มาตรฐานการศึกษา


 

          เรามักเข้าใจผิด ว่ามาตรฐานการศึกษาอยู่ที่ กกอ./สกอ.    จริงๆ แล้ว นั่นเป็นเพียงส่วนเดียว    เป็นมาตรฐานในกระดาษ    ยังมีส่วนมาตรฐานในการปฏิบัติ   มาตรฐานในวัฒนธรรม    มาตรฐานในคุณธรรม   และอื่นๆ อีกมากมาย จาระไนไม่หมด

          เมื่อวันที่ ๑๘ พ.ย. ๕๖ ผมได้รับฟังเรื่องเล่าจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง    เรื่อง ดร. ก  จบจากต่างประเทศ ไปรับราชการใช้ทุนในมหาวิทยาลัย ร ในต่างจังหวัด   และพบว่าลูกศิษย์เกือบทั้งหมดไม่ตั้งใจเรียน   และเรียนอ่อนมาก    ถึงเวลาสอบ ผลคือตกค่อนชั้น

          เมื่อมีผลสอบออกมา    ก็มีชายชุดดำ เป็น สมาชิก อบต. (ผมไม่แน่ใจว่าท่านเล่าว่าเป็นนายก อบต. หรือเปล่า) มาหา ดร. ก  ว่าลูกของตนจะสอบตกได้ไง   อาจารย์สอนอย่างไร เด็กสอบตกค่อนห้อง    ถ้าไม่แก้คะแนน จะมีเรื่อง

          ดร. ก ยังอ่อนเยาว์ในเรื่องเช่นนี้    จึงไปขอคำปรึกษาจากอธิการบดี    ได้รับคำแนะนำว่า    ทาง อบต. เขาช่วยเหลือมหาวิทยาลัยมาก   หากไม่ช่วยลูกของสมาชิก อบต. ท่านนี้ ต่อไปความช่วยเหลืออาจลดลง    จึงแนะนำให้แก้เกรด

          ดร. ก งุนงงและอึดอัดต่อคำแนะนำ    และในที่สุดก็ต้องแก้เกรด   แต่ก็ทำใจไม่ได้    ในที่สุดก็ลาออกจากมหาวิทยาลัย ร    ไปทำงานที่อื่น 

          ผมมีคำถามเพื่อเป็นความรู้ว่า เหตุการณ์ทำนองนี้มีเกิดที่อื่นอีกไหม   เกิดบ่อยไหม

          ป้องกันอย่างไร

          ผมมีคำแนะนำว่า วิธีป้องกันแบบตัดไฟแต่หัวลม คือ อาจารย์ต้องฝึกวิธีสร้าง student engagement    หรือฝึกวิธีทำให้เรียนสนุก   ดังปรากฎในหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ : สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ ๒๑   ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรี    โดยมหาวิทยาลัยที่เผชิญปัญหา นศ. เรียนอ่อนและไม่ตั้งใจเรียนควรมีคนศึกษาหนังสือเล่มนี้ และจัด training workshop แก่ครู    และจัดให้มี PLC Student Engagement  ให้อาจารย์ได้ ลปรร. เทคนิคหรือเคล็ดลับ ที่ช่วยให้ นศ. เรียนสนุก และเรียนแล้วรู้จริง

          นี่คือวิธีบริหารมาตรฐานการศึกษา ในระดับปฏิบัติ    ใกล้ตัวนักศึกษาที่สุด    และเป็นของจริงแท้ที่สุด

          มาตรฐานที่แท้ อยู่ที่การปฏิบัติ   ไม่ได้อยู่ในกระดาษ

 

วิจารณ์ พานิช

๒๐ พ.ย. ๕๖

 

หมายเลขบันทึก: 557169เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2013 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2013 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นจริง ในมหาวิทยาลัยเราขาดหน่วย การเรียนการสอน เพื่อพัฒนาอาจารย์ และนักศึกษา ผมชอบที่ศาสตราจารย์

ญี่ปุนคนหนึ่งบอกว่า ถ้านักเรียนสอบตกต้องดูที่อาจารย์

...หลายคนยังเข้าใจว่า...มาตรฐานเป็นเกณฑ์สูงสุดที่ต้องยากมาก...ทำให้เด็กไม่สามารถทำข้อสอบมาตรฐานที่ยากจนเกินไปได้ ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท