง ๆ ในพุทธมณฑลมาโดยตลอดเช่น มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน และ หอประชุม เป็นต้น (วิกิพีเดีย, 2556) วัตถุประสงค์ในการสร้างพุทธมณฑล ข้อที่สำคัญที่สุดคือ เป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณียสถาน ในวโรกาสที่พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทย เจริญรุ่งเรืองมาจนครบ 2,500 ปี ในปี พ.ศ.2500

คุณค่าของพุทธมณฑล คือ สถานที่ๆเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ในการจัดงานฉลองพุธชยันตีฯ มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่จากคณะสงฆ์ไทย คณะสงฆ์นานาชาติ และผู้นำชาวพุทธทั่วโลกกว่า 85 ประเทศ รวมทั้งมีการวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก เพื่อเป็นการประกาศเริ่มต้นการดำเนินงานที่ประเทศไทย ให้เป็น “ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก”

 

6.คุณค่าด้านวันสำคัญของโลก : วันวิสาขบูชา

หลังจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว จึงเผยแผ่พระธรรมคำสอน ไปยังประชาชนทุกชั้นวรรณะ ในชมพูทวีป แม้พระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว แต่พระธรรมคำสอนของพระองค์ ได้แพร่ขยายไปยังนานาประเทศทั่วโลก พระพุทธศาสนาจึงได้กลายเป็นศาสนาที่สำคัญของโลกศาสนาหนึ่ง จนกระทั่งองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่พระพุทธองค์ ประสูติ ตรัสรู้ และ ปรินิพพาน ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญขององค์การสหประชาชาติและเป็นวันแห่งการฉลองทั่วโลก โดยประกาศให้วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแห่งสากลโลก ตั้งแต่ปีพ.ศ.2542 เป็นวันหยุดของสหประชาชาติ เรียกว่าวัน “United Nations Day of Vesak” โดยให้เหตุผลว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ยิ่งให้ความเมตตาต่อมวลมนุษย์คือ เป็นผู้เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาได้องค์การสหประชาชาติจึงมีมติให้จัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาเพื่อเผยแพร่หลักธรรม ตลอดจนรักษาประเพณีอันดีงามของพุทธศาสนิกชนโลกโดยจัดให้มีการประชุมพุทธศาสนิกชนทั่วโลก พร้อมกิจกรรมฉลองทั่วโลก และในคราวประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก เมื่อปีพุทธศักราช 2548 ที่ประชุมมีมติให้จัดพิธีฉลองวันวิสาขบูชาโลกขึ้นในประเทศไทย โดยให้พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก ทั้งนี้ เพื่อให้ส่วนราชการทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรทางพระพุทธศาสนาได้ร่วมใจกันจัดงานวันวิสาขบูชาพร้อมกันทั่วประเทศ ในอันที่จะเผยแพร่หลักธรรมให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งแก่พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

คณะกรรมการจัดงานวิสาขบูชาโลก 14 ประเทศ ได้มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2555 เนื่องจากการประชุมคณะกรรมการฯ ที่ประชุมได้หารือกัน ถึงประเทศที่จะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมวิสาขบูชานานาชาติ 2555 ซึ่งถือว่า เป็นปีที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง อีกวาระหนึ่ง เนื่องจากเป็นปีที่ครบรอบ 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เนื่องจากในปี พ.ศ. 2555 นอกจากจะเป็นการถวายเป็นพุทธบูชาฉลอง 2600 ปี แห่งการตรัสรู้แล้ว ยังเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ประสานการจัดงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยเน้นบูรณาการการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่หลักธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้และทรงสั่งสอนไปสู่ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย อย่างกว้างขวาง รวมถึงกำหนดแนวทางในการจัดกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา อย่างถูกต้อง เหมาะสม

ในวันวิสาขบูชา ประจำปีพุทธศักราช 2555 เป็นวันสำคัญยิ่งเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นวันครบรอบ 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จึงร่วมกันจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2555 ฉลองพุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2555 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยในวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 เวลา 17.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด "งานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา ประจำปี 2555" อีกด้วย

7.คุณค่าด้านการตรัสรู้ต่อมนุษยชาติ

“เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ผู้ละบาปเสียแล้ว เมื่อนั้น เพราะเหตุที่ได้รู้แจ้งชัดธรรมพร้อมด้วยเหตุ ความสงสัยทั้งปวงของผู้นั้นย่อมสิ้นไป...”

หลังการตรัสรู้ของพระมหาบุรุษจนเป็นเหตุให้บังเกิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นในโลกนั้น พระองค์ได้เอ่ยพระโอษฐ์ตรัสสิ่งใดเป็นครั้งแรก ชาวพุทธจำนวนมากอาจจะหวนนึกถึง “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” เพราะเป็นปฐมเทศนาที่ตรัสสอนปัญจวัคคีย์ เมื่อครั้งตรัสรู้ได้ 2 เดือน แต่ที่จริงแล้ว ก่อนหน้านั้นพระองค์ได้ตรัสพระคาถาที่เรียกว่า “พุทธอุทาน” ได้แก่ พระพุทธพจน์ที่ยกมาข้างต้นนี้เอง เป็นพระพุทธอุทานครั้งแรกสุดที่ตรัสด้วยพระปีติสุขหลังเสวยวิมุติสุขจากการตรัสรู้อยู่ 7 วัน ณ ใต้ต้นโพธิพฤกษ์ (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ “พุทธคยา” เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย)

            สาระสำคัญแห่งพระพุทธอุทานนี้ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นแก่นธรรมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ คือ มรรคและผล “มรรค” ได้แก่ การละบาป การเพียรเผ่ากิเลส การเพ่งพินิจจนเกิดปัญญาเห็นแจ้งธรรม ส่วน “ผล” คือ ภาวะที่รู้แจ้งธรรมพร้อมทั้งเหตุ หมายถึง รู้แจ้งธรรมทั้งฝ่ายทุกข์และความดับทุกข์ (รู้ทุกข์ พร้อมทั้งเหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์พร้อมทั้งเหตุหรือหนทางสู่ความดับทุกข์) จนหมดสิ้นความสงสัยทั้งปวง

            หากจะทำความเข้าใจการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ในมุมของปุถุชนเช่นเราๆท่านๆ ก็กล่าวได้ว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจธรรมที่สอนให้เราทั้งหลายได้แนวคิดหลักในการดำเนินชีวิตว่า...

            ชีวิตเราเกิดมาย่อมมีทุกข์หรืออุปสัคปัญหาต่างๆ เป็นธรรมดา ข้อนี้เป็นสิ่งที่เรา “ต้องเข้าใจและยอมรับให้ได้”

            ทุกข์หรืออุปสัคปัญหาต่างๆนั้น ย่อมมีเหตุหรือที่มาของมัน ข้อนี้เป็นสิ่งที่เรา “ต้องค้นหาและละเหตุเสียให้ได้”

            ทุกข์หรืออุปสัคปัญหาต่างๆ ย่อมหมดสิ้นไปได้ ข้อนี้เป็นสิ่งที่เรา “ต้องตั้งเป้าไว้และก้าวไปให้ถึงให้ได้”

            ทางที่ทำให้ทุกข์หรืออุปสัคปัญหาต่างๆหมดสิ้นไปมีอยู่แน่ ข้อนี้เป็นสิ่งที่เรา “ต้องดำเนินไปให้ถูกทางให้ได้”

            คนจำนวนมาก เมื่อเจอทุกข์ มักจะยิ่งทุกข์มากขึ้นยกกำลังทวีคูณ บ้างก็ตีโพยตีพาย โศกเศร้าอาดูร บ้างก็ทำร้ายตนเองและผู้อื่น บ้างก็เกิดโรคในตนสารพัด ส่วนสำคัญก็เพราะยอมรับความเป็นจริงที่ว่า “ความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา” ไม่ได้ เพราะจิตใจกำลังถูกท่วมทับด้วยอาการแห่งทุกข์จนมืดแปดด้าน เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ยากจะมีความหวังว่า ความดับสิ้นแห่งทุกข์มีอยู่ หนทางแห่งความดับทุกข์มีอยู่ ตรงนี้เองเป็นปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติที่เป็นเหตุให้โลกของเรายังคงเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความรุ่มร้อนภายในจิตใจคนส่งผลสู่ความร้อนภายนอก ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมและสภาพแวดล้อมมากมายหลายรูปแบบ สันติภาพที่ยั่งยืนจึงยังคงเป็นเพียง “อุดมคติ” เท่านั้น สรุปคือ เสียหลักตั้งแต่ต้น ทำให้เสียศูนย์ จนต้อง “สูญเสีย” วนเวียนอยู่ร่ำไป

            อย่างไรก็ตาม ชาวพุทธผู้ดำเนินตามรอยพุทธธรรมถือว่า “โชคดี” ที่สุด เพราะอย่างน้อยที่สุดไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ยังมีหลักคิดไว้ “ทำใจ” ยอมรับกับความจริงที่เกิดขึ้นให้ได้ว่าเป็น ธรรมดา และมีหลักคิดว่าต้อง “ทำดี” เชื่อมั่นว่าทุกปัญหามันมีทางออกของมันและหนทางที่จะไปสู่ความสิ้นปัญหานั้นได้ต้องอาศัยพลัง “ความดี” เท่านั้น

            แก่นธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสรู้จึงก่อให้เกิดหลักคิดหลักธรรมเพื่อเป็นหลักให้ “ทำ”2 ประการสำคัญที่จะนำสู่สันติสุขแก่ชีวิตและสันติภาพอย่างยั่งยืนได้ นั่นคือ “ทำใจ” (เข้าใจสัจธรรม) และ “ทำดี” (มีคุณธรรมจริยธรรม) นั่นเอง นี่คือคุณค่าอันสำคัญประการแรกของการตรัสรู้ที่ส่งผลให้มนุษยชาติมีหนทางสู่สันติสุขได้ด้วยตนเอง

            คุณค่าแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากทำให้ชาวพุทธผู้ศรัทธาและศึกษาปฏิบัติตามได้หลัก “ทำใจ” (เข้าใจสัจธรรม) และ “ทำดี” (ปฏิบัติธรรม) ก็คือ ความเป็น “ศาสตร์” และ “ศิลป์”เพื่อชีวิตและสันติสุขอย่างแท้จริง แก่นสำคัญของศาสตร์นี้ คือ “การพัฒนาคน” จาก “ปุถุชน” สู่แนวทางแห่ง “กัลยาณชน” เพื่อเข้าถึงความเป็น “อริยชน” โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิตใจมากกว่าการพัฒนาทางด้านวัตถุหรือร่างกาย แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่สนใจเรื่องด้านกายภาพเอาเสียเลย เพียงแต่ให้ความสำคัญเน้นหนักเรื่องด้านจิตใจมากกว่า เพราะที่สุดแล้วสุขหรือทุกข์ก็อยู่ที่จิตใจเป็นสำคัญ (ญาณภัทร, 2555)

 

8.คุณค่าด้านความเป็นพุทธศาสนา

            การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีคุณค่าทั้งในแง่เป็นที่มาของหลักธรรมเพื่อชีวิตและเป็นศาสตร์และศิลป์เพื่อการพัฒนา  และหากจะสรุปภาพรวมของคุณค่าแห่งการตรัสรู้นั้นก็คือ การเป็นบ่อเกิดแห่ง “พุทธศาสนา” ซึ่งเป็นหนึ่งในศาสนาสากลที่มีผู้นับถือไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมดทั้งที่นับถือโดยการประกาศตนเป็นชาวพุทธและโดยการถือหลักปฏิบัติตามวิถีพุทธธรรมและมีวัฒนธรรมแบบพุทธ

            การเกิดขึ้นของพุทธศาสนานั้นมีลักษณะเป็นพัฒนาการนับตั้งแต่การตรัสรู้เป็นต้นมา โดยในระยะแรกของการตรัสรู้นั้น คำว่า “พุทธศาสนา” ยังไม่ปรากฎ สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ อริยสัจ 4 นั้น เรียกว่า “ธรรม” ซึ่งเป็นคำที่มีใช้อยู่ก่อนการตรัสรู้แล้ว ต่อมาทรงสั่งสอนธรรมในรูปแบบที่เป็นหลักประพฤติปฏิบัติอันประเสริฐ เรียกว่า “พรหมจรรย์” ผู้ที่ออกบวชเป็นพุทธสาวกในยุคต้นนั้นจึงเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่เมื่อมีผู้ออกบวชมากขึ้นเรื่อยๆ เหตุจูงใจให้บวชแตกต่างกันไป รวมทั้งความเข้าใจในหลักปฏิบัติพรหรมจรรย์ก็ผิดแผกแตกต่างกัน มีการปฏิบัติผิดหลักพรหมจรรย์เกิดขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติ “วินัย” เป็นกฎกติกาเพื่อเป็นเครื่องป้องกันความเสื่อมเสียต่างๆ ปรับโทษผู้กระทำความผิด สร้างความเป็นเอกภาพ ความสง่างามและความผาสุกแห่งสงฆ์ โดยเรียกกริยาที่ล่วงละเมิดวินัยนั้นว่า “อาบัติ” สิ่งที่พระองค์ทรงสั่งสอนในยุคนั้นจึงเรียกว่า “ธรรมวินัย”

            หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เหล่าพระสงฆ์พุทธสาวกก็ได้สืบทอดพระธรรมวินัยมาโดยลำดับ นับตั้งแต่มีการทำสังคายนาครั้งแรกหลังพุทธปรินิพพานล่วงไป 3 เดือน เพื่อร้อยกรองพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงสั่งสอนให้เป็นหมวดหมู่ โดยในครั้งนั้นยังคงจำแนกเป็น “ธรรม” และ “วินัย” แต่ถัดจากนั้นเมื่อมีการสังคายนาครั้งต่อๆมา พระธรรมวินัยก็ถูกจัดเป็นหมวดๆ แบ่งเป็น 3 หมวด เรียกว่า “พระไตรปิฎก” ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎกและนิยมเรียกพระธรรมวินัยที่บรรจุในพระไตรปิฎก(ด้วยภาษามาคธีหรือภาษามคธ)นั้นว่า “พระบาลี” หมายถึง “พระพุทธพจน์ที่รักษาสืบทอดมาโดยลำดับ” ( “บาลี” เป็นชื่อเรียกภาษามคธในความหมายว่าเป็นภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ ภาษาบาลีจึงเป็นภาษาที่ใช้เฉพาะในพุทธศาสนา)  

            เมื่อมีการสืบทอดหลักปฏิบัติต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ความเป็นศาสนาเหมือนอย่างลัทธิศาสนาอื่นๆ จึงค่อยๆ มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีองค์ประกอบแห่งความเป็นลัทธิศาสนาสมบูรณ์ ได้แก่ มีศาสดา ศาสนธรรม ศาสนิก ศาสนพิธีและศาสนวัตถุ คำว่า “พุทธศาสนา” จึงถูกเรียกโดยแพร่หลาย แต่เดิมความเป็นพุทธศาสนานั้นมีลักษณะเป็นจารีต คือ การถือปฏิบัติตามธรรมวินัยโดยมีรูปแบบของศาสนิกที่จำแนกมาตั้งแต่ต้น 2 แบบ คือ ผู้ครองเรือน(ฆราวาส)หรือคฤหัสถ์ ได้แก่ อุบาสกและอุบาสิกา และผู้ออกบวชจากเรือนหรือบรรพชิต ได้แก่ สามเณร สามเณรี ภิกษุและภิกษุณี การปฏิบัติก็ไม่เน้นพิธีกรรมทางศาสนาแต่เน้นการถือปฏิบัติธรรม เช่น การบำเพ็ญทาน การรักษาศีลและการเจริญภาวนา    

            ต่อมาเมื่อปัจจัยทางสังคมเข้ามามีบทบาทต่อการปฏิบัติตามแนวจารีตมากขึ้น พุทธศาสนาถูกเผยแผ่ไปในสังคมต่างๆ แพร่หลายขึ้น มีการแข่งขันด้านมวลชนผู้นับถือลัทธิต่างๆ มากขึ้น พิธีกรรมและสัญลักษณ์ทางวัตถุมากมายจึงค่อยๆ เกิดขึ้นควบคู่กับความเชื่อเรื่องโชคลาง ความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อเรียกศรัทธาและสร้างเอกลักษณ์ทางศาสนา การปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนจำนวนมากจึงถูกหล่อหลอม ปรับปรุงและผสมผสานกับความเชื่อต่างๆ มีการสร้างสรรค์พิธีกรรมและวัตถุตามความเชื่อควบคู่กับการเผยแผ่ธรรม การนับถือและปฏิบัติทางศาสนาจึงมีลักษณะเป็นวัฒนธรรมที่ถูกถ่ายทอดควบคู่กับวิถีชีวิตทางสังคม กลายเป็นพุทธศาสนาในรูปแบบวัฒนธรรมหรือลักษณะประชานิยมนั่นเอง (ญาณภัทร, 2555)

 

บทสรุป

นับตั้งแต่พระสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อ 2600 ปีมาแล้ว พระธรรมคำสอนอันประเสริฐที่ได้จากการตรัสรู้ของพระองค์ ยังเป็นเครื่องช่วยนำบุคคลให้ข้ามพ้นจากความมีชีวิตธรรมดา ขึ้นไปสู่สิ่งซึ่งมีคุณค่ายิ่งกว่าชีวิต จนถึงทุกวันนี้ เมื่อวาระสำคัญเวียนมาบรรจบอีกศตวรรษหนึ่ง ประเทศที่มีประชาชนนับถือพุทธศาสนาจึงจัดฉลองกันโดยทั่วไป คล้ายกับที่เคยฉลองครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ หรือ พ.ศ. 2500 มาแล้ว ในครั้งนั้นกำหนดนับวันที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน หรือ พ.ศ. 1 เป็นวันเริ่มต้นแห่งการฉลอง แต่ครั้งนี้กำหนดนับวันที่ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นวันฉลองครบรอบที่สำคัญนี้เรียกเป็นสากลว่า Sambuddha Jayanti 2600 ภาษาไทยคือ สัมพุทธชยันตี 2600 ปี และมหาเถรสมาคม เรียกว่าพุทธชยันตี 2600 ปี

พุทธชยันตี คือวันที่พระพุทธองค์มีชัยชนะเหนือหมู่มารและตรัสรู้เมื่อ 2600 ปี ณ ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้ที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ คือ พระมหาเจดีย์พุทธคยา ตำบลคยา เมืองคยา รัฐพิหาร อินเดีย โดยมีต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นสัญลักษณ์ตั้งอยู่ และเป็นศูนย์รวมชาวพุทธทั่วโลก

หลังจากตรัสรู้ พระพุทธองค์เผยแผ่พระธรรมคำสอนไปยังประชาชนทุกชั้นวรรณะในชมพูทวีป และพระธรรมคำสอนนั้นได้แพร่ขยายไปยังนานาประเทศทั่วโลก กลายเป็นศาสนาที่เก่าและสำคัญของโลกศาสนาหนึ่งถึงปัจจุบัน จนกระทั่งองค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่พระองค์ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เป็นวันแห่งการฉลองทั่วโลก เรียกว่าวัน United Nations Day of Vesak และคณะกรรมการจัดงานวิสาขบูชาโลก 14 ประเทศ ได้มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย. 2555 ซึ่งเป็นวันฉลองสัมพุทธชยันตี 2600 ปี ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา จึงจัดเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่

รัฐบาลไทยได้ประกาศให้มีการเฉลิมฉลองใหญ่ตลอดปีพุทธศักราช 2555 นี้ อย่างเป็นทางการโดยสั่งการและสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการและดำเนินการจัดงานอย่างจริงจัง ทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ เน้นหนักด้านการปฏิบัติบูชา และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนโดยให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติธรรมในหมู่พุทธศาสนิกชน มุ่งให้มีการฟื้นฟูวิถีชาวพุทธตั้งแต่ระดับครอบครัว และชุมชนอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และยั่งยืน อันจะเป็นการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี และเกิดความมั่นคงต่อประเทศชาติบ้านเมือง

 

เอกสารอ้างอิง

 

กรมประชาสัมพันธ์ 9 . 2556. เว็บไซต์พุทธชยันตี http://www.buddhajayanti.net. คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การจัดงานฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า.

ญาณภัทร ยอดแก้ว. 2555. คอลัมน์พิเศษ : มรน. ร่วม ฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้. ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.

พระจรัส ฤทธิ์ธา. 2548. การวิเคราะห์คุณค่าภูมิปัญญาในจุลกฐิน . พิษณุโลก: วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยนเรศวร.

พระเทพวิสุทธิกวี (เกษม). 2555. พุทธชยันตี 2600 ปีการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า. แหล่งที่มา: http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=5877:-q-q-&catid=145:buddhajayanti&Itemid=398.

พระปลัดประเสริฐ อานนฺโท (ชูศรี) . 2553.ศึกษาวิเคราะห์คุณค่าและความสำคัญของปฏิรูปเทสในพระพุทธศาสนาเถรวาท. กรุงเทพมหานคร: วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) 2555. พุทธชยันตี. แหล่งที่มา: http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=5813:2012-05-10-15-59-57&catid=145:buddhajayanti&Itemid=398.

พระอุบล กตปุญโญ (แก้ววงศ์ล้อม) . 2536.การศึกษาเชิงวิเคราะห์คุณค่าของศีลที่มีต่อสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร: วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

วิกิพีเดีย. 2556. พุทธมณฑล. แหล่งที่มา:http://th.wikipedia.org/

วิชัย นนทการ. 2552. การวิเคราะห์คุณค่าและบทบาทของวัดในฐานะแหล่งเรียนรู้ของชุมชนไทย: กรณีศึกษาวัดไทยลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา. ชลบุรี: วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยบูรพา.

ศ.นพ.ประเวศ วะสี. 2546. ยุทธศาสตร์พระพุทธศาสนากับการพัฒนาประเทศไทย.  แหล่งที่มา: http://www.prawase.com/images/book/000000_PW_PB29.pdf

ศ.พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ . 2555. 2600 ปี พุทธชยันตี หมายความว่าอะไร. แหล่งที่มา: http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=5876:-q-q-&catid=145:buddhajayanti&Itemid=398.

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ . 2555. รัฐบาลทุ่ม 130 ล้านบาท จัดงานพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2555 . แหล่งที่มา: http://www.nsc.go.th/index.php?option=com_content&task=view&id=1072&Itemid=42

 

 

หมายเลขบันทึก: 559826เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2014 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2014 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท