เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี : แม่.. เรากลับบ้านกันเถอะ


วันนี้ผมรับผู้ป่วยใหม่คนหนึ่ง เป็นคุณป้าอายุ ๘๘ ปี ลูกชายกับลูกสาวอีกสองคนช่วยกันเข็นรถเข็นเข้ามาในห้อง

คุณป้ามีอาการแขนขาอ่อนแรงไปข้างหนึ่ง หลงสับสนมาสองสัปดาห์ ตรวจพบก้อนเนื้อในสมองหลายก้อน วินิจฉัยว่า น่าจะเป็นมะเร็งลุกลามมาจากที่ใดสักแห่ง แต่ยังหาไม่พบ

ก่อนมาพบผม ผู้ป่วยและลูกๆได้พบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีบำบัด และปฏิเสธการผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อมาตรวจยืนยันการเป็นมะเร็งและยาเคมีบำบัด หรือคีโมมาแล้ว ที่มาพบผม เพื่อคุยกันเรื่องการฉายรังสีบรรเทาอาการ

คำถามแรกที่ผมถามผู้ป่วย "คุณป้าเป็นยังไง"

แกตอบผมว่า "เจ็บ แน่นหัวใจ" แล้วเอามือชี้ตรงหน้าอกซ้ายของตัวเอง

ผมร้องอ้าวในใจ เพราะมันคนละเรื่องกับที่ผมถูกปรึกษา แต่ก็ยังคุยเรื่องนั้นต่อจนรู้ว่า คุณป้าเพิ่งจะเริ่มเป็น และมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย ผม..ซักประวัติ..จนคิดว่าอาการนี้น่าจะเกิดจากการรับประทานยาสเตียรอยด์ เพื่อลดภาวะสมองบวม จึงบอกผู้ป่วยไปว่า "เดี๋ยวหมอจะสั่งยาให้" ก่อนวกกลับมาเรื่องที่ผมถูกปรึกษา "แต่หมอเขาบอกว่าป้าแขนขาไม่มีแรงและก็จำอะไรไม่ค่อยได้นะ ป้าเป็นหรืิอเปล่า"

ผู้ป่วยส่ายหน้า เอาละสิ

ผมก็เลยลองให้แกไล่ชื่อลูกตัวเอง ปรากฏว่า ถูกสองผิดหนึ่ง แล้วแก้ตัวว่า "ก็ลูกมันมาก จำไม่หมดหรอก" 

ผมก็ว่าจริง เท่าที่ประเมินดูแล้ว ผู้ป่วยหลงไม่มาก แต่บรรดาลูกๆยืนยันว่า จะหลงเป็นพักๆ โดยเฉพาะหลังเที่ยงคืน จะพูดไม่รู้เรื่องเลยทีเดียว พูดอะไรแปลกๆ ซึ่งอาการนี้เกิดจากรอยโรคในสมองได้

ผมจึงอธิบายรายละเอียดเรื่องประโยชน์ ผลข้างเคียงและขั้นตอนการฉายรังสี อาการที่อาจจะเกิดถ้าไม่ฉายรังสี ให้ลูกๆของคุณป้าฟังเป็นส่วนใหญ่ คุณป้าก็นั่งมองหน้าลูกกับผมไปเรื่อยๆ พอผมแกล้งถามว่า "ป้าฟังผมรู้เรื่องมั้ย" แกก็พยักหน้า แต่ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในบทสนทนาเลย

ผมบอกลูกๆผู้ป่วยว่า มีทางเลือกหลายทางในกรณีแบบนี้ คือมีทั้งฉายรังสีไปเลยโดยที่ไม่รู้ผลชิ้นเนื้อ รอผ่าตัดให้รู้ผลชิ้นเนื้อแน่ๆก่อนแล้วค่อยฉาย ไปจนถึงไม่ฉายรังสีเลย รักษาแต่ตามอาการ โดยบอกข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธีให้ฟัง ผมเข้าประเด็นว่า "ผมเข้าใจว่า การตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ง่ายนัก แต่อยากให้ลองคิดดู มีอะไรสงสัยก็ให้ถามหมอ"

ลูกชายผู้ป่วยถามผมทันทีว่า "ถ้าเลือกไม่ฉายแสง แม่จะเป็นยังไง" 

ผมตอบว่า "เรื่องนั้นสำคัญมาก ปกติโดยทั่วไป ถ้าคนไข้สภาพแบบนี้ ไม่ทำอะไรเลยก็ ๑ เดือน ถ้าให้ยาลดสมองบวมก็ ๒ เดือน แต่ถ้าฉายแสงก็อาจจะได้ ๓ เดือน" ผมบอกตัวเลขคร่าวๆ พูดต่อหน้าคุณป้า และคอยสังเกตสีหน้าของทั้งคุณป้าและลูกๆ คุณป้าไม่มีสีหน้าอะไร ยังคงนั่งมองหน้าผมกับลูกเหมือนเดิม

ลูกถามผมว่า "แกจะปวดทรมานมั้ย"

ผมตอบว่า "ไม่แน่ แต่เท่าที่ตรวจมาทั้งหมด น่าจะไม่ปวด" เพราะผลการตรวจผู้ป่วยยังไม่มีการลุกลามไปกระดูกที่เป็นสาเหตุความปวดมากที่สุด "แต่ผมเป็นห่วงเรื่องเหนื่อยหอบมากกว่า" เพราะผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สงสัยรอยโรคในปอด "แต่ยังไง ถ้ามีอาการปวด หมอคิดว่าเราเอาอยู่" ผมสร้างความมั่นใจให้ลูกคุณป้า

ลูกๆคุณป้าถามผมอีกหลายคำถาม แล้วก็ถึงเวลาสำคัญ เขาพยักหน้าถามกันทีละคน ลูกสาวคนแรกบอกว่า "ไม่ฉาย" แล้วหันหน้าไปร้องไห้ด้านหลังคุณป้า ลูกสาวอีกคนพูดอะไร ผมไม่ทันสังเกต เพราะผมมัวแต่จ้องหน้าคุณป้ากับลูกสาวที่ร้องไห้อยู่ แต่ปฏิกิริยาของลูกชายคนเดียวนั้น ทำให้ผมต้องนั่งนิ่ง

เขาค่อยๆเดินเข้ามาตรงหน้าคุณแม่ของเขาที่นั่งอยู่บนรถเข็น โน้มตัวก้มหัวลงจนหน้าชิดกัน แล้วพูดว่า "แม่..เรากลับบ้านกันเถอะ" แล้วสวมกอดกัน ทุกคนร้องไห้ รวมทั้งคุณป้าและตัวผมด้วย

คุณป้าพูดว่า "เขาก็เป็นของเขาอย่างนี้แหละ ชอบทำอย่างนี้ เขารักแม่ของเขามาก" 

ไม่ต้องมีคำยืนยันจากคุณป้าก็ได้ เพราะภาพตรงหน้ามันสะท้อนชัดเจน ความรักความผูกพันของแม่กับลูก 

ผมพูดต่อไปว่า "ผมยอมรับการตัดสินใจนี่ แต่ผมจะต้องมั่นใจก่อนว่า ที่ไม่ฉายแสงนี่ ได้เข้าใจสิ่งที่ผมพูดดีแล้ว ไม่ใช่ว่า ฟังผมไม่เข้าใจ หรือ ตัดสินใจมาก่อนแล้วยังไงก็ไม่ฉาย" ทุกคนพยักหน้าว่าเข้าใจผมดี

ผมอธิบายเรื่องการรักษาตามอาการต่อซึ่งมีความสำคัญมาก และบอกว่า ยังคงมีนัดไว้ก่อน เผื่อต้องปรับยา และจะเขียนรายละเอียดสิ่งเราคุยกันวันนี้ เพื่อให้นำไปให้โรงพยาบาลใกล้บ้านถ้าจำเป็น และถ้าเปลี่ยนใจเพราะอาการแย่มากๆ ก็ให้โทรศัพท์มาบอก

มาถึงตอนลากัน ลูกชายบอกแม่ตัวเองว่า "แม่ ลาหมอก่อน"

ผมมองหน้าคุณป้า เห็นภาพของหญิงชราธรรมดาๆคนหนึ่งนั่งอยู่บนรถเข็น ดูหลงบ้าง แต่ถึงจะหลงลืมอย่างไร ความเป็นแม่ที่รักลูกมันฉายชัดในแววตาคู่นั้น ผมจึงพูดขึ้นว่า "คุณป้าเลี้ยงลูกมาดีนะครับ.." แล้วก็พูดอะไรไม่ออก ได้แต่เอามือไปจับแขนทั้งสองข้างของคุณป้าที่ยื่นมาให้ผมเช่นกัน

ที่มา: เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี
http://www.gotoknow.org/posts/559022

หมายเลขบันทึก: 559365เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2014 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2014 06:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท