7 เทรนด์ พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต


ในศตวรรษที่ 21 พิพิธภัณฑ์กำลังจะเติบโตไปในทิศทางใด

ในรายงานชื่อ จับตาดูเทรนด์ปี 2012 โดยศูนย์สำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต (Centre for the Future of Museums or AAM) ซึ่งอยู่ในกำกับของสมาคมพิพิธภัณฑ์แห่งอเมริกาได้กล่าวถึงแนวโน้มที่สำคัญในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ไว้อย่างน่าสนใจ

Œ1. เปิดให้สังคมมีส่วนร่วมกับพิพิธภัณฑ์

ปัจจุบันสื่อสาธารณะเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลสูงทำให้วิถีชีวิตของผู้คนถูกเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นลูกค้าของพิพิธภัณฑ์จึงไม่ได้มีสถานะเป็นแค่ผู้รับบริการเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่กลายมาเป็นผู้มีส่วนร่วมกับการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ได้โดยผ่านการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางสื่อสาธารณะ เช่น การจัดแสดงนิทรรศการ วิเคราะห์/ตีความในเรื่องต่างๆ แนวทางการจัดบริการการศึกษา เป็นต้น ซึ่งผู้ทำงานพิพิธภัณฑ์ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานในแบบเดิมที่ยังขาดการรับฟังความเห็นจากผู้เข้าชมให้กลายเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) คอยควบคุมและประสานความร่วมมือในการจัดการข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้มาจากสังคมออนไลน์มากยิ่งขึ้น

2. บทบาทใหม่ของธุรกิจพิพิธภัณฑ์

เนื่องจากผลกระทบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ บางทีพิพิธภัณฑ์อาจถึงคราวต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่เป็นผู้ประกอบการทางธุรกิจบริการสังคมเพื่อหารายได้เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนที่เป็นองค์กรแบบไม่แสวงหาผลกำไร นอกเหนือไปจากการหารายได้แบบเดิมที่ได้จากการขายบัตรเข้าชม การเก็บค่าเช่าพื้นที่หรือให้บริการ รวมถึงการขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ พิพิธภัณฑ์ในตะวันตกหลายแห่งตามเมืองศูนย์กลางวัฒนธรรมอย่างลอนดอน ปารีสและนิวยอร์คมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเปิดบริการให้เช่าชิ้นงานศิลปะ/ วัตถุ หรือชุดนิทรรศการเคลื่อนที่ รวมถึงการขายลิขสิทธิ์ ชื่อทางธุรกิจ (Brand) ให้กับพิพิธภัณฑ์ในสาขาเขตตะวันออกออกกลางเพื่อหารายได้มาจุนเจือแทนเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาล 

3. พิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ แบ่งปันประสบการณ์

อุปกรณ์สื่อสารทันสมัยอย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่ เครื่องแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์แบบพกพาทำให้การเข้าถึงพิพิธภัณฑ์เสมือน (Virtual Museum) ผ่านโลกออนไลน์เป็นเรื่องง่ายดาย ทุกคนสามารถเข้าไปเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับชิ้นงานศิลปะหรือโบราณวัตถุต่างๆ ในห้องจัดแสดงได้ไม่ว่าอยู่ที่ไหน รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการเคลื่อนที่ที่เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้การแบ่งปันความรู้ด้านศิลปะ วัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ส่งผ่านไปสู่ชุมชน ทำให้ผู้ชมตามมุมเมืองต่างๆ ที่ขาดโอกาสได้รับประสบการณ์เรียนรู้เช่นเดียวกับการไปเข้าชมพิพิธภัณฑ์จริง 

4. ระดมเงินน้อยนิด...ทุนมหาศาล

พิพิธภัณฑ์ในตะวันตกได้เปลี่ยนแนวคิดจากการมองหาแหล่งทุนสนับสนุนขนาดใหญ่อย่างมูลนิธิและองค์กรด้านวัฒนธรรมไปสู่การมองหาแหล่งทุนขนาดเล็กผ่านช่องทางของเครือข่ายสังคมออนไลน์ อาทิ Google wallet หรือ Paypal ซึ่งเน้นระดมทุนจากมหาชนด้วยการบริจาคเงินเพียงเล็กน้อยผ่านวิธีการส่งข้อความ SMS ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ

 

5. สูงวัย หัวใจสร้างสรรค์

หลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังเผชิญปัญหาผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนขึ้นจนกลายเป็นสังคมผู้อาวุโส พิพิธภัณฑ์จึงจำเป็นต้องหันมาทำงานเพื่อคนกลุ่มนี้ เช่น การเพิ่มโอกาสให้คนวัยเกษียณเข้ามาเป็นอาสาสมัครมีส่วนร่วมดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ยิ่งขึ้น อาจขอให้กลุ่มผู้สูงวัยที่มีการศึกษาและประสบการณ์อุทิศเวลามาเป็นผู้บรรยายพิเศษเพื่อบอกเล่าเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจ

‘6. ความเป็นจริงในโลกเสมือน

พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ประสบการณ์พิเศษ ดังการนำเทคโนโลยีภาพ 3 มิติรุ่นล่าสุดมาปรับใช้เพื่อจำลองภาพประสบการณ์เสมือนให้ผู้ชมได้ก้าวหลุดเข้าไปในอีกยุคสมัยอย่างสมจริง หรือนำเสนอเป็นภาพยนตร์ในรูปแบบ 4 มิติ พิพิธภัณฑ์ยังจูงใจให้ผู้เข้าชมสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมเสริมบนโทรศัพท์เพื่อให้สามารถเข้าไปชมโบราณวัตถุที่ไม่ได้นำมาจัดแสดงทั่วไป หรือดูภาพซ้อนอดีตเปรียบเทียบสถานที่ในปัจจุบันที่ทำให้ฉากประวัติศาสตร์ในอดีตสามารถกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งผ่านคลิปวีดีโอสั้นๆ เพียงสัมผัสบนหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่

’7. ก้าวสู่ห้องเรียนนอกรั้ว

รูปแบบและวิธีการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ควรมีการพัฒนาโดยปรับความรู้พื้นฐานที่เรียนรู้จากห้องเรียนมาประยุกต์ให้เข้ากับเนื้อหาสาระของพิพิธภัณฑ์ผ่านการออกแบบเป็นโปรแกรมเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ ได้ประสบการณ์การเรียนรู้จากการคิดสร้างสรรค์โปรเจคของตนเอง เช่น โปรแกรมสวนศิลปะที่จัดขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาตร์หรือวัฒนธรรมท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่รื่นรมย์

 

อ้างอิง  บทความนี้แปลและเก็บความจาก

American Association of Museum. 2012. Trends Watch 2012 Museum and the Pulse of the Future. Retrieved fromhttp://www.aam-us.org/resources/center-for-the-future-of-museums/projects-and-reports

หมายเลขบันทึก: 559653เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2014 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2014 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท