Assessment For Learning in KS 3/4 Science การประเมินผลการเรียนรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษา


โดย ครูแอนิต้า คาพิลา เป็นครูสอนชีววิทยา โรงเรียนเบอเนิม อัพเพอร์

นวัตกรรมที่ใช้ คือ การประเมินผลการเรียนรู้ (AFL) แบบขั้นบันได

การประเมินผลการเรียนรู้ (Assessment For Learning : AFL)

             การประเมินเพื่อการเรียนรู้นั้นมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือเพื่อการปรับปรุง พัฒนา และ     แก้ปัญหา ในการเรียนรู้ของนักเรียนโดยมุ่งหวังผลในด้านการบรรลุตามเป้าหมายการเรียนรู้หรือมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ ครูและนักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมิน โดยลักษณะการประเมินที่เป็นหัวใจของการประเมินเพื่อการเรียนรู้ คือ การประเมินผลระหว่างเรียน (formative assessment) ร่วมกับการให้ข้อมูลย้อนกลับ (feedback) ซึ่งมียุทธวิธีและเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินหลากหลาย ครูต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง แต่ทุกๆ เครื่องมือ/วิธีการประเมิน มีจุดร่วมเดียวกันคือ อาศัยหลักการมีส่วนร่วมทั้งครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนกับนักเรียน และสิ่งที่เป็นพลังขับเคลื่อนการเรียนรู้ของนักเรียนได้ คือ การให้ข้อมูลป้อนกลับแก่นักเรียนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพของการประเมิน         (ธีรพงศ์  จุลสายพันธ์, 2555: ออนไลน์)

             การประเมินผลการเรียนรู้ทำให้รู้ว่านักเรียนอยู่ในระดับไหน และบอกด้วยว่าจุดอ่อนของนักเรียนอยู่ตรงไหน จุดอ่อนนั้นอาจเป็นชีววิทยา เคมี หรือฟิสิกส์ ซึ่งปกตินักเรียนมักจะมีจุดอ่อนในวิชาใดวิชาหนึ่ง ถ้ามีการประเมินผลรายวิชาจะทำให้รู้ว่า นักเรียนทำได้แค่ไหน ซึ่งหวังได้ว่า ก่อนสอบวัดผลเก็บคะแนนเข้ามหาวิทยาลัย (SAT) จะสามารถแก้จุดอ่อนได้ เช่น การไต่สวนทางวิทยาศาสตร์ได้สำเร็จก่อนที่นักเรียนจะสอบวัดผลเก็บคะแนนเข้ามหาวิทยาลัย (Scholastic Assessment Tests : SAT)

วิธีการส่วนประกอบ

             การประเมินผลการเรียนรู้ (Assessment For Learning : AFL) รายวิชา ชีววิทยา เรื่อง เซลล์

             ครูแอนิต้า คาพิลา มักจะใช้การประเมินผลก่อนการเรียนรู้ก่อนจะเริ่มบทเรียน เช่น การวาดแผนภาพ แล้วให้นักเรียนเขียนคำตอบลงในสมุด พอนักเรียนยกคำตอบให้ดู ครูแอนิต้าก็จะรู้ว่าใครเข้าใจและใครไม่เข้าใจ ซึ่งสามารถทำให้ครูแอนิต้าวางเป้าหมายในการสอนและวางแผนทบทวนได้

             เทคนิคที่ครูแอนิต้าใช้ชื่อ “ขั้นบันได” เป็นเทคนิคที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจการเรียนรู้ของตัวเอง เทคนิคขั้นบันไดจะเป็นการให้คะแนนตามหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เมื่อนักเรียนทำการประเมินผล นักเรียนจะมีขั้นบันไดของงานแต่ละอย่าง ขึ้นอยู่กับว่านักเรียนจะทำงานได้กี่อย่าง นักเรียนก็จะได้คะแนนในระดับนั้น แล้วยังแบ่งเป็นระดับย่อยอีก เช่น ระดับ 3A,3B,3C ซึ่ง 3A,3B คือ ต่ำสุด ส่วน 3C คือ สูงสุด และถ้านักเรียนสามารถทำได้ 1 ข้อ ครูก็จะให้ 3A แต่ถ้านักเรียนทำได้ทั้งหมด ครูก็จะขึ้นไปในระดับต่อไป ซึ่งคือ 4 และดูว่าในระดับนี้นักเรียนสามารถทำได้กี่ข้อ

 

             ตัวอย่างเช่น ถ้านักเรียนอยู่ระดับ 5 นักเรียนควรจะแยกสิ่งต่างๆ ออกจากกันได้ และสามารถประยุกต์ข้อมูลทุติยภูมิ เพื่ออธิบายสิ่งต่างๆ แต่ถ้านักเรียนอยู่ระดับ 7 นักเรียนจะต้องรู้จักการเชื่อมโยงความคิด เช่น ในบทเรียนเรื่อง การสืบพันธุ์ ที่เรียนเรื่องไข่กับสเปิร์มมาผสมกัน นักเรียนต้องเชื่อมโยงความรู้ เรื่อง เซลล์ ที่เรียนมา และรู้ว่านี่คือเซลล์ชนิดพิเศษ

             การให้นักเรียนประเมินงานเก่าถือเป็นเรื่องที่ดี ช่วยให้นักเรียนเห็นในแบบที่ครูเห็น ช่วยให้รู้ว่าต้องทำอย่างไร เพื่อไปในระดับที่สูงขึ้น นักเรียนจะให้คะแนนเป็นกลาง เพราะไม่ใช่งานของตัวเอง จะไม่ให้คะแนนสูงจนเกินไป และกล้าใส่คะแนนอย่างสบายใจ

             อีกอย่างหนึ่งที่ครูแอนิต้าใช้คือการนำประสบการณ์จากการทำงานเป็นอดีตนักค้นด้าน          ชีวการแพทย์มากระตุ้นให้นักเรียนสนใจวิทยาศาสตร์ ซึ่งนี่ถือเป็นกิจกรรมที่เยี่ยมมาก และยังทำให้นักเรียนได้เงินจากการทำงานนี้ด้วย จึงยิ่งทำให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นมากขึ้น เพราะครูทำให้วิทยาศาสตร์มีชีวิตชีวา

             หลังจากที่นักเรียนเคยให้คะแนนข้อสอบเก่า แบบขั้นบันได นักเรียนจึงรู้หลักเกณฑ์ให้คะแนนที่จะทำให้คะแนนดีขึ้น ซึ่งในการประเมินการให้คะแนน ครูจะเน้น 3 ข้อที่นักเรียนทำถูก เพื่อเป็นการให้กำลังใจนักเรียน เราเรียกว่า “คะแนนคุณภาพ”

ผลจากการนำไปใช้

             การใช้วิธีประเมินผลแบบนี้ ถือเป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนทำคะแนนได้ดีกว่าเดิม ทำให้นักเรียนกระตือรือร้นที่จะก้าวต่อไปอีกขั้น เพราะนี่เป็นเป้าหมายของกิจกรรมนี้ ที่ทำให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจ แต่ถ้าครูไม่ให้แนวทางที่ก้าวต่อไป นักเรียนก็จะหยุดนิ่งไม่ก้าวต่อ ถึงแม้ว่าจะเป็นการหนักสำหรับครู แต่มันก็คุ้มค่าและมีประโยชน์สำหรับนักเรียน จึงได้ใช้เทคนิคการประเมินผลยุทธวิธีการเรียนรู้ ที่จะทำให้นักเรียนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง

 

ที่มา :

VDO โทรทัศน์ครู : http://iptv-lms.uni.net.th/es_iptv/view.php?video_id=291&LANGUAGE&u

ธีรพงศ์ จุลสายพันธ์. (2555). บทความทางวิชาการ นิสิตระดับดุษฎีบัณฑิต: การประเมินผลการเรียนรู้

(Assessment For Learning : AFL), จากhttp://junrevaluation.wordpress.com/2012/05/25/

หมายเลขบันทึก: 557370เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2013 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2013 22:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท