ห้องเรียนกลับทางที่โรงเรียนรุ่งอรุณ


 

          วันที่ ๔ ธ.ค. ๕๖ มีการประชุมวิสามัญมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนรุ่งอรุณ   เมื่อถึงวาระที่ ๓.๒.๔ ผมก็ตาลุก

          วาระนี้ เรื่อง โครงการพัฒนาการเรียนการสอน โรงเรียนมัธยม วิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ด้วย online program   ร่วมกับการจัดห้องเรียน แบบห้องเรียนกลับทาง (Flipped Classroom)  

          ใช้ online program ของ MCO E-Learning (Marshall Cavendish Online E-Learning Portal)   จากประเทศสิงคโปร์ มาใช้ในวิชาคณิตศาสตร์   และโปรแกรมของ Cambridge “English in Mind”   ภายใต้กรอบหลักสูตรของ Common European Framework of Reference (CEFR) มาใช้ในวิชาภาษาอังกฤษ    ร่วมกับการจัดการเรียนการสอนแบบห้องเรียนกลับทาง

          ดำเนินมาตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ ๒/๒๕๕๖   โดยมีการวิจัยควบไปด้วย 

          ดำเนินมาไม่นาน พบว่าครูบางคนเปลี่ยนไป    เปลี่ยนจากครูสอน เป็นครูฟังและสังเกต    และบรรยากาศ ในห้องเรียนก็ยิ่งเปลี่ยนไป    เห็น active learning ชัดเจน    ทางโรงเรียนถ่ายวีดิทัศน์บรรยากาศในห้องเรียน มาให้คณะกรรมการดู    ทำให้ผมตาลุก ดังกล่าวแล้ว

          และแนะนำให้ เอาวีดิทัศน์ นั้นขึ้น เว็บ หรือ YouTube เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ กลับทางห้องเรียน ในสังคมไทย    ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่มาก

          อ่านหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สร้างห้องเรียนกลับทาง ได้ ที่นี่

          ข้อค้นพบที่น่าสนใจมาก คือครูรู้จักศิษย์แต่ละคนมากขึ้น    พบว่านักเรียนในชั้นมีสมรรถนะในการเรียน แตกต่างกันมาก อย่างไม่คิดมาก่อน    ได้ฟังข้อค้นพบนี้ ผมก็ยิ่งตาลุกซีครับ    เพราะผมอ่านจากหนังสือฝรั่ง มานานแล้ว ว่านักเรียนในยุคศตวรรษที่ ๒๑  มีลักษณะต่างจากนักเรียนสมัยก่อน    ตรงที่นักเรียนในชั้น มีพื้นความรู้เดิมแตกต่างกันมาก    ผมเอาข้อความนี้ไปบอกครูในที่ต่างๆ และถามว่าจริงไหม    มีแต่คนบอกว่าจริง    ไม่มีคนคัดค้านเลย   แต่ผมก็ไม่เคยได้รับคำบอกเล่าหลักฐานข้อมูลยืนยัน   มาได้รับในวันนี้

          ที่ตื่นตาตื่นใจก็คือ ความแตกต่างนั้น อยู่ที่ทักษะในการเรียนรู้ และทักษะในการกำกับการเรียนรู้ ของตนเอง ซึ่งเป็นหัวใจของการเรียนรู้ตลอดชีวิต    นักเรียนจำนวนหนึ่งไม่มีความรับผิดขอบเรียนความรู้ เชิงทฤษฎีที่บ้าน    ในขณะที่นักเรียนอีกจำนวนหนึ่งต้นคว้าและเรียนล่วงหน้าไปไกล  

          ทำให้ผมระลึกชาติ กลับไปที่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่เด็กชายวิจารณ์ พานิช เรียนชั้น ม. ๖ (เทียบเท่า ม. ๔ สมัยนี้)    แอบเรียนรู้วิธีเรียนของอา และพี่ รวมสามคน ที่เรียนแพทย์ เรียนวิศวะ และเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เพื่อนำมาปรับปรุงวิธีเรียนของตนเอง    บัดนี้นายวิจารณ์ พานิช อายุกว่า ๗๑ ปี ยังคงเรียนรู้ meta-cognition skills อย่างต่อเนื่อง    ผมโชคดี ที่สนใจเรื่องวิธีการเรียนรู้    และปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของตนเอง ไปเรื่อยๆ ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

          กลับมาที่ห้องประชุม วิสามัญมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนรุ่งอรุณ คณะกรรมการแสดงความชื่นชม ในการริเริ่มสรางสรรค์ รูปแบบการเรียนรู้นี้    และผมแนะนำว่า เป้าหมายของห้องเรียนกลับทางคือ ยกระดับคุณค่าของครู    และยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน    จากการเรียนเนื้อหาวิชาโดยครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้    ไปสู่การเรียนรู้แบบนักเรียนสร้างความรู้ของตนเอง จากการลงมือปฏิบัติ และไตร่ตรองผลของการปฏิบัตินั้น    โดยครูทำหน้าที่เอื้ออำนวยกระบวนการการเรียนรู้นั้น

          ในการเรียนรู้สมัยใหม่ นักเรียนต้องไม่ใช่แค่มีความรู้ ท่องจำ และนำมาบอกได้    แต่จะต้องได้ฝึก ประยุกต์ใช้ความรู้นั้น ในสถานการณ์จริง หรือใกล้เคียงสถานการณ์จริง    เกิดทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้

          ห้องเรียนกลับทาง จะเอื้อให้นักเรียนได้ฝึกทักษะนี้ 

          ความท้าทายต่อไปคือ ครูจะช่วยเหลือศิษย์ที่ขาดวินัยในตนเอง ในการที่จะเรียนทฤษฎีล่วงหน้าที่บ้าน    ผมจึงแนะนำหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สนุกกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑    ที่แนะนำวิธีแก้ปัญหาศิษย์ไม่มีทักษะ ในการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ  

 

 

วิจารณ์ พานิช

๕ ธ.ค. ๕๖

วันพ่อ  วันมหามงคล

 

  

หมายเลขบันทึก: 558539เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2014 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มกราคม 2014 13:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มากราบสวัสดีปีใหม่ครับ กูรู ของพวกเรา ชาว KM

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท