About schmidt


ตัวเอกของเรื่องเป็นลักษณะ Ego centric คือยึดตนเอง มีความเข้าใจ หรือยอมรับคนอื่นได้น้อย ปล่อยวางได้ยาก
เมื่อวันที่ 21 เราได้จัดกิจกรรม Movie club ขึ้นที่โรงพยาบาล เรื่อง  About Schmidt หนึ่งคนค้นความหมาย เป็นหนังเกี่ยวกับผู้สูงอายุวัยเกษียณ ที่ต้องเผชิญกับชีวิตที่ไม่คาดฝันหลายอย่าง ไม่ว่าจะภรรยาตาย ลูกสาวจะแต่งงานใหม่ ทำให้เกิดความทุกข์ หลายอย่าง วันนั้น เราก็เชิญทั้งหมอ พยาบาล นักจิตวิทยา มาวิพากษ์หนัง ก็ได้ความรู้มาบ้าง ดังนี้             คุณรจนา ที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์บอกว่า ดูแล้วคิดถึงตัวเองสมัยที่ดูแลพ่อแม่ และตัวเองทำอะไรไม่ถูก ไม่ได้ดูแลพ่อแม่อย่างที่จำเป็น เขาบอกว่าเหงาจังเลย อย่าทิ้งแม่ไปนะแต่ตอนนั้นเราไฟแรง เอาไว้ก่อน ก็ปล่อยให้ผู้สูงอายุคอย เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็มาพบว่า กับผู้สูงอายุนี้ เราต้องละเอียด รอบคอบ ใส่ใจ ในเรื่องที่ควรจะดูแล ให้ความสำคัญ ดูแลด้วยความรัก ห่วงใย ชักชวนพูดคุย บอกข้อมูลข่าวสารรอบตัว ไม่ควรผัดผ่อนในสิ่งที่ช่วยเหลือ อาจช่วยเหลือ โดยการอ่านหนังสือให้ฟัง สนเข็ม พาเดินข้ามถนน อ่านฉลากยา คุณรจนาบอกว่า ข้อคิดที่ได้ ในส่วนตัวของวอร์เรน ตัวเอกของเรื่อง ต้องเป็นคนมองโลกในแง่ดี  เห็นความดี มีคุณค่าของลูกหลาน รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ด้วยใจเป็นกลาง พบปะสังสรรค์กับผู้อื่นบ้าง           คุณวีณา นักจิตวิทยา มองว่าเวลาที่เรามีชีวิต เราก็จงอยู่กับคนรอบข้างของเราให้ดีที่สุด เวลาที่เขาจากไปแล้ว จะได้ไม่รู้สึกผิด เสียใจในสิ่งที่เรากระทำไป ถ้ามองด้านบุคลิกภาพ ก็พบว่าตัวเอกของเรื่องเป็นลักษณะ Ego centric คือยึดตนเอง มีความเข้าใจ หรือยอมรับคนอื่นได้น้อย ปล่อยวางได้ยาก ที่จริงวัยสูงอายุ เขาน่าจะเจอความหมายของชีวิตแล้ว แต่เนื่องจากเขาขาดการยอมรับ การใส่ใจ เหมือนกับเขาตามหาคนที่เข้าใจ ลูกก็ไม่ให้ความสำคัญกับเขา จึงเกิดความแห้งแล้ง แต่จุดดี คือที่เขามีโอกาสได้ช่วยเหลือเด็กยากไร้ มีโอกาสระบายความรู้สึก บอกเล่าประสบการณ์ ทำให้เขา coping อยู่ได้ สุดท้ายได้เห็นคนอื่นว่าได้สร้างความแตกต่างให้กับโลกได้ ลืมไปว่าเขาเองก็ได้สร้างความแตกต่างเหมือนกัน แต่สุดท้ายเห็นภาพที่เด็กวาดให้ ที่สื่อให้เห็นว่าเขาได้ทำเหมือนกัน                        นอกจากนี้ตัวละคร ยังสามารถสะท้อนเรื่องการจัดการกับปัญหาให้กับเราได้ วอร์เรนเป็นคนที่จัดการกับปัญหาแบบไม่ยอมรับความจริง  จะทำสิ่งที่ตรงกันข้าม เมื่อถูกปฏิเสธจากลูก ก็จะบอกเอ็นดูกูอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น ถ้าเรามีความทุกข์ แล้วเรายอมรับทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกข์นั้นก็จะไม่กลับมาหาเราได้ ไม่เก็บกด              ส่วนคุณเสาวภา พยาบาลจิตเวช ก็ประทับใจในฉากสุดท้าย น้ำตาของวอร์เรน เป็นน้ำตาของอะไร ซึมเศร้า ความเข้าใจโลก หรือจากเอนดูกู( เด็กที่เขาอุปถัมป์) ก็ขึ้นอยู่กับบริบทแต่ละคน            การเกษียณ เป็นชีวิตที่มืดมนว้าเหว่ ความสูญเสียของวอร์เรนมาจาก ที่คุณวีณาได้พูดไปแล้ว สิ่งที่เขากำลังค้นหา คือสิ่งใกล้ตัว  ถ้าเขามองคนอื่นอย่างเข้าใจ เขาก็คงได้พบสิ่งที่ค้นหามานานแล้ว แม้การเขียนจดหมาย ก็ยังเห็นแก่ตัว ไม่พูดความจริง ด้วยว่าไม่อยากให้เห็นตัวเองเป็นคนผิดหวัง ตอนที่แฟนยังมีชีวิตอยู่ เมื่อกลับไปที่ออฟฟิศหลังเกษียณ กลับมาบอกแฟนว่าได้ไปช่วยงานเขาทั้งๆ ที่คนอื่นเขาไม่มีอะไรให้ช่วยเหลือ แต่ก็โกหกแฟนไป เพราะตอนนั้น คุณค่าในตนเองของเขาต่ำลง แต่เขาก็มีจุดดี คือพยายามค้นหาตนเองและหาสิ่งทดแทน ถ้าเขาเรียนรู้ว่าเขา เรียนรู้ และหาคุณค่าของคนอื่นอย่างเข้าใจ แล้วเขาก็จะมีความสุขได้ ในมุมมองของพยาบาล ผลกระทบของผู้เกษียณ ส่วนใหญ่เป็นการกระทบที่จิตวิญญาณ มากกว่า ดังนั้นเราต้องมีการดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน ด้านเศรษฐกิจก็ต้องมีการเตรียมการเช่นกัน             การส่งเสริมสุขภาพจิต อาจเป็นเพียงแค่โทรศัพท์ไปหาว่า กินข้าวแล้วหรือยัง แค่นี้ผู้สูงอายุก็พอใจแล้ว ถ้าเป็นลักษณะการดูแลแบบองค์รวม ก็จะเป็นด้านการส่งเสริมความมีคุณค่า เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ตามทฤษฎีของ โอเร็ม และรอย นั้นบอกว่า การดูแลผู้สูงอายุต้องดูแลด้วยใจ มี          หมอปทานนท์ จิตแพทย์ มองว่าบริบทหนังเรื่องนี้ทำในอเมริกา ซึ่งโตมากับความเชื่อที่ว่า คนเราต้องเป็น some body เพราะฉะนั้น การที่เขามีงานที่ดี ก็เป็นเหมือนตัวยันเรื่อง self esteem ถ้าเป็นคนตะวันออก จะเป็นเรื่องจิตวิญญาณ สังเกตได้ตอนวันเลี้ยงเกษียณที่เขาจะแสดงสีหน้าเฉย เหมือนตอนนั้น self esteem หลุดไปแล้ว ถ้าจะให้เข้าใจเรื่องนี้ ขออ้างอิงทฤษฎีของ Erik Erikson ที่จำแนกพัฒนาการของมนุษย์ออกเป็น 8 ระยะ หรือ 8 ขั้น แต่ละขั้นบุคคลต้องผ่านไป เช่น ถ้าเป็นขั้นที่ 8 ถ้าไม่ผ่านก็จะเป็นลักษณะที่กลัวตาย แต่สำหรับตัวละครนี้อาจจะหยุดที่ขั้น Shame – Doubt             วันนั้นคนที่ดูหนัง และฟังคำวิพากษ์จากทีมสหวิชาชีพของเรา ก็ได้ทั้งความบันเทิง และเนื้อหาดี ๆ กันไปอย่างถ้วนหน้า ถ้าเรามีใครที่ใกล้เกษียณ นำหนังเรื่องนี้ไปให้ดู ก็คงจะดีเหมือนกันนะ
หมายเลขบันทึก: 55514เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2006 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 22:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ดิฉันมีคุณพ่ออายุ 60+ ค่ะ
  • ดิฉันได้มีโอกาสไปเยี่ยมท่านน้อยมาก เพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้นค่ะ
  • แต่เกือบทุกวัน จะโทร.หาท่านค่ะ
  • เขียนบันทึกนี้ได้ดีค่ะ ทำให้คิดถึงผู้ใหญ่ที่เรานับถืออีกหลายท่านค่ะ เราไม่ควรลืมเค้าค่ะ

ได้เข้ามาอ่านข้อความ ในวันที่ 24 ตุลา เวลา20.50 น. รู้สึกอยากชมภาพยนต์เรื่องนี้ขึ้นมาบ้าง เพราะเคยไปร่วมงานเกษียณอายุราชการของผู้บริหารระดับสูงหลายๆท่าน ซึ่งในสายตาของคนทั่วไปอาจมองว่า เป็นวัยที่ท่านจะได้พักผ่อน หลังผ่านการทำงานหนักมานานแสนนาน กว่าครึ่งค่อนชีวิต  แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ด้วยความรู้สึกของตนเอง..ด้วยใจ..พบว่า มันช่างเต็มไปด้วยความเศร้า ความหดหู่ (แม้ว่าพวกท่านดูเหมือนจะยิ้มแย้มแจ่มใส) และไม่รู้ว่า วันพรุ่งนี้ ตื่นขึ้นมาแล้วจะแต่งตัวอย่างไร  จะไปไหน จะคุยกับใคร เหมือนเป็นช่วง empty nest ของท่านๆ เหล่านั้น ซึ่งถ้ามีคนที่ผ่านการเตรียมตัวรับวันเกษียณได้ดี ความรู้สึกนี้ก็อาจน้อยลง แต่ก็พบท่านๆ ทั้งหลาย ที่เมื่อการเกษียณอายุผ่านไป  ท่านก็เริ่มห่างหายไปจากชีวิตของพวกเราด้วย  ไม้รู้ว่าท่านอยู่กันอย่างไร คุณค่าในชีวิตอยู่ที่ไหน มีใครห่วงใย ใส่ใจ ดูแลกันบ้าง  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท