ผู้สูงอายุไทย ห่างไกลความเศร้า


วันนี้ดิฉันมาสัมภาษณ์ผู้สูงอายุท่านหนึงซึ่งผู้สูงอายุท่านนี้คือคุณยายของดิฉันเองค่ะ

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อนางสมัย   กันทาฝั้น  อายุ80 ปี

เกิดเมื่อ 13มิถุนายน 2477 อาศัยอยู่ในจังหวัดลำปาง

โรคประจำตัว โรคซึมเศร้า โรคหัวใจและความดันโลหิตสูง

     คุณยายมีบุคลิกเป็นคนขยัน เมื่อก่อนชอบออกไปท่องเที่ยวแต่ปัจจุบันชอบอยู่ติดบ้าน ชอบทำอาหารและดูโทรทัศน์กับลูกหลาน อาศัยอยู่กับคุณพ่อ คุณแม่ของดิฉันและดิฉันอีก1คน ตอนเช้าตรู่คุณยายจะตื่นมาหุงข้าวให้ลูกหลาน และตื่นไปรอพระใส่บาตรทุกวัน แต่มีภาวะซึมเศร้าเนื่องจากเมื่อ20กว่าปีที่แล้วได้สูญเสียคุณตาไป ทำให้บุลิกภาพเปลี่ยนไปกลายเป็นคนอ่อนแอ ต้องการการดูแลจากคนรอบข้างเป็นอย่างมาก

     คุณยายอาศัยอยู่ในชนบท อากาศสดชื่น มีมลพิษน้อยประกอบกับมีอาหารการกินที่ดี ถึงแม้คุณยายจะอายุเยอะแล้วแต่คุณยายกลับไม่ได้ดูสูงวัยมากเท่าผู้สูงอายุคนอื่นๆ ปกติแล้วคุณยายเป็นคนร่างใหญ่ ตัวสูงประมาณ170เซนติเมตรแต่ที่ดิฉันสังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนคือคุณยายผิวหนังแห้งลง เหี่ยวย่นและตกกระ ตัวเตี้ยลง หลังโก่งค่อม ร่างกายผอมลงอย่างเห็นได้ชัด ตาเป็นต้อทำให้มองเห็นได้ไม่ชัด เวลาส่วนใหญ่จะนอนกลางวัน หากนอนกลางวันมากเกินไป กลางคืนจะทำให้นอนหลับยาก น้อยใจง่ายและมักหลงลืม คุณแม่จึงได้สอนให้คุณยายจำตลับยาว่าเวลาที่อยู่บ้านต้องกินยาช่องไหน และเมื่อ2ปีที่ผ่านมาพบว่าคุณยายเป็นโรคหัวใจมีอาการใจสั่นและหายใจติดขัด ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่เป็นเวลา3วัน ระหว่างการรักษานั้นมีภาวะซึมเศร้ามากขึ้นเนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนมากในการรักษา

     เมื่อประมาณ1ปีที่แล้วคุณยายเกิดพลาดหกล้มขณะเก็บมะม่วง ทำให้มีอาการฟกช้ำเป็นอย่างมากแต่ไม่มีอาการกระดูกหักแต่อย่างใด ช่วงแรกคุณยายไม่สามารถลุกได้ เดินได้ลำบากมากจึงต้องหาคนมาช่วยดูแล ต้องย้ายห้องนอนจากชั้น2ลงมาด้านล่าง ไม่สามารถอาบน้ำและเข้าห้องน้ำได้เองคุณแม่ต้องช่วยเหลือเกือบทั้งหมด แต่ยังสามารถแต่งตัวและรับประทานอาหารได้เองตามปกติ ช่วง6เดือนหลังมีอาการดีขึ้น สามารถลุกไปเข้าห้องน้ำและอาบน้ำได้เองแล้ว แต่ยังต้องคอยระวังอย่างใกล้ชิดเนื่องจากบางวันมีภาวะอ่อนแรง ต้องใช้เก้าอี้นั่งอาบน้ำ เปลี่ยนจากโถส้วมเป็นชักโครก และใช้walkerในการช่วยเดิน หลังจากนั้นอาการก็ดีขึ้นเรื่อยๆจนปัจจุบันผ่านมา1ปีแล้ว สภาพร่างกายของคุณยายดีขึ้นมาก ใช้walkerในการช่วยเดินเหมือนเดิม อุปกรณ์ช่วยต่างๆยังคงใช้ตามปกติเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการหกล้มซ้ำ และเนื่องจากคุณยายเป็นโรคหัวใจทำให้เกิดอุปสรรคในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันซึ่งกิจกรรมต้องไม่หักโหม ระยะเวลาไม่นานเกินไป ต้องนั่งทำกิจกรรม เดินนานๆไม่ได้ คุณยายไม่สามารถไปใส่บาตรได้เหมือนเดิม หลังจากหกล้มคุณยายจึงทำกรวยดอกไม้ถวายพระ ห่อขนมและห่ออาหารแทนซึ่งทำร่วมกับคนดูแล นอกจากนั้นก็จะไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร ดูโทรทัศน์และนอนกลางวันเป็นส่วนใหญ่ ตอนเย็นคุณแม่จะกลับมาดูแลเรื่องการอาบน้ำแต่งตัว จัดยาก่อนนอนให้คุณยาย และส่งเข้านอนเป็นประจำทุกวัน

คุณยายนั่งดูโทรทัศน์กับคุณพ่อ

     เนื่องจากคุณยายเป็นคนในครอบครัว และดิฉันมีหน้าที่ดูแลคุณยายในวันที่คุณแม่ต้องออกไปทำงานข้างนอก การประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน ดิฉันจึงประเมินด้วยการสังเกตและพบว่าคุณยายสามารถทำรับประทานอาหารได้เองแต่ต้องเตรียมอาหารให้ อาบน้ำได้เอง ใส่เสื้อผ้าได้เองทั้งแบบกระดุมและสวมหัว รวมทั้งสามารถเคลื่อนย้ายตัวเองไปยังที่ต่างๆได้เอง และในเรื่องของการให้กิจกรรมการรักษา สำหรับคุณยายจะเน้นไปที่กิจกรรมการพักผ่อน(Leisure)เพื่อลดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า เพิ่มความมั่นใจและมีคุณค่าให้กับตนเองและตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานในด้านความต้องการทักษะเพื่อสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในสังคมได้

 

 

 

                               ขณะรับประทานอาหาร                                    

สำหรับกรอบอ้างอิงและทฤษฎีทางกิจกรรมบำบัดที่จะสามารถนำมาอธิบายถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงของคุณยายมีดังนี้

ICF

เนื่องมาจากอายุที่มากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงในด้านโครงสร้างต่างๆภายนอกและโครงสร้างระบบภายในต่างๆเช่น หลังโก่งค่อม เดินได้ช้าลง ตัวเล็กลง โรคประจำตัวต่างๆทำให้ความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆที่เคยทำหรือควรจะทำได้น้อยลงโดยเฉพาะในการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและด้านกิจวัตรประจำวันขั้นสูง(I-ADL)

ทฤษฎีกิจกรรม(Activity Theory) เนื่องจากทฤษฎีนี้กล่าวไว้ว่า”ผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมทำอยู่เสมอๆจะมีบุคลิกที่กระฉับกระเฉงทำให้มีความพึงพอใจในชีวิตและปรับตัวได้ดีกว่าผู้สูงอายุที่ปราศจากกิจกรรม” จะเห็นได้ว่าคุณยายไม่ค่อยมีกิจกรรมในแต่ละวันนอกจากดูโทรทัศน์และช่วยผู้ดูแลทำอาหารง่ายๆเช่น เด็ดผัก หั่นผัก นอกนั้นคุณยายมักจะนั่งอยู่เฉยๆและใช้เวลาไปกับการนอนหลับเสียส่วนใหญ่ ทำให้มีอาการซึมเศร้าคิดถึงลูกหลานที่เคยเลี้ยงดู มองโลกในแง่ร้ายและไม่ปล่อยวาง

ทฤษฎีความต่อเนื่อง(The continuity Theory) กล่าวไว้ว่า”ผู้สูงอายุจะมีความสุขได้เมื่อได้ทำกิจกรรมตามที่เคยทำมาก่อน”ซึ่งดิฉันสังเกตได้ว่าการทำอาหาร ปลูกต้นไม้ ทำกรวยดอกไม้ถวายพระ คุณยายจะมีสีหน้ายิ้มแย้ม ภูมิใจกับผลงานมีความสุขและไม่มีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นเมื่อมีกิจกรรมทำ

กรอบอ้างอิงและทฤษฎีทางกิจกรรมบำบัดที่สามารถใช้เพื่ออธิบายการส่งเสริม ป้องกันให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นผู้สูงอายุที่ประสบความสำเร็จ

Model of Human Occupation

ผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของคุณยายส่วนใหญ่มักเกิดจากปัจจัยภายในทั้งความคิดและภาวะซึมเศร้าที่มีอยู่ การสร้างแรงจูงใจให้กับคุณยายคือการให้คุณยายได้ทำกิจกรรมที่เคยทำและกิจกรรมที่ชอบทำ เพราะทำให้คุณยายเกิดความมั่นใจในตัวเองและการได้นำผลงานมามอบให้กับหลาน เนื่องจากโรคซึมเศร้าคุณยายจึงไม่ค่อยไว้ใจใคร ไว้ใจเพียงคนในครอบครัวและคนดูแลเท่านั้น ซึ่งบุคคลที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับคุณยายได้ดีที่สุดก็คือดิฉันเองค่ะ และกิจกรรมที่สร้างแรงจูงใจและทำให้คุณยายมีความสุขทำได้ไม่ยากเลย เพียงแค่ช่วยอาบน้ำแต่งตัว ทำกิจกรรมร่วมกับคุณยายและชมเชยเมื่อคุณยายทำกิจกรรมเสร็จคุณยายก็ยิ้มและมีความสุขแล้วค่ะ

หมายเลขบันทึก: 559079เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2014 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2014 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คุณยายท่านยังดูแข็งแรง และอบอุ่นท่ามกลางลูกๆหลานๆ เป็นกำลังใจให้ค่ะ

ขอบคุณนะคะ คุณยายเค้าจะเอ็นดูหลานมากเป็นพิเศษค่ะ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท