ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

กำเนิดรัฐตามแนวอัคคัญญสูตร


กำเนิดรัฐตามแนวอัคคัญญสูตร

 

                การศึกษาเรื่องกำเนิดของรัฐ (Origin of the state)เป็นเนื้อหาที่สำคัญประการหนึ่งของการศึกษาวิชารัฐศาสตร์  นักรัฐศาสตร์ได้พยายามแสวงหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่า “รัฐ” กำเนิดมาได้อย่างไรนานนับศตวรรษแล้ว   แต่เนื่องจากขาดพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์และทางมานุษยวิทยาอย่างเพียงพอ  ทำให้นักรัฐศาสตร์ต้องยอมรับเอาสมมติฐาน (Hypothesis) หลายประการมาใช้  ซึ่งสมมุติฐานบางอย่างเหล่านั้นไม่เป็นที่ยอมรับในบรรดาความรู้สมัยใหม่[๑]

                   ในบรรดาสมมติฐานเหล่านี้  ข้อคิดเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการน่าเชื่อถือที่สุด  สอดคล้องกับความรู้สมัยใหม่มากกว่าสมมติฐานอื่น ๆ  รัฐน่าจะกำเนิดมาจากสถาบันครอบครัว ต่อมาได้เติบโตกว้างขวางขึ้น  ขยายตัวเป็นวงศ์วาร เผ่าพันธุ์ มีลักษณะนิสัยใจคอเชื่อถือและเชื่อฟังผู้ใหญ่ที่มีอาวุโสกว่า  โดยเริ่มจากการเคารพบิดามารดาจนกลายมาเป็นสถาบันหรือสภาอาวุโสของเผ่าพันธุ์   ทำหน้าที่ปกครองประชาชนที่เป็นสมาชิกของเผ่าพันธุ์นั้น รัฐบาลในความหมายที่เป็นองค์การที่ใช้อำนาจปกครองเริ่มมาตั้งแต่ยุคที่มนุษย์มีลักษณะเศรษฐกิจที่อาศัยเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก  และเริ่มใช้หลักกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน  เศรษฐกิจดังกล่าวก็ดี หลักกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินก็ดี  ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมทางสังคมและมีผู้นำ   ประมุขในยุคแรก ๆ  คือหลักในการสืบสกุล  ในระยะหลังเมื่อประชาชนเริ่มมีมากขึ้นจนเกินกว่าอาหารที่มีอยู่  ชนเผ่าเร่ร่อนพเนจรก็เริ่มตั้งหลักแหล่ง ณ ที่อุดมสมบูรณ์ที่อาจเพาะปลูกได้  จนเมื่อเกิดเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรม  รัฐในความหมายที่มีดินแดนเป็นองค์ประกอบสำคัญก็เกิดขึ้น  ดินแดนจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนให้ความผูกพันทางวงศาคณาญาติ (Kinship) มั่นคงยิ่งขึ้น   สงครามและการครอบครองมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดรัฐและรัฐบาล  “รัฐจึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ  เช่น ชีววิทยา เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการใช้อำนาจครอบครอง”[๒]

                จากการศึกษาค้นคว้าของนักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยา  ทำให้พอที่จะทราบได้ถึงพัฒนาการของสถาบันทางการเมืองด้วยวิธีการคาดคะเนถึงการกำเนิดรัฐ  ซึ่งมีทฤษฎีต่าง ๆ ที่อธิบายถึงกำเนิดรัฐที่น่าสนใจอยู่หลายทฤษฎีด้วยกัน เช่น

             ๑)  ทฤษฎีสัญญาประชาคม (The Social Contract Theory)  ทฤษฎีนี้ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน  มนุษย์เป็นผู้สร้างรัฐโดยที่ปัจเจกชนยินยอมพร้อมใจกันทำสัญญาประชาคมให้เกิดรัฐขึ้น และรัฐจะต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญา คือ ประชาชน นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลของทฤษฎีนี้มีอยู่ ๓ คน คือ โธมัส  ฮอบส์ (Thomas Hobbes)  จอห์น ล๊อค (John Lock) และ ฌอง ฌาคส์ รุสโซ (Jean Jacques Rousseau)

             ๒)  ทฤษฎีเทวสิทธิ์ (The Divine Theory) ทฤษฎีนี้ถือได้ว่าเป็นทฤษฎีที่เก่าแก่ที่สุด  สาระสำคัญของทฤษฎีนี้คือ  เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐ  มนุษย์เป็นเพียงองค์ประกอบของรัฐเท่านั้น  การปกครองรัฐเป็นอำนาจของพระเจ้าโดยมีผู้ปกครองเป็นตัวแทน  การละเมิดอำนาจรัฐเป็นบาปและมีโทษ  ประชาชนต้องเคารพและเชื่อฟังผู้ปกครองรัฐโดยจะขัดขืนหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้

             ๓)  ทฤษฎีแสนยานุภาพ (The Force Theory) ทฤษฎีนี้เชื่อว่าการปกครองมีจุดเริ่มต้นจากการเข้ายึดครองและการบีบบังคับ  รากฐานของรัฐคือความอยุติธรรม  ฉะนั้นผู้ที่เข้มแข็งกว่าจึงสามารถข่มเหงผู้อ่อนแอกว่าได้ และได้สร้างกฎเกณฑ์ที่ประหนึ่งว่าชอบด้วยกฎหมายและชอบธรรม  เพื่อกำจัดสิทธิของบุคคลอื่น อำนาจเป็นลักษณะสำคัญของรัฐ  และรัฐคืออำนาจที่อยู่เหนือศีลธรรมทั้งปวง

             ๔)  ทฤษฎีธรรมชาติ (The Natural Theory)  ทฤษฎีนี้ถือว่า  มนุษย์ไม่อาจแยกตัวออกจากรัฐ  เพราะมนุษย์เป็นสัตว์การเมือง  สิ่งที่อยู่นอกรัฐคือพระเจ้าและสัตว์แต่มิใช่มนุษย์  ความเชื่อว่ารัฐเป็นสิ่งธรรมชาติ  เติบโตเป็นสถาบันที่มีประโยชน์ได้เป็นความคิดที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้  ปราชญ์บางคนถือว่ารัฐเป็นเสมือนสิ่งที่มีชีวิตและวิวัฒนาการที่ดีขึ้นไปตามลำดับ

              นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีอื่นๆ อีกหลายทฤษฎี เช่น ทฤษฎีวิวัฒนาการ ทฤษฎีนิติศาสตร์ ทฤษฎีชีวภาพ เป็นต้น  ซึ่งแต่ละทฤษฎีต่างก็มีความเห็นในเรื่องของกำเนิดรัฐแตกต่างกันออกไป ส่วนในทางพระพุทธศาสนามักจะมีผู้อธิบายถึงกำเนิดของรัฐมีลักษณะค่อนไปทางทฤษฎีธรรมชาติ  คือ เน้นที่สถาบัน เช่น ครอบครัว ว่าเกิดตามธรรมชาติของมนุษย์  แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสสอนถึงเรื่องนี้โดยตรง  เป็นแต่เพียงการนำคำสอนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาศึกษาเปรียบเทียบเท่านั้น  การนำเอาธรรมชาติของมนุษย์มาเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาถึงกำเนิดรัฐ   สามารถเลือกลักษณะที่แตกต่างกันมาใช้และอธิบายได้แตกต่างกันออกไป

             ในพระพุทธศาสนามีพระสูตรที่กล่าวถึงเรื่องกำเนิดรัฐไว้   เช่น ในอัคคัญญสูตร  พระสูตรนี้เริ่มต้นจากการที่สามเณรสองรูป  คือ สามเณรวาเสฏฐะและสามเณรภารทวาชะได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า   เพื่อประสงค์จะฟังธรรม  สามเณรทั้งสองรูปนั้นเดิมเป็นพราหมณ์ที่นับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน  กำลังอยู่ปริวาสกรรม (อบรม) เพื่อต้องการที่จะเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา   เมื่อไปถึงพระพุทธเจ้าตรัสถามว่า  ทั้งสองนั้นเคยเป็นพราหมณ์มาก่อน  เมื่อมาบวชเช่นนี้พวกพราหมณ์ไม่ด่าว่าบ้างหรือ   สามเณรทั้งสองรูปก็กราบทูลว่า  พวกพราหมณ์พากันด่าว่าอย่างรุนแรง  พระพุทธองค์จึงตรัสถามต่อไปว่า  พวกพราหมณ์เหล่านั้นด่าว่าอย่างไรบ้าง   สามเณรทั้งสองก็กราบทูลถึงคำด่าของพวกพราหมณ์ว่า

             พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะประเสริฐที่สุด…เป็นวรรณะขาว…บริสุทธิ์ เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม   มีกำเนิดมาจากพรหม  พรหมเนรมิตขึ้น พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่  เจ้าทั้งสองคนละวรรณะอันประเสริฐสุดเสียแล้วไปเข้ารีตวรรณะที่เลวทราม คือ พวกสมณะที่ศรีษะโล้นเป็นพวกคฤหบดี เป็นพวกดำ เป็นพวกที่เกิดจากเท้าพรหม ข้อนั้นไม่ดี ไม่สมควรเลย[๓]

               พระผู้มีพระภาคทรงสดับแล้วจึงตรัสแก่สามเณรทั้งสองรูปนั้นว่า   พวกพราหมณ์เหล่านั้นระลึกถึงเรื่องเก่าของพวกเขามิได้จึงกล่าวอย่างนั้น  พวกพราหมณ์เหล่านั้นเกิดมาจากช่องคลอดของนางพราหมณีทั้งนั้น  จะมาอ้างว่าตนสะอาดกว่าคนอื่นหรือเป็นวรรณะขาวอยู่พวกเดียวได้อย่างไร  จากนั้นตรัสเรื่องมนุษย์สี่วรรณะที่ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วเหมือนกัน  และตรัสเล่าถึงการที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงปฏิบัติต่อพระองค์ (ซึ่งพราหมณ์ถือว่าเป็นพวกดำเพราะออกบวช) ด้วยความเคารพ

                  จะเห็นได้ว่าการเริ่มต้นของพระสูตรนี้ เป็นการเริ่มต้นของปัญหาธรรมะที่มีความเกี่ยวข้องกับสภาพทางสังคมในสมัยนั้น  เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสภาพสังคมในขณะนั้นมีการแบ่งชั้นวรรณะกันอย่างรุนแรง พวกที่เกิดในวรรณะ (ที่ถือกันเองว่า)สูง ก็พยายามกดขี่หรือเหยียดหยามพวกที่ตนถือว่าเป็นคนวรรณะต่ำกว่าให้อยู่ใต้อำนาจ  ซึ่งพระพุทธองค์ทรงปฏิเสธความเชื่อถือหรือระบบสังคมแบบนี้  ที่พวกพราหมณ์พากันยึดถืออย่างจริงจัง  และตรัสย้อนในเชิงให้คิดว่า พวกพราหมณ์ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกิดจากช่องคลอดของนางพราหมณีด้วยกันทั้งนั้น  จะมาอ้างตัวว่าวิเศษกว่าคนอื่น สะอาดกว่าคนอื่นได้อย่างไร  ซึ่งการปฏิเสธความเชื่อของคนส่วนใหญ่ในขณะนั้นเป็นแนวความคิดใหม่ที่ไม่มีใครเคยพูดถึงมาก่อน  จึงทำให้มีคนหันมาสนใจและหันมานับถือพระพุทธศาสนามากขึ้น    ในขณะเดียวกันพวกพราหมณ์ก็เพิ่มความเกลียดชังและอิจฉาริษยาต่อพระพุทธศาสนามากขึ้นด้วย  เพราะทำให้พวกเขาสูญเสียผลประโยชน์  ต่อจากนั้นพระองค์ก็ตรัสเล่าถึงเรื่องราวดังกล่าว   ที่พวกพราหมณ์เข้าใจผิดในเกณฑ์การตัดสินหรือการแบ่งชนชั้นของมนุษย์ให้สามเณรทั้งสองรูปเข้าใจ  โดยตรัสเล่าถึงการเริ่มต้นของสังคมมนุษย์ว่า

              โดยล่วงระยะกาลยืดยาวช้านานที่โลกจะพินาศ เมื่อโลกพินาศอยู่โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม   สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ  มีปิติเป็นอาหารมีรัศมีซ่านออกจากกายของตนเอง  สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน[๔]

              จะสังเกตเห็นว่าการอธิบายในพระสูตรนี้  มิได้อธิบายถึงต้นกำเนิดดั้งเดิมหรือตัวมูลการณ์แต่อย่างใด   เพียงแต่อ้างถึงในช่วงก่อนที่โลกจะพินาศแตกดับไปตามกฎของธรรมชาติว่า สภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ในยุคนั้นเป็นอย่างไร  แล้วทรงอธิบายถึงวิวัฒนาการของโลกที่กลับมาเจริญอีกครั้งหนึ่ง      สัตว์เหล่านี้ก็มาจุติในโลกนี้อีกมีสภาพความเป็นอยู่เหมือนกับตอนที่อยู่ในชั้นอาภัสสรพรหม  คือ มีรัศมีในกาย ไม่ต้องกินอาหาร สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้  จักรวาลทั้งสิ้นเป็นน้ำ มืดมนไปหมด ยังไม่มีดวงดาว ไม่มีเพศ สัตว์ทั้งหลายดำรงชีพอยู่ด้วยความสุขสบายสิ้นกาลช้านาน  ข้อความในพระสูตรต่อไปมีว่า

               โดยล่วงกาลยืดยาวช้านาน  เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำทั่วไป  ได้ปรากฎแก่สัตว์เหล่านั้นเหมือนนมสดที่บุคคลเคี่ยวให้งวด  แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝาอยู่ข้างบนฉะนั้น  ง้วนดินถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส มีสีคล้ายเนยใสหรือเนยข้นอย่างดี มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ฉะนั้[๕]

                เมื่อเกิดง้วนดินขึ้นดังนี้  เกิดมีสัตว์ผู้หนึ่งเป็นคนโลน  ใช้นิ้วช้อนง้วนดินเหล่านั้นขึ้นมาชิมดู  รสชาติของง้วนดินนั้นเกิดซาบซ่านไปทั่วร่างกาย  ก็เกิดความพอใจและความอยากขึ้น  สัตว์เหล่าอื่น  ๆ ก็พากันทำตามคนโลนนั้น  บางคนเริ่มปั้นง้วนดินเป็นคำ ๆ แล้วบริโภค  เมื่อบริโภคง้วนดินซึ่งเป็นอาหารหยาบทำให้รัศมีในกายหายไป   ปรากฎดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นมา ดาวเคราะห์ทั้งหลายก็ปรากฎ  ร่างกายก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ผิวพรรณก็เริ่มผิดแผกแตกต่างกันออกไป  พวกที่ผิวพรรณดีก็ถือตัว ดูหมิ่นพวกที่มีผิวพรรณไม่งาม  

                ซึ่งข้อความในพระสูตรตอนนี้แสดงให้เห็นถึงตัณหาของมนุษย์ว่า  ธรรมดานั้นมนุษย์มีตัณหาอยู่ภายในจิตใจอยู่แล้ว  เมื่อมีสิ่งมากระตุ้นซึ่งเป็นวัตถุภายนอก  จึงกระทำสิ่งต่าง ๆ ตามความอยากหรือตามความต้องการของกิเลสได้อย่างง่ายดาย   เมื่อสัตว์ผู้หนึ่งกระทำสัตว์อื่น ๆ ก็กระทำเลียนแบบกันอย่างกว้างขวาง   เมื่อมนุษย์มีพฤติกรรมที่ผิดแผกจากเดิมก็ส่งผลให้ธรรมชาติมีความวิปริตแปรปรวนได้  การที่จิตใจของมนุษย์เริ่มตกต่ำลง เริ่มมีการถือตัว เหยียดหยามกันเรื่องผิวพรรณวรรณะนั้น  ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความตกต่ำในสังคม  ต่อมาง้วนดินนั้นก็หายไป เกิดสะเก็ด เครือดินขึ้นมาแทนที่ตามลำดับ  แต่มนุษย์ก็พากันดูหมิ่นเหยียดหยามเรื่องผิวพรรณวรรณะกันมากขึ้น  อาหารเหล่านั้นก็หายไปทุกครั้ง และทุกครั้งที่อาหารหายไปพวกสัตว์เหล่านั้นต่างพากันบ่นเพ้อถึงด้วยความเสียดายถึงรสชาติของอาหารนั้น ๆ

             ถึงทุกวันนี้ก็เหมือนกัน    คนเป็นอันมากพอถูกความระทมทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งมากระทบ  ก็มักจะบ่นกันอย่างนี้ว่า  สิ่งของของเราทั้งหลายได้เคยมีแล้วหนอ แต่เดี๋ยวนี้สิ่งของของเราทั้งหลายได้สูญหายเสียแล้วหนอ   พวกพราหมณ์ระลึกได้ถึงอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดีเป็นของโบราณเท่านั้น แต่ไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย[๖]

              เมื่ออาหารหายไปพวกสัตว์ก็จะมาประชุมกัน  แต่ไม่ได้มาประชุมกันปรึกษาหารือเพื่อหาทางแก้ไขหรือหาทางป้องกันไม่ให้อาหารนั้นหายไปอีกแต่อย่างใด  เพียงแต่จับกลุ่มกันบ่นถึงอาหารที่หายไปนั้นว่า ดีจริง ดีจริง ด้วยความเสียดาย   พวกสัตว์เหล่านั้นเพียงแต่รู้ว่าอาหารที่หายไปเป็นของดีเท่านั้น   แต่ไม่รู้ชัดถึงว่าอาหารนั้นดีอย่างไร   หลังจากเครือดินหายไปก็เกิดข้าวสาลีชนิดที่เป็นอาหารได้   เป็นข้าวที่ไม่มีรำ ไม่มีแกลบ ขาวสะอาดมีกลิ่นหอม  มีเมล็ดเป็นข้าวสาร  เมื่อเก็บไปบริโภคในตอนเย็นตอนเช้าก็จะงอกกลับขึ้นมาใหม่  สัตว์ทั้งหลายก็พากันบริโภคข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร  ข้าวสาลีทำให้ร่างกายของมนุษย์มีวิวัฒนาการต่อไป   ผิวพรรณวรรณะก็แตกต่างกันมากขึ้น  เกิดมีเพศหญิงเพศชายขึ้นมา  ทั้งสองเพศต่างก็เพ่งมองซึ่งกันและกันก็เกิดความกำหนัดขึ้น  เกิดความเร่าร้อนภายในกาย และพากันเสพเมถุน  สัตว์อื่น ๆ เห็นก็พากันด่าว่า โปรยฝุ่นใส่ ขว้างปา สัตว์ที่เสพเมถุนนั้น  พร้อมทั้งห้ามเข้ากลุ่มเดือนหนึ่งบ้าง สองเดือนบ้าง ผู้ใดต้องการที่จะเสพเมถุนก็ต้องหลบซ่อน   โดยการสร้างสถานที่กำบังขึ้นมาปกปิดการกระทำนั้น   

              ในตอนนี้แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้ง และการใช้ความรุนแรงในสังคม  และยังแสดงถึงจุดเริ่มต้นของสถาบันครอบครัวซี่งถือว่าเป็นองค์ประกอบเบื้องต้นของรัฐ   และข้อความในพระสูตรยังแสดงให้เห็นถึงการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ของสังคม   เพราะไม่สามารถอดทนต่ออำนาจกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในจิตใจได้    และยังแสดงถึงการสะสมและเกิดทรัพย์สินของปัจเจกชนขึ้น

              ครั้งนั้นสัตว์ผู้หนึ่งเกิดความเกียจคร้านขึ้น  จึงได้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ  เราช่างลำบากเสียนี่กระไร    ที่ต้องไปเก็บข้าวสาลีมาทั้งในเวลาเย็นสำหรับอาหารเย็น  ทั้งในเวลาเช้าสำหรับอาหารเช้า อย่ากระนั้นเลย เราควรไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภคทั้งเช้าทั้งเย็นคราวเดียวเถิด[๗]

             สัตว์ผู้นั้นก็เก็บข้าวสาลีมาไว้บริโภคทั้งเช้าทั้งเย็นในคราวเดียว  หลังจากนั้นก็เริ่มเก็บสั่งสมไว้ ๒ วันบ้าง ๔ วันบ้าง ๘ วันบ้าง  สัตว์เหล่าอื่นๆ ก็พากันสั่งสมตามอย่าง  เมื่อสั่งสมกันมากเข้า  ข้าวสาลีก็กลายเป็นมีรำห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มบ้าง ต้นที่ถูกเก็บเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกแทน  จึงปรากฎว่าข้าวสาลีที่เก็บแล้วขาดเป็นตอน ๆ พวกมนุษย์เหล่านั้นจึงประชุมปรึกษาหารือกันปรารภถึงความเสื่อมทรามที่เกิดขึ้นโดยลำดับ  และหาทางแก้ไขปัญหานี้โดยการแบ่งข้าวสาลีและปักปันเขตแดนกันขึ้น    เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเกียจคร้านและความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา 

              เมื่อมนุษย์เกิดความโลภทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดก็มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์   จึงเกิดการจัดสรรปันส่วนกันครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ  เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว  แต่หลังจากแบ่งปันดินแดนและผลผลิตกันครอบครองแล้ว   เกิดมีคนที่โลภสงวนส่วนของตนไว้แล้วไปขโมยในส่วนของผู้อื่นมาบริโภค  เมื่อถูกจับได้ ๒ - ๓ ครั้งแรกก็ได้แค่ตักเตือนสั่งสอน คนที่ขโมยนั้นก็รับปากว่าต่อไปจะไม่ขโมย แต่ก็ไม่กระทำตามสัญญาภายหลังก็ขโมยอีก  จึงมีมนุษย์บางคนทนไม่ได้ถึงกับลงไม้ลงมือ พวกหนึ่งตีด้วยท่อนไม้ พวกหนึ่งก็ตีด้วยฝ่ามือ บ้างก็ใช้ก้อนดินขว้างปา เมื่อเกิดเหตุการณ์วุ่นวายอย่างนี้พวกมนุษย์ผู้ใหญ่ก็ประชุมกันเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา

               ครั้งนั้นแล พวกสัตว์ที่เป็นผู้ใหญ่จึงประชุมกัน   ครั้นแล้วต่างก็ปรับทุกข์กันว่า พ่อเอ๋ย  ก็การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จักปรากฎ  การติเตียนจักปรากฎ  การพูดเท็จจักปรากฎ การถือท่อนไม้จักปรากฎ ในเพราะบาปธรรมเหล่าใด บาปธรรมเหล่านั้นเกิดปรากฎแล้วในสัตว์ทั้งหลาย  อย่ากระนั้นเลย  พวกเราสมมติสัตว์ผู้หนึ่งให้เป็นผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ  ให้เป็นผู้ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนโดยชอบ  ให้เป็นผู้ที่ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบ  ส่วนพวกเราจักแบ่งข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น[๘]

                 จากข้อความในพระสูตรนี้แสดงให้เห็นถึงความเลวร้ายในสังคม  ที่เป็นสาเหตุของการกำเนิดรัฐอย่างชัดเจน โดยเริ่มต้นจากความตกต่ำทางศีลธรรมของมนุษย์ที่มีความโลภ เกิดมีอทินนาทาน  มีการมุสาวาทคือโกหกหลอกลวง  เกิดการตัดสินโทษแก่ผู้ที่ล่วงละเมิดตามความพอใจของตนเอง  เกิดการทะเลาะวิวาทกันขึ้น  ความวุ่นวายในสังคมดังกล่าวจึงเกิดสถาบันผู้ปกครองขึ้นเพื่อคอยปกป้องคุ้มครองคนดี ลงโทษคนผิด  เป็นผู้คอยตัดสินว่าใครถูกใครผิด 

                   ด้วยเหตุนี้สถาบันผู้ปกครองจึงเกิดขึ้นจากการคัดเลือกของประชาชน  โดยประชาชนพร้อมใจกันสละผลประโยชน์ของตนหรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า  ภาษี  ให้เป็นค่าตอบแทน  ซึ่งการที่ประชาชนเป็นผู้คัดเลือกและมอบอำนาจให้กับผู้ปกครองนั้น    มีส่วนคล้ายคลึงกับทฤษฎีพันธสัญญาของฮอบส์  แต่การมอบอำนาจในพระสูตรนี้ไม่ได้ให้เด็ดขาดเหมือนของฮอบส์   ถ้าหากว่าผู้ปกครองใช้อำนาจไม่เป็นธรรม  ประชาชนไม่พอใจ ก็สามารถเรียกร้องอำนาจนั้นคืนมาได้  เพราะคำว่าราชา แปลว่า ผู้ทำความสุขใจ พอใจ หรือความชอบธรรมแก่บุคคลอื่น  มีข้อความในพระสูตรว่า

                 ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ    เพราะเหตุที่ผู้ที่เป็นหัวหน้าอันมหาชนสมมติดังนี้แล มหาชนสมมติจึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับแรก  เพราะเหตุที่ผู้ที่เป็นหัวหน้าเป็นใหญ่ยิ่งแห่งเขตทั้งหลายดังนี้แล    อักขระว่ากษัตริย์      กษัตริย์จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับสอง เพราะเหตุที่ผู้ที่เป็นหัวหน้ายังชนเหล่าอื่นให้สุขใจได้โดยธรรมดังนี้แลอักขระว่าราชา   ราชาจึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับสามดังนี้แล[๙]

ในพระสูตรตอนนี้แสดงการเกิดขึ้นของผู้ปกครองมาเป็นลำดับ คือ

             ๑) มหาชนสมมติ  เกิดจากประชาชนพร้อมใจกันมอบอำนาจให้กับบุคคลที่เหมาะสม และสมมติให้เป็นผู้ปกครอง

               ๒)  กษัตริย์  หมายถึง  ผู้เป็นเจ้าแห่งนา  หรือ ผู้เป็นใหญ่แห่งนา

               ๓)  ราชา  หมายถึง  ผู้ที่ทำให้ประชาชนสุขใจ พอใจโดยธรรม

                ต่อจากนั้นเป็นการแสดงถึงการเกิดขึ้นของวรรณะต่าง ๆ ว่า เกิดจากการแบ่งงานกันทำตามความพอใจ  การแบ่งงานกันทำเป็นแผนก ๆ จึงทำให้เกิดความแตกต่างของหมู่ชน  คือทำให้เกิดเป็นวรรณะขึ้น   คนทั้งสี่วรรณะมิได้แตกต่างกันมาแต่เดิม  ชาติกำเนิดมิได้เป็นเครื่องวัดคุณค่าหรือตัดสินความแตกต่างระหว่างมนุษย์ว่าใครสูงต่ำกว่าใคร   ดังข้อความในพระสูตรว่า

                ดูก่อนวาเสฎฐะและภารทวาชะ  ด้วยประการดังนี้การบังเกิดขึ้นของพวกกษัตริย์จึงมีขึ้นได้เพราะอักษรเป็นที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของเก่าอย่างนี้แล  เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกันก็เพราะธรรมเท่านั้น นอกจากธรรมหามีไม่ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความจริงธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในที่ประชุมชนทั้งในปัจจุบันและในภายหน้า[๑๐]

                ตามคติในทางพระพุทธศาสนา  คนทั้งสี่วรรณะนั้นมิได้แตกต่างกันมาแต่เดิม  แต่เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่าดีของประชาชน   จึงทำให้บุคคลที่มีหน้าที่การงานสูงได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นวรรณะสูง   แต่สิ่งที่ทำให้สัตว์แตกต่างกันก็คือ ธรรม เท่านั้น  คนทั้งสี่วรรณะหากกระทำกรรมชั่วก็จะได้รับผลชั่วเสมอเหมือนกัน  ดังข้อความในพระสูตรว่า

                ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ  กษัตริย์ก็ดี…พราหมณ์ก็ดี…แพศย์ก็ดี…ศูทรก็ดี…สมณะก็ดี ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นมิจฉาทิฏฐิ  ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิเป็นเหตุ  เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกย่อมเข้าถึง    อบาย ทุคติ วินิบาต นรกทั้งสิ้น[๑๑]

                 ในทางตรงข้ามกันหากประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยสัมมาทิฏฐิ ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์  และในตอนท้ายของพระสูตรพระพุทธองค์ได้ตรัสย้ำภาษิตของสนังกุมารพรหมและของพระองค์ว่ามีเนื้อความที่ตรงกัน คือ  “กษัตริย์ผู้ประเสริฐในหมู่ชนรังเกียจกันด้วยโคตร  แต่ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา (ความรู้) จรณะ (ความประพฤติ) ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่เทวดาและมนุษย์”[๑๒]

                 เนื้อความในอัคคัญญสูตรนี้  คนรุ่นใหม่อาจจะมองเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเชื่อถือ  เพราะบางอย่างอาจจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้  แต่วัตถุประสงค์ของการตรัสพระสูตรนี้มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ทราบถึงกำเนิดของโลกหรือกำเนิดของมนุษย์แต่อย่างใด   แต่ประสงค์จะชี้ให้เห็นว่า ชาติกำเนิด ผิวพรรณ วรรณะ มิได้เป็นเครื่องวัดความแตกต่างหรือวัดคุณค่าความเป็นมนุษย์   แต่สิ่งที่ควรนำมาตัดสินคือธรรมะกับอธรรมนั่นเอง  สุชีพ  ปุญญานุภาพ  ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

              การแสดงความเป็นมาของโลกอาจจะวินิจฉัยได้สองประการ  คือ  ประการแรกเป็นการนำเอาหลักการของศาสนาพราหมณ์มาเล่า   แต่อธิบายความหมายหรือตีความเสียใหม่ ให้เข้ารูปเข้ารอยกับคติธรรมทางพระพุทธศาสนา อันชี้ให้เห็นว่าพราหมณ์เข้าใจของเก่าผิด จึงหลงยกตัวเองว่าประเสริฐอีกอย่างหนึ่งเป็นการเล่าโดยมิได้อิงคติของพราหมณ์  โดยการถือเอาเป็นของพระพุทธศาสนาแท้ๆ[๑๓]

                แต่ถ้าหากคิดในแนววิทยาศาสตร์  ก็อาจจะเป็นไปได้ที่ระบบสุริยะอาจจะถูกทำลายหรือสลายตัวแล้วกลับวิวัฒนาการขึ้นมาใหม่   อาจจะมีธาตุไฮโดรเจนรวมกับน้ำและแข้นแข็งในที่สุด แต่อย่างไรก็ตามประเด็นนี้เป็นเพียงส่วนประกอบของเรื่อง  เป็นเรื่องชวนให้คิดมิได้ชวนให้ติดในเกร็ด  ปรีชา  ช้างขวัญยืน ให้ความเห็นว่า “ถ้าพิจารณาในแง่ของเหตุผลแล้วจะเห็นได้ว่า  พระพุทธองค์ทรงแสดงการเกิดของรัฐโดยธรรมชาติ  ที่ว่านี้ก็เน้นไปถึงพื้นฐานทางกายและทางใจของมนุษย์”[๑๔]

สรุปการกำเนิดรัฐตามแนวคิดในอัคคัญญสูตร

                ในพระสูตรนี้ได้กล่าวถึงกำเนิดของสังคมมนุษย์  แต่มิได้กล่าว ถึงปฐมสภาวะของมนุษย์หรือของโลกตั้งแต่แรกเริ่มทีเดียว  เพราะก่อนหน้าที่โลกจะพินาศนั้น แสดงว่าโลกเคยเจริญมาก่อนเมื่อโลกพินาศสัตว์โลกส่วนมากไปเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม เมื่อโลกกลับมาเจริญอีกครั้งหนึ่ง เริ่มแรกยังไม่ได้กำเนิดขึ้นเป็นสังคมหรือเป็นรัฐ ยังไม่มีการปกครอง ในสภาพดั้งเดิมของมนุษย์นั้นเป็นสภาพที่สงบสุข  มนุษย์ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ตามธรรมชาติ  แต่ต่อมาเกิดความโลภ ความเกียจคร้านขึ้นทำให้มีการสั่งสมอาหาร เกิดการแบ่งปันเขตแดนเพื่อครอบครองผลผลิต  เกิดมีสถาบันครอบครัว  กิเลสตัณหา มานะทิฏฐิทำให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นในสังคมมนุษย์  การดูถูกดูหมิ่นกันระหว่างพวกที่มีผิวพรรณงามกับไม่งามนี้เป็นมานะ  กิเลสทำให้เกิดการทำร้าย ทะเลาะวิวาทกันในสังคม  จึงเกิดมีผู้ทำหน้าที่ในการระงับความขัดแย้ง คอยปกป้องคนดีลงโทษคนผิด   เรียกว่าเกิดมีสถาบันผู้ปกครองขึ้นมา   ผู้ปกครองทำหน้าที่ปกครองหมู่คณะโดยตั้งกฎเกณฑ์หรือกฎหมายขึ้นมา    คำตัดสินของผู้ปกครองถือว่าเป็นบรรทัดฐานของกฎหมาย   การปกครองโดยอำนาจของกฎหมายนี้เองถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกำเนิดรัฐ

                รัฐจึงเป็นสิ่งที่กำเนิดขึ้นมาเพื่อควบคุมสถานการณ์ความเลวร้ายในสังคม  ความเลวร้ายเหล่านี้เป็นตัวบีบคั้นสังคมให้แสวงหาวิธีที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา  ผู้ปกครองรัฐ  คือทางเลือกที่สมาชิกของสังคมเห็นร่วมกันให้เป็นผู้ที่มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจรัฐ   เพื่อสกัดกั้นกิเลสอันมีอย่างไม่จำกัดของมนุษย์  แต่รัฐสามารถทำได้เพียงควบคุมหรือสกัดกั้นกิเลสบางส่วนของมนุษย์เท่านั้น  พอที่จะทำให้มนุษย์อยู่รวมกันในสังคมได้อย่างสงบสุขเท่านั้น  แต่ไม่สามารถทำให้กิเลสหมดไปจากมนุษย์ได้  จุดมุ่งหมายของรัฐเพียงเพื่อขจัดความเลวร้ายในสังคม  และปกป้องคนดีให้อยู่กันอย่างสงบสุข  หรืออาจจะกล่าวได้ว่ารัฐเป็นเพียงเครื่องมือที่จะทำให้มนุษย์พัฒนาตนเองให้บรรลุถึงเป้าหมายที่สูงสุดของชีวิตได้

 อ้างอิง

[๑] อานนท์  อาภาภิรม , หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้น (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ , ๒๕๒๘ ) , หน้า ๒๓.

[๒] จรูญ  สุภาพ  อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๗  หน้า ๓๕.

[๓] ที.ปา. ๑๑ / ๕๑ / ๖๑ - ๖๒.

[๔] ที.ปา.  ๑๑ / ๕๖ / ๖๕ - ๖๖.

[๕] ที.ปา.  ๑๑ / ๕๘ / ๖๖ - ๖๗.

[๖] ที.ปา.  ๑๑ / ๖๐ / ๖๘ - ๖๙.

[๗] ที.ปา.  ๑๑ / ๖๐ / ๖๘ - ๖๙.

[๘] ที.ปา.  ๑๑ / ๖๒ / ๗๑.

[๙] ที.ปา.  ๑๑ / ๖๓ / ๗๑.

[๑๐] ที.ปา.  ๑๑ / ๖๕ / ๗๓.

[๑๑] ที.ปา.  ๑๑ / ๖๗ / ๗๔.

[๑๒] ที.ปา.  ๑๑ / ๗๒ / ๗๔.

[๑๓] สุชีพ ปุญญานุภาพ , พระไตรปิฏกฉบับประชาชน  พิมพ์ครั้งที่ ๑๖ ( กรุงเทพฯ  : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย , ๒๕๓๙) , หน้า ๓๕๕.

[๑๔] ปรีชา  ช้างขวัญยืน , ทรรศนะทางการเมืองของพระพุทธศาสนา ( กรุงเทพฯ : บริษัทสามัคคีสาส์น จำกัด, ๒๕๔๐ ) , หน้า ๗๑.

หมายเลขบันทึก: 554387เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2013 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2013 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท