“สอนลูกดูทีวี”…และ…“ดูรายการดีๆ จะเกิดคุณ”


ผลการศึกษาวิจัยพบว่า แทบจะไม่มีเด็กและเยาวชนดูรายการดีๆ ของช่อง Thai PBS ที่ปลอดโฆษณา ส่วนใหญ่จะดูการ์ตูนและละครในช่องที่เต็มไปด้วยโฆษณา ผู้เขียนจึงขอแนะนำรายการดีๆ ของช่อง Thai PBS เพื่อให้ผู้ปกครองได้ใช้ประโยชน์ในการนำไปเสริมสร้างพัฒนาการของบุตรหลาน และให้นักเรียนนักศึกษาตลอดจนคนทั่วไปได้รับชม เพื่อให้ได้รับประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของผู้ผลิตรายการ

เป็นบันทึกในชุด “เฉลิมพระเกียรติ…พระผู้ทรง เป็นครู แห่งแผ่นดิน”

         คำว่า “โทรทัศน์” ในภาษาไทย มีที่มาจากคำในภาษาอังกฤษคือ "television" ซึ่งเป็นคำผสมจากคำกรีก tele- ("ระยะไกล" –โทร -) และ -vision ที่มาจากภาษาละติน visio ("การมองเห็น" - ทัศน์) มักเรียกย่อเป็น TV (ทีวี) เครื่องรับโทรทัศน์ขาว-ดำเครื่องแรกของโลกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2468 เป็นผลงานการประดิษฐ์ของ "จอห์น ลอกกี้ เบรียด" ชาวสก็อตแลนด์ (วิกิพีเดีย) สื่อโทรทัศน์ในประเทศไทยมีวิวัฒนาการแบ่งออกได้เป็น  6 ยุค ได้แก่ ทศววรรษ 2490 ยุคบุกเบิกโทรทัศน์ไทย (2491-2499) ยุคโทรทัศน์กับเครื่องมือทางการเมือง (พ.ศ. 2500-2509) ยุคเติบโตและการก้าวสู่โทรทัศน์ระบบสี (2510 – 2519) ยุคการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (2520-2529) และ ยุคทองของโทรทัศน์ไทย (2530-2539)  (http://www.oknation.net/blog/rt201dpu/2009/07/05/entry-2)  

         ในปัจจุบัน โทรทัศน์เป็นสื่อยอดนิยม ที่ เข้าถึงทุกครัวเรือนในสังคมไทย ไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหนก็มีโทรทัศน์กัน  ในแต่ละวันคนไทยส่วนใหญ่จะเปิดรับข้อมูลข่าวสาร และชมรายการต่างๆ จากโทรทัศน์ มีผลการสำรวจพบว่า เด็กและเยาชนไทยอายุ 6-24 ปี ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ในการดูทีวี แต่ผู้เขียนเป็นคนที่ไม่ค่อยมีเวลาว่าง จึงมักจะดูทีวีไปพร้อมกับการทำงาน  และด้วยยึดคติ “The early bird catches the worm.” จึงมักจะลุกขึ้นทำงานเวลา 04.00 น. วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2556 ก็เช่นกัน จึงมีโอกาสดีๆ ในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ จากรายการ “NBT WORLD" ช่วง "THAILAND in FOCUS” ซึ่งได้บรรยายเกี่ยวกับพระประวัติของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) เป็นภาษาอังกฤษประกอบภาพนิ่ง ทำให้ได้ฝึกทักษะการฟัง และในช่วงที่มีบุคคลพูดเป็นภาษาไทย จะมีข้อความที่แปลเป็นภาษาอังกฤษที่หน้าจอ (ดังภาพล่าง) ทำให้ได้พัฒนาทักษะการเขียนไปด้วย

          ในการทำวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) กับครูที่สอนชั้นอนุบาลในชนบท เรื่อง “การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย  ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ” (ในปี 2540-2543 โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ) ผู้เขียนได้ดำเนิน“โครงการบ้าน-โรงเรียนร่วมใจ” เพื่อให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุตรหลานของตนคู่ขนานไปกับทางโรงเรียน โดยการอบรมเลี้ยงดู และจัดกิจกรรมสร้างเสริมพัฒนาการให้กับบุตรหลานในวันหยุดสุดสัปดาห์ ตามข้อเสนอแนะใน “สารโครงการบ้าน-โรงเรียนร่วมใจ” ที่คณะผู้วิจัยได้จัดทำขึ้นเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งในสาร 10 ฉบับแรก จะมีความรู้สำหรับผู้ปกครองชุด “การสอนลูกให้เป็นคนเก่ง  ดี  และมีความสุข”  ฉบับละตอน รวม 10 ตอน ได้แก่  1) เริ่มต้นด้วยความรัก  2) ฟูมฟักพัฒนา  3) เจรจาให้สร้างสรรค์ 4) รู้เท่าทันไม่หลงทาง  5) เป็นแบบอย่างในสิ่งดี  6) ดูทีวีให้เกิดคุณ 7) เพิ่มพูนประสบการณ์  8) เล่านิทานให้ลูกฟัง  9) ปลูกฝังคุณธรรม  และ 10) ชี้นำให้ประหยัด

        ส่วนหนึ่งของการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กที่โรงเรียน  คือ ได้ให้ครูผู้ร่วมวิจัยเลือกใช้วีดิทัศน์ที่ผู้เขียนบันทึกจากรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กรวมทั้งสิ้น 200 ตอน (มีทั้งเพลง นิทาน งานประดิษฐ์ สถานการณ์จำลอง สารคดีชีวิตจริง เกม ฯลฯ)  เป็นสื่อในการจัดประสบการณ์เสริมให้กับเด็ก    ตามผลการวิจัยที่ชี้ว่า วีดิทัศน์เป็นสื่อที่เด็กปฐมวัยชอบมากที่สุด และสามารถนำไปใช้เป็นสื่อในการจัดประสบการณ์ ให้เด็กปฐมวัยเกิดการเรียนรู้ได้ ทั้งด้านความรู้ความจำ ความเข้าใจ ทักษะ คุณลักษณะ และเจตคติ เป็นสื่อที่สามารถแสดงแนวคิดได้ดีกว่าสื่ออื่นๆ  ตัวอย่างเพลงได้แก่ เพลงช่วยกันเก็บ ประหยัด รักผัก ช่วยกันดูแล ป่าแสนสวย ฉันนอยากเป็น ฯลฯ (จากรายการเจ้าขุนทอง ช่อง 7)   เพลงออกกำลังกาย เพื่อนรักในป่า หนูรักบ้านเกิด ขอบคุณต้นไม้ ชาวนา ชวนชมดอกไม้ ทุกโมงยาม ฯลฯ (จากรายการโลกใบจิ๋ว ช่อง 11) เป็นต้น วีดิทัศน์เพลงนำไปใช้เป็นสื่อประกอบ “กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ” โดยจัดให้เด็กได้ร่วมร้องเพลง ดัดแปลงเนื้อเพลง  สนทนาเกี่ยวกับเนื้อเพลง แสดงท่าทางประกอบจังหวะและเนื้อเพลงอย่างอิสระตามจินตนาการของตน และครูยังกระตุ้นให้เด็กๆ นำสาระจากเนื้อเพลงไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับการพัฒนาแบบองค์รวม (as a whole) ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ และด้านสติปัญญา

          ในช่วงเปิดโครงการ ได้จัดกิจกรรมให้เด็กและผู้ปกครองทุกคนเข้าร่วมเต็มวัน เพื่อสร้างความเข้าใจในโครงการให้กับผู้ปกครอง กิจกรรมหนึ่งที่จัด คือการแนะนำให้ผู้ปกครองดูโทรทัศน์ (ตามรายการที่เสนอแนะ) ไปพร้อมกับบุตรหลาน และปฏิบัติตามแนวทางที่เสนอแนะไว้ในความรู้ “ตอนที่ 6 ดูทีวีให้เกิดคุณ” เพื่อส่งเสริมให้บุตรหลานได้เรียนรู้จากการดูโทรทัศน์ ทั้งนี้ ได้ให้นักศึกษาสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยสาธิตการใช้รายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เพื่อให้ผู้ปกครองเห็นแนวทางในการนำไปใช้ที่บ้านด้วย ผลการติดตาม ครูรายงานว่า  วิดีทัศน์เป็นสื่อที่เด็กชื่นชอบและให้ความสนใจมากกว่าสื่อชนิดอื่นๆ ทั้งเมื่อนำไปใช้ประกอบกิจกรรมเล่านิทาน กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมสร้างเสริมลักษณะนิสัย และกิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ทั้งยังช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ของแผนการจัดกิจกรรมได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับเด็กทุกคนที่ตอบว่า ชอบกิจกรรมเสริมด้วยสื่อวีดิทัศน์มากที่สุด และจากการศึกษาบันทึกของผู้ปกครองและการสัมภาษณ์เด็กในแต่ละครอบครัว ก็พบว่า ทุกครอบครัวได้ใช้โทรทัศน์ส่งเสริมพัฒนาการของลูก ได้ในระดับพอใช้ถึงระดับดี

      ในปัจจุบัน สถานีโทรทัศน์ที่มีบทบาทชัดเจนที่สุด ในการส่งเสริมบทบาทของครอบครัวในการใช้รายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของบุตรหลาน คือ สถานี “Thai PBS” ซึ่งมาจากคำเต็มว่า “Thai Public Broadcasting Service” Thai PBS เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินการโดยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ออกอากาศแทนสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ. 2551 เป็นสถานีที่ได้รับ "รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ประเภทสถานีดีเด่น ด้านรายการเด็ก สตรีและครอบครัว" 3 ครั้งติดต่อกัน ได้แก่ ครั้งที่ 25 (19 มีนาคม 2554)  ครั้งที่ 26 (11 กุมภาพันธ์ 2555) และครั้งที่ 27 (22 มิถุนายน 2556) ดังภาพบน แต่เป็นที่น่าเสียดายมาก ที่ผลการศึกษาวิจัยของ Thai PBS เอง และบุคคลภายนอกในปี  2553 พบว่า แทบจะไม่มีเด็กและเยาวชนดูรายการดีๆ ของช่อง Thai PBS  ส่วนใหญ่จะดูการ์ตูนช่องโมเดิร์นไนน์ และดูละครช่อง 7 และช่อง 3 ซึ่งมีส่วนที่อาจเป็นพิษภัย และยังมากด้วยการโฆษณสินค้า ผู้เขียนรู้สึกเสียดายรายการดีๆ ของช่อง Thai PBS ซึ่งมีประโยชน์ล้วนๆ อีกทั้งยังปลอดโฆษณา จึงขอเชิญชวนให้ผู้ปกครองของเด็กระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ใช้ประโยชน์ในการนำไปเสริมสร้างพัฒนาการของบุตรหลาน และขอแนะนำรายการที่นักเรียนมัธยมศึกษา นักศึกษาระดับอุดมศึกษา และคนทั่วไปที่ควรดู อนึ่ง เนื่องจากมีผลการวิจัยในปี 2552 ที่เก็บข้อมูลจากนักเรียนชั้น ป.1 – 6 ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่า ในช่วงวันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เปิดรับชมโทรทัศน์เวลา 6.00-07.30 น. จึงขอแนะนำรายการของ Thai PBS ในช่วงเวลาดังกล่าวและที่ใกล้เคียง ดังตัวอย่างรายการในวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2556 ได้แก่ 06.00-07.30 น. Thai PBS Kids Weekend, 07.30-07.55 น. Good Morning, 07.55-08.00 น. วิตามินข่าว, 08.30-09.00 น. คิดวิทย์ คิด Sci, และ 9.05-09.30 น. English Mission และรายการวันอาทิตย์ในช่วงเวลาเดียวกัน (ทุกรายการสามารถรับชมทีวีออนไลน์ได้ทาง www.thaipbs.or.th/Live)






          ท้ายนี้ หวังว่า ท่านผู้ปกครองทั้งหลาย จะเปลี่ยนจากการแนะนำบุตรหลานแค่ ไม่ให้ดูโทรทัศน์ใกล้เกินไป ไม่ให้นอนดึก และอย่าดูทีวีจนไม่มีเวลาให้ทำการบ้าน มาเป็นการเลือกรายการที่เป็นประโยชน์ไม่มีพิษภัย ดูไปพร้อมๆ กับบุตรหลาน และใช้ประโยชน์จากรายการโทรทัศน์ ในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของบุตรหลานไปด้วย และหวังเช่นกันว่าท่านจะแนะนำรายการดีๆ ให้บุตรหลานที่เรียนในระดับมัธยมและอุดมศึกษา ได้ดูด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมประสบการณ์และการเรียนรู้ในสถานศึกษาได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่าน ที่กรุณาเข้ามาอ่าน และร่วมแสดงความเห็น เรื่องในลำดับต่อไป จะมีชื่อประมาณนี้ นะคะ "เสริมสร้างนิสับใฝ่รู้และรักการอ่าน...ทางรอดของชาติ"

 

หมายเลขบันทึก: 556414เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2013 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2013 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

TV is a tool. Producers use it to make money. Parents use it to keep children in the house. Children use it to see, hear and learn -- different worlds.

What do X, Y, Z 'actively' use TV for? Do they use TV 'passively'? (YouTube is popular maybe because, it let people choose what to watch and make comments.)

โทรทัศน์ในปัจจุบันมีผลต่อเด็กมากเลยครับ

ชอบงานวิจัยที่อาจารย์แม่ทำ

ได้เห็นบริบททั้งหมด

มากรุงเทพฯกี่วันครับ

ขอบคุณ " รศ.ดร.ชยพร แอคะรัจน์" มากนะคะ สำหรับ ที่กรุณามอบเป็นกำลังใจให้กับ "ไอดิน-กลิ่นไม้"

“สอนลูกดูทีวี”…และ…“ดูรายการดีๆ จะเกิดคุณ” ....

ขอบคุณค่ะ อาจารย์แม่

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน

-ตามมาเยี่ยมและอ่านบันทึกการสอนลูกดูทีวีครับ

-ช่อง Thai PBS เป็นช่องที่ผมชอบดูรายการโดยเฉพาะในช่วงของวันเสาร์และวันอาทิตย์ครับ

-มีรายการดี ๆ มากมาย เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย

-ณ ตอนนี้ก็กำลังดูรายการที่มี"พระมหาสมปอง"เทศน์เกี่ยวกับ"เรารักพ่อ..ครับ

-อาจารย์แม่สบายดีนะครับ??

-"เสริมสร้างนิสับใฝ่รู้และรักการอ่าน...ทางรอดของชาติ"

-ขอบคุณครับ


Dear, khun SR"" Thanks for visiting and providing such interesting and beneficial comments ; "TV is a tool. Producers use it to make money. Parents use it to keep children in the house. Children use it to see, hear and learn -- different worlds. What do X, Y, Z 'actively' use TV for? Do they use TV 'passively'? (YouTube is popular maybe because, it let people choose what to watch and make comments.)" Anyway, what I would like to inform you is that the TV program producers of Thai PBS need not focus on money for various nonprofit organizations support them the expense for producing TV programs. Your remark about active/passive participation among the audiences is interesting as well. I see the attempt of each host to call for active participation among their audiences like "Lyrics Hunter" in the picture below.

ขอบคุณ "ลูกขจิต" มากนะคะ ที่มาเยี่ยมเป็นกำลังใจให้อาจารย์แม่ ดีใจที่ลูกขจิตชอบงานวิจัยของอาจารย์แม่ เป็นงานที่อาจารย์แม่ภาคภูมิใจที่สุดค่ะ เพราะเป็นรูปแบบของการบูรณาการภารกิจอาจารย์อุดมศึกษาทั้งด้านการวิจัย การผลิตและการพัฒนาครู และการให้บริการทางิชาการแก่ชุมชนเข้าด้วยกัน

อีกอย่างก็คือ มีความสุขที่ได้เห็นความสำเร็จของโครงการ ที่ก่อนนั้นผู้ปกครองไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียน พอมีโครงการผู้บริหารบอกว่าได้รับความร่วมมือดีมากทั้งการบริจาคเงิน วัสดุอุปกรณ์ และช่วยงานต่างๆ อย่างเช่นการทำเล้าไก่โรงเรียนไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว ผู้ปกครองที่มีรถหกล้อก็บริการพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษาโดยไม่คิดค่าบริการ

ครอบครัวของเด็กก็มีความสุข พ่อแม่บอกว่า ก่อนนั้นไม่เคยมีกิจกรรมกับลูกๆ ไม่เคยอ่านหนังสือ พอมีโครงการทุกวันศุกร์ต้องอ่านสารโครงการบ้าน-โรงเรียนร่วมใจ เสาร์-อาทิตย์ก็พาลูกทำกิจกรรมตามข้อเสนอแนะในสาร และบันทึกการทำกิจกรรมไปกับลูกๆ ทำให้ได้พัฒนาการอ่าน-เขียนไปด้วย และเด็กๆ ก็มีความสุขในการเรียนรู้ เช่นเรียนหน่วยผักผลไม้ให้คุณค่าก็ นำผักผลไม้ที่ปลูกที่บ้านไปเล่าให้เพื่อนๆ ฟังถึงการปลูกดูแลและการนำไปใช้ประโยชน์ จริงๆ แล้วโครงการวิจัยเต็มรูปจะสิ้นสุดปีการศึกษา 2542 แต่ผู้ปกครองและครูเรียกร้องก็เลยขยายผลไปอีก 1 ปีค่ะ

ลูกขจิตคงรู้ว่าอาจารย์แม่จะไปกทม.จากโพสต์ของลูกเอ๋ใน Facebook นะคะ อาจารย์แม่จะขึ้นเครื่องเช้าพรุ่งนี้ค่ะ คืนนี้คงได้นอนน้อยเพราะต้องเคลียร์งานหลายอย่าง และทำอาหารไว้ให้พ่อใหญ่สอ ตอนนี้แกอยู่ที่กทม.ไปสังสรรค์กับเพื่อนมัธยมเมื่อห้าสิบกว่าปี ที่อยุธยา เดินทางกลับโดยรถไฟถึงเช้า อาจารย์แม่ไปรับไม่ได้เพราะต้องเช็คอินที่สนามบินอุบลฯ ประมาณแปดโมง เช้าวันที่ 17 ธ.ค. ก็จะเดินทางไปกระบี่ค่ะ เข้าใจว่าคงกลับจากกระบี่ถึงกทม. 20 ธ.ค. และกลับอุบลฯ 21 ธ.ค.ค่ะ

"กิจกรรมชมรมปลูกผักกินได้" 15 ม.ค. ของลูกขจิตดีจังนะคะ มีการแจกเมล็ดพันธุ์ผักด้วย ถ้าต้องการเมล็ดฟักข้าวก็บอกนะคะ จะได้ส่งไปให้

สวนยางของอาจารย์แม่เริ่มกรีดแล้วพาะต้นที่เข้าเกณฑ์ เลยนำภาพมาฝากค่ะ วันที่ถ่ายภาพอาจารย์แม่ดายหญ้ารอบสวนหย่อมที่สวนยางเห็นหญ้าออกเป็นช่อนึกถึงตอนเด็กๆ ที่นำไปเล่นชนไก่กับเพื่อนๆ เลยเก็บรูปไว้เป็นที่ระลึก ที่เห็นเป็นเมล็ด คือ เมล็ดยางค่ะ คิดว่าน่าจะนำไปเป็นอุปกรณ์การเรียนได้ ดอกแคและภาพล่างอาจารย์แม่คุยในบันทึกของลูกขจิตแล้วนะคะ


ขอบคุณ "Dr.Ple " มากนะคะที่แวะมาให้กำลังใจอาจารย์แม่ พร้อมนำภาพอบอุ่นของครอบครัวท่าน Nelson Mandela มาฝาก


ขอบคุณ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" มากนะคะ ที่มาเยี่ยมอาจารย์แม่ ที่พรานกระต่ายฝนตกไหมคะ ที่ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ฝนตกตั้งแต่เย็นวานนี้และตกหนักทั้งคืน ไม่รู้หน้าหนาวแบบไหนแต่ก็รู้ล่วงหน้าจากกรมอุตุฯ แล้วล่ะค่ะ

ตอนนี้อาจารย์แม่ไอดินฯ กำลังจะเตรียมล้างถ้วยชาม ทำความสะอาดบ้านและเตรียมอาหารไว้ให้พ่อใหญ่สอ แกจะกลับจากกทม.วันนี้โดยรถไฟตามเวลาเข้า 07.30 น. และรถไฟไทยก็ตามเวลาจริงๆ คือ ตามมาทีหลังบ้างก็แปดโมง บ้างก็แปดโมงครึ่งไปจนถึงสิบโมงครึ่ง อาจารย์แม่เลยไปรับไม่ได้เพราะต้องเช็คอินที่สนามบินประมาณแปดโมงค่ะ จะเข้ากทม.และบินต่อไปกระบี่วันที่ 17 ธ.ค. ลูกชายของอาจารย์แม่เขาจัดทริปพาแม่เที่ยวในช่วงวันเกิดแม่ค่ะ ปีนี้ลูกพาเที่ยวครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 พฤษภาเกาะกูด จ.ตราด สิงหาเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ ธันวา จ.กระบี่ ยังไม่รู้ไปพักที่ไหนค่ะ

คุณเพชรน้ำหนึ่งบอกว่า "ช่อง Thai PBS เป็นช่องที่ผมชอบดูรายการโดยเฉพาะในช่วงของวันเสาร์และวันอาทิตย์ครับ มีรายการดี ๆ มากมาย เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย ณ ตอนนี้ก็กำลังดูรายการที่มี"พระมหาสมปอง"เทศน์เกี่ยวกับ"เรารักพ่อ..ครับ รายการนี้ใช่ไหมคะ

หนังสือเล่มแรกของคุณเพชรฯ อาจารย์แม่ได้อ่านเป็นหนังสือนอกเวลา ประทับใจมาก จะต้องหาซื้อมาอ่านอีก คนเขียนเป็นคนบ้านเดียวกันกับอาจารย์แม่ด้วยนะคะ จากประวัติ "คำพูน บุญทวี เดิมชื่อ คูน เกิดเมื่อ 26 มิถุนายนพ.ศ. 2471 ที่บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร) ..."ลูกอีสาน" ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทนวนิยาย จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2519 และได้รับรางวัล ซีไรท์ เมื่อ พ.ศ. 2522 เป็นผลงานที่ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ ได้รับคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาระดับมัธยมปลาย ลูกอีสาน ได้รับการแปเป็นลภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจจาก "คุณบุษยมาศ " ผู้อำนวยการกองบริหารงานบุคคล กองบริหารงานบุคคล มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว) จังหวัดพิษณุโลก


ต้องขอบคุณที่แนะนำและวิเคราะห์รายการทีวีดีๆมีสาระ เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดีเช่นนี้ค่ะ...สะท้อนความใส่ใจของผู้จัดทำที่มุ่งคุณภาพมากกว่าปริมาณนะคะ...

ขอบพระคุณ "พี่ใหญ่" มากนะคะ ที่เมตตามาเป็นกำลังใจให้น้องเสมอ

น้องรู้สึกเสียดายรายการดีๆ ที่มีสาระน่ะค่ะ เลยอยากแนะนำให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้ามาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนนักศึกษา จะได้เสริมความรู้ในหลักสูตรด้วย ดีกว่าไปดูรายการไร้สาระ อีกอย่าง นอกจากผู้ชมจะได้ประโยชน์แล้ว ยังทำให้ผู้ผลิตมีกำลังใจด้วยนะคะ

ขอบคุณ "คุณส.รตนภักดิ์" มากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจ...ยินดีค่ะที่ได้รู้จักกัน

ได้อ่านบันทึกของคุณ ส. เรื่อง "หลักการเสพสื่อยุคใหม่" (http://www.gotoknow.org/posts/554963) ขอนำคำแนะนำมาแบ่งปันที่นี่ด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

...เพื่อเป็นการป้องกันตัว มิให้เสพติดหรือเป็นพิษต่อตนเอง จึงขอเสนอหลักในการป้องกันมิให้เราถูกล้างสมองดังนี้ ๑) ยึดจุดยืนให้ตื่นตัวไว้เสมอ ๒) ให้วิเคราะห์ แยกแยะ วิจารณ์สื่อที่เสพอย่างละเอียด ข้อดี ข้อเสีย ๓) อย่าด่วนรับข่าวหรืออย่ารีบปฏิเสธ (อ่านข้อสอง) ๔) รู้จักคัดสรรเลือกบริโภคสื่อให้เป็น ๕) อย่าเสพสื่อด้านใด ด้านหนึ่งนานๆแบบด้านเดียว ๖) ตั้งข้อกังขา สงสัยไว้ก่อนเสมอเมื่อเสพ ๗) ถามตัวเองว่า เราได้อะไรจากสื่อนี้ (รายงานหรือบันเทิง ตามกระแสสังคม) ๘) มีผลกระทบอย่างไรกับผู้คน วัฒนธรรม เช่น ข่าว รูป โฆษณา หนัง ละครฯ ๙) มีหลักจริยธรรมเป็นเครื่องประเมิณไว้บ้าง จะได้ไม่หลักลอย (คิด) ๑๐) ทั้งหมดคือ เสรีภาพ (ของเราเอง) ที่อยู่ในกรอบสังคมพร้อมความรับผิดชอบ

ตามเข้ามาอ่านตามที่อาจารย์แม่กรุณาเข้าไปแสดงความคิดเห็นและแนะนำไว้ ขออนุญาติเรียกตามหลาย ๆ ท่านให้หน้ากระดานนี้ คำนี้เรียกแล้วรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยจริง ๆ ค่ะ อ่านแล้วรู้สึกประทับใจ ชื่นชมอาจารย์แม่มาก ๆ ค่ะ ที่ตั้งใจถ่ายทอดความรู้ ความคิดดี ๆ ไม่ว่าจะในสังคมปกติ หรือสังคมออนไลน์เช่นนี้ แม่ดาวขอฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ติดตามอ่านข้อมูลดี ๆ ด้วยนะคะ

เจอคนแบบ "คุณแม่ดีดี" แล้ว รู้สึกมีความหวังต่ออนาคตของชาติมาก ยินดีมากจริงๆ ค่ะ ที่ได้รู้จัก "คุณแม่ดีดี คุณชฎาพร รัตนาวิวัฒน์พงศ์" ที่เขียนแนะนำตนเองในประวัติว่า "เป็นคุณแม่ธรรมดา ๆ คนนึงค่ะ มีความมุ่งมั่นที่จะเลี้ยงลูกแบบการสร้างวินัยเชิงบวก ด้วยวางเป้าหมายไว้ว่า จะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี และมีความสุข ดีต่อตัวลูกเอง ดีต่อครอบครัว ดีต่อสังคม สุขแบบที่เกิดขึ้นได้จากตัวเขาเองและมากพอที่จะส่งต่อความสุขไปคนคนอื่น ๆ ได้ด้วย ปัจจุบันยึดหลักการเลี้ยงลูกถือคติว่า "รักลูกให้ถูกทาง เลี้ยงลูกให้ถูกธรรม" ใช้การเลี้ยงลูกด้วยการสร้างวินัยเชิงบวก โดยอาศัยหลักธรรมคำสั่งสอนตามแนวพุทธศาสนา ประกอบกับวิธีการสร้างวินัยเชิงบวกที่ได้รับความรู้มาจากหนังสือบ้าง อบรมบ้าง ศึกษาตามเว็บต่าง ๆ บ้าง และประสบการณ์ของตัวเองในฐานะการเป็นลูก และประสบการณ์ในฐานะการเป็นแม่ เอาทุกอย่างมาผสม ๆ กัน แล้วก็คัด หรือคั้นออกมาเป็นวิธีแบบที่ตัวเองคิดเองว่า น่าจะดี ผิดบ้าง ถูกบ้าง ทุกวันนี้ก็ดำรงตำแหน่งคุณแม่มาได้ 5 ปีแล้วค่ะ

จากการแนะนำตนเองที่ได้อ่าน "อาจารย์แม่ (ใช้คำแทนตัวตามที่คุณชฎาพรขอใช้เรียกขาน นะคะ) ชื่นชม "คุณชฎาพร : คุณแม่ดีดี" มากค่ะ ที่มุ่งมั่นเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี เพราะการสร้างอนุชนให้เป็นคนดีของสังคม และเป็นพลเมืองดีของชาติ เป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของครอบครัว ถ้าแต่ละครอบครัวสามารถทำได้เช่นนั้น เท่ากับเป็นการช่วยชาติที่ดีที่สุด ปัญหาของประเทศที่นับวันจะวิกฤติเกิดจากสาเหตุที่หนักหนาสาหัส คือปัญหาคุณธรรมของนักการเมืองและคุณาพของพลเมือง ฟังที่ชาวตะวันตกพูดว่า ประเทศไทยมีสิ่งดีๆ มากมาย มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถรอบด้านและทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อพสกนิกรของพระองค์ มีมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า มีทรรพยากรทางธรรมชาติหลากหลาย ...เสียอย่างเดียวคือ มีคนไทยเป็นพลเมือง...ได้ยินแล้วเหมือนถูกตบหน้าจนหน้าชา แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความจริง ที่พลเมืองของเราจำนวนมากทีเดียวที่มีปัญหา แต่ก็มีไม่น้อยที่เป็นตรงกันข้ามตัวอย่างเช่น คุณแม่ดีๆ และกัลยาณมิตรทั้งหลายใน GotoKnow ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองก็คงจะอยู่ไม่ได้ .ใช่ไหมคะ

ได้อ่านบันทึกเรื่อง "เลี้ยงลูกไม่ให้ไหลไปตามกระแส (http://www.gotoknow.org/posts/556522)" ของคุณแม่ดีๆ ที่อ้างอิงข้อความตอนหนึ่งว่า "ความรักของพ่อแม่ยุคนี้ สมัยนี้ ทำให้ลูกอ่อนแอเพราะให้ความรักลูก ด้วยการประเคนความสุข ความสะดวกสบายให้ลูกทุกรูปแบบแต่ถ้ามานั่งคิดจริง ๆ จัง ๆ แล้วจะเห็นว่าลูกมีความอยากได้น้อยกว่าที่พ่อแม่อยากให้ลูกมี เพราะถ้าพ่อแม่ใจแข็งในสิ่งที่เห็นว่ายังไม่เหมาะไม่ควร ลูกก็จะมีวินัยในการใช้ชีวิต แต่พ่อแม่หลายคนเห็นลูกคนอื่นเขามี เลยอยากให้ลูกมีมั่ง บางคนให้เหตุผลอ้างว่ารำคาญเวลาที่ลูกมารบเร้า หรือสงสารลูก นี่คือ กิเลสแรก แล้วเริ่มก่อต่อยอดกิเลสไปที่ลูก..." เรื่องนี้สำคัญมากค่ะ นี่เป็นตัวอย่างของการบ่มเพาะพลเมืองที่มีปัญหาให้กับประเทศ ที่ประเทศของเรากำลังได้รับผลพวงอย่างที่เห็นนะขณะนี้ ที่สำคัญส่วนหนึ่งก็เกิดแต่เหตุปัญหาพลเมืองในชนบทที่ตกเป็นทาสของวัตถุนิยม ประชานิยม...อดีตรัฐมนตรีที่ได้รับบทบาทสำคัญและออกมาปรากฏตัวในทีวีช่วงที่ผ่านมา เคยพูดออกสื่อ (ปี 2553) เช่นกันค่ะ ว่าตนเองก็ทำในลักษณะดังกล่าวกับลูก...พูดตอนออกมาพูดเรื่อง 3G ในเมืองไทย (อาจารย์แม่บันทึกเป็น DVD สำหรับเป็นสื่ออบรมครูแนะแนวค่ะ)

อาจารย์แม่อยากให้คุณแม่ดีๆ ตั้งชุมชนออนไลน์ของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายของการเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีและเป็นพลเมืองดี ใน GotoKnow ที่สุดเลย ถ้าทำได้จะเกิดอานิสงส์ยิ่งใหญ่ต่อประเทศเลยนะคะ ถ้าสนใจลองปรึกษา ดร.จันทวรรณ ดร.ธวัชชัย ผู้ดูแลระบบดูนะคะ เพราะท่านทั้งสองก็มีลูกในวัยใกล้เคียงกับคุณแม่ดีดี และเป็นคุณแม่ที่เลี้ยงลูกในแนวทางเดียวกันกับคุณแม่ดีดีนี้แหละค่ะ

คุยยาวเลยนะคะ ตอนนี้อาจารย์แม่อยู่ที่กระบี่ค่ะ ตอนอยู่อุบลฯ ลุกทำงานประมาณตีสี่สามคืนติดกัน ที่กรุงเทพฯ วันจันทร์ก็นอนประมาณ 3 ชั่วโมงพอเครื่องจะลงจอดที่สนามบินกระบี่เช้าเมื่อวานก็ลงไม่ได้เพราะหมอกปกคลุมไปหมด ต้องวิ่งวนอยู่ประมาณ 40 นาทีรอให้หมอกจางถึงลงได้ พอนั้งเรือไปถึงรีสอร์ตที่พักเวลา 10.00 น. พนักงานต้อนรับบอกว่า จะเช็คอินได้ตอนบ่ายสอง...ต้องรอถึงสี่ชั่วโมงค่ะ หนุ่มสาว 3 คนก็ฆ่าเวลาด้วยการเดินเล่น ถ่ายภาพ นั่งหลับที่มุมอ่านหนังสือพิมพ์ (มี Bangkok Post ฉบับวันอาทิตย์ 5 ฉบับ นิตยสารท่องเที่ยวภาษาอังกฤษ 2 เล่ม ลูกค้าเขาเยอะมาก ฝรั่งแทบทั้งนั้น มีคณะของอาจารย์แม่คณะเดียวที่เป็นคนไทย และเห็นชาวญี่ปุ่นอีกคณะหนึ่ง) มีอาจารย์แม่คนเดียวที่อ่านทั้งสองอย่าง ...ขำตอนค่ำไปซื้อของว่างที่ร้านใกล้รีสอร์ตเตรียมให้หนุ่มสาวกินช่วงไปทัวร์ 09.00 น. วันนี้ คนขายพูดกับอาจารย์แม่เป็นภาษาอังกฤษ เขาบอกว่า คิดว่าอาจารย์แม่เป็นชาวญี่ปุ่น คิดได้ไงนะ เขาคงไม่คิดว่าจะมีคนไทยหลงมา เมื่อคืนอาจารย์แม่เหนื่อยมากเลยเข้า GotoKnow ไม่นานแล้วนอน เช้านี้เลยลุกก่อนตีสามชดเชยค่ะ ฝากาพเมื่อวานมาให้คุณแม่ดีดีและกัลยาณมิตร GotoKnow ดู 1 ภาพนะคะ (รูปหนุ่ม..ลูกชายยังไม่ลงนะคะ ลูกสาวคนสวมหมวก คนข้างๆ คนรู้ใจของลูกชายค่ะ)

ขอโทษด้วยนะคะพิมพ์ตกพิมพ์ผิดเท่าที่พบ 3 คำ แต่ที่ขอแก้ไขคือ "...มีทรรพยากรทางธรรมชาติหลากหลาย..." ที่ถูกคือ "ทรัพยากร" นะคะ

เครื่องมือเสริมสร้างโลกทัศน์ให้ลูกและนักเรียนที่ชื่อ "ทีวี" ใช้ให้ดี "เกิดคุณจริง"

เห็นด้วยครับ เห็นด้วยมากๆ ครูวุฒิใช้ประจำครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท