วิทยาลัยศาสนศึกษา


หลักสูตรปริญญาตรีนั้นมีลักษณะเป็นสหวิชา เป็นการนำความรู้ในศาสตร์สมัยใหม่ทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ มาศึกษาประสบการณ์ทางศาสนาของมนุษย์และวิธีการในการแสวงหาและบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต

วิทยาลัยศาสนศึกษา

      วันนี้สภามหาวิทยาลัยมหิดล    มีกำหนดไปเยี่ยมชื่นชม ๕ หน่วยงานในศูนย์ศาลายา     จึงขอนำเอาข้อมูลของหนึ่งหน่วยงานมาลงบันทึกไว้    เป็นการลงบันทึกต้อนรับการนำเครื่องแม่ข่าย gotoknow กลับบ้าน

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับวิทยาลัยศาสนศึกษา (College of Religious Studies)

๑. พันธกิจ
พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านคุณธรรม จริยธรรม (Morality) และจิต-วิญญาณ (Spirituality) ให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมไทยและสังคมโลก

๒. ปณิธาน
ศึกษาวิจัยในเรื่องศาสนา จริยธรรม และคุณธรรม พร้อมทั้งผลิต บัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรมดุจดอกบัวที่บานเหนือน้ำอยู่ห่างไกลจากโคลนตมและสิ่งสกปรกทั้งหลาย ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติและโลกที่อยู่

๓. หลักสูตร
วิทยาลัยศาสนศึกษาเปิดสอนทั้งหลักสูตรปริญญาตรี และหลังปริญญา สำหรับหลักสูตรปริญญาตรีนั้นมีลักษณะเป็นสหวิชา เป็นการนำความรู้ในศาสตร์สมัยใหม่ทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ มาศึกษาประสบการณ์ทางศาสนาของมนุษย์และวิธีการในการแสวงหาและบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต

ส่วนหลักสูตรระดับหลังปริญญาให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่พุทธศาสตรศึกษา ปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนา    การผสมผสานความรู้ทางศาสนาและจิตวิทยาในการเยียวยารักษาทางจิตใจ การสอนศาสนาในโรงเรียน และการนำศาสนาไปเป็นพื้นฐานของการให้คำปรึกษา

๔. การเรียนการสอน
ประกอบด้วยการบรรยายและการอภิปรายกลุ่มย่อย การเขียนรายงาน การนำเสนอรายงานในชั้น และการศึกษาภาคสนาม
ภาษาที่ใช้สอนระดับปริญญาตรี คือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

๕. คณาจารย์ประจำหลักสูตร
ประกอบด้วยคนไทยและชาวต่างประเทศ วุฒิปริญญาโท-เอก และเป็นศาสตราจารย์

๖. นักศึกษา
ปัจจุบันวิทยาลัยมีนักศึกษา จำนวน ๒๔๓ คน ประกอบด้วยพระสงฆ์นิกายต่างๆ และฆราวาสชาย-หญิง จากครอบครัวที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจแตกต่างกัน

๗. การพัฒนานักศึกษา
วิทยาลัยมุ่งให้นักศึกษามีความรู้ทางวิชาการสำหรับประกอบอาชีพต่างๆ พร้อมทั้งมีทักษะที่สำคัญในการทำงานควบคู่กันไป เช่นการทำงานเป็นทีม การค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง การสังเคราะห์และการนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบ นอกจากนั้นวิทยาลัยยังส่งเสริม/สนับสนุนนักศึกษาให้จัดทำกิจกรรมนอกหลักสูตรที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนด้านคุณธรรมจริยธรรมและสังคมที่อยู่ เช่น แบ่งปันสิ่งที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น การใช้ศีลควบคุมกาย วาจา ใจ การดูจิตรู้จิตด้วยการภาวนา และการมีจิตอาสาช่วยเหลือชุมชนและผู้ด้อยโอกาส

๘. การศึกษาต่อของบัณฑิต
บัณฑิตปริญญาตรีของวิทยาลัยทุกปี ศึกษาต่อปริญญาโทตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศในสาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา จิตวิทยา จิตวิทยาคลินิก ภาษาศาสตร์   การจัดการ รัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์

๙. งานของบัณฑิต
บัณฑิตของวิทยาลัยประกอบอาชีพต่างๆ เช่น เป็นครู/อาจารย์ นักวิจัยประจำองค์กร พนักงานสายการบิน พนักงานธนาคาร พนักงานบริษัทข้ามชาติ และมัคคุเทศก์

       วันนี้ผมจะไปถามว่าการเรียนการสอนของวิทยาลัยฯ ต่างจากของมหาวิทยาลัยสงฆ์อย่างไร

วิจารณ์ พานิช
๒๔ ตค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 55439เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2006 05:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท