"๔ จุด ย."


             ปฐมบท: เมื่อวานได้พูดคุยกับเพศที่สามท่านหนึ่ง ที่มีปัญหาเรื่องชีวิต ความคิด การกระทำ และจุดหมาย เธอ (เขา) ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เหมือนมีปัญหารุมเร้า คิดไม่ตก จึงนั่งพูดคุยกัน แล้วก็เสนอให้เธอ (เขา) ดำเนินตาม ๔ จุด ย. แบบท้าทายตัวเธอเอง ด้วยมุมมองใหม่ เพื่อพัฒนาชีวิตด้าน ทัศนะ จิตใจ ให้รู้จัก ยืดหยุ่น ละวางลงบ้าง เธอ (เขา) รู้สึกผ่อนคลายลง โล่งใจที่เจอเส้นทางการคิดใหม่

                  อะไรคือ ๔ จุดย.? ก่อนอื่นขอมองรากฐานสังคมไทยก่อนนะ.. เนื่องจากว่าคนไทยกำลังตกอยู่ในวิถีบริโภคนิยมอย่างแรง โดยไม่ค่อยใส่ใจความเป็นมนุษย์กัน ซึ่งขาดรากฐานทุนธรรมในใจหรือไม่ จึงทำให้ผู้ที่เกิดมาใหม่ (วัยรุ่น) จึงตกอยู่ในกระแสเล่ห์เหลี่ยมของพ่อค้าหน้าดื้อทั้งหลายในสังคม กอบโกยเอาประโยชน์จากความคลั่งไคล้กับผู้อ่อนแอ 

                  ผู้เขียนเคารพครู องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กๆ เพราะบุคคลเหล่านี้ คือผู้วางชิบทัศน์ใส่สมองให้เด็ก ถ้าโปรแกรมที่ใส่เข้าไปแน่นและครอบคลุมพอ เด็กจะมีรากฐานที่เป็นภูมิคุ้มกันบ้าง  แต่ครูปัจจุบันมีพลวัตรต่อการเรียนรู้แค่ไหน กอปรรัฐป้อนความอยากให้เด็กด้วยนโยบายแจกฟรี (ประชานิยม) น่าห่วงอนาคตที่จะหมดพลเมืองปัญญาชน (บ่นหรือปล่านี่)

                  มาถึงมัธยมการเรียนรู้ของเด็กไม่มีคุณภาพตามที่ตัวเอง (รัฐ) วางไว้ เด็กอ่านไม่ออก วิเคราะห์ไม่เป็น วิชาโน้นแย่ วิชานี้แย่ มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องได้รับการร่วมมือทุกองค์กร (รัฐ เอกชน ศาสนา ต่างประเทศ) นี่คือ ปัญหาของชาวโลก (Big problem) พอถึงมหาวิทยาลัยเด็กก็ขาดทักษะการเรียนรู้ ขาดพื้นฐานวัฒนธรรมตนเอง หนักไปเสพสนุก เน้นอิสระเสรีภาพ ฯ ทำให้สถาบันมหาวิทยาลัย (มหา=ใหญ่ + วิทยา= ความรู้ + อาลัย= ที่พัก เรือนอาคาร เยื่อใย) กลายเป็นใบเบิกทางหางาน หาเงิน แต่วิชาที่สอนให้มนุษย์เป็นมนุษย์ ที่มีจิตวิญญาณด้านความเป็นมนุษย์ ที่เน้นการรู้วิทยาการการมองสังคม ปรากฏการณ์ของโลก จักรวาล ลึกซึ้งหรือไม่

                  ผลจึงไปตกที่พลเมืองของชาติ นั่นคือ ผู้คนตกเป็นทาสของวัตถุ สังคม สิ่งบันเทิง เหลิงในตัวเองมีชีวิตแค่สนุก เสพสุขไปในแต่ละปี ครั้นจะอาศัยศาสนาก็โงนเงน เซซัด จะเอาตัวเองก็แทบจะไม่รอด (ท่านที่ดีก็เยอะ) เด็กยุคใหม่จึงเหมือนเตลิดไปกับเวทีแห่งความอยากที่เปี่ยมด้วยเสรีภาพ จึงทำให้ผู้คนสร้างกิจกรรม วาทกรรม ธุรกรรม สังคมกรรม ออกมาอย่างเสรี อยากจะทำอะไรก็ทำ ไม่คำนึงถึงกฏกติกา มารยาท บ้านเมือง (ดูเหมือนซีเรียสจัง) สิ่งที่แทรกตามมาคือ จิตใจคนเมืองขาดที่พึ่ง เพราะไปเกาะกับวัตถุ แล้วมันก็กัดเอา ผลจึงตกมาที่คนอ่อนแอ ที่ไม่รู้ทันกลเกมแห่งความโหดนี้ จึงกลายเป็น "ผลกรรม" (ผลกระทบจากธุรกรรมในสังคม)

                   อารมภบทซะยืดยาด ไม่เข้าเรื่องซะที---ด้วยเหตุนี้ จึงได้พบกรณีตัวอย่างเมื่อวานนี้ครับ ผู้เขียนเลยเสนอให้เธอ (เขา) ดังนี้

                   ๑) "จุดยืน" (Standpoint) หมายถึง เราอยู่ในโลก สังคม ชุมชน ต้องรู้จักตัวเอง ต้องยึดจุดยืน (ยอดโลกใต้อุ้งเท้า) ตัวเองให้มั่นคง มิฉะนั้น อาจถูกแย่งที่ได้ หรืออาจเป๋ไปมาได้ กลายเป็น ไม้หลักปักขี้เลน  จุดยืนมี ๓ จุด คือ ๑)จุดของตนเอง หมายถึง ความคิด จิตใจตัวตนเอง ๒)จุดของหลักการ หมายถึง การมีหลักยึดไว้ในตัวเอง มิให้ลอย มิให้ขาดหลัก เพื่อสลักตนเองให้มั่นคง หนักแน่น และ ๓) จุดของสังคมที่ตนอยู่ หมายถึง เราอยู่ที่ไหน ถิ่นใดก็ยึดถือว่า เราคือตัวแทนถิ่น ประเทศ พื้นที่นั้น เช่นเรามีบ้านอยู่ นั่นคือ สังคมขั้นปฐมภูมิเรา

                   ๒) "จุดยัน" (Defence) หมายถึง การแสดงบททนายเพื่อปกป้องตนเองบ้าง ในที่นี่คือ ปกป้องสิทธิทางกาย ทางใจ โดยมี ๓ เรื่องที่ต้องยืนยันกันคือ ๑) ความจริง หมายถึง เราต้องแสดงเนื้อหาตนเองเป็นจริง ให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่ตนเองเป็นอยู่ ๒) ความถูกต้อง หมายถึง เราต้องหาหลักความถูกต้องว่าเรา ทำถูก ถูกหลัก (นิติรัฐ นิติธรรม) ถูกกติกาสังคม วัฒนธรรม ๓) แสดงทัศนะ หมายถึง เราจะปกป้องตนด้วยการใช้ความเห็น ทัศนะของตนเป็นของตน มิใช่จากคนอื่น

                   ๓) "จุดยอม" (Acquiesce) หมายถึง จุดที่เราต้องยอมคนอื่น ยอมรับศักยภาพของตน ฐานะตน เพศตน วัยตน เพราะทุกคนจะมีจุดอ่อน จุดแข็งของตนเอง จุดไหนเราอ่อน เราไม่ถนัด ไม่ชำนาญ กายวิกฤต เจ็บไข้มา หรือการกระทำที่เราทำแล้วพลาดไป ก็ต้องยอมรับ ซึ่งทำยากถ้าใหญ่หรือหยิ่งในตัวตนแล้ว ลงจากหลังเสือยาก จุดนี้มี ๓ เรื่องคือ ๑) ยอมเพราะศักยภาพตน หมายถึง เรามีจุดอ่อนหรือไม่เก่ง ไม่ถนัดด้านนี้ ต้องยอมคนอื่นที่เก่งกว่า ๒) ยอมเพราะคนอื่นมีธรรม ถูกหลัก ถูกต้อง เป็นคนที่ซื่อสัตย์ เที่ยงตรง ยอมด้วยคุณธรรมของเขา ๓) ยอมเพราะมีประโยชน์ต่อส่วนรวม เห็ณคุณที่เป็นสากลมากกว่า ปัจจเจกบุคคล เพราะมีค่าต่อทุกๆคน

                   ๔) "จุดเย็น" (Calm) หมายถึง การยอมรับได้แล้วจะทำให้เราสงบ ไม่คิดปีนป่านใคร เอาชนะใจตนเอง สลัดความเป็นเจ้าของ เจ้านาย หรือเจ้ากรรม (ตัวเอง) ลง เพื่อให้ตัวเอง (จิต) สงบระงับ สำรวมได้ มีสติ รอบคอบขึ้น ซึ่งก็ยากเช่นกัน เว้นแต่ผู้ฝึกฝนตนเองในสถานการณ์จริงบ่อยๆ มี ๓ เรื่องคือ ๑) ลดความอยาก ความทะเยอทะยานลงบ้าง เพื่อมิให้ใจฟูหรือเหลิงตามใจตน อันจะนำไปสู่ความอยากไม่รู้จักจบสิ้น แล้วจะจนใจ ทุกข์ตามมา ๒) นำเอาต้นแบบคนอื่นมาเป็นแนวทาง เพื่อให้ตนเองมีร่องทางหรือวิถีจิตเอาเป็นทางหลวงของใจได้เดินสำรวจตนเหมือนต้นแบบนั้นบ้าง ๓) ฝึกจิตให้อยู่กับลมหายใจบ้าง เพราะนี่คือ ผู้ช่วยเราที่แท้จริง เป็นเพื่อนตายแท้ๆ มันคอยสนับสนุนเราให้อยู่รอดได้เพราะ "ลมปราณ"  เพื่อจะได้อยู่กับตัวเองอย่างลึกซึ้งบ้าง

                 หากไม่มีแนวทางในตัวเองอย่างชัดเจน เราก็จะตกเป็นเหยื่อสังคมได้ สุดท้ายเราเองก็เป็นทุกข์ เสียเงิน เสียทอง เสียเวลา เสียสุขภาพหรืออาจจะเสียชีวิตไปด้วย จุดที่จะตามมาคือ "จุดยุ่ง" (Ado) หมายถึง ความวุ่นวาย สับสน "จุดแย่" (Loss) ทรุดโสม เสียสุขภาพ เสียทรัพย์ เสียใจ เสียอะไรหลายอย่างตามมา "จุดย่อย" (Break) เป็นจุดที่แย่ยอดยิ่งยวดเลยทีเดียว

                     เธอ (เขา) จะเข้าใจหรือรับได้แค่ไหน เพราะใส่บทหนักให้เต็มๆ ซึ่งอาการเช่นนี้ ต้องใช้หม้อใหญ่แบบนี้ ไม่เช่นนั้น เดี๋ยวดื้อยา จนอาจกลายเป็นอาริยแย้งย่อมย่อยยับได้

---------------<>-----------------

คำสำคัญ (Tags): #๔ จุด#ย.
หมายเลขบันทึก: 556518เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2013 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2013 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจังครับ จุดปฐมบทที่กล่าวมาทั้ง 4 บทเป็นจุดที่ทำให้ทรงตัวได้เป็นอย่างดี มีอีกจุดหนึ่งที่กระผมชอบและเห็นถึงความสำคัญของมันคือจุดลมปราณครับ..ขอบคุณที่ให้ความคิด.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท