เมื่อผมเป็นทนายให้ อ.ก.ค.ศ.(๓)


ส่วนของผู้ถูกฟ้องที่ ๒ และ ๓ ศาลวินิจฉัยในส่วนของผู้ถูกฟ้องที่ ๓ ที่มีคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เรื่องเปลี่ยนตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓ และมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งวินิจฉัยยืนตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในการกระชุมครั้งที่ ๔/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ศาลปกครองเห็นว่าพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งโดยอนุมัติ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เมื่อ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาได้ออกประกาศ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเรื่อง รายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเรียงลำดับคะแนนสูงสุดจากมากไปหาน้อย โดยประกาศดังกล่าวจะขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกไว้ไม่เกินสองปีนับแต่วันประกาศขึ้นบัญชีเว้นแต่จะมีเหตุ ๗ ประการ (ดังที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างไว้) ศาลเห็นว่าก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะได้รับการประกาศรายชื่อให้เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกฯ ผู้ฟ้องคดีอยู่ในระหว่างดำรงตำแหน่งครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ผู้ฟ้องคดีย่อมต้องได้รับทราบเป็นการล่วงหน้าตามประกาศ อ.ก.ค.ศ. เรื่องรับสมัครคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งในประกาศดังกล่าวข้อ ๑. ระบุไว้ว่า “ตำแหน่งว่างที่รับสมัครคัดเลือกในตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนมีจำนวน ๖ ตำแหน่ง” และได้กำหนดรายละเอียดที่เป็นหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการตัดสินและการประกาศผลการคัดเลือก การขึ้นบัญชีและการยกเลิกบัญชีโดยเฉพาะในเรื่องการบรรจุและแต่งตั้งผู้คัดเลือกได้ไว้ในข้อ ๘ และข้อ ๙ ส่วนในข้อ ๑๐.๒ ก็กำหนดไว้ว่าจะบรรจุและแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ดังนั้นเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีหนังสือด่วนที่สุด แจ้งให้บุคคลที่ผ่านการคัดเลือกไปรายงานตัวและเลือกโรงเรียนที่ประสงค์จะดำรงตำแหน่ง ในวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๔.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุม ๒ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้ฟ้องคดีกับผู้ผ่านการคัดเลือกได้เดินทางไปรายงานตัวในวันเวลาดังกล่าวและได้แจ้งความประสงค์เลือกไปดำรงตำแหน่งที่ว่างตามลำดับ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงย่อมต้องถือปฏิบัติตามประกาศของผู้ถูกฟ้องที่ ๑ ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๓ที่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้อย่างชัดแจ้งเป็นการล่วงหน้าแล้วว่าตำแหน่งว่างในครั้งนี้มี ๖ ตำแหน่ง ผู้ใดจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามประกาศก่อนหรือหลังก็ย่อมต้องเป็นไปตามลำดับคะแนนที่สอบคัดเลือกได้เรียงกันไปจากมากไปหาน้อยเป็นสำคัญ เมื่อ นางณ. และนาย ว. ซึ่งเป็นผู้สอบได้ลำดับที่ ๑ และที่ ๒ ตามลำดับแจ้งคงวามประสงค์ขอเลือกบรรจุและแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัยทั้งสองคนและโรงเรียนก็มีตำแหน่งรองผู้อำนวยการว่างอยู่เพียง ๒ ตำแหน่งเท่านั้น กรณีจึงไม่ตำแหน่งว่างให้ผู้ฟ้องคดีที่จะเลือกบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัยได้อีก

ที่มันกว่านั้นคือศาลตำหนิผู้ฟ้องคดีว่า “ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นข้าราชการครูระดับชำนาญการพิเศษ อันถือได้ว่าเป็นข้าราชการในสถานศึกษาซึ่งมีหน้าที่ให้การศึกษาและอบรมให้แก่นักเรียนและบุคคลทั่วไปมาเป็นเวลานาน โดยวิสัยของผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวย่อมจะต้องเป็นผู้ที่มีความรอบรู้และเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ ขั้นตอน หลักเกณฑ์และวิธีการเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นซึ่งเป็นสิทธิส่วนตนเป็นอย่างดี อีกทั้งการเลือกที่จะบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามที่ตัดเลือกได้ก็มิใช่เป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนหรือไม่อาจเข้าใจได้โดยง่ายในระดับที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญพิเศษแต่อย่างใด เมื่อยังมีตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนวิชิตสงครามให้ผู้ฟ้องคดีเลือกได้อีกหนึ่งตำแหน่งแต่ผู้ฟ้องคดีไม่ยอมเลือก แสดงให้เห็นว่าผู้ฟ้องคดีได้แสดงเจตนาที่จะเลือกบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ไม่อาจบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะตนเองรู้อยู่แล้วว่าไม่มีตำแหน่งว่างของโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัยให้เลือกได้อีกแล้ว การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงมุ่งที่จะก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์กับผู้ฟ้องคดีที่ ๓ อย่างผิดปกติเช่นวิญญูชนพึงกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะเป็นข้าราชการที่จะต้องยึดถือกฎเกณฑ์ทางกฎหมายเป็นแนวทางปฏิบัติหน้าที่ เพราะการแสดงความประสงค์เลือกดำรงตำแหน่งตามที่ผ่านการคัดเลือกได้ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการทั่วไป ซึ่งความประสงค์ของผู้ฟ้องคดีที่แท้จริงย่อมอยู่ในสำนึกที่แสดงออกมาโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาว่าจะเป็นเช่นไร ทั้งยังไม่คำนึงถึงปกติประเพณีของการบรรจุแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่จะต้องพึงปฏิบัติต่อกันเป็นหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณาตัดสินใจ กรณีจึงเป็นการพ้นวิสัยที่ผู้ฟ้องคดีจะใช้สิทธิของตนเองต่อไปได้โดยสุจริตเสมือนหนึ่งว่าผู้ฟ้องคดีในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิได้สละแล้วที่จะใช้สิทธิเลือกบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาตามที่ผ่านการคัดเลือกได้ในครั้งนี้โดยปริยาย” ศาลปกครองท่านตำหนิเจ็บเหมือนกันนะครับ ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้านก็ต้องว่า คุณเป็นครูบาอาจารย์ไม่รู้ได้อย่างไร เรื่องมันก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรนักหนา การที่คุณเลือกขอลงตำแหน่งในโรงเรียนที่ไม่มีตำแหน่งว่างมันเป็นไปไม่ได้มันก็เหมือนกับคุณสละสิทธิที่จะเลือกบรรจุและแต่งตั้งครั้งนี้โดยปริยาย อืมม์...สบายไป

ศาลปกครองท่านจึงเห็นว่าเมื่อมันเป็นอย่างนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงชอบที่จะจัดให้บุคคลผู้ผ่านการคัดเลือกได้ในลำดับต่อไปเข้ามาเลือกบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งที่ว่างต่อไปได้ตามลำดับและเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑เพื่อให้ความเห็นชอบและมีมติให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓ จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้มีคำสั่งที่ ๑๙๓/๒๕๕๓ เรื่องเปลี่ยนตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ในลำดับที่ ๓ ถึงที่ ๕ จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเช่นกัน

เมื่อการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องที่ ๒ ได้พิจารณาคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีแล้วมีมติให้ยกคำร้องทุกข์จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ก็เลยมีคำพิพากษายกฟ้อง

ผู้ฟ้องคดียังมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลปกครองสูงสุด แต่ อ.ก.ค.ศ.รอดตัวไปแล้วเพราะศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องไปก่อนแล้วว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิฟ้อง อ.ก.ค.ศ. ถึงจะอุทธรณ์ไปก็ไร้ผล นอนตีขิมได้เลย

เรื่องนี้ความจริงไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแต่ผู้ฟ้องคดีหาเรื่องฟ้อง นี่ถ้ายังอยู่ในราชการ และถ้าศาลพิพากษาถึงที่สุดเป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา อนาคตจะรุ่งหรือรุ่งริ่งก็ไม่รู้ อิอิ.

ผมยังเหลือเวลาในการทำหน้าที่ประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาภูเก็ตเพียงแค่สองเดือนนับจากนี้และหมดสิทธิจะเป็นต่อเพราะเป็นมาสองสมัยติดกันแล้ว ความจริงยังมีเรื่องเล่าในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่น่าเป็นห่วงเพราะระบบอุปถัมภ์ในกระทรวงนี้ รู้แล้วจะหนาว ที่สำคัญคืออยากจะหนาวไหม...คริ คริ.

คำสำคัญ (Tags): #เฮฮาศาสตร์
หมายเลขบันทึก: 557784เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2013 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2013 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท