คนใน


 

       การได้หยิบหนังสือเล่มเก่าที่หายจากไปนาน ทำให้ได้มีโอกาสทบทวนตัวเองในการเข้าไปทำงานชุมชน เป็นประสบการณ์เปลี่ยนตัวเองเป็น "คนใน" ของชุมชนที่เกิดขึ้นหลายครั้ง จึงอยากบันทึกไว้เพื่อแลกเปลี่ยน


    เมื่อตอนเป็น "มือใหม่ หัดขับ" ได้มีโอกาสฝึกเก็บข้อมูลในประเด็น "ผลกระทบของโรงงานต่อชุมชน" ผมกับทีมได้รับมอบหมายให้ไปเก็บข้อมูลในชุมชนที่อยู่ใกล้โรงงาน โดยไปพักอยู่ที่บ้านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ตลอดสัปดาห์ที่ผมอยู่ในชุมชน สิ่งที่ผมได้ข้อมูล เป็นข้อมูลของโรงงานที่กระทำต่อชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลในทางลบ ผมนำข้อมูลไปเสนอแก่ อาจารย์ อคิณ รพีพัฒน์ ที่เป็นที่ปรึกษาของกลุ่มที่ฝึก อาจารย์กล่าวว่า "ข้อมูลที่ลึกดี แต่ขาดข้อมูลอีกด้านว่า ชุมชนได้อะไรจากโรงงาน" ซึ่งผมได้มองข้ามไปโดยมองไม่เห็นเหรียญอีกด้านของชุมชน ซึ่งหลังจากได้ไปเก็บข้อมูลกลับพบว่า ในชุมชนที่ ๒ กลุ่มๆที่เข้ากับโรงงานได้จะเป็นกลุ่มที่รับผลประโยชน์ เช่น การเข้าทำงาน การมีพื้นที่ปลูกผลผลิตส่งโรงงาน และกลุ่มที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ ที่จะถูกกีดกันจากกลุ่มที่รับผลประโยชน์ ดังนั้นการเก็บข้อมูลในพื้นที่ เราฐานะ "คนนอก" จำเป็นต้องเข้าถึง "ความเป็นคนใน" ของชุมชนให้ครบด้าน

   อีกเรื่องที่อยากบันทึกไว้เป็นประสบการณ์ตัวเอง คือ ชีวิต "ยายสา" ผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้ารักษาไม่หาย ไม่ดูแลตนเอง กินอยู่ในวงไพ่ ในชุมชน ผมได้รับมอบหมายให้ดูแล "ยายสา" ผมเองลำบากใจที่จะทำให้ "ยายสา"อยู่กับบ้านรักษาแผลให้หาย พร้อมกับดูแลการกินการนอนสมกับเป็น"ผู้ป่วยเบาหวาน" แต่เมื่อได้พูดคุยเก็บข้อมูลชีวิต "ยายสา"พบว่า ยายสาเคยมีสามีและลูก แต่หลังจากสามีแกตาย ลูกไปทำงานต่างถิ่น มีเพียงส่งเงินมาดูแลเป็นครั้งคราว ชีวิตยายสาเปลี่ยนไปตั้งแต่นั้น การอยู่ที่วงไพ่ทำให้แกรู้สึกว่ามีเพื่อน มีคนดูแล "ชงมาม่า" ให้แกกินเวลาแกหิว ผมเห็นอย่างนี้แล้วความคิดที่จะให้ยายสาออกจากวงไพ่มาอยู่กับบ้านรักษาโรคก็เปลี่ยนไปเป็นทำอย่างไรให้เพื่อนที่เป็นเบาหวานในวงไพ่ช่วยดูแล"ยายสา"

   เรื่องเกี่ยวกับ "การจัดบริการผู้ป่วย" เมื่อคราวที่ไปเก็บข้อมูลการจัดบริการผู้ป่วยเบาหวาน ในสถานีอนามัย พยาบาลที่สถานีอนามัยบ่นว่า ผู้ป่วยไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการจัดกระบวนการกลุ่มแลกเปลี่ยนกัน(ตามนโยบายหน่วยเหนือ) ภาพที่ได้จากการเก็บข้อมูลพบว่า สามารถจัดผู้ป่วยเป็นสามกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มอยู่ใกล้อนามัย กลุ่มนี้จะมาเจาะเลือดที่สถานีอนามัยแล้วกลับไปกินข้าวที่บ้าน แล้วคอยมารับยาอีกช่วงสายๆ กลุ่มอยู่ไกล มาแต่เช้าและขอตรวจรับยาก่อนกลับ กลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มรับจ้างเก็บพริก เก็บมะเขือเทศ กลุ่มนี้จะไปมาเร็วยิ่งกว่ากลุ่มที่สอง เวลาจะทำกิจกรรมกลุ่มจะทำได้เฉพาะกลุ่มที่สอง แต่ภาพที่สังเกตได้คือ ผู้ป่วยจะฟังสิ่งที่จนท.พูดมากกว่า เมื่อแอบถามว่าทำไมพูดน้อย ผู้ป่วยคนหนึ่งบอกว่า "ลองพูดสิ จนท.เขาจะได้พูดยาวๆเข้าไปอีก รถรับจ้างมันจะได้บ่นเอาว่า เสียเวลา"

    "ขี้ไหล แก้ที่ผู้ใหญ่บ้าน" การทำกิจกรรมแก้ปัญหาในชุมชน เรามักมีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา ผมได้มีโอกาสร่วมโครงการควบคุมอุจจาระร่วง ในชุมชนที่มีปัญหาโรคอุจจาระร่วงระบาดทุกปี กิจกรรมที่ทางการเข้าไปจัดการคือ การให้ความรู้การใช้ส้วม การล้างมือ การรับประทานอาหารที่สะอาดและสุก แต่ปัญหายังไม่ลดลง จึงได้เก็บข้อมูล ความเห็นต่อโรคขี้ไหลในหมู่บ้าน ข้อมูลที่รวบรวมได้คือ ตั้งแต่หมู่บ้านอยู่ในเขต อบต. การจัดการขยะก็เปลี่ยนจากชุมชนจัดการเองมาเป็นหน้าที่ของ อบต. อบต.ต้องเก็บและกำจัด แต่ด้วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑ กับ หมู่ ๒ ทะเลาะกันเรื่องส่วนตัว ทำให้บ่อขยะที่อบต.เตรียมไว้ที่หมู่๒เอาไปทิ้งไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๒ ขัดขวาง แต่ชาวบ้านเองก็ยังทิ้งขยะในถังขยะที่อบต.ตั้งไว้ แมลงวันก็ตอม ขี้ไหลก็ตามมา เมื่อได้เผยข้อมูลให้แก่ชุมชน เชื่อหรือไม่ว่า การจัดการบ่อขยะแค่พลิกฝ่ามือเพราะมีคนกระซิบบอกผมว่า "ให้ไปคุยกับคุณแม่นายกอบต.ที่แกเป็นคนออกเงินกู้ ของผู้ใหญ่บ้านจัดการ" พอคุณแม่นายกอบต.เรียกคุย บ่อขยะใช้ได้ ที่ได้มากกว่านั้น ยังได้แนวคิดเด็ดคือ การแยกขยะรีไซเคิล และ ทำปุ๋ยจากขยะ ลดขยะ และลดความเสี่ยงจาก"ขี้ไหล"ได้ด้วย 

   "อยากเผา(สถานี)อนามัย" การเก็บข้อมูลหลายครั้ง ทีมก็จะไปพบข้อมูลที่ซ่อนอยู่ในชุมชน ที่น้อยครั้งที่ชุมชนจะแสดงออก ครั้งหนึ่งระหว่างการเก็บข้อมูลการรับบริการในสถานีอนามัยพบว่า ในสถานีอนามัยได้จัดบริการรักษาโรคความดันโลหิตสูงแก่ผู้ป่วยที่ส่งไปจากโรงพยาบาล แต่สิ่งที่พบคือผู้ป่วยที่ส่งไปกลับไม่เข้ารับบริการที่สถานีอนามัยแห่งนั้นแต่ยอมเดินทางข้ามแม่น้ำไปรับบริการที่สถานีอนามัยอีกแห่งหนึ่ง ทีมได้ไปสังเกตการบริการพบว่า ในสถานีอนามัยมีผู้รับบริการน้อยมาก เมื่อทดลองใช้บริการ รู้สึกได้ว่า มีจนท.ท่านหนึ่งมีท่าทีต่อผู้รับบริการที่ดูไม่เหมาะสม เมื่อเก็บข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่ แรกๆก็ดูออกชื่นชมต่อบริการสถานีอนามัย แต่พอจี้จุดเรื่องการไปรับบริการ ชาวบ้านก็บอกว่า ทนไม่ได้กับการบริการของจนท.ที่บริการแบบไม่เป็นมิตร เคยร้องเรียนหลายครั้งแต่ไม่เป็นผล เพราะรู้กันอยู่ว่า จนท.เป็นเด็ก(เมียน้อย)ของผู้ใหญ่ในอำเภอ ก็เลยหนีไปรับบริการที่อื่น ทั้งที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น "บางที ไปฉุกเฉิน นอกเวลา เจอ....คนนี้ เราจะตาย ยังมีหน้ามาพูดอีกว่า มาอะไรค่ำมืด ... เดี๋ยวทนไม่ไหว .. จะเผา(สถานี)อนามัยทิ้ง" ทีมได้ข้อมูลไปตรวจสอบกับหลายแหล่ง ทั้งหมดในพื้นที่ก็ตรงกัน แต่ไม่มีใครยื่นคอไปแก้ปัญหา เพราะเป็นเด็กของผู้ใหญ่ ..... ทีมเห็นภาพของปัญหาที่ซุกไว้รอวันระเบิด จึงได้นำข้อมูลไปจัดกระบวนการคืนข้อมูล(อย่างเป็นระบบ)ให้คนที่เกี่ยวข้อง และได้ช่วยกันหาทางออกโดยนำข้อมูลไปสะท้อนให้ผู้ที่มีอำนาจ และจนท.คนนั้นได้ขอย้ายตัวออกจากพื้นที่ ภาพต่อมา ชาวบ้านช่วยกันจัดทำผ้าป่ามาพัฒนาสถานีอนามัยซึ่งเป็นภาพที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาหลายปี และที่สำคัญผู้ป่วยในชุมชนกลับมาใช้บริการในสถานีอนามัยดังเดิม

    "แผลหอยบาด ไม่ใช่แผลเบาหวาน" ความรู้ในโรคที่เจ็บป่วย คนที่อยู่กับมันจะมีความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งกว่าผู้ที่อยู่ในวิชาชีพ ผู้ป่วยเบาหวานกับแผลที่เท้าย่อมคู่กับการดูแลโรค ครั้งหนึ่งได้นั่งคุยกับผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาชีพทำนา เล่าให้ฟังว่า "การทำนา ชาวนามันต้องลงคลุกกับนา ต้องปักดำ หว่านปุ๋ย เก็บเกี่ยว แม้ว่าจะมีโรคเป็นเบาหวาน และเสี่ยงที่จะเกิดบาดแผลที่เท้าก็ตาม ชาวนามันก็ทำนาปลูกข้าวไว้กิน ... ไปซื้อเขากิน.. มันเหมือนอะไรที่ขาดหายไป แม้จะรู้ว่าทำไปก็ไม่คุ้มกัน..."  สิ่งที่พวกเขาต้องเจอช่วงปักดำคือ หอยเชอรี่ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 556025เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2013 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2013 09:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...ขอบคุณค่ะ .... ทำให้ได้เห็นภาพ ... ยายสา ...ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ...เปลี่ยนวิถึชีวิตไป ....เพราะลูกหลานต้องเปลี่ยน...การทำมา-หากิน ...ส่งผลกระทบต่อ ...ยายสา.. ไปด้วยเช่นกัน นะคะ ... อือ..เพชรบุรี ..เป็นแบบนี้เฃ่นกันค่ะ .... ลูกหลานไปทำงาน "โรงงาน" ...ปล่อยพ่อแม่อยู่กับบ้าน นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท