การใช้ภาษาในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ๒ : เจาะคอเจาะท้อง


 

วันศุกร์ ๒๐ ธันวาคม ที่ผ่านมา ผมไปช่วยแพทย์ใช้ทุนภาควิชาโสต ศอ นาสิก ทำ ENT palliative care conference ในหัวข้อ Very End of Life Care มีเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสื่อสาร

 

น้องหมอนำเสนอกรณีผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่มีภาวะเกลือโซเดียมต่ำและไม่รู้ตัวไปสองครั้ง แต่หมอช่วยให้ฟื้นขึ้นมาได้ทั้งสองครั้ง แต่เริ่มมีปัญหาเรื่องการหายใจอีก ต้องพิจารณาเจาะคอผู้ป่วย ซึ่งหมอหูคอจมูกถือเป็นเรื่องธรรมดา ชนิดทำกันแทบทุกวันจนชิน

 

ลูกๆของผู้่ป่วยตกลงให้เจาะ แต่ตัวผู้ป่วยเองไม่ยอมและต้องการจะกลับบ้าน แสดงอาการระแวงถ้าหมอพยาบาลเข้าใกล้ กลัวถูกจับไป ..เจาะคอ

 

ประเด็นการสื่อสารที่คุยกันในที่ประชุมซึ่งมีทั้งอาจารย์แพทย์ หัวหน้าพยาบาล แพทย์ใช้ทุนและพยาบาลในหอผู้ป่วย คือ คำว่า เจาะคอ คำที่หมอพยาบาลคุ้นเคย แต่มันน่ากลัวมากสำหรับคนไข้ หรือคนทั่วไป

 

"บางคนเจอทั้งเจาะคอ เจาะท้อง" ซึ่งหมายถึง เจาะคอเปิดช่องหายใจเวลาหายใจลำบาก และ เจาะหน้าท้องใส่สายยางเพื่อให้อาหารเวลากลืนลำบาก

 

ประเด็นที่ถกกัน คือ เราควรใช้คำนี้บอกผู้ป่วย ญาติและคนทั่วไปหรือไม่ ถ้าไม่ ควรใช้คำไหนดีกว่า และจะมีวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้นอย่างไร

 

ข้อสรุป

- คำนี้เป็นคำที่แรงเกินไปสำหรับผู้ป่วย ญาติและคนทั่วไปจริงๆ 

- คำนี้มักมีความหมายแฝงอยู่ด้วย ตามการรับรู้ของคนทั่วไป เช่น หมายถึง ไม่รอดแล้ว จะกินไม่ได้ จะพูดไม่ได้อีกเลย จึงต้องสอบถามผู้ป่วยด้วยว่า เข้าใจว่าอย่างไร

- ควรใช้คำอื่นอธิบาย เช่น เปิดช่องชั่วคราวสำหรับช่วยการหายใจ เน้นคำว่าชั่วคราว

- การนำผู้ป่วยที่เจาะคอถาวรมาพูดคุยกับผู้ป่วย

- ถ้าผู้ป่วยหรือญาติปฏิเสธ ควรตั้งคำถามต่อไปว่า ถ้ามีปัญหาเรื่องหายใจลำบากขึ้นมาในอนาคต คิดจะทำอย่างไร

 

ผู้อ่านมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ

หมายเลขบันทึก: 558012เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2014 20:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มกราคม 2014 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ปกติก็ใช้ว่าเจาะคอ ถ้าเจอปัญหาผู้ป่วยไม่เจาะ อาจต้องถามย้อนผู้ป่วยว่าคิดยังไงกับการเจาะคอหลายๆ ครั้งที่ได้ คำตอบที่ทำให้เราอึ้ง เพราะบางเรื่องไม่เกี่ยวข้อง กับการผ่าตัดเลย (กำลังเขียนเป็นเรื่องเล่าค่ะ) บางครั้งก็เป็นความฝังใจเก่าที่เกี่ยวกับการผ่าตัดครั้งก่อน ทั้ง 2 กรณีแรกเราสามารถพูดปรับเปลี่ยนให้ผู้ป่วยเห็นประโยชน์และความจำเป็นที่ต้องผ่าตัดเจาะคอ พร้อมทั้งให้ผู้ป่วยดูตัวอย่างเตียงข้างเคียงได้ ว่าผ่าแล้วไม่น่ากลัว ที่ผ่านมาผู้ป่วยก็ยอมรับให้เจาะ แต่มี อีกคำตอบที่แก้ยากคือ ผู้ป่วยบอกว่าเห็นญาติๆ หรือคนข้างบ้าน เจาะมาตายทุกรายนี้ละค่ะ จะพูดให้เขาเปลี่ยนใจยาก

ใช่ค่ะอาจารย์ คำแต่ละคำมันดูน่ากลัวมากเลยค่ะ

  • ครับ การค้นหาความหมาย ในมุมของผู้ป่วย สำคัญมาก

  • นี่ถ้าไม่มาเตือน ไม่รู้นะเนี่ย
  • พวกหมอคิดว่า เป็นคำธรรมดา ยิ่งหมอหูคอจมูกยิ่งแล้วใหญ่ พูดจนชิน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท