เมื่อผมเป็นทนายให้ อ.ก.ค.ศ.(๒)


มาฟัง(อ่าน)กันต่อ ครับ

        เมื่อศาลมีหมายมา นิติกรก็เอามาให้ผมดู ผมบอกว่าผมเขียนคำให้การเฉพาะส่วนของ อ.ก.ค.ศ.เอง ประเด็นแรกใช้หมัดขวาตรง สู้ข้อกฎหมายเลยครับว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เพราะการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามิใช่อำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา แต่เป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มาตรา ๓๘ ข.(๑) การที่อ.ก.ค.ศ.จะมีมติเช่นไรก็หากระทบกระเทือนสิทธิของโจทก์แต่อย่างใดไม่

        หมัดต่อมา เป็นอับเปอร์คัตว่าผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิไม่สุจริตไม่แจ้งความจริงต่อศาลว่า การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัยเพราะผู้ฟ้องคดีสอบได้ที่ ๔ และอยากเป็นรองผู้อำนวยการภูเก็ตวิทยาลัย ที่ผู้สอบได้ลำดับ ๑ และ ๒ เขาเลือกไปแล้ว จึงไม่มีตำแหน่งว่างให้ผู้ฟ้องคดีได้เลือกอีก ใครจะอนุมัติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนตามที่อยากได้อย่างไรกันพ่อเจ้าประคุณ...เมื่อผู้ฟ้องคดีรู้แล้วว่าไม่มีตำแหน่งว่างในโรงเรียนที่ตนต้องการยังดันทุรังจะเลือกโรงเรียนนั้นอยู่อีก คนที่สอบได้ที่ ๓ สละสิทธิ์ ผู้ฟ้องคดีไม่ใช้สิทธิเลือกโรงเรียนที่ว่างก็ต้องให้คนที่สอบได้ลำดับ ๕,๖,๗ ได้เลือกโรงเรียนที่ว่างต่อไป อ.ก.ค.ศ.เขาทำผิดตรงไหน เมื่อผู้ฟ้องคดีมีโอกาสใช้สิทธิแต่ไม่ยอมใช้สิทธิเลือกโรงเรียนที่ยังมีตำแหน่งว่างก็ต้องถือว่าหมดสิทธิ ถูกไหมครับ...

        เท่านั้นยังไม่พอ เจ้าหน้าที่เขาทำบันทึกรายงานเหตุการณ์ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ทราบ หลังจากวันนั้นอีก ๑ วันเจ้าหน้าที่ก็ให้ผู้ฟ้องคดีทำบันทึกว่าประสงค์จะเลือกโรงเรียนที่มีตำแหน่งว่างโรงเรียนใด ผู้ฟ้องคดีก็ยังประสงค์จะเลือกโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัยอยู่อีก มีการสอบสวนพยานบุคคลคือผู้ที่สอบได้ลำดับ ๑,๒,๕,๖ ซึ่งทุกคนให้การตรงกันถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเลือกตำแหน่งว่าง เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่พอใจผลการประชุมของ อ.ก.ค.ศ. ก็เลยร้องทุกข์ไป ก.ค.ศ.เมื่อ ก.ค.ศ.ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า อ.ก.ค.ศ.ทำถูกแล้วจึงยกคำร้อง และเป็นที่มาของคดีนี้

ผมสู้คดีจากรายละเอียดข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น และอธิบายด้วยว่าขณะนั้น อ.ก.ค.ศ.ยังไม่แบ่งเขตประถมกับมัธยม แต่มันอยู่ช่วงคาบเกี่ยว โรงเรียนที่ให้ผู้สอบได้เลือกบรรจุแต่งตั้งนั้นมีทั้งโรงเรียนประถมและมัธยม ผู้ฟ้องคดีเป็นครูมัธยมก็อยากดำรงตำแหน่งในโรงเรียนมัธยม พอถึงวันฟ้องกระทรวงศึกษาแยกสายการบริหารประถมกับมัธยมออกจากกัน อ.ก.ค.ศ.ชุดที่ผมบริหารอยู่ก็กลายเป็น อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ส่วนโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัยอยู่ในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๑๔ ก็เลยให้การไปช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ไปด้วยว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเลือกโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยม จึงไม่อาจบังคับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาได้ โน่น..คุณต้องไปฟ้องให้บังคับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๑๔ โน่น...สู้ประเด็นเผื่อไว้ อิอิ

 ผมสรุปท้ายคำให้การไว้ด้วยว่า “พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีแสดงให้เห็นว่าผู้ฟ้องคดีต่างหากที่มิได้เคารพกฏเกณฑ์กติกาที่กำหนดไว้ คิดจะได้ตามที่ตนเองต้องการเท่านั้นโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมและความสามารถของตน  การพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารสถานศึกษามีความละเอียดอ่อนเพราะหากสถานศึกษาแวดล้อมไปด้วยผู้บริหารที่เอาแต่ใจตนเองย่อมส่งผลถึงอนาคตของชาติ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางศึกษาได้พิจารณาผลกระทบในแต่ละด้านแล้วจึงได้มีมติดังกล่าว โดยมิได้มีอคติใดๆกับผู้ฟ้องคดี” อิอิ

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก็สู้ไปโดยนิติกรส่วนกลางเขาทำคำให้การมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ก็ทำคำให้การโดยนิติกรซึ่งขอให้ผมช่วยตรวจคำให้การให้ ส่งคำฟ้อง คำให้การ แล้วผู้ฟ้องคดีขอเพิ่มเติมคำฟ้อง เราก็ให้การเพิ่มเติมอีกโดยเอาเอกสารที่ผู้ฟ้องคดีอ้างเพิ่มมาเป็นหอกทิ่มเขาเอง คำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ต่างให้การแบบชี้แจงเหตุผลปกติ มีแต่ของผมที่ซัดเข้าให้บ้างอย่างที่เล่าให้ฟังข้างต้น

ในที่สุดผู้ฟ้องคดีก็เกษียณอายุราชการไป ก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำพิพากษา แฮ่...

ศาลปกครองนครศรีธรรมราชเพิ่งพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมานี้แหละครับว่ายกฟ้องในส่วนการฟ้อง อ.ก.ค.ศ. เพราะผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้องตามที่ผมสู้คดีไว้ ความจริงศาลปกครองสูงสุดก็เคยไม่รับฟ้องในส่วนของ อ.ก.ค.ศ.มาแล้ว ผมจะยกมาให้อ่านกันดังนี้ครับ

“พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๔๓/๒๕๕๕ แล้วว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติอนุมัติให้บรรจุและแต่งตั้ง(เปลี่ยนตำแหน่ง)ผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นเพียงขั้นตอนภายในของฝ่ายปกครอง อันเป็นการตระเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง อันมีลักษณะเป็นการพิจารณาทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงยังไม่อาจถือได้ว่ากระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนมติดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต่อศาล ข้อโต้แย้งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ฟังขึ้น”  ชนะน็อคครับ

ขออีกสักตอนนะครับ จะได้อ่านคำพิพากษามันๆครับ.

คำสำคัญ (Tags): #เฮฮาศาสตร์
หมายเลขบันทึก: 557653เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2013 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2013 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท