การศึกษากับอิสรภาพ


ผิดเพื่อการเรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย และไม่มีโทษแต่ประการใด

การศึกษากับอิสรภาพ

ในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้ดำเนินการโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครู ด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching) ระยะที่ ๒   เมื่อวันที่ ๒๔ พ.ย. ๕๖ ที่จังหวัดสมุทรสาคร   หลังจากทีมงานของ ๙ จังหวัด แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวความสำเร็จ  และจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข กันเป็นกลุ่มย่อย   แล้วเปลี่ยนเป็นทีมเดียวกันรวมกลุ่มประชุมเพื่อวางแผนการไปดำเนินการต่อ    

ผมนั่งฟังทั้งในกลุ่มย่อย และฟังการรายงานผลการประชุมกลุ่มอย่างตั้งใจ    และบอกกับตัวเองว่า หากจะให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูงขึ้น   สิ่งที่ครูและนักเรียนต้องการมากที่สุดคือ อิสรภาพ    ทั้งที่เป็นอิสรภาพจากคำสั่งการจากหน่วยเหนือ ที่สั่งการเพื่อผลงานของตน  หรือเพื่อผลประโยชน์ของตน   อิสรภาพจากงานที่ไม่ช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักเรียนดีขึ้น   หรือกลับทำให้ครูต้องทิ้งศิษย์ไปทำงานตามคำสั่ง

ในวงสนทนา มีคนเล่าว่า มักจะมีการจัดการประชุมใหญ่โต มี organizer มาจัดพิธี เพื่อเชิญ “ผู้ใหญ่” มาเป็นประธานในพิธี   และเพื่อให้สมเกียรติ ต้องเกณฑ์นักเรียนและครูไปในงาน    ทำให้ต้องปิดการเรียน ไปเป็นไม้ประดับในงาน

แต่อิสรภาพที่สำคัญกว่า คือ อิสรภาพจากถูก-ผิด ในขั้นตอนของการเรียนรู้   อิสรภาพจากความกลัวว่าจะถูกหาว่าโง่   ไม่กังวลหรือกลัวว่าคำตอบของตนจะถูกหรือผิด   เพราะ “ถูกก็ได้เรียนรู้   ผิดก็ได้เรียนรู้”    เป้าหมายที่แท้จริงคือการเรียนรู้   ไม่ใช่การตอบคำตอบที่ถูกต้อง ในระหว่างกระบวนการเรียนรู้

ครูอาจารย์ ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์    ว่าครูก็ทำผิดได้ เข้าใจผิดได้ มีความรู้ผิดๆ ได้    แต่เมื่อนำมาเข้ากระบวนการเรียนรู้   ความเข้าใจผิดในเรื่องความรู้ก็จะถูกแก้ไข   เกิดความรู้ความเข้าใจที่ก้าวหน้า และถูกต้องยิ่งขึ้น   นักเรียนนักศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาเล่าเรียน จึงต้องไม่กลัวที่จะแสดงความคิดเห็น เพื่อซักซ้อมความเข้าใจของตน  และเพื่อต่อยอดความรู้ของตนขึ้นไป

ผิดเพื่อการเรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย   และไม่มีโทษแต่ประการใด

หนึ่งคำถาม มีได้หลายคำตอบ    คำอธิบายวิธีคิดไปสู่คำตอบ สำคัญกว่าตัวคำตอบ

ยิ่งสำคัญกว่า คือ อิสรภาพจากความกลัวการประเมิน   ไม่กลัวการประเมิน   ในที่ประชุมวันนี้ มีคนบอกว่า ครูทั้งเกลียดทั้งกลัวการประเมิน    ซึ่งผมตีความว่า เพราะครูกลัวว่าสิ่งที่ตนทำนั้น จะผิดหรือไม่ดีพอ กลัวเสียหน้า กลัวสอบตก    ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ที่ผิด

ซึ่งเรื่องนี้โทษครูไม่ได้   ต้องโทษครูของครู   ที่วางท่าทีเรื่องการประเมินผิด   หลงเน้นที่การตัดสินถูก-ผิด    หรือการประเมินแบบ summative evaluation   ไม่เน้นที่การประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment)    ซึ่งหมายความว่า การประเมินระหว่างการทำงาน/การเรียนรู้ ไม่ใช่ตัวตัดสิน   ตัวตัดสินคือผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้

ทั้งครูและศิษย์ ต้องการความมั่นใจ ในกระบวนการ “ทำไปเรียนรู้ไป ของตน”    ไม่กังวลกับถูก-ผิด    แต่มั่นใจในกระบวนการที่ตนคิด-ทำ-คิด และคิดร่วมกัน ไตร่ตรองร่วมกัน   เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งศิษย์ทั้งครู    ปลอดภัย (หรือเป็นอิสระ) จากคนในหน่วยเหนือ ที่คอยมาชี้ถูกชี้ผิด

อิสรภาพ อีกประการหนึ่ง คือ อิสรภาพจากสูตรสำเร็จ ที่หน่วยเหนือกำหนด “พิมพ์เขียว” สั่งลงมาให้ถือปฏิบัติ ในลักษณะของ “หลักสูตรสำเร็จรูป”   ให้ครูทำตามโดยไม่ต้องคิด    เพราะในการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ นักเรียนต้องเรียนจากการลงมือปฏิบัติและคิดด้วยตนเอง   และครูทำหน้าที่คิด/กำหนดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมต่อศิษย์กลุ่มนั้นๆ   คือทั้งครูและศิษย์ ได้ “คิดและทำ” และ “ทำและคิด” ด้วยตนเอง   เพื่อบรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ ที่กำหนด

วิจารณ์ พานิช

๒๖ พ.ย. ๕๖

 

หมายเลขบันทึก: 557681เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2013 05:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2013 05:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุญาตนำไปแบ่งปันกับเพื่อนๆบน Facebook เช่นเคยกับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท