การธำรงรักษาบุคคลากรในงานรังสีวิทยา


การธำรงรักษาบุคคลากรในงานรังสีวิทยา

Human resource retention in radiology sphere

 

เอนก สุวรรณบัณฑิต วท.บ., ศศ.ม., ปร.ด (กำลังศึกษา)

ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เอนก สุวรรณบัณฑิต. การธำรงรักษาบุคคลากรในงานรังสีวิทยา. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2554; 5 (2) : 32-39.

 

การธำรงรักษาบุคลากรเป็นส่วนงานของการบริหารจัดการบุคคลที่สำคัญ งานรังสีวิทยาประกอบด้วยบุคลากรระดับปฏิบัติการที่ทำงานร่วมกันอย่างเป็นสหสาขาวิชาชีพ เช่น นักรังสีการแพทย์และพยาบาลรังสีวิทยา และบุคลากรในระดับรองลงมา หากจำนวนผู้ปฏิบัติงานไม่เหมาะสมกับภาระงานย่อม โดยเฉพาะหากปริมาณงานมีมากกว่าจำนวนชั่วโมงทำงานรวมของบุคลากรแล้วจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในการทำงาน และความรู้สึกท้อถอย ซึ่งส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์กรและนำไปสู่การลาออกในที่สุด เมื่อได้โอกาสในการทำงานใหม่หรือเปลี่ยนงานที่ได้รับค่าตอบแทนหรือโอกาสในความก้าวหน้ามากกว่าเดิม

หัวหน้างานย่อมต้องมีภาระรับผิดชอบต่อการธำรงรักษาบุคลากรไว้ให้ได้มากที่สุด นานที่สุด เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพในการทำงานบริการด้านรังสีวิทยาที่ต้องการความเป็นมืออาชีพในการทำงานด้วยมาตรฐานการบริการระดับสากล

การพิจารณาเพียงการสรรหาทดแทนการลาออกย่อมไม่อาจทดแทนคุณค่าของประสบการณ์ที่สูญเสียไปกับบุคลากรที่ลาออกไป รวมไปถึงต้นทุนทางอ้อมที่เกิดขึ้นระหว่างการอบรม การสอนงานแก่บุคลากรที่ได้ทำงานอยู่มาระยะเวลาหนึ่งนั้น ความสูญเสียถึง 2 ด้านเช่นนี้ยังนำไปสู่แนวโน้มของการลาออกเพิ่มขึ้นของบุคลากรคนอื่นอีกด้วย การป้องกันปัจจัยผลักที่ส่งผลต่อการลาออกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณาในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมและขอชี้แนะไว้ ดังนี้

หลักการจัดการองค์การ

ผู้บริหารหรือหัวหน้างานต่างมีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบต่อความอยู่ดีมีสุขของบุคลากรใต้บังคับบัญชาของตน ดังนั้นจะต้องบริหารจัดการหน่วยงาน ด้วยหลักการ 6 ประการ ได้แก่

  1. หลักความเสมอภาค การให้สิทธิประโยชน์โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมกันให้มากที่สุด ไม่ควรจะแบ่งชั้นมากเกินไปจนเกิดความขัดแย้ง
  2. หลักสิทธิประโยชน์ หมายถึง สิทธิประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับตามตำแหน่งหน้าที่ และการจัดสรรของหน่วยงาน 
  3. หลักการจูงใจ หมายถึง การให้สิทธิประโยชน์ที่ตรงกับความต้องการ ของพนักงานส่วนใหญ่ หรือสิ่งที่ให้แก่พนักงานนั้นเป็นสิ่งที่มีแนวโน้มที่จะจูงใจให้พนักงานปฏิบัติงานด้วยความเต็มใจ
  4. หลักการตอบสนองความต้องการ หมายถึง องค์การต้องอำนวยความสะดวกและเกื้อกูลแก่พนักงานตามความเร่งด่วนในความต้องการด้านต่างๆ เพื่อให้ได้ความเต็มใจในการทำงาน
  5. หลักประสิทธิภาพ หมายถึงสิ่งที่จัดสรรให้แก่พนักงานจะต้องเหมาะสมตามหลักการขององค์การและพนักงานควรจะ ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด รวดเร็วที่สุด มีประโยชน์ และลงทุนน้อยที่สุด
  6. หลักความพึงพอใจ เพื่อการธำรงรักษาพนักงานหมายถึงการคำนึงถึงความพึงพอใจของพนักงานต่อหัวหน้างาน ความพอใจต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไป ความพอใจต่อค่าตอบแทน ความพอใจต่อเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น

หลักการทั้ง 6 ข้อนี้เป็นพื้นฐานในการบริหารงานบุคคลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่จะให้แก่บุคลากรที่มาสมัครทำงาน (recruitment) การจัดวางตำแหน่งงาน (staffing) การควบคุมการทำงาน (controlling) และการประเมินผลการทำงาน (evaluating) ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อแนวทางในการธำรงรักษาบุคลากรในท้ายที่สุด โดยองค์การที่มีการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาลที่ดี (good government) นั้นจะได้ให้ความสนใจในการประยุกต์ใช้การจัดการเพื่อการธำรงรักษาบุคลากรไว้ในการจัดการในทุกระดับและทุกขั้นตอน โดยมีวิธีการของการธำรงรักษา 5 ประการ ร่วมด้วย

  1. การจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสม เป็นไปตามหลักการและหลักเกณฑ์ที่องค์การกำหนด เช่น โครงสร้างเงินเดือน
  2. การจัดสภาพแวดล้อมที่ดีในสถานที่ทำงาน
    1. สิ่งแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่ทำงาน
    2. ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงานและหัวหน้างานภายในหน่วยงาน
  3. การให้ประโยชน์และการบริการภายในที่ดีและเป็นไปตามความต้องการของพนักงาน เช่น งานกิจการภายใน สวัสดิการภายในหน่วยงาน เงินพิเศษ การช่วยเหลือด้านเอกสารต่างๆ กองทุนกู้ยืมต่างๆ เป็นต้น
  4. การป้องกันอุบัติเหตุและส่งเสริมความปลอดภัย ที่จะต้องมีการวางแผนและเตรียมความพร้อมในทุกระดับและพนักงานมีส่วนร่วมในการป้องกันอุบัติเหตุอย่างเหมาะสม
  5. การพัฒนาความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ จะต้องมีการกำหนดบันได้ความก้าวหน้า (career ladder) เพื่อเป็นภาพร่างความก้าวหน้าและกำหนดแผนงานความก้าวหน้า จากนั้นจึงวางแผนทางเดินเพื่อความก้าวหน้า (Career Path Planning) โดยบริหารบุคลากร กระตุ้น ย้ำเตือนในการปฏิบัติหน้าที่ เพิ่มพูนความรู้ การอบรมให้ได้ตามแผนงานที่วางไว้ และการจัดการผ่านระบบการพิจารณาเลื่อนขั้น ซึ่งพิจารณาจาก 4 ด้านคือ ทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ และผลงานที่ต้องสอดคล้องกัน มีการทบทวนแผนทางเดินรายปี และการพิจารณาสำรองคนใน Talent Pool เพื่อเสริมสร้างขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูง

 

กรอบคิดเมื่อถึงวิกฤติในงานอาชีพ

สำหรับบุคลากรทางรังสีวิทยานั้น สามารถใช้ฐานคิดในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ได้เป็น 2 ช่วง คือ อายุงานไม่ถึง 1 ปี ถือว่าเป็นผู้เข้ามาทำงานใหม่ (newcomer) ซึ่งทำงานครบ 1 ปี ย่อมจะประเมินความพึงพอใจในงานได้ว่าพอใจหรือไม่พอใจ หากพอใจย่อมทำงานต่อ แต่หากไม่พอใจย่อมจะลาออกและหางานใหม่ที่พึงพอใจมากกว่า สำหรับผู้ที่ทำงานต่อนั้นเมื่อ ได้ทำงานมาเกินกว่า 5 ปีแล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นบุคลากรระดับกลางของหน่วยงาน และเดินอยู่บนเส้นทางความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ หากแต่ เมื่อทำงานมาระยะเวลาหนึ่งนั้นย่อมเกิดวิกฤติในงานอาชีพ คือ ต้องการความก้าวหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น ตำแหน่งหน้าที่ อำนาจความรับผิดชอบ รายได้และค่าตอบแทน ทำให้เกิดเป็นความลำบากใจและมีแนวโน้มที่จะเบื่อหน่าย ท้อถอยในการทำงาน ปัจจัยภายนอกที่สำคัญย่อมเป็นการไม่ได้รับรู้แผนทางเดินอาชีพที่เหมาะสมจากหน่วยงานหรือไม่สามารถปฏิบัติได้ตามบันไดอาชีพที่จะเป็นความก้าวหน้าตามตำแหน่งหน้าที่ของตนได้ ซึ่งภาวะวิกฤตินี้มักจะเกิดสำหรับผู้ที่มีอายุการทำงาน 10 ปี 20 ปี และ 25 ปี โดยในช่วงหลังจะเกิดร่วมกับวิกฤติวัยกลางคน (middle age crisis) ซึ่งนำไปสู่การลาออกที่มักพบได้ในภาคเอกชน สำหรับภาคราชการก็พบได้ในผู้ที่มีอายุการทำงานราชการครบ 25 ปี ซึ่งเป็นเกณฑ์ในการรับบำนาญ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจลาออกเช่นกัน

อย่างไรก็ตามปัจจัยภายในที่จะกระตุ้นให้มีกำลังใจในการต่อสู้กับการทำงานต่อไปและมีประสิทธิภาพของงานร่วมด้วยนั้น มีแนวทางอยู่ 2 ระดับ ได้แก่ การคิดเชิงบวก และ 6P success ซึ่งจะต้องชี้นำให้บุคลากรทุกฝ่ายได้เรียนรู้ และฝึกปฏิบัติ ได้ดังนี้

การคิดบวก (positive thinking)

สิ่งที่คนทำงานมักพบก็คือคำว่า ปัญหาและหลงอยู่กับการแก้ปัญหาที่ไม่มีวันจบสิ้น ตัวอย่างเช่น ปัญหาการให้บริการล่าช้า ปัญหารอคิวตรวจนาน ปัญหาการบริการไม่สุภาพ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากพบเจอ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ในทางกลับกันก็เพราะว่ามีปัญหา มนุษย์จึงใช้สมรรถภาพคดเกิดเป็นปัญญาได้ หากรู้จักคิดพิจารณา และพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ความพยายาม และความคิดจะก่อให้เกิดปัญญา ที่จะเอาชนะปัญหาเหล่านั้นให้ผ่านไปความก้าวหน้าของโลกดังเช่นทุกวันนี้ก็เพราะคนเรารู้จักเปลี่ยนปัญหาให้ก่อเกิดปัญญาและถึงแม้ว่าทุกวันจะเจอปัญหาที่สุดจะแก้ไข แล้วก็ต้องยอมแพ้มันในชั่วขณะนี้ ย่อมเกิดด้วยความเครียดกับปัญหา จนรู้สึกท้อแท้ และหมดกำลังใจที่จะทำงาน การคิดบวกย่อมจะช่วยให้ผ่านพ้นสภาวะที่ย่ำแย่ในช่วงนั้นไปได้

วิธีคิดบวก

  1. สร้างความเชื่อมั่น ไม่ว่าพบเจอปัญหาใดๆ ให้มองด้านบวกไว้ ให้คิดแต่ว่า “เราต้องทำได้” แม้จะจัดการปัญหาไม่ได้ทั้งหมดแต่อย่างน้อยด้วยความสามารถตามศักยภาพที่มี ก็น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ ตั้งสติค่อยๆศึกษาปัญหา แล้วทำการแก้ไข อย่าคิดว่า “ฉันทำไม่ได้”
  2. สร้างจินตนาการ เพราะจะช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะต่อสู้กับปัญหา และอยากทำให้ก้าวเดินต่อไป ต้องมีมุมมองที่ดีให้แก่ตนเองและต่อคนอื่นๆ มองทุกอย่างด้วยความเป็นกลางเพื่อชีวิตที่สมดุล
  3. คิดถึงความสำเร็จ แม้เส้นทางไปสู่จุดหมายปลายทางของอาชีพนี้จะพบอุปสรรคนานับประการ แต่ก็ให้ถือเป็นเรื่องธรรมดา ที่สำคัญอย่ามองตัวเองว่าไม่มีความสามารถ และ “อย่านำตัวเองไปเปรียบกับใครอื่น” เพราะย่อมที่จะไม่มีใครที่เหมือนกันกับเรา แต่ละคนมีทักษะแตกต่างกัน เพียงตั้งใจทำให้ดีที่สุดก็พอแล้วในสถานการณ์หนึ่งๆ
  4. คิดมีเหตุผล เมื่อเกิดข้อผิดพลาดในเรื่องต่างๆ อย่าโทษตัวเองทุกเรื่อง และอย่าคิดว่าครั้งต่อๆไป ก็จะผิดพลาดตลอด ควรใช้หลักการคิดอย่างมีเหตูผล เพราะหลายคนมักประเมินมาตรฐานตนเองต่ำไป จนบั่นทอนความมั่นใจของตัวเองให้ลดน้อยลง

แนวทางคิดบวกเป็นหลักการที่เน้นภาวะภายในจิตใจของแต่ละคน ที่จะขจัดอุปสรรค ขจัดความกลัวของตัวเอง เมื่อสร้างการคิดเชิงบวกก็ย่อมเป็นการเพิ่มคุณค่าให้ชีวิต ความวิตกกังวลย่อมลดน้อยลงและชีวิตจะมีความสุข ซึ่งถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างหนึ่ง

6P success

หลังจากคิดบวกแล้ว การต่อยอมอย่างสำคัญคือการใช้พฤติกรรมเสริมเพื่อความสำเร็จในการทำงาน โดยมีการชี้ถึง 6P ได้แก่

  1. Positive Thinking การคิดบวกถือเป็นปัจจัยสำคัญแรกของ 6P การแสดงออกผ่านทัศนคติที่เป็นบวก มองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ ย่อมทำให้คนรอบข้างมั่นใจในตัวเราในการที่จะเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาต่างๆ
  2. Peaceful Mind การมีจิตใจที่สงบ เวลาเกิดปัญหาขึ้น ไม่ตื่นตระหนกไปกับปัญหานั้น มีสมาธิ จะทำให้เกิดปัญญาในการคิดหาวิธีแก้ปัญหา นอกจากนี้ ยังทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย
  3. Patient ความอดทน คนทำงานจะต้องรู้จักอดทนอดกลั้น ระงับอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ดีต่างๆ หากสิ่งใดไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ก็ต้องอดทนรอคอยให้ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม
  4. Punctual การเป็นคนตรงต่อเวลา เป็นวินัยสำคัญที่แสดงถึงคุณภาพในการทำงานที่จะกระทำงานหรือทำงานให้สำเร็จตามเวลาที่กำหนด มีการวางแผนงานที่เหมาะสม ถูกต้อง
  5. Polite การเป็นคนสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน จะทำให้มีแต่คนรักและอยากช่วยเหลือ ยิ่งถ้าเรามีตำแหน่งสูงขึ้นจะยิ่งต้องมีความสุภาพอ่อนน้อมเพราะจะทำให้ผู้อื่นยิ่งเกรงใจมากขึ้น
  6. Professional ความเป็นมืออาชีพในการทำงาน การที่รู้ถึงหน้าที่ ความรับผิดชอบ การทำตัวให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในหน้าที่นั้นๆ หมั่นแสวงหาความรู้ใหม่ๆ และหมั่นฝึกปรือเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้อื่นได้ย่อมได้รับการยอมรับในความเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น

การส่งเสริมพนักงานสร้างความมั่นคงองค์กร

แนวคิดเรื่ององค์กรที่ประสบความสำเร็จ กับองค์กรที่ล้มเหลว มีความเชื่อร่วมกันว่าพนักงานในองค์กรที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนั้น จะมีคุณลักษณะร่วมสำคัญ ได้แก่ พนักงานจะมีลักษณะกระตือรือร้นในการทำงานและขวนขวายหาทางแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมาย แต่ในองค์กรที่จะล้มเหลวนั้น พนักงานจะแสดงแค่ความปรารถนาในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย โดยที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง หรือปฏิบัติได้ก็อย่างยากลำบาก

ดังนั้นจากหลักการจัดการองค์การจะต้องพิจารณาการปรับปรุง ระบบงานในองค์การ เพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จภายใต้สภาวะที่ควรจะเป็น โดยต้องคำนึงในรายละเอียด ดังนี้

  1. กำหนดเป้าหมายของงานหรือวัตถุประสงค์ของงานอย่างชัดเจน เพราะ จะไม่สามารถจูงใจใครให้ทำงานได้เลย หาก หัวหน้างานก็ยังไม่รู้เป้าหมายของงาน เป้าหมายขององค์กรว่ากำลังทำอะไรอยู่ และมุ่งหน้าไปทางไหน 
  2. เอาใจใส่พนักงาน สามารถที่จะมองสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างที่พนักงานมองเห็นและรู้สึกอย่างพนักงานรู้สึก เพื่อทราบถึงความต้องการของพนักงาน และสามารถสร้างแรงจูงใจ พร้อมการปรับพฤติกรรมในการทำงานที่ดีให้เกิดในพนักงานได้
  3. การปรับปรุงระบบการสื่อสารภายในให้ดีขึ้น การประชุมในรูปแบบสองทางคือเน้นการให้ข้อมูลและเหตุผลในการปฏิบัติตามนโยบาย และการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงาน จะทำให้ได้รับผลตอบรับทั้งมุมมองและความคิดจาก พนักงานโดยตรง
  4. การตั้งเป้าหมายขององค์กรให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความต้องการของพนักงาน
  5. หัวหน้างานและระบบต้องเอื้ออำนวยด้าน อุปกรณ์ เวลา สิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงาน และให้การฝึกอบรมพนักงานอย่างเหมาะสม
  6. การตั้งเป้าหมายการทำงานที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติจะทำให้เกิดความพยายามของกลุ่ม
  7. หัวหน้าจำเป็นต้องรู้รายละเอียดของผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อเข้าใจสิ่งที่เป็นแรงจูงใจที่จะมีเฉพาะของพนักงานแต่ละคน และปรับใช้ในการทำให้พนักงานมีการแสดงพฤติกรรมพึงประสงค์ และปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

สรุป

การธำรงรักษาบุคลากรในงานรังสีวิทยานั้น จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงด้วยเป็นเรื่องสำคัญสำหรับหน่วยงานและองค์การ หลักการจัดการที่เหมาะสม ร่วมกับการสร้างเสริมการคิดบวกและปัจจัยความสำเร็จภายในของพนักงานในแต่ละระดับจะช่วยให้ขจัดความรู้สึกเบื่อหน่ายและความคับข้องใจต่างๆ ที่เป็นสาเหตุหลักของการลาออก และหากระบบงานมีแนวทางการส่งเสริมพนักงานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะความก้าวหน้าในหน้าที่การงานจะยิ่งทำให้พนักงานแสดงพฤติกรรมพึงประสงค์ในการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพและองค์การสามารถบรรลุเป้าหมายตามนโยบายได้

บรรณานุกรม

  1. เอนก สุวรรณบัณฑิต และ ภาสกร อดุลพัฒนกิจ.จิตวิทยาบริการ.สำนักพิมพ์อดุลพัฒนกิจ. พิมพ์ครั้ง 4 ,กรุงเทพฯ, 2554
  2. การธำรงรักษาพนักงาน. http://human-today.tripod.com/know12.htm
  3. People Magazine. สถาบันพัฒนาวิชาชีพทรัพยากรบุคคล สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย http://www.pmat.or.th, www.facebook.com/people.khon
  4. http://thailand39g.com/?id=chaiwatdh
  5. www.studentkm.ne
  6. www.siamhrm.com
คำสำคัญ (Tags): #ธำรงรักษา#retention
หมายเลขบันทึก: 555518เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2013 09:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ธันวาคม 2013 09:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท