เกษตรกรรมธรรมชาติ พอเพียง เพียงพอ ทำง่ายไม่ต้องใช้ตังค์ (2)


ก็สำเร็จเสร็จสมเรียบร้อยโรงเรียนเฮกไปแล้วนะครับในเรื่องการตัดสินเรื่องเขาพระวิหารของศาลโลกที่กรุงเฮก ประเทศ เนเธอร์แลนด์ พอจะสรุปได้คร่าวๆว่าให้รัฐบาลทั้งไทยและกัมพูชาหันหน้าเข้าหากันและแบ่งสรรปันส่วนร่วมกันบริหารมรดกโลกให้ลงตัว ส่วนพื้นที่ที่ทับซ้อนเพียงเล็กน้อยซึ่งไม่เกี่ยวกับภูมะเขือที่เราห่วงนักห่วงหนาว่าจะเสีย ไม่เกี่ยวกับแผนที่หรือเขตแดนที่จะล่วงล้ำเข้ามายังฝั่งอ่าวไทยนั้นศาลท่านมิได้เข้ามาแตะหรือยุ่งเกี่ยวเอาแต่เพียงเฉพาะที่มีการพิพาทกันเท่านั้น คือบริเวณชะง่อนผาที่รัฐบาลไทยและกัมพูชาจะต้องหันหน้ามาตกลงเจรจากันอย่างสันติโดยอาศัยความสัมพันธุ์อันดีซึ่งทั้งสองรัฐบาลมีให้แก่กันซึ่งก็เป็นไปตามที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายคาดการณ์ไว้ล่วงหกน้าแล้วว่าเราอาจจะได้แค่เจ๊า กับเจ๊ง การตัดสินครั้งนี้ก็ยังถือว่าใกล้เคียงกับเจ๊าไม่ถึงกับเจ๊งนะครับ หรือถ้ามองบวกก็อาจจะเรียกว่าเราไม่ต้องสูงเสียภูมะเขือและพื้นที่รอบๆ บริเวณเขาพระวิหารเพิ่มตามที่รัฐบาลกัมพูชาเรียกร้องซึ่งถือว่าโชคดี ต่อไปจะได้ร่วมแรงร่วมใจกันบริหารพื้นทีในนามเพื่อนบ้านและชาวอาเซียนต่อไป

กลับมาที่เรื่องของเรากันต่อครับ หลังจากที่เมื่อวานนี้ได้พูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการเกษตรกรรมธรรมชาติ ทำง่าย ไม่ต้องใช้ตังค์ เขียนอย่างนี้ท่านผู้อ่านอาจจะนึกตำหนิในใจว่ามันจะเป็นไปได้หรือที่จะคิดหรือจะทำอะไรในยุคสมัยนี้โดยที่มีเรื่องเงินเรื่องทองเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ขอออกตัวไว้เสียก่อนเลยนะครับ ว่าคงจะไม่ถึงขนาดนั้น เพราะเป้าหมายหรือจุดหมายของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ถ้าทำในรูปแบบพออยู่พอกินกันเองในครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายประหยัดเงินมิต้องซื้อมิต้องหาจากข้างนอกก็ถือว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ต้องใช้ตังค์ได้อย่างแน่นอนครับ เพราะการทำเกษตรกรรมแบบธรรมชาตินั้น เน้นการทำดินให้ดีด้วยการเติมอินทรียวัตถุลงไปในผืนดินให้ได้มากที่สุด เหมือนกับใบไม้ที่สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันร่วงหล่นลงไปบนดิน ทั้งต้นสูง ต้นกลาง ต้นเตี้ย และที่ต้นหรือหัวอยู่ในดิน ซึ่งล้วนแต่ต้องพึ่งพิงอิงอาศัยสลับเปลี่ยนหมุนเวียนคืนร่างกาย อวัยวะบางส่วนกลับไปสู่ผืน จึงทำให้ผืนดินในป่ามิเคยเหือดแห้ง ต้นไม้สูงใหญ่ได้โดยมิต้องมีคนรดน้ำ ใส่ปุ๋ย หรือฉีดพ่นปุ๋ยยาฮอร์โมนลงไปแม้แต่หยดเดียว

หลังจากที่หมั่นเติมอินทรียวัตถุจนดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมือนป่าเปิดใหม่แล้ว ก็ให้หมั่นตรวจวัดค่าความเป็นกรดด่างของดินอย่างน้อยปีละครั้งหรือสองครั้ง เพื่อคอยควบคุมมิให้ค่าความเป็นกรดและด่างของดินเลยจุดความเหมาะสมที่พืชต้องการ ค่าความเป็นกรดและด่างที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชคือจะต้องเป็นกรดอ่อนๆ คือมีค่าพีเอชอยู่ที่ 5.8-6.3 ดังนั้นการที่จะควบคุมค่าพีเอชของดินให้นิ่งก่อนจะใส่จะเติมวัสดุที่เป็นกลุ่มปูนซึ่งมีความเป็นด่างอยู่ในตัวอย่าง ปูนมาร์ล, ปูนขาว, โดโลไมท์ และฟอสฟอส จะต้องตรวจวัดค่าความเป็นกรดและด่างของดินให้ดีเสียก่อน มิฉะนั้นจะกลายเป็นการกระหน่ำซ้ำเติมผืนดินให้ยิ่งแย่ลงไปจากเดิม คือกลายสภาพจากกรดกลายเป็นด่าง ซึ่งแก้ไขปัญหาให้มีค่าลงมาอยู่ในจุดที่เหมาะสมนั้นยากกว่าดินที่เป็นกรดและอาจจะต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ….

สำหรับวันนี้ต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ รายละเอียดต่างๆจะนำมาเรียงรายขยายความเพิ่มเติมให้ในโอกาสถัดไป

 

 มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 555683เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 19:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท