บันทึกถึงบัณฑิตใหม่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ๒๕๕๖


เขียนไว้ ณ พรารามัตต้า นิวเซาท์เวล์ ออสเตรเลีย ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๖

 

นิสิต ที่รักทุกท่านครับในวาระอันน่ายินดี คือนิสิตทั้งหลายที่สำเร็จการศึกษาและกลายเป็นว่าที่บัณฑิต ตลอดจนจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ผมขออนุญาตส่งความยินดีแทนตัวผมมาทางบันทึกฉบับนี้นะครับ  ในโอกาสที่น่ายินดีนี้ ผมขอส่งความความปรารถนาดีและความยินดีมายังบัณฑิตใหม่ทุกท่าน  เสียดายจริงๆที่ไม่ได้มีโอกาสไปร่วมแสดงความยินดีกับทุกท่านด้วยตัวเอง   ผม เองไม่มีอะไรจะมอบเป็นของขวัญให้ท่านทั้งหลายนอกจาก ข้อคิดบางประการที่ผมจะมอบให้ทุกท่านเช่นเดียวกับที่ผมมอบให้นิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวรทุกรุ่นที่ผ่านมา

 

บัณฑิตครับ ท่านสำเร็จการศึกษาเป็น “นิติศาสตร์บัณฑิต”

 

อย่าง ที่ท่านทั้งหลายทราบดี บัณฑิตนั้นหมายถึง “ผู้รู้” ส่วน นิติมาจากคำว่า “นีติ” และเป็นรากศัพท์ ของคำว่า “นายก” ที่แปลว่า “ผู้นำ” นั่นหมายความว่า บัณฑิตทั้งหลายมีหน้าที่ที่จะต้องไปช่วยเหลือบ้านเมืองด้วยความรู้ของท่าน ครับ ในโอกาสนี้ ผมใคร่ขอชวนท่านทั้งหลายคิด ในข้อคิดบางประการครับ บางคนอาจมีเป้าหมายอยากรับราชการ  เป็นผู้พิพากษา อัยการ อาจารย์สอนกฎหมาย  นิติกร หรือทำงานในภาคเอกชน แล้วแต่ท่าน  แต่ สิ่งหนึ่งที่ท่านกำลังจะพบต่อไป ในชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง ในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีบัณฑิตหลายท่านมาตัดพ้อให้ผมฟังว่าทำไม สังคมภายนอกมันถึงต่างกับที่อาจารย์สอน มันเต็มไปด้วยการแก่งแย่ง แข่งขัน ไม่สนุกเลย  แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกท่านคือ ทั้งหลายทั้งปวง นั่นคือ ความจริงของชีวิตครับ ผมไม่ได้สอนให้ท่านทราบเพราะ เราอยู่ในมหาวิทยาลัย นั่นเป็นสังคมอุดมคติ  การแข่งขันน้อยกว่าโลกภายนอก ที่นี่มีครู ที่นี่มีเพื่อน มีความผูกพันธ์ มีภาพความทรงจำ รอยยิ้มและน้ำตา  บทเรียนสุดท้ายที่ผมคนเป็นครูจะมอบให้ทุกท่าน คือ ผมอยากให้ท่านทั้งหลายมี  ทรัพย์ภายในสามข้อ คือ อดทน อดกลั่น และอดออมครับ  อดทน คือการทนต่อความลำบากทางกาย การอดทนสู้งานหนัก ต่างๆ  อดทนต่อปัญหาอุปสรรค

อดกลั่น คือการทนต่อสิ่งไม่สบายใจที่มากระทบใจอย่าทำอะไรที่ไม่สมควรไปให้เสียชื่อความเป็นนักกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของตัวท่านและและความสงบของสังคมโดยรวม  ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงการให้เก็บกด  แต่หมายถึงให้ทำอะไรตามกรอบ ตามครรลองที่ควรเป็น   และโดยสันติวิธี        อดออม คือการรู้จักใช้ในสิ่งที่ต้องใช้ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

สามข้อนี้หากใครปฏิบัติได้ ชีวิตจะเจริญไม่มีตกต่ำ นี่เป็นคำสอนที่ พระอาจารย์ผมให้ไว้

 

อนึ่ง ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่สงบแบบนี้ ผมคงขอให้ทุกท่านมีคุณสมบัติอีกข้อ คือการยอมรับในความเห็นที่แตกต่าง ปัจจุบันประเทศของเรา กำลังอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่าน คนในสังคมก็มีความเห็นที่หลากหลาย  และด้วยความหลากหลายเช่นว่านี้อาจจะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันได้ง่าย  อันนำไปสู่ความแตกแยก ความสำมัคคีทั้งในหมู่เพื่อนฝูงและในสถานที่ทำงาน  ผม อยากให้บัณฑิตทั้งหลายถือเอาไว้ในใจว่า “ความต่าง คือความงดงาม  ตราบใดที่ความต่างนั้น อยู่ในกรอบของศิลธรรมอันดี และกรอบของกฎหมาย (ทั้งนี้กฎหมายนั้นต้องเป็นธรรม ด้วย)  เพราะความต่างนี้ทำให้โลกของเราได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ การพัฒนาใหม่ๆ ในสังคมประชาธิปไตย  การถกเถียงที่ใช้เหตุผลไม่ใช้อารมณ์และอคติเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า  แต่ทั้งนี้ ผมไม่ได้หมายถึง  การให้ท่านทั้งหลายไม่มีจุดยืนของตัวเองในเรื่องต่างๆ นะครับ  การที่มีจุดยืนหรือเป้าหมายที่ชัดนั้นเป็นสิ่งที่ดี และควรถือว่า ใครที่มีเป้าหมายชัดนั้น เป็นคนโชคดีเพราะจะทำให้เรารู้ว่า  เราจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  แต่การไม่ฟังความเห็นคนอื่น  หรือ การที่เรายึดถือความคิดใดความคิดหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงอื่นๆ หรือความเห็นอื่นๆนั้นทำให้เราเสียประโยชน์ และอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมได้ บรรพตุลาการของพวกเราได้สอนให้พวกเราเว้นมาตลอด ดังที่ท่านทั้งหลายได้เรียน ในรายวิชาประวัติศาสตร์กฎหมาย เรื่องอคติ ๔ ครับ   ผมอยากชวน คิดต่อไปอีกนิดถึง คุณประโยชน์ ของการเว้นซึ่งอคติ ๔ และการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นอื่นๆครับ - ทำให้เราเข้ากับคนอื่นได้ง่ายอยุ่กับสังคมได้ทุกหมู่เหล่า - ทำให้เรารู้จักนำส่วนดีของคนอื่นมาปรับใช้ -ทำให้เราเห็นทั้งข้อดีและข้อเสียของตัวเราเองและคนอื่นเพื่อที่จะปรับแก้ ให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป

 

 ผมว่า ผมเขียนยาวเกินควรแล้ว  ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ ผมต้องขอบคุณทุกท่านมากที่อุตส่าอ่านบันทึกฉบับนี้  หวังเป็นอย่างยิ่งว่ามันจะมีประโยชน์กับท่านบ้างไม่มากก็น้อย

 

สุดท้ายนี้  ผมอยากบอกทุกท่านว่า เราต้องช่วยกันดูแลบ้านเมืองของเราครับ  และทำให้ทุกคน  ทุกชนชั้น  มี ที่ยืนในสังคมอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย ถ้าเราไม่ดูแลบ้านเมืองของเราแล้ว วันหนึ่งถ้าบ้านหรือประเทศที่รักของพวกเราพังลงเราจะไม่มีที่ยืนครับ

 

อนึ่ง ถ้าท่านอ่านบันทึกฉบับนี้ดีจะเห็นผมใช้สรรพนาม ผม และท่าน  และดูแปร่งๆ ไม่เหมือนที่อาจารย์ เคยพูด เคยสอน  ผมอยากบอกทุกท่านว่าผมตั้งใจเลือกใช้สรรพนามเหล่านี้ ในบันทึกฉบับนี้เป็นพิเศษเพราะผมอยากเน้นย้ำให้ท่านเห็นว่า ทั้งผม และท่านทั้งหลาย เราทุกคน เท่าเทียมกัน มีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน มีจิตใจ  มีความคิด ความรู้สึก ไม่มีใครสูงต่ำกว่าใคร  เราเท่ากัน

 

จากใจจริง ในฐานะครู ผมอยากบอกบัณฑิตทุกคนว่า ครูภูมิใจในตัวพวกเธอทุกคนครับ

 

รักและปรารถนาดี

 

ครูของพวกเธอ

หมายเลขบันทึก: 556471เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2013 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2013 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท