Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

การถอดบทเรียนการทำงานโดยคนทำงานในระบบงาน SCPP ครั้งนี้ย่อมเป็นบทเรียนที่ดีที่สุด - บทเรียนจากเรื่องจริง เป็นบทเรียนที่ดีที่สุดเสมอ


ท่านทั้ง ๔ กลุ่มในงาน SCPP จะเป็น “ภาพที่งดงาม” เสมอไปของคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ไม่ว่าท่านจะทำงานสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ เพราะสิ่งที่ท่านทำทั้งหมดหรือไม่ยอมทำทั้งหมดได้กลายเป็นบทเรียนสาธารณะที่คนทำงานด้านนี้จะได้มีโอกาสเรียนรู้จากท่าน ดังนั้น การถอดบทเรียนการทำงานของท่านในครั้งนี้จึงเป็น "การสร้างสรรค์ที่งดงามที่ควรชื่นชมเป็นอย่างสูง" บทเรียนจากเรื่องจริง เป็นบทเรียนที่ดีที่สุดเสมอ

SCPP และความงดงามของมนุษย์ ๔ กลุ่มในประเทศไทย[1]

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10152134661908834

---------------------------------------------------------

ผู้เขียนตั้งใจเขียนงานฉบับนี้เพื่อเป็นคำนำ (Preface) หรือคำนิยมในงานที่เรียกตัวเองว่า SCPP (Stateless Child Protection Project/โครงการคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ) จึงต้องมาอธิบายกันก่อนว่า SCPP เป็นเรื่องของอะไร ?

SCPP เป็นงานที่ออกแบบภายใต้สัญญาให้ทุนฉบับหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า “ข้อตกลงความร่วมมือ” ที่ลงนามระหว่างภาคีสองฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่ง ก็คือ แตร์ เด ซอม- ฝรั่งเศส เยอรมนี โดย อัลเบอร์โต้ คาคายัน และอิสราภรณ์  ดาวราม และ คณะกรรมการโครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐ (Stateless Children Protection Project Committee-SCPPC) โดย สันติพงษ์ มูลฟอง ซึ่ง SCPPC จัดตั้งโดยองค์กร ๗ องค์กรที่มีรายนามดังต่อไปนี้ (๑) ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน/Development Center for Children and Community Network-DCCN (๒) มูลนิธิกระจกเงา/Mirror Foundation-MF (๓) ภาคีต่อต้านการค้าเด็กและหญิง ประเทศไทย/Child Trafficking Watch, Thailand-CTWT (๔) กลุ่มละครชุมชน กั๊บไฟ/Gab Fai Community Theater Group-GFCT (๕) มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา/Hill Area and Community Development Foundation-HADF (๖) องค์กรสิทธิชุมชน จ. พะเยา/Phayao Community Rights Organization-PCRO และ (๗) โครงการบ้านแสงใหม่/Ban Saeng Mai) โดย มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนพื้นที่สูง ข้อตกลงความร่วมมือนี้ก่อให้เกิด “งานเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย” เป็นระยะเวลา ๓ ปี ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๔ จนถึงวันที่ ๓๑  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๖  

SCPP เป็นความเคลื่อนไหวทางสังคมใน ๓ ลักษณะใหญ่ ดังปรากฏตามแผนผังด้านล่างนี้ กล่าวคือ (๑) งานเพื่อกลุ่มบุคคลเป้าหมาย (๒) งานเพื่อเป้าหมายโครงการ และ (๓) งานเพื่อตัวชี้วัดผลการทำงาน

 

เราจะสังเกตเห็นในประการแรกว่า SCPP มองกลุ่มบุคคลเป้าหมายของการทำงานภายใต้โครงการนี้ออกเป็น ๒ ระดับ กล่าวคือ (๑) เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งถือเป็น “กลุ่มเป้าหมายตรง” และ (๒)  คนที่สนับสนุนการจัดการสิทธิของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ อันหมายถึง ครอบครัวของเด็กและเยาวชนดังกล่าว รวมถึง “เจ้าหน้าที่รัฐระดับจังหวัดและเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้ยกร่างนโยบาย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกทางทะเบียนราษฎร รวมถึงบุคคลที่ทำหน้าที่ด้านกฎหมายและนโยบายในรัฐสภา องค์กรสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน”   ที่ข้อตกลงร่วมเรียกว่า “กลุ่มเป้าหมายโดยอ้อม”

เราจะเห็นในประการที่สองว่า งาน SCPP หมายถึง งานที่มีเป้าหมายเกี่ยวกับการจัดการสิทธิของเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การคุ้มครองสิทธิของคนดังกล่าวภายใต้กฎหมายไทย (๒) การช่วยเหลือให้คนดังกล่าวได้สถานะบุคคลตามกฎหมายที่ควรจะเป็น และ (๓) การส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้คนดังกล่าวใช้สิทธิทางการศึกษาและทางสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน

เราจะเห็นในประการสุดท้ายว่า งาน SCPP หมายถึง งานเพื่อจัดการตัวชี้วัดผลการทำงาน ๘ ลักษณะ/๓ กลุ่มกิจกรรม กล่าวคือ (๑) การพัฒนาข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติที่เข้าถึงได้โดยสาธารณะและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ (๒) การฝึกอบรมบุคคลให้มีศักยภาพที่จะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ (๓) การสร้างคลินิกกฎหมายและห้องเรียนเคลื่อนที่สำหรับคนดังกล่าว (๔) การก่อตั้งกลุ่มเยาวชนที่ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อคนดังกล่าวใน ๗ พื้นที่ทำงานของ SCPP (๕) ความพยายามที่จะเริ่มต้นขั้นตอนทางกฎหมายโดยผู้แทนของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติใน ๒๔๐ ชุมชนที่ SCPP ทำงาน (๖) การสร้างสือเพื่อการเรียนรู้ในการจัดการสิทธิของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ (๗) การรับคำร้องเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ และ (๘) การสร้างเว็บไซคฺที่เข้าถึงได้ทั้งในระดับภายในและระหว่างประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานของ SCPP อันหมายถึงองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของเด็กและเยาวชนในประเทศไทย

ดังนั้น เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า งาน SCPP ภายใต้ข้อตกลงร่วมที่เกิดขึ้นระหว่างแตร์เดซอมและเอนจีโอไทยทั้ง ๗ องค์กรนี้จึงเป็นความฝันที่งดงามที่สุดสำหรับ “เด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ” หากงานบรรลุถึงความสำเร็จแม้เพียงครึ่งเดียว ก็หมายความว่า เด็กและเยาวชนย่อมมีคุณภาพชีวิตที่ดี และแม้จะยังคงไร้รัฐไร้สัญชาติ แต่ปัญหาดังกล่าวจะจบลงในไม่ช้า

ผู้เขียนคำนำ/คำนิยมจึงขอแสดงความชื่นชมในความงดงามของคน ๔ กลุ่มที่เข้ามาปรากฏตัวในงานครั้งนี้ กล่าวคือ (๑) เอนจีโอทั้ง ๗ องค์กรที่รับทำงานใหญ่ครั้งนี้ (๒) แตร์เดซอมที่สนับสนุนทางการเงินของการทำงานครั้งนี้ (๓) เด็ก เยาวชน และครอบครัว ผู้เป็นเจ้าของปัญหา ตลอดจนภาคประชาสังคม อันรวมถึงภาคราชการที่รักษาการทางกฎหมายที่เข้าร่วมเป็นผู้ผลักดันการจัดการปัญหา  และ (๔) คณะนักวิชาการที่เข้าทำหน้าประเมินผลเพื่อการพัฒนาระบบงานของ SCPP ในช่วงสามปีที่ผ่านไปนี้

เราคงจะต้องฝันบนความเป็นจริงและยอมรับว่า งาน SCPP ยังไปไม่ถึงครึ่งทาง แต่เราคงปล่อยให้คนทั้ง ๔ กลุ่มนี้หยุดงานไม่ได้ ตราบเท่าที่ยังมีเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติใน ๒๔๐ ชุมชนภาคเหนือของประเทศไทย เราควรจะต้องให้กำลังใจคนทั้ง ๔ กลุ่มดังกล่าวที่จะจับมือกัน (๑) ในการสร้างแรงบันดาลใจที่มีคุณภาพที่ดีในการทำงานต่อไป (๒) ในการสร้างองค์ความรู้ที่ยั่งยืนที่สุดในการทำงาน (๓) ในการฝึกฝนทักษะในการจัดการอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดจากการทำงาน และ (๔) ในการพัฒนาแนวคิดและขั้นตอนการทำงานภายใต้กรอบ SCPP ที่เริ่มต้นมาแล้ว ๓ ปี

การถอดบทเรียนการทำงานโดยคนทำงานในระบบงาน SCPP ครั้งนี้ย่อมเป็นบทเรียนที่ดีที่สุดที่จะพัฒนาทั้งตัวตนของคนทำงานและระบบงาน รวมถึงระบบการเชื่อมและประสานงาน 

ท่านทั้ง ๔ กลุ่มในงาน SCPP จะเป็น “ภาพที่งดงาม” เสมอไปของคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ไม่ว่าท่านจะทำงานสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ เพราะสิ่งที่ท่านทำทั้งหมดหรือไม่ยอมทำทั้งหมดได้กลายเป็นบทเรียนสาธารณะที่คนทำงานด้านนี้จะได้มีโอกาสเรียนรู้จากท่าน ดังนั้น การถอดบทเรียนการทำงานของท่านในครั้งนี้จึงเป็น "การสร้างสรรค์ที่งดงามที่ควรชื่นชมเป็นอย่างสูง" บทเรียนจากเรื่องจริง เป็นบทเรียนที่ดีที่สุดเสมอ

 

 

[1] เป็นงานเขียนเพื่อเป็น preface หรือ “คำนิยม” นำหน้ารายงานภายใต้โครงการทำงานประเมินผลเพื่อพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายโครงการคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ (Stateless Child Protection Project : SCPP)  

คำสำคัญ (Tags): #SCPP#Stateless Child Protection Project
หมายเลขบันทึก: 557389เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2013 09:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2013 09:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท