ฝันเรื่องสภามหาวิทยาลัยมหิดล


 

          สภามหาวิทยาลัยมหิดลกำลังทำเรื่องใหญ่    คือการจัดตั้งสำนักงานสภาฯ ที่มีคุณภาพสูง และทำงานใหญ่ได้    เราหวังว่าจะทำได้สำเร็จ

          โดยเป้าหมายไม่ใช่แค่เพื่อความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยมหิดลเท่านั้น    แต่หวังทำงานใหญ่ให้แก่บ้านเมืองด้วย   คือทำงานร่วมพัฒนาระบบ Good Governance ของสถาบันอุดมศึกษา   และในระบบอุดมศึกษา

          แน่นอนว่า หัวเรือใหญ่ในระดับชาติ ของการพัฒนาระบบ Good Governance ของสถาบันอุดมศึกษา   และระบบอุดมศึกษา คือ สถาบันคลังสมองของชาติ   

          สำนักงานสภามหาวิทยาลัยมหิดล จะเข้าไปร่วมเป็นภาคีขับเคลื่อนการพัฒนาระบบ ธรรมาภิบาลอุดมศึกษา (University Governance) อย่างจริงจัง    ด้วยความเชื่อว่า ระบบธรรมาภิบาล (สภามหาวิทยาลัย) ที่เข้มแข็ง    จะเป็นพลังส่งความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย    ช่วยให้ฝ่ายบริหารสามารถทำสิ่งยาก แต่มีความจำเป็นต่อความก้าวหน้า ให้ลุล่วงได้ 

          ดังนั้น ฝันข้อที่ ๑ คือ   สำนักงานสภามหาวิทยาลัยมหิดล จะทำงานทั้งระดับสถาบัน   และระดับประเทศ    ด้วยความเชื่อว่า    ยุทธศาสตร์นี้ จะช่วยให้สำนักงานสภาฯ ทำหน้าที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลได้มากขึ้น

          ฝันข้อที่ ๒  สำนักงานสภามหาวิทยาลัย ร่วมกับฝ่ายบริหาร ทำให้การทำหน้าที่กำกับดูแล  และกำหนดนโยบาย โดยสภาฯ   เป็นการทำงานแบบ Well-Informed Policy-Making     ซึ่งหมายความว่า จะมีการพัฒนาระบบ Information for Policy-Making    สำหรับใช้งานโดยสภามหาวิทยาลัย  เชื่อมโยงกับระบบ MIS (Management Information System) ของมหาวิทยาลัย

          ฝันข้อที่ ๓  สำนักงานสภามหาวิทยาลัย   ดำเนินการให้มีเอกสารแนวทางการดำเนินการ ของสภามหาวิทยาลัย ในเรื่องต่างๆ    รวมทั้งรวบรวมนโยบาย และมติของสภาฯ ให้เป็นหมวดหมู่ และทันสมัย   ในเรื่องนี้ สำนักงานสภาฯ ต้องเสนอแนะต่อสภาฯ (หรือคณะกรรมการกิจการสภาฯ) ว่ายังมีเรื่องใดบ้างที่สภาฯ ยังไม่ได้กำหนดแนวทางหรือนโยบายไว้ให้ชัดเจน    อาจมีปัญหาในภายหน้าได้

          ฝันข้อที่ ๔  สำนักงานสภามหาวิทยาลัย   ดำเนินการให้มีการติดตามความก้าวหน้า ของการดำเนินการตามแนวทางหรือนโยบายกำกับดูแล ที่สภาฯ กำหนดไว้    และเสนอแนะการปรับเปลี่ยนแนวทางหรือนโยบาย ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น  ต่อสภามหาวิทยาลัย

 

          ทั้งนี้ หมายความว่า ผมมองรูปแบบการทำงานของสภามหาวิทยาลัย ว่าไม่มีรูปแบบคงที่ตายตัว    ต้องมีการทดลองและพัฒนารูปแบบให้เหมาะสมตามยุคสมัย    ตามบริบทที่เปลี่ยนไป    และตามลักษณะที่แตกต่างกันของแต่ละมหาวิทยาลัย

 

          จุดสำคัญที่สุดคือ ระบบกำกับดูแล ที่ช่วยให้สถาบันอุดมศึกษาไทยเชื่อมโยงเข้ากับสังคม (social engagement)   เข้าไปทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าของประเทศ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ม.ค. ๕๗

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 559480เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2014 09:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2014 09:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท