หนังสือเปลี่ยนชีวิต : มรณสติในพระไตรปฏิก


...มนุษย์เราแค่ผู้ผ่านทาง ดังสรรพชีวิตอื่นๆ...-ครูพีร์-

หนังสือเปลี่ยนชีวิต : มรณสติในพระไตรปฏิก

 

-ครูพีร์-

ชุมชน 100เล่มเกวียนเปลี่ยนชีวิต

 

          สวัสดีเพื่อนๆ ผู้ใฝ่รู้ในชุมชนออนไลน์ Gotoknow ทุกท่านครับ ห่างหายไปนาน ด้วยภาระมากมายทั้งเพื่อชาติ เพื่อศาสนา ..ว่าไปนั้น (ขอยืนยันไม่เกี่ยวกับการชุมนุมใดทั้งสิ้น..ครับ)

          แทนคำแก้ตัวนี้มีหนังสือดีๆ มาฝากครับ (หลวงพ่อให้มา) เป็นหนังสือเล่มเล็กครับ สองร้อยกว่าหน้า ชื่อว่า มรณสติในพระไตรปิฎก ของอาจารย์สุภีร์ ทุมทอง หลักใหญ่ใจความว่าด้วยเรื่อง มรณสติ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

 

          โดยภาพรวมของหนังสือ :

           เป็นหนังสือที่รวบรวมจากการบรรยายอาจารย์สุภีร์ อ่านง่าย เข้าใจง่ายๆ แม้สำนวนจะเป็นสำนวนแปลยกจากพระไตรปิฎก เนื้อหาหลักเป็นเรื่อง มรณสติ ครับพร้อมยกตัวอย่างชาดกประกอบ ทำให้อ่านสนุก และที่สำคัญชวนให้เราทำความเข้าคำว่า มรณสติ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ทำไมเราต้องมีมรณสติ หากใครก็ท้อแท้ สิ้นหวัง เหนื่อยใจ และอีกหลายๆ อย่างรวมทั้งสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันสมควรได้อ่าน ครับ ...บางทีเราอาจได้ตระหนักว่า อีก 100 ปีข้างหน้า วันนี้.ณ..วันนั้นอาจจะไม่มีความหมายอะไรเลย ....มนุษย์เราแค่ผู้ผ่านทาง ดังสรรพชีวิตอื่นๆ...

         

          ข้อชวนคิด :

           ปกติเรามักตั้งคำถามกับตัวเองมากมาย.. เราจะอยู่อย่างไร เราจะทำงานอย่างไร เราจะมีบ้านอย่างไร เราจะมีรถอย่างไร เราทำอย่างไรถึงจะร่ำรวย ฯลฯ ..

           แต่คำถามสำคัญที่เราลืมถามคือ เราจะตายอย่าง เราได้เตรียมอะไรไว้บ้างเมื่อจะต้องตาย และชีวิตนี้ต้องตายแน่ๆ เหนืออื่นใดเราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร..อาจจะเป็นวันนี้ พรุ่งนี้ ก็ได้..แล้วที่เราหาและที่กำลังจะหาละ..เพื่ออะไร !!!

          หนังสือเล่มนี้มีคำตอบครับ มรสติในพระไตรปิฎก บทธรรมสำหรับระลึกถึงสามัญธรรมดาของสรรพชีวิต

 

 

บางส่วนของหนังสือครับ

...จากหนังสือ หน้า ๑๖๒

....สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ ๑๑๕ ปิยสูตร (สูตรว่าด้วยความรัก)

 

เรื่องเกิดขึ้นในกรุงสาวัตถี

 

          พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า “ชนเหล่าไหนหนอชื่อว่ารักตน ชนเหล่าไหนชื่อว่าไม่รักตน” ข้าพระองค์ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ก็ชนเหล่าใด ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักตน แม้ชนเหล่านั้นจะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรารักตน’ ก็ตาม ชนเหล่านั้นชื่อว่า “ไม่รักตน”

          ข้อนั้นเพราะเหตุไร

          เพราะชนผู้ไม่รักกัน ทำความเสียหายใดให้แก่ผู้ไม่รักกันได้ ชนเหล่านั้นก็ทำความเสียหายนั้นให้แก่ตนเองได้ ฉะนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักตน ส่วนชนเหล่าใด ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่า “รักตน” แม้ชนเหล่านั้นจะกล่าวอย่างนี้ว่า “เราไม่รักตน” ก็ตาม ชนเหล่านั้นชื่อว่า “รักตน”

          ข้อนั้นเพราะเหตุไร

          เพราะชนผู้ที่รักกัน ทำความเจริญใดให้แก่ผู้ที่รักกันได้ ชนเหล่านั้นก็ทำความเจริญนั้นให้แก่ตนเองได้ ฉะนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่า “รักตน”

 

          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น เพราะว่าชนบางพวกประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักตน แม้ชนเหล่านั้นจะกล่าวอย่างนี้ว่า “เรารักตน” ก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าไม่รักตน

          ข้อนั้นเพราะเหตุไร

          เพราะชนผู้ไม่รักกัน ทำความเสียหายใดให้แก่ผู้ไม่รักกันได้ ชนเหล่านั้นก็ทำความเสียหายนั้นให้แก่ตนเองได้ ฉะนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักตน ส่วนชนบางพวกประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักตน แม้ชนเหล่านั้นจะกล่าวอย่างนี้ว่า “เราไม่รักตน” ก็ตาม ชนเหล่านั้นชื่อว่า “รักตน”

          ข้อนั้นเพราะเหตุไร

          เพราะชนผู้รักกันทำความเจริญใดให้แก่ผู้ที่ตนรักได้ ชนเหล่านั้นก็ทำความเจริญนั้นแก่ตนได้ ฉะนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่า “รักตน”

 

          พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

 

                    ถ้าบุคคลรู้ว่ารักตน ก็ไม่พึงชักนำตนไปในทางชั่ว

          เพราะความสุขนั้นบุคคลมักทำชั่วจะไม่ได้โดยง่าย

                   เมื่อบุคคลถูกความตายครอบงำ

          ก็จะต้องละทิ้งภพมนุษย์ไป

          ก็อะไรเล่าจะเป็นสมบัติของเขา

          และเขาจะนำอะไรไปได้

          อนึ่ง อะไรเล่าจะติดตามเขาไป

          ดุจเงาติดตามตัวไป ฉะนั้น

                   สัตว์ผู้จะต้องตายในโลกนี้

          ทำกรรมอันใด คือบุญและบาปทั้ง ๒ ประการ

          บุญและบาปนั้นแลเป็นสมบัติของเขา

          ทั้งเขาจะนำบุญและบาปนั้นไปได้

          อนึ่ง บุญและบาปนั้นย่อมติดตามเขาไป

          ดุจเงาติดตามตัวไป ฉะนั้น

                   เพราะฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี

          สะสมไว้เป็นสมบัติในโลกหน้า

          เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า

 

 

           ปล.ถ้าท่านสมาชิกอ่านมาถึงบรรทัดนี้เป็นที่แน่ใจ(ระดับหนึ่งว่า..ท่านสมาชิกได้อ่านทุกบรรทัดข้างบน..หรือเปล่า :) ..) กำลังจะบอกว่าหนังสือเล่มนี้ไม่มีขายครับเป็นหนังสือแจกเป็นธรรมทานที่ผมได้รับมาและจะแจกเป็นธรรมทานต่อครับ สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ธรรมเป็นทานย่อมชนะการให้ทั้งปวง

            ...กติกาง่ายๆ ครับ โพสต์ชื่อที่อยู่ไว้ในในคอมเม้น (เพื่อจะได้ส่งหนังสือไปให้ครับ)..พร้อมทั้งรับปากว่าอ่านจบแล้วจะเขียนแนะนำเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้(ตามทัศนะของท่าน) ลงในชุมชน 100เล่มเกวียนเปลี่ยนชีวิต เพื่อแลกเปลี่ยน และสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ของเรากับเพื่อนๆ ต่อไป ครับ 

            หนังสือมีเล่มเดียวนะครับผม ขอสงวนสิทธิ์ส่งให้คนแรกที่โพสต์ ชื่่อที่อยู่ไว้ครับ

 

             ...ขอให้ทุกคนใช้ชีวิตให้มีความสุขครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 555504เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2013 08:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ธันวาคม 2013 08:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอเป็นเขียนก่อนนะครับ

แต่ไม่รับหนังสือ

มีกิจกรรมดีๆแบบนี้น่าสนใจมาก

อย่าหายไปนาน

คำสำคัญ ว่า หนังสือเปลี่ยนชีวิต นะครับ



ตั้งใจว่า เสาร์ - อาทิตย์ นี้ จะลงมือเขียนแล้วจ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท