Mont เกษตรกรรมธรรมชาติ พอเพียง เพียงพอ ทำง่ายไม่ต้องใช้ตังค์ (3)


ก่อนอื่นต้องของแสดงความเสียใจต่อพี่น้องประชาชนคนฟิลิปปินส์ซึ่งถือว่าเป็นชาวอาเซียนด้วยกันกับเรา  จากที่ได้รับผลกระทบจากพายุร้าย ไต้ฝุ่น “ไห่เยี่ยน”  ซึ่งมีความเร็วสูงถึง 315 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จัดเป็นซุปเปอร์ใต้ฝุ่นที่สร้างความเสียหายและทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคนในรอบหลายทศวรรษจนถึงขนาดที่รัฐบาลไทยต้องส่งความช่วยเหลือไปตามความเหมาะสมในฐานะมิตรประเทศเพื่อนบ้านและมิตรอาเซียน นับว่าเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่มนุษย์ตาดำๆ อย่างเราจะต้องตระหนักให้ดีถึงความร้ายแรงและโหดร้ายของธรรมชาติ ต้องไม่สร้างความต่าง สร้างการเสียสมดุลให้มากไปกว่าเดิม ต้องทำมาหากินโดยเอียงอิงพิงธรรมชาติให้กลมกลืนมิฉะนั้นก็จะทำให้สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวนมากยิ่งขึ้น อาจจะมากกว่าที่เราได้ประสบพบเจออยู่ในขณะนี้ก็ได้

คราวที่แล้วได้พูดถึงเรื่องการทำเกษตรกรรมธรรมชาติ แบบพอเพียง เพียงพอ ไม่ต้องใช้ตังค์มาพอสมควร และในครั้งนี้ก็จะพูดต่อถึงเรื่องการที่จะลดต้นทุนให้ลดน้อยถอยลงโดยการการนำอินทรียวัตถุมาเติมลงในดิน พี่น้องเกษตรกรควรที่จะต้องเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ใช้สุกร หรือโคกระบือให้เป็นประโยชน์ คือเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก เก็บเกี่ยวเศษไม้ใบหญ้า หรือเมื่อปลูกข้าวแล้วควรที่จะกักเก็บตอซังฟางข้าวไว้ใช้ในการเกษตรให้มากที่สุด ไม่เผาทำลาย นี่คือยุทธวิธีหนึ่งแล้วนะครับ ที่จะไม่ต้องเสียตังค์ในการซื้ออินทรียวัตถุในการปรับปรุงบำรุงดิน เพราะซากพืชซากสัตว์ที่หาได้ในธรรมชาติหรือจากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวนั้น คิดว่าน่าจะมีอย่างมากมายเพียงพอ ถ้าเรารู้จักเก็บออมไปทีละเล็กละน้อย

หลังจากนั้นเมื่อเตรียมดินได้ตามที่ต้องการหรือเหมาะสมต่อการปลูกพืชแล้ว ก็ให้นำพืชไร่ไม้ผลที่ต้องการมาปลูกลงแปลง สิ่งที่จะช่วยทำให้การแก้ปัญหาเรื่องโรคและแมลงลดน้อยมากที่สุดคือการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ต้านทานต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลงซึ่งปัจจุบันก็มีหลายหน่วยงานที่มีการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์โดยเฉพาะข้าวนั้น กรมการข้าวก็มีการทดลอง วิจัยได้พันธุ์ข้าวดีๆ เยอะแยะมากมายอยู่พอสมควร เมื่อพืชเจริญเติบโตอาจจะมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงรบกวน ช่วงนี้อาจจะต้องใช้สรรพคุณจากสมุนไพรอย่าง ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน เมล็ดสะเดา ฟ้าทะลายโจร ตะไคร้หอม ไพล กานพลู ให้พยายามเลือกหาหรือปลูกไว้ในแปลงเกษตรของเราให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังจากนั้นก็ขุดหัวเก็บเมล็ด หรือตัดชิ้นส่วนที่สำคัญนำมาบดให้เป็นผงละเอียด หรือหมักเอาแต่สารละลายที่จำเป็นออกมา นำไปฉีดพ่นในช่วงที่มีฝนตกชุก ดินแฉะ หรือระยะที่พืชมีการเจริญเติบโตทางตายอด

ส่วนในเรื่องปัญหาทางดินนั้น ที่เกษตรกรมักจะมีปัญหาในเรื่องของการแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่า ถ้าเรานำปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกมาเติมเพิ่มใส่ให้ความสมดุล .จุลินทรีย์ตัวร้ายก็อาจจะมีโอกาสเจริญเติบโตรุกล้ำกล้ำกลายเข้าใกล้ได้น้อย และเพื่อให้เกิดความมั่นอกมั่นใจ เราก็สามารถที่จะใช้ ”จุลินทรียหน่อกล้วย” ซึ่งได้จากการคัดเลือกหน่อกล้วยที่อวบอ้วนสมบูรณ์ ต้นไม่ผอม ไม่เน่า ระบบรากสด ขาว แข็งแรง บ่งบอกถึงการมีระบบประชากรของจุลินทรีย์ชนิดดีดำรงคงอาศัยอยู่ ณ บริเวณนั้น จนจุลินทรีย์ตัวร้ายหรือเชื้อโรคไม่กล้าเข้ามากล้ำกราย นอกจากจุลินทรีย์หน่อกล้วยจะช่วยปกป้องพื้นที่มิให้จุลินทรีย์ตัวร้ายเข้าทำลายพืชหลักที่เราปลูกแล้ว ยังช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุต่างๆ ให้กลับกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหมาะสมต่อการนำไปใช้งานของพืชได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

หลักการในการนำกองทัพจุลินทรีย์ชนิดดีคอยดูแลรักษาป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อโรคทางดินก็จะช่วยแบ่งเบาภาระโรคและศัตรูพืชที่จะมาจากภาคพื้นดิน ส่วนการใช้สมุนไพรไล่แมลงฉีดพ่นทางใบเพื่อเปลี่ยนแปลงรูป รส กลิ่น ของพืชเพื่อลวง ล่อ ให้แมลง หรือแม่ผีเสื้อกลางคืนลดการเข้าวางไข่ก็จะทำให้แมลงศัตรูพืชที่จะเข้ามาในสวนลดน้อยลง  ส่วนที่เล็ดรอดก็เป็นไข่ที่กำลังจะฟักเป็นหนอนซึ่งก็จะมีจำนวนไม่มากนักจากการที่เราได้หลอกล่อไปแล้วส่วนหนึ่ง เราสามารถที่จะใช้เชื้อบิวเวอร์เรีย หรือเมธาไรเซียม สลับกับ สารสกัดจากเมล็ดสะเดา ช่วยทำให้ไข่ฝ่อและตัวอ่อนลอกคราบไม่ออก ก็จะช่วยลดขั้นตอนจากไข่กลายเป็นหนอนไปอีกขั้นตอนหนึ่ง หลังจากนั้นก็อาจจะมีหนอนที่หลุดรอดต่อเนื่องมาได้ แต่ไม่มากเนื่องด้วยการทำเกษตรนั้นเป็นเรื่องยากใช่ว่าจะบริหารจัดการให้หมดจนไปในคราวเดียวนั้นคงจะไม่ใช่ หรือแม้แต่ทำเป็นกระบวนการหรือเป็นระบบอย่างนี้ก็ไช่ว่าจะสำเร็จเสร็จสมอารมณ์หมายเสมอไป แต่อย่างน้อยก็สามารถช่วยทำให้การดูแลป้องกันแบบพึ่งพิงอิงอาศัยธรรมชาติ หรือการทำเกษตรแบบสมดุลทำได้ง่ายขึ้น หรือเป็นพื้นฐานให้พี่น้องเกษตรกรต่อยอด ดัดแปลง ประยุกต์ได้ในโอกาสถัดไป 

ในส่วนของหนอนที่เล็ดรอดหลงเหลืออยู่นั้นพี่น้องเกษตรกรควรใช้เชื้อบีทีชีวภาพหมักขยายกับน้ำมะพร้าวอ่อน, นมยูเฮชที, นมผง หรือน้ำเต้าหู้ก็ได้ หมักให้ได้ 24 – 48 ชั่วโมง นำมาฉีดพ่นในช่วงเย็นแดดอ่อน ทุกๆ 7 วัน เมื่อหนอนเข้ามาสัมผัสดูด เลียกินก็จะได้รับเชื้อบีทีชีวภาพเข้าไปในร่างกาย ซึ่งถือว่าเป็นเชื้อโรคของหนอน เชื้อบีทีก็จะสร้างกรดที่เป็นพิษต่อกระเพาะและลำไส้ของหนอน กรดโปรตีนนี้จะทิ่มแทงทำลายอวัยวะภายในทำให้หนอนป่วย ไม่สบาย หยุดนิ่งไม่ทำลายพืชตั้งแต่วันแรก พอวันที่สองท้องจะเริ่มดำ วันที่สามก็ตาย เทคนิควิธีการนี้สามารถทำให้หนอนที่ตัวใหญ่ๆ ล้มตายได้อย่างสบาย ซึ่งก็ถือว่ากว่าจะถึงวัยนี้ก็ได้ถูกตัดตอนจากกระบวนการเบื้องต้นไปมากพอสมควร....

ตอนแรกกะว่าจะให้จบในตอนนี้ แต่ว่าเอาเข้าจริง..ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกษตรแบบปลอดสารพิษ เกษตรกรรมแบบธรรมชาติยังมีอีกพอสมควรจึงไม่อยากตัดตอนที่สำคัญๆออกไป คราวหน้ามาฟังกันต่อนะครับท่านผู้อ่าน อย่าพึ่งเบื่อนะครับ

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 555684เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท