ควรสอนอ่านอย่างไร


สรุปว่า ควรสอนแบบผสม ทั้งวิธีอ่านคำ และวิธีผสมคำอ่านออกเสียง

ควรสอนอ่านอย่างไร

บทความเรื่อง How Should Reading be Taught?  เขียนโดย Keith Rayner   และคณะ ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 2002    และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012  บอกว่า แม้คนเราจะเริ่มเรียนอ่านตั้งแต่จำความไม่ได้ เช่นเดียวกับเรียนพูด   แต่การเรียนสองสิ่งนี้แตกต่างกันมาก   คือการเรียนพูดเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติในเด็กทุกคน   แต่การเรียนอ่านต้องใช้ความพยายามและต้องการคนสอน

วิธีสอนอ่านที่ดีเป็นอย่างไร ยังเป็นที่ถกเถียงกัน ตกลงกันไม่ได้    เป็นที่มาของการที่สมาคมจิตวิทยาอเมริกันจัดให้มีการรวบรวมและทบทวนผลงานวิจัย เรื่องกระบวนการทางสมองในการอ่านอย่างชำนาญ    เพื่อหาข้อสรุปว่าควรสอนการอ่านอย่างไร

สรุปได้ว่า การสอนอ่านมี ๓ แบบ คือ

  1. อ่านคำ (whole-word instruction, look-say method)  โดยการจำคำที่เห็นตามเรื่องราวในหนังสือ   วิธีนี้เป็นที่นิยมในปัจจุบัน  
  2. ออกเสียง (phonics)   คือเรียนตัวอักษร และเสียงเรียกตัวอักษร (phonemes)    และผสมตัวอักษรเป็นคำ   วิธีที่ ๒ นี้ เป็นวิธีมาตรฐานในสมัย ๖๐ ปีก่อน 
  3. อ่านเอาเรื่อง (whole-language method, literature-based instruction, guided reading)   ให้เด็กเดาและเรียนรู้คำเอาเองจากเนื้อเรื่อง   เป็นวิธีที่ดัดแปลงจากวิธีที่ ๑  เป้าหมายเพื่อทำให้การเรียนอ่านเป็นเรื่องสนุกสำหรับเด็ก

หลักการสมัยใหม่คือ ไม่สอนตัวอักษร สระ และการผสมคำโดยตรง    แต่ให้เด็กได้เรียนโดยทางอ้อมเมื่อพบคำนั้นๆ   และส่งเสริมให้เด็กเขียนเรื่องด้วยตนเอง   เพื่อสร้างนิสัยรักถ้อยคำ และรักการอ่าน   โดยมีหลักว่า ครูต้องไม่แก้เมื่อเด็กอ่านคำนั้นผิด   ให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้ตามธรรมชาติ

 

เด็กเริ่มเรียนอ่านอย่างไร

คนจำนวนมากคิดว่าการอ่านเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติของเด็ก   เด็กจะอ่านได้เองไม่ว่าจะสอนโดยวิธีใด   แต่ผลการวิจัยบอกว่า ความเชื่อนี้ผิด  

ผลการวิจัยในช่วงปี ค.ศ. 1960s และ 1970s บอกว่า ไอคิว มีผลน้อยมากต่อความสามารถในการอ่าน    ถึงกับมีผลงานวิจัยบอกว่าเด็กที่มีปัญหาการอ่านส่วนใหญ่มีไอคิวสูง     นอกจากนั้น ความคิดที่ว่าเด็กที่มีปัญหาการอ่าน เมื่อโตขึ้นก็จะดีไปเอง นั้นผิด

มีผลงานวิจัยที่บอกว่า เด็กที่อ่านเก่งตอน ป. ๑   เมื่อขึ้น ม. ๕ ก็จะอ่านเก่งด้วย    เขาอธิบายว่า การอ่านเป็นเรื่องต้องฝึกฝน    เด็กที่ตอนอายุน้อยอ่านเก่ง มักขยันฝึกฝนต่อไป

การโต้แย้งวิธีสอนอ่านในช่วงแรก เป็นการโต้ระหว่างแบบที่ ๑ กับ ๒   แต่ในปัจจุบันเป็นการโต้ระหว่าง แบบที่ ๒ กับ ๓   แต่วิธีที่ ๓ จะเป็นที่นิยมกว่า ส่วนหนึ่งเพราะมีนักการศึกษายักษ์ใหญ่ (ผมไม่รู้จัก) เป็นผู้หนุน โดยอ้างข้อพิสูจน์จากผลการวิจัย   การโต้แย้งนี้ดุเดือดทีเดียว

ฝ่ายหนุนวิธีเรียนแบบออกเสียงอ้างว่า    ผลการวิจัยชี้ชัด ว่าความเข้าใจว่าแต่ละตัวอักษรประกอบกันเข้าเป็นคำและออกเสียงอย่างไร มีความสำคัญยิ่งต่อการอ่าน    และข้อสรุปจากการทบทวนผลการวิจัยบอกว่า การสอนที่ทำให้เด็กเข้าใจแจ่มชัดเรื่องกฎการออกเสียง   ทำให้การเรียนอ่านได้ผลกว่าการสอนที่ไม่สนใจกฎการออกเสียง    ข้อสรุปนี้ มาจากการศึกษาว่าคนที่อ่านหนังสือเก่งอ่านอย่างไร   เขาพบว่า คนเหล่านี้อ่านออกเสียงในใจ (ผมยืนยันว่าผมก็อ่านออกเสียงในใจ)    

มีการวิจัยมากมาย ที่บทความนี้นำมาเล่าและอ้าง เพื่อจะสรุปว่า    ในการสอนอ่านนั้น ทิ้งวิธีออกเสียงและผสมคำไม่ได้    คือต้องเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวอักษรกับเสียง

สรุปแล้ว ผมว่าเสมอกันนะครับ ระหว่างวิธีสอนอ่านแบบออกเสียงกับแบบอ่านเอาเรื่อง     คือต้องใช้ทั้งสองแบบให้พอดี   เพื่อความสนุกในการเรียน (อ่านเอาเรื่อง)  กับเพื่อให้มีพื้นฐานที่แม่นยำ (อ่านออกเสียง)

ท่านที่สนใจเรื่องนี้จริงๆ โปรดอ่านบทความฉบับเต็มที่ ลิ้งค์ ไว้ให้นะครับ    มีรายละเอียดสนุกมาก

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ต.ค. ๕๖

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 555012เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2013 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2013 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

This article is from an English speaking country. As we know English words can be very tricky to read and spell in "regular fashion" For eaxamples: head (เฮด); heat (ฮีท); so (โซ); to(ทู); dough (โด); tough (ทัฟ); ... Pronunciation information is not present in any written word. Reading by 'whole word' method is also helped by having each word separated from other words. Problems (in Australia) of pattern learning are 'correct spelling' and 'slang words' -- grammar and 'plain language' don't go together that well.

The way Thai language is written -- in strings (phrases) of word after word -- makes it necessary to spell before be can recognize any word. Thai is also more 'regular' in the way Thai words are constructed from Thai alphabet and read out. )only a few exceptions such as ดำริ (ดำ หริ); สระ (สะ or สะ หระ)...

Perhaps, if we adopt word separation (as in English), we can read by whole word method --easier--. We can process (OCR, TTS, Spelling checker, grammar checker,...) digital Thai text a lot easier and faster.

Many more generations of Thais can benefit greatly from 'whole and separated word' concept!

เห็นว่าการอ่านออกเสียงน่าจะเหมาะกับคนส่วนใหญ่ (น่ามีการศึกษาย้อนหลังดูในประชากรปัจจุบันนะคะ) ของไทยเรา และภาษาแต่ละภาษาน่าจะมี approach ที่ต่างกัน ตามโครงสร้างของตัวอักษรนะคะ เรื่องนี้น่าสนใจมากค่ะ พออ่านที่อาจารย์เขียนแล้วจึงได้ทบทวนตัวเองว่า ถ้าอ่านภาษาไทยจะอ่านออกเสียงในใจนะคะ แต่ตอนอ่านภาษาอังกฤษจะอ่านไปแบบ screen มากกว่า ไม่ถึงกับออกเสียงในใจ แปลกดีค่ะ ส่วนภาษาญี่ปุ่น (ที่ตอนนี้จำคำอ่านไม่ค่อยได้แล้ว) รู้สึกว่าต้องใช้คู่กันในใจ แต่ถ้าจะให้จำได้แบบพูดได้คล่องๆด้วยจะต้องอ่านออกเสียงมาข้างนอกเลยค่ะ อ่านในใจเฉยๆไม่ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท