ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๗๔. สถานการณ์ความมั่นคงของสังคมไทยในปัจจุบัน


 

          ทีมงานจัดทำวารสารเศรษฐกิจและสังคม ปี ๒๕๕๖ ฉบับมี่ ๔ (..  -  .. ๒๕๕๖) ขอมาสัมภาษณ์ผม สำหรับนำไปลงวารสาร โดยมีประเด็นสัมภาษณ์ "เรื่องความมั่นคงของสังคมไทยในปัจจุบัน   แนวทางการสร้างความมั่นคงของสังคม ทั้งในด้านการลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม   การเตรียมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ   การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายด้านการเงินการคลัง   การสร้างสมดุลระหว่างอาหารและพลังงาน   และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต่างๆ"

          เรานัดคุยกัน สายวันที่ ๒๖ พ.. ๕๖  โดยทางสภาพัฒน์มากัน ๔ คน  

          แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑  เน้นยุทธศาสตร์สามประสาน ของการพัฒนา  คือ Competitive Growth, Inclusive Growth และ Sustainable Growth    ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีมาก   คือมีความซับซ้อนย้อนแย้ง (dilemma) อยู่ในตัว    ท้าทายการปฏิบัติให้เกิดผลจริง    ซึ่งจะต้องมีการบริหารบ้านเมืองอย่างชาญฉลาดและเห็นแก่ชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง    ยากที่จะหวังได้จากรัฐบาลทักษิณที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิด

          ผมบอกตัวเองว่า  สมัย ๒๐ ปีก่อน เมื่อพูดเรื่องความมั่นคงของประเทศ คนจะนึกเรื่องการทหาร   แต่เวลานี้ความหมายเปลี่ยนไปแล้ว   เมื่อปี ๒๕๓๕ - ๒๕๓๖ ผมเข้าเรียน วปออาจารย์ที่นั่นบอกว่า ปัจจัยด้านความมั่นคงของประเทศไม่ได้มีแค่ด้านการทหารหรือการป้องกันประเทศ    ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การศึกษา  การวิจัย ถือเป็นปัจจัยด้านความมั่นคงของประเทศด้วย    ซึ่งถือเป็นวิธีคิดใหม่ในขณะนั้น 

          มาถึงตอนนี้ ผมบอกคณะผู้มาสัมภาษณ์ว่า   ผมมีความเห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่สุด ต่อ sustainability ของสังคมคือ เรื่องคุณธรรมจริยธรรมซึ่งรวมทั้งความซื่อสัตย์ ไม่คดโกง    และเวลานี้รัฐบาลทักษิณที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิดได้ทำลายลงอย่างย่อยยับ    โดยดำเนินการมากว่า ๑๐ ปี ตั้งแต่ทักษิณยังอยู่ในประเทศ    ประเด็นนี้เขาคงไม่เอาไปเขียน

        ผมบอกว่า ความมั่นคงยั่งยืนอย่างหนึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารประเทศให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง แบบที่มาเลเซียกำลังดำเนินการ    โดยที่ต้องเน้นการพัฒนาประเทศแบบใช้ปัญญา/นวัตกรรมนำ    ไม่ใช่แบบใช้แรงงานราคาถูก หรือแรงงานไร้ฝีมือนำ    หรือทรัพยากรธรรมชาตินำ อย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน    รัฐบาลนี้ละเลยความสำคัญ ของระบบปัญญาของประเทศโดยสิ้นเชิง    จึงเท่ากับนำประเทศเดินสวนทางกับความมั่นคงในระยะยาว    เน้นผลงานระยะสั้น และโอกาสโกงกินเป็นเป้าหมายหลัก    นี่เขาก็คงไม่เขียนเช่นกัน

          ผมชม สคช. ว่าเขียนเอกสารแผนพัฒนาฯ ได้ดีเยี่ยม   แต่ในส่วนยุทธศาสตร์การบรรลุเป้าหมาย ทำได้ไม่ดี    ผมเสนอให้ทำดัชนีสำคัญๆ ที่บอกพลวัตของการพัฒนาตามเป้าหมายที่กำหนด    สำหรับนำข้อมูลออกเผยแพร่อธิบายแก่ประชาชน    ซึ่งดัชนีที่สำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศคือ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน    ที่ข้อมูลบอกว่า ยิ่งถ่างกว้างขึ้นทุกที    และเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า สังคมที่ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ที่คนเพียงบางกลุ่มมากขึ้นเรื่อยๆ   เป็นสังคมที่กำลังเดินไปสู่วิกฤติ ความขัดแย้งในสังคม   ไม่เป็นสังคมที่มั่นคงยั่งยืน

          ความมั่นคงเป็นเรื่องระยะยาว มีพื้นฐานอยู่ที่การศึกษา ซึ่งเราอ่อนแอมาก    นอกจากนั้นก็อยู่ที่เรื่องสุขภาพ   ซึ่งระบบสาธารณสุขของไทยเป็นที่ยกย่องทั่วโลกในเรื่องคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage)    ในลักษณะ Good Health at Low Cost   แต่เรากำลังเผชิญสภาพที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว    คือเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แบบที่แตกต่างจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์    สองประเทศนั้นเขารวยก่อนแก่    แต่สังคมไทยแก่ก่อนรวย    ผมเสนอว่า ในเรื่องระบบการดูแลผู้สูงอายุ เราไม่ควรเอาอย่างอเมริกัน    ที่เน้นทำมาหากินกับคนแก่ ตามระบบทุนนิยม    ประเทศไทยควรดูตัวอย่างญี่ปุ่น ที่เขายอมรับว่าในอดีตเขาเดินทางผิด ที่ไปเน้นเอาคนแก่ไปอยู่รวมกันในที่พักคนชรา    เวลานี้เขารู้แล้วว่า ที่ดีที่สุดคือให้อยู่กับครอบครัวและชุมชน    รัฐจัดระบบหนุนให้ครอบครัวและชุมชนดูแลคนแก่ได้ดี

           ในเรื่องการศึกษา ผมบอกว่าวิธีคิดเรื่องการศึกษาที่เราใช้กันอยู่ล้าหลังไปร้อยปีหรือ ๕๐ ปี    แถมการเมืองยังเข้าไป กัดกร่อนระบบการศึกษา    เข้าไปมอมเมาคนจำนวนหนึ่งให้ทำหน้าที่เป็นหัวคะแนนเลือกตั้ง    ผมบอกว่า ในสายตาของผม ระบบการศึกษาเป็นระบบที่บิดเบี้ยว เป็นคอรัปชั่นเชิงระบบ    ทรัพยากรที่ลงไปมากมาย ไปไม่ถึงเป้าหมายคุณภาพการศึกษา

         หากจะขับเคลื่อนประเทศไทย ให้หลุดกับดักรายได้ปานกลาง    รัฐบาลต้องใช้อุดมศึกษาเป็นเครื่องมือเพื่อการนี้    รัฐบาลของประเทศมาเลเซียดำเนินการแนวนี้อย่างได้ผล    แต่ของไทยไม่มีความคิดนี้เลย    ในช่วงของรัฐบาลทักษิณ ที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิด ระบบอุดมศึกษาถูกทำให้อ่อนแอลงไปอย่างจงใจ    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนหนึ่ง ตัดงบประมาณมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เอาไปหนุนพื้นที่ของตนเอง    มหาวิทยาลัยที่ได้รับคัดเลือกให้เร่งสร้างความเข้มแข็ง ของการวิจัย ๙ แห่ง (ที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ) กลับได้รับงบประมาณวิจัยน้อยลงกว่าสมัยไม่เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ    รัฐมนตรีคนเดียวกันนี้ ตั้งคนไม่มีความสามารถมาเป็นเลขาธิการ กกอ.   ผมลาออกจากหน้าที่ประธาน กกอ. ทันที ที่ทราบว่าเขาตั้งใครมาเป็นเลขาธิการ กกอ.

          แม้ว่าสถานการณ์ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลทักษิณที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิดจะเลวร้าย ไม่เป็นปัจจัยสู่ความมั่นคงยั่งยืน    แต่ สังคมไทยเราก็มีพื้นฐานที่ดีมากมาย    ที่สภาพัฒน์ฯ สามารถเข้าไปทำงานสนับสนุน ต่อยอดความเข้มแข็งเหล่านั้นได้    ที่สำคัญที่สุดคือ ความเข้มแข็งของชุมชนฐานราก    ที่มีการรวมตัวกันเอง พัฒนากันเองจำนวนมากมาย    นี่คือปัจจัยความมั่นคงยั่งยืนของสังคมไทยอย่างแท้จริง

          ผมเสนอให้แนวทางพัฒนาประเทศเพื่อหลุดกับดักรายได้ปานกลาง เน้นการเป็นสังคมเรียนรู้สู่นวัตกรรม    ทุกภาคส่วนของสังคมเป็นสังคมเรียนรู้   เน้นการเรียนรู้ในการดำรงชีวิตที่ดี และในการประกอบอาชีพที่ดีมีความมั่นคง

 

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ธ.ค. ๕๖

 

หมายเลขบันทึก: 558965เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2014 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2014 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยอย่างยิ่ง การศึกษาของเราตกตำมากๆ สังคมก็แย่ คนส่วนมากชื่นชมกับการโกงของนักการเมือง โดยเฉพาะนักวิชาการที่เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นวิธีที่ดี จะโกงเท่าใดก็ไม่เป็นไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท