ชีวิตที่พอเพียง : 140. เพียรขยายเมล็ดพันธุ์ความดีในตน


         เย็นวันที่ ๙ กย. ๔๙ อากาศชุ่มชื่นเย็นสบายหลังฝนตกใหญ่เมื่อวาน     และแดดจ้าทั้งวันในวันนี้      ผมเดินถ่ายรูปต้นไม้ในบริเวณบ้านเก็บไว้เป็นที่ระลึก     ระหว่างนั้นนกกะปูดร้องประสานเสียงขึ้นมา     ผมชอบทั้งถ่ายรูป  นก และต้นไม้  จึงรู้สึกมีความสุขมาก     เมื่อจิตใจชุ่มชื่นเช่นนี้ผมก็นึกออก ว่าควรจะเขียนบันทึกเรื่องการขยายพืชพันธุ์ความดีในคน     ซึ่งคนทุกคนมีอยู่     ย้ำว่าทุกคนมีเมล็ดพันธุ์ความดีอยู่ในตน และมีหลายพันธุ์ด้วย

        สมัยเด็กๆ ผมก็อยากเป็นคนดี     มีจินตนาการอยากมีชื่อเสียง     อยากทำประโยชน์     ส่วนมากจินตนาการจะเกิดตอนอ่านหนังสือ     ผมชอบอ่านหนังสือดีๆ ตั้งแต่เด็ก     พออายุมากจึงรู้ว่าการอ่านหนังสือดีๆ ช่วยกระตุ้นจินตนาการด้านใน     ตอนเป็นเด็กเห็นคนเก่งๆ ก็อยากเป็นอย่างเขาบ้าง     เห็นครูเก่งๆ ก็มีคำถามต่อตัวเอง ว่าเราจะมีโอกาสเก่งอย่างนี้ไหมหนอ     ถ้าจะให้เก่งได้ถึงขนาดนี้ จะต้องทำอย่างไร

        สมัยผมเป็นเด็ก  เด็กดีคือเด็กที่เชื่อฟังพ่อแม่  เชื่อฟังครู  ช่วยพ่อแม่ทำงาน  ขยันเรียน  ช่วยเหลือคนอื่น ไม่เห็นแก่ตัว ไม่อิจฉาคนอื่น    สมัยเรียนชั้นมัธยมเริ่มรู้ว่าคนที่อิจฉาคนอื่นเป็นคนไม่น่านิยมอย่างไร     ได้เรียนรู้ว่าคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นคนดีอย่างไร

       คุณธรรมประจำครอบครัว ที่ผมได้รับการอบร่ำจนเป็นตราประจำตระกูล คือความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ในระดับลึก     ต้องไม่โกงใคร  และไม่โกงบ้านเมืองด้วย     แม้การเล่นพวกผมก็ถือว่าโกง    เมื่อแข็งด้านนี้ ผมก็ได้ชื่อว่าย่อหย่อนด้านความยืดหยุ่น     คือไม่ยอมให้คนอื่นโกง หรือเอาเปรียบส่วนรวมด้วย    นิสัยนี้ทำให้ผมมีศัตรูไม่น้อย

       คุณลักษณะประจำตระกูลอีกอย่างหนึ่ง คือการทำอะไรก็ต้องทำให้ดี     ทำในระดับคุณค่า    ไม่ยอมรับการทำในระดับผักชีโรยหน้า     หรือที่ผมเรียกว่าทำแบบหลอกๆ  หรือของปลอม      ทำแบบไม่ประณีตก็ไม่ยอมรับ    ลักษณะเหล่านี้มีทั้งคุณและโทษ  มันสั่งสมและมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง  จนเขารู้นิสัยของเรา 

        ผมรอดตัวมาได้ จากเมล็ดพันธุ์ด้านชั่วภายในตัว     ที่มันไม่ค่อยงอกงามเท่าไรนัก  ก็ด้วยความบังเอิญแบบนกแขกเต้า      ที่บังเอิญตกไปอยู่ในหมู่ปราชญ์ หมู่คนดี จึงได้ดูดซับความดีเข้าตัว     เข้าไปเป็นปุ๋ยขยายเมล็ดพันธุ์ด้านดี     ชีวิตนี้จึงรอดตัวไป

         พออายุมากขนาดปัจจุบัน  จึงมาเข้าใจว่ามีวิธีสร้างคนดีโดยวิธีที่ไม่ยากเลย     เพราะทุกคนที่เกิดมาก็มีเมล็ดพันธุ์ความดีอยู่ทุกคน     ที่ว่าทุกคนมีพุทธะอยู่ในตัว      ถ้าสังคมรู้จักกระตุ้น ยุยงส่งเสริม ให้เมล็ดพันธุ์ด้านดีงอกงามผลิดอกออกผล     ผู้คนในสังคมก็จะเป็นคนดีมากกว่าคนชั่ว

         วิธีกระตุ้นธาตุดีในมนุษย์นี่แหละที่เราอาจจะมีความเห็นต่างกัน     บางคนบอกว่าต้องเอามาพร่ำสอน    บางคนบอกว่าต้องมีคนทำตัวเป็นตัวอย่าง (role model)     บางคนบอกว่าต้องไปวัดฟังเทศน์     บางคนบอกว่าต้องไปนั่งสมาธิ     ซึ่งที่จริงก็น่าจะถูกทั้งนั้น  แต่ทำไมจึงไม่ค่อยได้ผล  
 
         ผมคิดเอาเองว่าที่ไม่ค่อยได้ผลอาจเพราะมีวิธีคิดที่ผิด    คิดว่าจะต้องเอาความดีจากภายนอกมาใส่ให้คน    คล้ายๆ กับคนเป็นผ้าขาว เอาสีอะไรมาแต้มก็เป็นสีนั้น     ผมว่าคนเราซับซ้อนและประเสริฐกว่าผ้าขาวมากมายนัก    ผมมองว่าวิธีสร้างคนดีน่าจะมองว่าความดี หรืออย่างน้อยเมล็ดพันธุ์แห่งความดีมีอยู่แล้วตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์     และสามารถงอกงามขึ้นจากภายใน  ไม่ใช่เทใส่เข้าไปจากภายนอก    ปัจจัยภายนอกเป็นเพียง "แสงแดด น้ำ ปุ๋ย" เท่านั้น     ปัจจัยภายนอกไม่ใช่ตัวเมล็ดพันธุ์ที่จะเข้าไปงอกงามในตัวคน    

         ดังนั้น ถ้าจะส่งเสริมให้คนในสังคมเป็นคนดี ต้องให้โอกาสเขาเป็นผู้ฝึกฝนตนเองในการทำดี     แล้วให้ได้รับผลจากการทำความดีนั้น     คือต้องเรียนความดี เรียนรู้เพื่อเป็นคนดีจากการลงมือทำ     ไม่ใช่จากการเป็นฝ่ายถูกกระทำ เช่น อบรม สอน นั่งหลับตา ฯลฯ      การได้มีโอกาสฝึกทำสิ่งที่ดี ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วยใจบริสุทธิ์ (คือไม่ใช่ใจหวังได้ หวังประโยชน์ตน)      แล้วเห็นผลที่ความสุขใจภายในตน     ได้รับความชื่นชมยินดีเป็น reinforcement ก็จะเหมือนปุ๋ยที่เข้าไปช่วยการเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์ความดีที่งอกงามอยู่ในจิตใจ และจิตวิญญาณ ของผู้นั้น

        ยิ่งผมได้ไปเห็นวิธีการของมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวัน      ที่มุ่งสร้างคุณธรรมในคนโดยการชักชวนกันทำประโยชน์แก่ผู้อื่น    ช่วยเหลือผู้อื่น     โดยมองว่านั่นคือการฝึกฝนตนเอง     เพื่อการงอกงามของความดีภายในตน     ผู้ช่วยเหลือหรือบำเพ็ญประโยชน์จึงแสดงความขอบคุณผู้รับ     เพราะความทุกข์ยากของผู้รับความช่วยเหลือได้ช่วยให้ผู้บำเพ็ญประโยชน์ได้ยกระดับจิตใจตนเอง

        ผมจึงตั้งใจมุ่งมั่นที่จะชักชวนผู้คน    ให้ปฏิบัติธรรม ชำระล้างจิตใจตน  ยกระดับจิตใจตน  ผ่านการปฏิบัติโดยการลงมือทำกิจกรรม   ที่ป็นกิจกรรมเพื่อผู้อื่น  หรือเพื่อสังคม เพื่อบ้านเมือง     การมาร่วมกันทำเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน ก็จะช่วยกระตุ้นให้กำลังใจซึ่งกันและกัน     เกิดความเพียร  เกิดอิทธิบาทสี่ได้ง่าย

วิจารณ์ พานิช
๙ กย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 55456เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2006 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
สงสัยค่ะว่าอาจารย์อ่านหนังสือภาษาไทยหรืออังกฤษ  การหาหนังสือดีดี(ภาษาไทย)อ่านเป็นไปได้ยากสำหรับต่างจังหวัด (ชายแดนใต้) ในยามที่วุ่นวายใจ การได้อ่านทำให้ลืมทุกสิ่งที่เป็นปัญหา มีความสุขที่ปล่อยให้คิดตามไปกับอักษรตรงหน้า  เมื่อต้องการหนังสือดีๆ ต้องเข้าร้านตามห้างที่อ.หาดใหญ่  ซึ่งนานๆ  จะได้แวะเวียนไป(ไกลค่ะ)

สมัยเด็กๆ ตอนไปอยู่กรุงเทพปีแรกๆ ผมไปเดินซื้อหนังสือเก่าที่สนามหลวงครับ     ตอนอยู่หาดใหญ่ก็ไปเดินตามร้านหนังสือปรุไปหมด     แต่เวลานี้นิยมอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ     เรื่องแบบนี้ไม่มีรูปแบบตายตัว     ต้องปรับตามเหตุปัจจัยของแต่ละคน

วิจารณ์

 ขอบคุณค่ะ...เหตุระเบิด พระและทหาร พร้อมกับ น้ำท่วมเดือดร้อนกันทั่วเลยนะคะ....  ทำให้สงบใจได้มากขิ้น...อยู่ใต้ (จริงๆ) ไม่มีน้ำท่วมแถมได้มีเวลาอยู่บ้านมากขึ้นกว่าเดิมแต่ยังแอบๆออกนอกบ้านค่ำๆ  บ้าง  ถนนโล่งดีค่ะ  อากาศเย็นสบายวันนี้ ฮ. บินมาเยือนตั้งแต่เช้า  เลยค่ะ
     ผลจากการทำงานด้านสุขภาพกับคนในชุมชน ผลตอบแทนของการกระทำเป็นเช่นที่อาจารย์กล่าวจริงๆครับ ผมและน้องๆทุกคนได้รับผลตอบแทนทันทีที่ได้กระทำดีเพื่อคนในสังคมนี้ มันเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงหัวใจของคนทำงานได้เป็นอย่างดีครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท