สรุปการสัมมนา The 34th Thailand TESOL International Conference


“21st Century English Language Education: Towards Global Citizenship”  ระหว่างวันที่ 17-18 มกราคม 2557
ณ  โรงแรมดิเอมเพรส อ.เมือง จ.เชียงใหม่

1. ประเด็นสำคัญจากเนื้อหา/องค์ความรู้ที่ได้รับจากการไปราชการฯดังกล่าว

             การสัมมนาวิชาการของสมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ มีประโยชน์ต่อการพัฒนาความรู้ด้านการเรียนการสอนและการวิจัยของดิฉันในฐานะอาจารย์สอนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเวทีการนำเสนอผลงานวิจัยของผู้สอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยและจากประเทศอื่นๆ ที่ใช้ภาษาอังกฤษ ได้ทราบแนวโน้มของงานวิจัยด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษปัจจุบันนั้นเน้นความหลากหลายของการใช้ภาษาอังกฤษในบริบทนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ภาษาอังกฤษในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ผู้ใช้ภาษาอังกฤษไม่ใช่เจ้าของภาษาแต่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสารและเพื่อการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ มีเนื้อหาที่น่าสนใจจากการบรรยายดังต่อไปนี้

            1. การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยควรกระตุ้นให้ผู้เรียนได้ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ในยุคข้อมูลสารสนเทศ ยังมีความสำคัญต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการค้าในภูมิภาคอาเซียน โดยวิทยากรเปิดการประชุม ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ได้แนะนำให้ครูผู้สอนภาษาอังกฤษเร่งปรับปรุงการเรียนการสอนให้ทันสมัยเพื่อสร้างเยาวชนไทยให้มีความสามารถภาษาอังกฤษที่ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน

            2. การเรียนการสอนทักษะการเขียนโดยผู้สอนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา บรรยายโดย Dr. Paul Kei Matsuda (Arizona State University, USA) กล่าวถึงความเชื่อในการสอนการเขียนว่าเป็นทักษะที่ยาก และต้องสอนโดยเจ้าของภาษาเท่านั้น อย่างไรก็ตามครูที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาสามารถสอนการเขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพหากมีการฝึกฝนและวางแผนการสอน การใช้กลวิธีต่างๆ และการจัดกิจกรรมอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังมีข้อได้เปรียบกว่าเจ้าของภาษาเนื่องจากเข้าใจว่านักเรียนมีปัญหาด้านภาษาอย่างไรเมื่อเรียนในฐานะภาษาที่สองหรือภาษาต่างประเทศ  

            3. การวัดและประเมินผลสำหรับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในยุคศตวรรษที่ 21 ที่เน้นการเรียนรู้และการประเมินด้วยตนเอง โดย Dr. Icy Lee(Chinese University of Hong Kong) การวัดและประเมินผลมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทในการเรียนภาษายุคปัจจุบันที่เน้นการเรียนด้วยตนเอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฝึกฝนผู้เรียนให้วิเคราะห์และประเมินความต้องการในการเรียนของตนเองและการตั้งวัตถุประสงค์ในการเรียนและติดตามผลได้ด้วยตนเองเพื่อที่จะสามารถนำไปใช้ในการเรียนในอนาคต

            4. การสร้างแรงจูงใจในการเรียนภาษาอังกฤษโดยใช้กลวิธีสรรเสริญผู้เรียนในการสนทนาแบบออนไลน์ โดย Mr. Matthew Carey (Qatar University) ผู้วิจัยเลือกกลวิธีสรรเสริญผู้เรียน (Praise) เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนแก่นักเรียนผู้ใหญ่ โดยการยกย่องตัวอย่างการเรียนที่ดีและเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นในการฝึกภาษาผ่านการสนทนาออนไลน์ซึ่งเป็นกิจกรรมเสริมในชั้นเรียน ผลการวิจัยพบว่าปริมาณการใช้ภาษาในการสนทนาออนไลน์มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากการใช้กลวิธีสรรเสริญผู้เรียนดังกล่าว นักเรียนมีการฝึกใช้ทักษะภาษาปริมาณมากขึ้นเนื่องจากแรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation) ที่ต้องการประสบความสำเร็จในการเรียนภาษา มีความภาคภูมิใจในความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษที่สูงขึ้น ซึ่งดิฉันได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้วิจัยว่า ผลการวิจัยจากวิทยานิพนธ์ของนิสิตปริญญาโท วิชาเอกภาษาอังกฤษชิ้นหนึ่งที่ผ่านมาพบว่า แรงจูงใจที่พบมากที่สุดของนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นแรงจูงใจภายนอก (Extrinsic Motivation) ที่ต้องการนำผลภาษาอังกฤษไปสมัครงานเพื่อจะได้ตำแหน่งงานดีๆ และได้รับเงินเดือนสูง ซึ่งดิฉันและ Mr.Matthew ได้มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ผลการวิจัยที่ต่างกันจากทั้งสองบริบทนี้อาจอธิบายถึงลักษณะทางเศรษฐกิจ สังคม ที่มีผลต่อแรงจูงใจในการเรียนภาษาอังกฤษของผู้เรียน จึงเป็นหัวข้อวิจัยที่น่าสนใจสำหรับการศึกษาต่อไปด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในบริบทเศรษฐกิจและสังคมที่ต่างกัน

2.  แนวทางในการนำความรู้/ทักษะที่ได้รับจากการไปราชการฯครั้งนี้ มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงาน
(ระบุแผนปฏิบัติงาน/กิจกรรมที่มุ่งหวังจะนำความรู้มาประยุกต์ใช้)  

            1. นำเอกสารประชุมไปประกอบการการเรียนการสอนวิชา  205697: Seminar in English Language Studies Research ในปีการศึกษาต่อไป

            2. นำงานวิจัยต่างๆที่ได้นำเสนอในการประชุมนานาชาติในครั้งนี้เก็บไว้เป็นคลังข้อมูลสำหรับการทำวิจัยด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษสำหรับคณาจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษ และนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา

           

 

3. เอกสารที่ได้รับจากการไปราชการ 

           

          - Conference Handbook: The 34th Thailand TESOL International Conference

นอกจากนั้น ดิฉันยังได้รับเกียรติจากทาง ThaiTesol Journal ในการให้ความอนุเคราะห์ตีพิมพ์บทความของดิฉันในวารสาร
ฉบับที่ 27 ครั้งที่ 1 อีกด้วย 
Faculty Perceptions of Roles in a Blended Language Learning Environment
by   THITIRAT SUWANNASOM  & EUNICE BARBARA C. NOVIO

http://thailandtesol.org/Menu/Publications/Data/TH...

หมายเลขบันทึก: 559802เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2014 09:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2014 16:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อมูลที่ดีๆเพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท