ความหลากหลายและความเป็นชุมชนในศตวรรษที่ ๒๑


 

          ปาฐกถารางวัล Johan Skytte 2006 เรื่อง E Pluribus Unum : Diversity and Unity in the Twenty-First Century. The 2006 Johan Skytte Prize Lecture   โดย Robert D. Putnam    บอกเราว่า โลกในยุคต่อไปผู้คนในแต่ละสังคมจะมีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น    ผลในระยะสั้นคือจะเกิดความตึงเครียด    แต่ในระยะยาวความหลากหลายนี้จะเป็นพลัง

          ปาฐกถานี้เต็มไปด้วยข้อมูล ที่เป็นผลการวิจัยที่ซับซ้อน (multivariate analysis)  และต้องออกแบบอย่างดีจึงจะน่าเชื่อถือ    ผมไม่มีสติปัญญาจะประเมินความน่าเชื่อถือได้     จึงได้แต่เชื่อในชื่อ Robert Putnam   

          ความเป็นชุมชน หรือความรู้สึกอบอุ่นว่ามีเพื่อน มีเครือข่ายสังคม    เป็นทั้งเรื่องมีเครือข่ายจริงๆ   และเรื่องของความรู้สึก(perception)    อ่านในปาฐกถานี้แล้ว จะเห็นว่า “ความรู้สึก” ของมนุษย์นี้ มันซับซ้อน และอาจไม่ตรงตามสามัญสำนึก    เช่น อ่านตามรูปที่ ๓ - ๖ แล้วจะสรุปได้ว่า ความรู้สึกไม่ปลอดภัย ในชุมชนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาตินั้น   ไม่ใช่ตัวการอยู่ที่คนต่างเชื้อชาติ แม้ต่อคนชาติพันธุ์เดียวกัน ก็รู้สึกไม่ปลอดภัย    และความไม่เชื่อถือ ไม่มั่นใจ (social trust ต่ำ)    ไม่ได้มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น    แต่มีต่อสถาบัน เช่นต่อรัฐบาลท้องถิ่นด้วย

          ทำให้อดหวนคิดมาถึงเมืองไทยไม่ได้ว่า    สภาพบ้านเมืองของเราเวลานี้    แม้จะเป็นคนเชื้อชาติเดียวกัน    แต่ก็มีความไม่ไว้วางใจกันสูงมาก   ผมตีความว่า (ไม่ทราบตีความถูกหรือไม่) เวลานี้ social capital ในสังคมไทยตกต่ำลงอย่างน่ากลัว   

          ปาฐกถานี้ เริ่มต้นโดยบอกว่า การมีเครือข่าย มี social capital มีผลต่อสุขภาพของคน    ผมตีความต่อในฐานะหมอว่า    ทำให้สุขภาพจิตดี  ภูมิคุ้มกันโรคดี  เป็นโรคต่างๆ ยากขึ้น รวมทั้งโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง

          กลับมาที่ผลการวิจัยที่นำเสนอในปาฐกถา    เขาสรุปว่า เวลานี้คนอเมริกันรู้สึกไม่สบายใจ ที่สังคมอเมริกันมีความหลากหลาย คือมีคนต่างชาติเข้าเมืองมากขึ้น 

          ผมได้รู้จักคำ social distance, social identity   เขาบอกว่า เมื่อคนเรามี social distance ระหว่างกันน้อย    ก็จะเกิดความรู้สึกว่ามี social identity เดียวกัน คือเป็นพวกเดียวกันทางสังคม    ผมตีความง่ายๆ ว่า หาก social distance น้อย คนเราจะรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน   หาก social distance ห่างกัน ก็จะรู้สึกว่าเป็นคนละพวก    ย้ำว่านี่เป็นความรู้สึก    และเขาบอกว่า เมื่อคนเราเปลี่ยน social identity ของตน พฤติกรรมจะเปลี่ยนด้วย    

          social identity นี่แหละคือเครื่องมือช่วยให้ความหลากหลายทางเชื้อชาติ กลายเป็นพลัง    โดยจะต้องมีมาตรการทางสังคม และทางอื่นๆ เพื่อสร้าง shared identity ขึ้นในสังคมนั้นๆ    คือแต่ละคนต่างก็มี identity จำเพราะของตน   และในขณะเดียวกัน ก็มี shared identity ร่วมกับคนเชื้อชาติ (หรือศาสนา หรือ ฯลฯ) อื่นด้วย  

          เขายกตัวอย่างความสำเร็จในการสร้าง shared identity ในสหรัฐอเมริกา    เช่น เวลานี้ในกองทัพอเมริกัน มีสภาพเป็นสถาบันที่ “บอดสี”    คือไม่มีความรู้สึกแบ่งแยกผิวสี   และยกตัวอย่างอิทธิพลของศาสนาคาทอลิก ในการสร้าง shared identity ระหว่างคนต่างเชื้อชาติ

          ที่จริงสังคมไทยในภาพรวมมีความสามารถสูงในการสร้าง shared identity ระหว่างคนเชื้อชาติไทย  จีน  ไทยภูเขา    และในประวัติศาสตร์ สังคมไทยเป็นสังคมที่ผู้คนเป็นลูกผสม   ถือเป็นความสำเร็จในการสร้างกระบวนการ social assimilation ตามธรรมชาติ    

          เรื่องความหลากหลายและความเป็นชุมชน    มี shared social idendity ในสังคมไทย ในยุคนี้ น่าจะเป็นโจทย์วิจัยทางสังคมศาสตร์ ที่มีคถณประโยชน์ต่อสังคมอย่างยิ่ง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๙ พ.ย. ๕๖

 

       

หมายเลขบันทึก: 556721เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2013 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2013 09:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

LINK ที่อาจารย์แนบมา เขาไม่อนุญาตให้เข้าไปดูครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท