บันทึกความเข้าใจเมืองไทยว่าด้วยการเมืองและการปกครอง


๒๘ พ.ย. ๕๖

                เวลานี้ประเทศไทยกำลังเดินทางสู่ปากเหวอีกคราหนึ่ง ซึ่งด้านหนึ่งเป็นเหมือนสิ่งที่คนไทยเราคุ้นเคยกับการเดินอยู่แบบนี้ คือไปบนทางที่ไม่ค่อยราบเรียบ เดินลงเหว ป่ายปีนขึ้นจากปากเหว เดินไปบนทางขรุขระ เดินลงเหว แล้วก็ปีนขึ้น เช่นนี้อยู่ตลอดช่วงเวลาหลังจากที่มีคนไทยกลุ่มไม่ใหญ่ตัดสินใจแทนคนไทยทั้งประเทศในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่าประเทศนี้ควรเดินไปบนเส้นทางที่ประมาณครึ่งโลกในเวลานั้นเรียกว่า “ประชาธิปไตย” และชื่นชมว่าเป็นระบบการปกครองที่ถืออำนาจของประชาชนเป็นใหญ่ คืออำนาจการปกครองประเทศมาจากประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน กลายเป็นวลีติดความคิดเชิงหลักการที่ท้ายสุดหลายคนก็เข้าใจภายหลังว่า ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด อย่างไรก็ตามด้วยหลักการและแนวทางการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศตามระบบวิธีนี้ ก็ยังถือเป็นระบบที่มีข้อเสียน้อยที่สุด โดยที่หลักสำคัญคือการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความชัดเจนอยู่มาก ก็เป็นที่ยอมรับของสังคมโลกมากขึ้น ๆ จนขณะนี้ประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็ใช้ระบบการปกครองแบบนี้ แม้อาจจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละข้อจำกัดต่าง ๆ ของแต่ละสังคม

                อย่างไรก็ตามนั้น สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจของการใช้หลักการ ระบบ วิธีการ จัดสรรอำนาจเพื่อใช้ปกครองสังคมใดก็ตามย่อมอธิบายด้วยข้อผูกพันทางวิชาการที่จะยึดโยงความเข้าใจของมวลสมาชิกของสังคมให้สามารถถ่ายทอดความรู้ความคิด ตลอดจนความเป็นอิสระที่จะพัฒนาแนวคิดของสมาชิกเอง ให้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องได้เท่าทันกับสภาพการณ์เปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งภายในภายนอกประเทศ เห็นได้โดยชัดว่าการพัฒนาด้านการเมืองการปกครองของแต่ละสังคมนั้นไม่เคยหยุดนิ่ง ต่างมีแนวโน้มการเคลื่อนไหวไปสู่ความสมดุลแห่งอำนาจในการปกครองผู้คนในสังคม แม้ว่าจุดสมดุลดังว่านั้นอาจเป็นเพียงสมมุติฐาน หรือเป็นอุดมคติก็ตามแต่ หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าสภาวะสมดุลอาจเกิดอยู่ในสภาพการณ์หนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้เป็นไปตามกฎของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นนิรันดร์  แต่คำถามสำคัญในย่อหน้านี้ก็คือ สมาชิกในสังคมใด ๆ ที่ใช้ระบบการปกครองแบบใดแบบหนึ่งนั้น เข้าใจหลักการ วิธีการ ในระดับความรู้ใกล้เคียงแตกต่างแค่ไหน หรือเป้าหมายของการดำรงอยู่ภายใต้ระบบเช่นที่เป็นอยู่นั้นมีความชัดเจน มุ่งมั่นร่วมกันหรือไม่เพียงใด นอกจากนั้นแล้ว มีสมาชิกส่วนใดหรือไม่ที่มีความเห็นแตกต่าง ต่อต้านและบ่อนทำลายหลักการ หรือเลวร้ายสุดคือพยายามสถาปนาหลักการ วิธีการที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง และผู้ที่จะให้คำตอบสำหรับคำถามนี้ คือ ฝ่ายกลุ่มผู้ได้รับอำนาจปกครองผู้คนในสังคมใด ไม่ว่าด้วยวิธีใดนั้น ได้พยายามอย่างที่สุดหรือไม่ที่จะ ทำความเข้าใจ โดยสื่อสารความรู้ การกระทำแบบอย่าง การค้นหาความคิดเห็นร่วม และเป้าหมายร่วม ของสมาชิกในสังคม ตลอดจนมีวิธีบริหารจัดการที่เหมาะสมเพียงพอและเป็นธรรมกับบรรดาสมาชิกที่มีความเห็นแตกต่าง ต่อต้าน บ่อนทำลาย ระบบวิธีการที่สมาชิกส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับต้องการหรือไม่ คำถามและตัวผู้ตอบปัญหาดังกล่าวนี้คือเงื่อนไขสำคัญของการปกครองสังคมใด ๆ ให้อยู่โดยสงบสุขได้ ซึ่งไม่ว่าสังคมใดจะเป็นอยู่ปกครองด้วยระบบใดก็ตามก็จะต้องตกอยู่ใต้เงื่อนไขนี้ทั้งสิ้น

                               แม้ว่าในสังคมที่ผู้คนมีระดับความรู้ความเข้าใจในระบบการปกครองที่ใกล้เคียงกัน มีเป้าหมายชัดเจนร่วมกัน ฝ่ายใช้อำนาจปกครองก็ยังมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องพยายามทำความเข้าใจ สื่อสาร ค้นหาความคิดเห็นร่วม ทำเป้าหมายร่วมของคนในสังคมให้ชัดเจนต่อไปไม่หยุด เนื่องจากย่อมจะต้องมีสมาชิกส่วนหนึ่งที่มีความเห็นแตกต่าง มีเป้าหมายแตกต่าง คิดต่อต้านและบ่อนทำลาย หรือแม้แต่สมาชิกที่เคยเข้าใจ และเห็นคล้อยตามด้วย ก็อาจเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นก็ได้

                               ส่วนในสังคมใดที่ผู้คนมีระดับความรู้เข้าใจในระบบการปกครองที่ใช้ร่วมกันอยู่ในระดับที่แตกต่างอย่างมาก มีการต่อต้านและบ่อนทำลายหลักการ และฝ่ายใช้อำนาจปกครองไม่ให้ความสำคัญกับการทำความเห็นความเข้าใจร่วมกันในทางที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ใส่ใจเป้าหมายของการดำรงอยู่ของสังคมร่วมกัน ขาดการกระทำที่มีคุณค่าเป็นแบบอย่าง แต่ขณะเดียวกันกลับพยายามใช้อำนาจปกครองที่มีบีบบังคับให้สมาชิกเชื่อตาม ปิดกั้นการแสวงหาแนวทางที่เหมาะสม ด้วยติดอยู่กับอำนาจปกครองและผลประโยชน์ในกลุ่มของผู้ปกครอง ยิ่งรังแต่จะพาให้สังคมเสื่อมสลายไปที่สุด

                               สังคมไทยเราตกอยู่ในสถานะใดตอบได้ไม่ยากว่า น่าจะเป็นส่วนหลัง ที่สมาชิกส่วนใหญ่ในสังคมขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้อำนาจปกครอง หรือมีความรู้ความเข้าใจก็ดำรงอยู่ในระดับที่แตกต่างกันอย่างมาก การต่อต้านและบ่อนทำลายหลักการที่ถูกต้องเหมาะสมมีอยู่ทั่วไป และฝ่ายใช้อำนาจปกครองยังคงวนเวียนกับการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าใช้อำนาจปกครองผู้คนจนไม่คิดจะวางเป้าหมายของสังคมประเทศโดยรวมไปสู่อนาคต โดยเฉพาะการแสวงหาผลประโยชน์จากต้นทุนของประเทศ ไม่ว่ากลุ่มผู้คนที่มีความรู้ความสามารถ ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และกลุ่มผู้คนชั้นแรงงานที่กลายเป็นทุนแห่งกองกำลังสนับสนุนคล้ายกองกำลังในกองทัพ กลายเป็นกลไกการต่อรองของกลุ่มอำนาจที่มีอยู่ไม่กี่กลุ่ม โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่กลับไม่รู้ตัวว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของการต่อรองผลประโยชน์

หมายเลขบันทึก: 555131เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2013 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2013 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท