ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

พุทธกิจด้านการเมือง


พุทธกิจด้านการเมือง

 

ศาสนากับการเมืองและสังคมมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด “การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นในทางการเมืองและสังคมย่อมมีผลกระทบต่อศาสนา   และในทำนองเดียวกันการเปลี่ยนแปลงในศาสนาก็จะมีผลกระทบต่อการเมืองและสังคมเช่นเดียวกัน”[๑]ไม่มีศาสนาใดในโลกที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมและการเมือง ศาสนาจึงไม่อาจปลีกตัวเองออกจากการเมืองได้  พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาส ภิกขุ) ได้กล่าวไว้ว่า “ธรรมะกับการเมืองเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้  แยกกันเมื่อไรการเมืองก็กลายเป็นเรื่องทำลายโลกขึ้นมาทันที” [๒]

พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในท่ามกลางของการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้าน  รวมถึงด้านการเมืองก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในสมัยพุทธกาล   สภาพทางการเมืองในสมัยพุทธกาลนั้น  แคว้นต่าง ๆ กำลังขยายดินแดนสู้รบกันเพื่อที่จะให้ประเทศของตนเป็นประเทศที่มีอาณาเขตที่กว้างใหญ่และเป็นมหาอำนาจเหนือรัฐอื่น ๆ แคว้นไหนมีอำนาจมากก็จะรวบเอาแคว้นอื่น ๆ ที่มีกำลังน้อยกว่าเข้ามาอยู่ในอาณาเขตของตน  โดยเฉพาะแคว้นที่มีการปกครองต่างระบบกัน คือ ระบบสามัคคีธรรม กับ ระบบราชาธิปไตย  ซึ่งมักจะต่อสู้แย่งชิงอำนาจความเป็นใหญ่กันเสมอๆ

ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าก็ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง  แต่พระองค์ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นครู  เข้าไปในฐานะช่วยขจัดทุกข์  พระองค์ทรงเป็นกลางทางการเมืองหรืออยู่เหนือการเมือง   เพราะฉะนั้นพระองค์จึงสามารถประกาศพระศาสนาไปได้ทุกประเทศ ทุกแว่นแคว้น  ไม่เลือกว่าแคว้นนั้น ๆ จะมีการปกครองในรูปแบบใด  พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกับการเมืองในแง่ของหลักคำสอน   ในแง่ของการเสนอหลักการ หรือ รูปแบบการปกครองที่จะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนในรัฐนั้นๆ โดยการที่พระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมะให้เหมาะสมกับรูปแบบการปกครองของรัฐ  โดยไม่ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารหรือการปกครองภายในของรัฐแต่อย่างใด

การที่พระพุทธเจ้าทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองในฐานะผู้ชี้แนวทาง  ทำให้บทบาทของพระองค์เหมือนกับเป็นที่ปรึกษาเรื่องธรรมะของแผ่นดินหรือของผู้ปกครอง  พระองค์มิได้เข้าไปจัดการเงื่อนไขทางสังคม  พระองค์อยู่ในฐานะผู้ชี้ทางเท่านั้น   มิได้ทรงกำหนดผลว่าจะสำเร็จเพียงใด  เพียงแต่พระองค์เสนอรูปแบบที่ทรงเห็นว่าจะทำให้ประชาชนในรัฐสามารถมีความสุขได้  ส่วนการปฏิบัตินั้นมิใช่ภาระหน้าที่ของพระองค์  ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า  “ตุมฺเหหิ  กิจฺจํ  อาตปฺปํ  อกฺขาตาโร  ตถาคตา  ความเพียรเป็นกิจที่ท่านทั้งหลายจะต้องทำ (เอง) ตถาคตทั้งหลายเป็นเพียงผู้ชี้ทาง (เท่านั้น)”[๓]  

 

พระพุทธองค์ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสองระบบ    แต่การเข้าไปเกี่ยวข้องของพระองค์นั้นอย่างที่กล่าวแล้วในตอนต้นว่า  พระองค์ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะเป็นครู  ทรงเข้าไปในฐานะผู้ดับทุกข์หรือเป็นผู้แก้ปัญหา    ฐานะของพระองค์นั้นทรงอยู่เหนือการเมือง   ดังนั้น จึงทำให้พระองค์ทรงได้รับการยอมรับและเคารพนับถือจากประชาชนและเจ้าผู้ครองนครรัฐต่างๆ    อย่างสูงยิ่งจนตลอดพระชนชีพ  พุทธกิจด้านการเมืองของพระพุทธองค์นั้น  พระองค์มิได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการภายในของรัฐแต่อย่างใด  แต่ทรงเข้าไปช่วยแก้ปัญหาและเสนอแนะหลักในการปกครองที่จะช่วยทำให้รัฐมีความมั่นคงและสามารถปกครองให้ประชาชนมีความสงบสุข  อาจกล่าวได้ว่า  พระองค์ทรงเข้าไปเสนอแนะหลักรัฐศาสตร์หรือหลักการบริหารการปกครองรัฐตามแนวพุทธ   รัฐต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องนั้นมีหลายรัฐ  แต่รัฐที่มีความใกล้ชิดมากกว่ารัฐอื่น ๆ มีด้วยกัน ๓  รัฐ คือ

๑) รัฐมคธ  มีกษัตริย์ปกครองคือ พระเจ้าพิมพิสาร  พระองค์ทรงมีความคุ้นเคยกับพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ก่อนที่จะตรัสรู้    และเคยเสนอที่จะแบ่งพระราชสมบัติครึ่งหนึ่งแก่พระพุทธองค์ในตอนที่เสด็จออกผนวชใหม่ ๆ  แต่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ  เพราะเป้าหมายของพระพุทธองค์นั้นอยู่ที่การแสวงหาโมกขธรรม  มิได้มีพระประสงค์จะมีอำนาจทางการเมือง  พระเจ้าพิมพิสารทรงมีความเลื่อมใสและทูลขอพรไว้ว่า ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วก็ขอให้เสด็จมาโปรด พระพุทธองค์ก็ทรงรับปฏิญญา และหลังจากตรัสรู้ธรรมแล้วก็ได้เสด็จมาโปรดจนทำให้พระเจ้าพิมพิสารได้มีดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน พร้อมด้วยข้าราชบริพารและประชาชนอีกจำนวนมาก และได้ถวายวัดเวฬุวันให้เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา   ทรงให้การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดียิ่ง   ทรงรักษาอุโบสถศีลและบริหารราชการแผ่นดินควบคู่กันไปด้วย    พระมหาจรรยา  สุทธิญาโณ  ได้ให้ความเห็นไว้ว่า

พระเจ้าพิมพิสารทรงใช้นโยบายพัฒนาข้าราชการโดยพระองค์เอง    ประทานความรู้ด้านรัฐประศาสนศาสตร์  แล้วนำข้าราชการเหล่านี้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรมเป็นประจำ  ข้าราชการที่ถูกพัฒนาในลักษณะดังกล่าว  จะเพียบพร้อมไปด้วยความรู้และคุณธรรม๒๓

เนื่องจากแคว้นมคธปกครองด้วยระบบราชาธิปไตย  เมื่อกษัตริย์เป็นผู้มีคุณธรรมแล้ว ข้าราชการก็เป็นผู้มีคุณธรรมตามไปด้วย ประชาชนก็ย่อมมีความเป็นอยู่ที่สงบสุข  เพราะผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีคุณธรรมบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนอย่างแท้จริง หลังจากพระเจ้าพิมพิสารถูกพระราชโอรสคือพระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์ เพราะได้รับการยุยงจากพระเทวทัตทำให้เกิดความหลงผิด แต่ภายหลังก็รู้สึกพระองค์และหันมาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก  ปรากฎว่าพระพุทธองค์ก็ทรงมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าอชาตศัตรูในฐานะเป็นผู้ชี้แนวทาง  และทรงได้รับความเคารพนับถือจากพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทรงมีความทุกข์หรือประสบกับปัญหาที่ตัดสินพระทัยไม่ได้  ก็จะมาเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยพระองค์เองบ้าง ส่งคนมาเฝ้าเพื่อทูลถามปัญหาบ้าง เช่น ในคราวที่ทรงต้องการจะยกกองทัพไปรบกับแคว้นวัชชี๒๔  แต่ยังตัดสินพระทัยไม่ได้ว่าจะยกไปดีหรือไม่ เพราะขณะนั้นแคว้นวัชชีกำลังเข้มแข็ง ก็ทรงส่งวัสสการพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  เพื่อที่จะหยั่งดูว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสว่าอย่างไรบ้าง  พระพุทธองค์มิได้ทรงตรัสบอกว่าอย่างไรเพียงแต่หันไปตรัสกับพระอานนท์ว่า หากเจ้าลิจฉวีทั้งหลายยังคงปฏิบัติตามหลักอปริหานิยธรรมที่พระองค์เคยแสดงไว้อย่างมั่นคง ตราบใด   เจ้าลิจฉวีทั้งหลายก็จะมีแต่ความเจริญฝ่ายเดียว   ไม่มีทางเสื่อมเลย   คล้าย ๆ กับเป็น

การตรัสเตือนห้ามทัพมิให้ไปรบกัน เพราะถ้าขืนรบไปก็จะมีแต่การเสียทั้งสองฝ่าย  ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูก็ไม่กล้ายกกองทัพไปจริง ๆ แต่ท้ายที่สุดแคว้นวัชชีก็ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของแคว้นมคธเพราะไม่ปฏิบัติตามหลักที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ คือเกิดแตกสามัคคีกัน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพุทธกิจด้านการเมืองของพระพุทธองค์ในแคว้นมคธนั้น  เป็นไปในลักษณะของการให้คำแนะนำปรึกษา  ให้หลักหรือแนวทางในการปกครองและการบริหารประเทศ  รวมทั้งเป็นศาสดาผู้สอนธรรมแก่เจ้าผู้ครองนคร และประชาชนในรัฐอีกด้วย

๒) รัฐโกศล  มีกษัตริย์ปกครองคือ พระเจ้าปเสนทิโกศล  พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีความเคารพในพระพุทธองค์มาก  ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าเป็นชาวศากยะ  ซึ่งในขณะนั้นตกอยู่ใต้อำนาจของรัฐโกศล  ดังมีหลักฐานในอัคคัญญสูตรที่พอจะยืนยันได้ คือ

ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ  ก็พวกศากยตระกูลยังต้องเป็นผู้โดยเสด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่ทุกๆ ขณะ และพวกเจ้าศากยะยังต้องทำการนอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมอันใดอยู่ในพระเจ้าปเสนทิโกศล    แต่ถึงกระนั้นกิริยาที่นอบน้อม ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมอันนั้น     พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระทำอยู่ในตถาคต    ด้วยทรงถือว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มีชาติตระกูลสูง  เรามีชาติต่ำกว่า พระสมณโคดมเป็นพระผู้มีกำลังเรามีกำลังน้อยกว่า   พระสมณโคดมเป็นผู้ที่มีคุณน่าเลื่อมใส  เรามีคุณน่าเลื่อมใสน้อยกว่า  พระสมณโคดมเป็นผู้สูงศักดิ์เราเป็นผู้ต่ำศักดิ์กว่าดังนี้     แต่ที่แท้พระเจ้าปเสนทิโกศลที่ทรงสักการะ นอบน้อม ต้อนรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม ในตถาคตด้วยอาการอย่างนั้น  ก็เพราะทรงสักการะ นับถือ นอบน้อมพระธรรมนั่นเอง๒๕     

จากข้อความในพระสูตรนี้แสดงให้เห็นถึงว่ารัฐโกศลมีอำนาจเหนือรัฐศากยะ  แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีความเคารพในพระพุทธเจ้ามาก  หากว่าพระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ที่พระเชตวันในรัฐโกศลแล้ว  พระเจ้าปเสนทิโกศลจะเสด็จมาเฝ้าเกือบทุกวัน  และในการมาเฝ้าแต่ละครั้งพระองค์จะมีพระราชปุจฉาทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้า  ทั้งในเรื่องส่วนพระองค์และเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง เช่นในคราวที่พระองค์ทรงเสวยพระกระยาหารแล้ว  อาหารไม่ย่อยทำให้พระองค์รู้สึกอึดอัดพระวรกาย  ก็เสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อขอคำแนะนำ  พระพุทธองค์ก็ทรงแนะนำให้พระองค์เสวยพระกระยาหารให้น้อยลง  ซึ่งก็ทำให้พระองค์รู้สึกสบายขึ้นเมื่อทรงปฏิบัติตามคำแนะนำของพระพุทธองค์๒๖   หรือในคราวที่ทรงปราชัยต่อพระเจ้าอชาตศัตรูในการรบกันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือดินแดนกาสิกคาม  จนทำให้เสวยไม่ได้บรรทมไม่หลับ พระพุทธองค์ทรงมีพระดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ในท่ามกลางสงฆ์ว่า “บุคคลชนะอยู่ ย่อมประสบซึ่งเวร บุคคลอันบุคคลอื่นให้แพ้แล้วย่อมนอนลำบาก   บุคคลผู้เข้าไปสงบแล้ว ละแล้ว ซึ่งความแพ้และความชนะ  ย่อมนอนสบาย” ๒๗

พระเจ้าปเสนทิโกศลคงจะได้รับทราบพระพุทธดำรัสนี้จากพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง   หรือจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะปรากฎว่าหลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงสมานไมตรีกับพระเจ้าอชาตศัตรู  ยุติการสู้รบกัน  โดยพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยกพระธิดาชื่อว่า  วชิรากุมารี  ให้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอชาตศัตรู  ซึ่งก็ทำให้พระองค์ทรงรู้สึกปลอดโปร่งและสบายพระทัยที่ไม่ต้องทำศึกสงครามอีกต่อไป     และปรากฎว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นโดยปกติแล้วมักจะปกครองหรือบริหารงานของรัฐตามพุทธธรรมที่พระองค์ได้สดับมาจากพระศาสดา    ทรงปกครองข้าราชบริพารด้วยความยุติธรรม เที่ยงตรง  ไม่มีอคติ  ทรงยกย่องคนดีและลงโทษผู้ที่กระทำทุจริตคิดมิชอบ   ประชาชนภายในรัฐของพระองค์จึงมีเสรีภาพ  ประกอบอาชีพอย่างสงบสุข๒๘  ดังนั้นจึงทำให้ประชาชนในรัฐโกศลเป็นคนที่มีความขยันขันแข็งและมีความไฝ่ธรรมเป็นอย่างยิ่ง

๓) รัฐวัชชี  รัฐนี้ปกครองด้วยระบบสามัคคีธรรม  ในการปกครองแบบสามัคคีธรรมนั้นกษัตริย์หรือผู้ปกครองมิได้มีอำนาจเด็ดขาดเพียงผู้เดียว   แต่ใช้วิธีที่ว่ามีชนชั้นปกครองจำนวนหนึ่ง  ซึ่งมากทีเดียวอาจถึง  ๗,๗๐๗ องค์  หมุนเวียนกันขึ้นมาปกครอง๒๙  เหตุที่ปกครองด้วยระบบนี้อาจจะมีสาเหตุเนื่องจากว่า  มีราชวงศ์ที่มีอำนาจอยู่มากมายหลายราชวงศ์  การที่จะสถาปนาราชวงศ์ใดราชวงศ์หนึ่งขึ้นเป็นกษัตริย์นั้นไม่สามารถที่จะทำได้   เพราะจะทำให้ราชวงศ์อื่น ๆ ไม่พอพระทัยและจะทำการแย่งชิงอำนาจกัน  ราชวงศ์ที่เป็นกษัตริย์ก็จะมัวแต่ปกป้องอำนาจอยู่จนไม่มีเวลาไปบริหารราชการแผ่นดิน  ดังนั้นการปกครองแบบสามัคคีธรรมที่เปิดโอกาสให้กษัตริย์ทุกราชวงศ์เข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศร่วมกัน  ก็จะก่อให้เกิดความสมดุลทางอำนาจขึ้น

พระพุทธเจ้าเสด็จมายังแคว้นวัชชีครั้งแรก    โดยการที่สภาแห่งรัฐวัชชีได้มีมติให้กษัตริย์อาวุโสของวัชชีชื่อว่า มหาลิ  เป็นผู้มาอาราธนานิมนต์ในขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่รัฐมคธ  เมื่อพระองค์เสด็จมาแล้วก็ได้ทรงแสดงธรรมชื่อ  รัตนสูตร   ซึ่งเป็นสูตรที่กล่าวถึงคุณค่าของพระรัตนตรัย  อันเป็นพื้นฐานของผู้นับถือพระพุทธศาสนา  และทรงแสดงหลักรัฐศาสตร์หรือหลักในการปกครองตามแนวพุทธสำหรับการปกครองแบบสามัคคีธรรม  ซึ่งเรียกว่า “หลักอปริหานิยธรรม”  ซึ่งจากการที่ทรงแสดงหลักธรรมสำหรับการปกครองให้เจ้าลิจฉวีนำไปปฏิบัตินี้   ปรากฎว่าในช่วงแรกเจ้าลิจฉวีได้นำไปปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด   ทำให้รัฐวัชชีมีความเข้มแข็ง มีความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่าง ๆ อย่างมากมาย  

ทุกครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จมายังแคว้นวัชชี  กษัตริย์ลิจฉวีทั้งหมดจะนิมนต์พระองค์ให้ทรงแสดงธรรมในรัฐสภาวัชชี  เมื่อกษัตริย์อาวุโสสิ้นสุดการฟังธรรมแล้ว  ยุวกษัตริย์ที่อยู่ในวัยศึกษาศิลปวิทยา  ก็จะมาเฝ้าเพื่อฟังธรรมต่อไป  “ด้วยการอบรมอย่างใกล้ชิดทั้งในด้านรัฐกิจและด้านคุณธรรมมาตั้งแต่เยาว์วัย   กษัตริย์ลิจฉวีจึงเพียบพร้อมด้วยคุณภาพและคุณธรรม  บริหารรัฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ”๓๐   แต่ในตอนหลังถูกพระเจ้าอชาตศัตรูแห่งรัฐมคธ  ส่งวัสสการพราหมณ์เข้ามายุแหย่จนเกิดแตกสามัคคีกัน    ทำให้รัฐวัชชีถึงกับล่มสลายไปในที่สุด

พุทธกิจด้านการเมืองของพระพุทธองค์  นอกจากการที่ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้ครองนครรัฐต่าง ๆ โดยการแนะนำสั่งสอนและเสนอแนะหลักการในการปกครองประเทศแล้ว  ยังปรากฏว่าพระองค์ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยอีกด้วย  คือ  ในคราวที่เสด็จไประงับความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์แห่งเมืองศากยะ และ เมืองโกลิยะ ซึ่งกำลังจะทำสงครามกัน  แต่เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงความคิดที่จะทำสงครามก็เป็นอันยุติ   อันที่จริงแล้วเมืองทั้งสองนั้นต่างก็เป็นพระญาติของพระพุทธองค์ทั้งสองฝ่าย   และทั้งสองเมืองต่างก็มีความสัมพันธ์อันดีสืบเนื่องกันมาตั้งแต่อดีต   สาเหตุของการขัดแย้งนั้นเริ่มต้นจากการแย่งน้ำกันระหว่างประชาชน   โดยที่ชาวเมืองทั้งสองต่างก็ตั้งถิ่นฐานอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำโรหิณี  และได้อาศัยน้ำในแม่น้ำทำการเกษตร  ราชวงศ์และประชาชนทั้งสองเมืองต่างก็มีความสามัคคีกลมเกลียวกันดี   แต่ต่อมาน้ำในแม่น้ำเกิดมีไม่เพียงพอสำหรับทำเพาะปลูกทั้งสองเมือง   ชาวเมืองโกลิยะคนหนึ่งก็เสนอว่าให้ปล่อยน้ำทั้งหมดเข้าในเมืองโกลิยะ    ตามคัมภีร์มิได้บอกไว้ว่าชาวโกลิยะเสนอที่จะแบ่งผลผลิตจากการทำไร่นาให้แก่ชาวศากยะเพื่อเป็นการตอบแทนหรือไม่  แต่ตามรูปการณ์น่าจะเป็นอย่างนั้น   ฝ่ายชาวเมืองศากยะก็ไม่ยินยอม  ต่างฝ่ายต่างก็ตกลงกันไม่ได้ การเจรจาถึงขั้นหมดทางประนีประนอม   มีการปะทุอารมณ์จนถึงขั้นลงไม้ลงมือกัน  ข้อความในพระไตรปิฏกมีว่า  “ครั้นพูดกันมากๆ ขึ้นอย่างนี้   กรรมกรคนหนึ่งก็ลุกขึ้นตีเอาคนหนึ่งเข้า แม้คนที่ถูกตีนั้นก็ตีคนอื่น ๆ ต่อไป ต่างฝ่ายต่างตีกันอย่างนี้  ก็เกิดการทะเลาะ  กระทบชาติแห่งราชตระกูล”๓๑

เมื่อมีการด่าทอกระทบถึงราชตระกูลของกันและกัน  การทะเลาะกันของชาวเมืองก็ได้ลุกลามมาถึงข้าราชการและถึงราชวงศ์ของทั้งสองฝ่าย  ซึ่งต่างก็มีความหยิ่งและรักศักดิ์ศรีมีขัตติยมานะไม่ยอมให้ใครมาดูหมิ่นได้  เมื่อมาถึงขั้นนี้ปัญหาของความขัดแย้งมิได้อยู่ที่เรื่องของน้ำแล้ว  แต่เป็นเรื่องของศักดิ์ศรีหรือเรื่องของอัตตามานะทิฎฐิ  ของแต่ละฝ่ายที่ไม่มีใครยอมใคร ต่างก็ต้องการที่จะแสดงกำลังของตนให้ประจักษ์   โดยตระเตรียมกองทัพเพื่อเตรียมรบไว้พร้อมแล้วทั้งสองฝ่าย       พระพุทธองค์ทรงใคร่ครวญว่า  ถ้าหากพระองค์ไม่เสด็จไประงับเหตุ  ผลเสียก็จะเกิดขึ้นแก่กษัตริย์และประชาชนทั้งสองเมืองอย่างแน่นอน  ดังนั้นพระองค์จึงได้เสด็จไปยังสถานที่เกิดเหตุ   ทันทีที่พระองค์เสด็จไปถึงพวกเจ้าศากยะและกษัตริย์เมืองโกลิยะต่างก็มีความละอายพระทัย   ได้พากันทิ้งอาวุธด้วยความดำริว่า

พระญาติผู้ประเสริฐของพวกเราเสด็จมาแล้ว ชะรอยพระองค์คงจะได้ทรงทราบว่าพวกเรากระทำการทะเลาะวิวาทกัน  จึงพากันวางอาวุธ เครื่องอาวุธเสีย ด้วยตกลงพระทัยว่า  ก็เมื่อพระศาสดาเสด็จมาแล้ว  พวกเราไม่อาจที่จะให้ อาวุธตกต้องร่างกายของผู้อื่นได้  พวกชาวเมืองโกลิยะจะฆ่าจะแกงพวกเรา เสียก็ตามทีเถิด แม้พวกกษัตริย์ชาวเมืองโกลิยะก็คิดและกระทำการอย่างนั้น เหมือนกัน๓๒

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงก็ตรัสถามกษัตริย์ทั้งสองเมืองว่า  ทะเลาะกันเรื่องอะไร  กษัตริย์ทั้งสองเมืองก็กราบทูลว่าไม่ทราบ  แต่เสนาบดีคงทราบ  เสนาบดีก็กราบทูลว่าไม่ทราบแต่อุปราชคงทราบ  ต่างก็ซัดทอดกันเรื่อยไปจนถึงทาสและกรรมกร   พวกทาสและกรรมกรจึงกราบทูลว่า  ทะเลาะกันเรื่องน้ำ   พระศาสดาก็ได้ตรัสถามเหล่ากษัตริย์ถึงผลที่จะเกิดขึ้นแก่สังคม  และทรงขอให้พวกกษัตริย์พิจารณาให้เห็นถึงสิ่งที่ควรยึดถือให้ถ่องแท้  โดยทรงตรัสถามกษัตริย์เหล่านั้นว่า

 “น้ำตีราคาเท่าไร  มหาบพิตร ?”     “มีราคาน้อย  พระเจ้าข้า”

          “กษัตริย์ทั้งหลายมีราคาเท่าไร ?”

          “ ขึ้นชื่อว่ากษัตริย์ทั้งหลาย  หาค่ามิได้พระเจ้าข้า”

          “ก็การที่ท่านทั้งหลายจะทำกษัตริย์ซึ่งหาค่ามิได้  ให้ฉิบหายเพียงเพราะเรื่องน้ำมีประมาณน้อย  ควรแล้วหรือ๓๓

บรรดากษัตริย์เหล่านั้นนิ่งเงียบ  ลำดับนั้นพระศาสดาตรัสเตือนพระญาติเหล่านั้นแล้วตรัสว่า 

 มหาบพิตร   เพราะเหตุไรพวกท่านจึงกระทำกรรมถึงปานนี้      เมื่อเราไม่มีอยู่ ในวันนี้แม่น้ำคือโลหิตจักไหลนอง   ท่านทั้งหลายทำกรรมไม่สมควรแล้ว ท่าน ทั้งหลายเป็นผู้มีเวรด้วยเวรห้าอยู่     ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีความเดือดร้อนด้วย  กิเลสอยู่  เราไม่มีความเดือดร้อนอยู่๓๔

กษัตริย์เหล่านั้นทั้งหมดได้สดับพุทธดำรัสเตือนสติและได้สดับพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดง   ก็บังเกิดความเลื่อมใสและมีความสำนึกผิด   ต่างก็ได้ปรึกษาหารือกันว่า  “ถ้าหากว่าพระศาสดาไม่เสด็จมา  พวกเราก็จักฆ่าฟันซึ่งกันและกันจนเลือดไหลนองเป็นแม่น้ำ พวกเราชื่อว่าได้ชีวิตเพราะอาศัยพระศาสดา”๓๕

จากการที่พระพุทธองค์ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องหรือแก้ไขข้อพิพาทระหว่างกษัตริย์ทั้งสองเมืองนั้น   ทำให้มองเห็นถึงหลักรัฐศาสตร์สำหรับนักปกครองในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งได้หลายประการ  คือ

๑) ทรงรู้จักระยะเวลาที่เหมาะสม  ในช่วงระยะเวลาที่พระพุทธองค์เสด็จไปนั้นเหตุการณ์กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ  ความรุนแรงกำลังจะปะทุ  การที่พระพุทธองค์ทรงเข้าไปมีบทบาททันเวลา  ได้ช่วยแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้อย่างน่าอัศจรรย์   เพราะมิฉะนั้นแล้วความสัมพันธ์อันดีระหว่างแคว้นศากยะและแคว้นโกลิยะ ซึ่งมีมาหลายชั่วอายุคนก็จะสิ้นสุดลงทันที  และจะก่อให้เกิดความพินาศแก่บ้านเมือง  ความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั้งสองฝ่ายที่จะต้องพากันบาดเจ็บล้มตายจากการทำสงครามอย่างแน่นอน

๒)  ความเป็นผู้ทรงธรรม  จะเห็นได้ว่าทันทีที่บรรดากษัตริย์ทั้งสองเมืองทอดพระเนตรเห็นพระพุทธองค์  ต่างก็ทิ้งอาวุธและล้มเลิกความคิดที่จะทำสงครามกันทันที   ทั้งนี้เป็นเพราะว่ามีความเคารพในพระพุทธองค์  แม้บรรดากษัตริย์เหล่านั้นจะมีกำลังกองทัพอันยิ่งใหญ่  แต่พระพุทธองค์กลับมีอานุภาพมากกว่า  อำนาจนั้นก็คือ  ธรรมะ นั่นเอง

๓)  ความเป็นกลา พระพุทธองค์นั้นทรงเป็นชาวศากยะ  ซึ่งมาระงับข้อขัดแย้งระหว่างชาวศากยะและชาวโกลิยะ  แต่กลับไม่มีผู้ใดคลางแคลงใจในความเป็นกลางของพระองค์  เพราะพระองค์นั้นทรงมีฐานะที่อยู่เหนือการเมือง   การที่พระองค์ทรงเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยนั้น   พระองค์มิได้ถือว่าเป็นชาวศากยะหรือชาวโกลิยะ   แต่ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสัตว์โลกเสมอเหมือนกัน  ซึ่งพระคุณสมบัติข้อนี้จำเป็นอย่างมากสำหรับนักปกครองที่จะทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ย  หรือระงับข้อขัดแย้งภายในองค์กร

๔) ไม่ทรงทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิด  ทั้ง ๆ ที่พระพุทธองค์ทรงทราบว่า  สาเหตุของการขัดแย้งที่แท้จริงนั้น  เป็นเรื่องของการยึดถือในเรื่องของอัตตามานะทิฏฐิ   ที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมให้ใครมาดูหมิ่นราชวงศ์  แต่พระองค์ไม่ทรงยกประเด็นนี้ขึ้นมาตรัสถาม  เพราะจะทำให้กษัตริย์เหล่านั้นเสียพระพักตร์  แต่พระองค์ทรงนำเอาความขัดแย้งนั้นมาเป็นอุปกรณ์ในการสอนธรรมะ  ทรงให้บรรดากษัตริย์เหล่านั้นรู้ถึงผลเสียของการวิวาทบาดหมางโดยไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิด  แต่ทรงตั้งคำถามที่จะให้บรรดากษัตริย์เหล่านั้นรู้ถึงผลเสียของการทะเลาะวิวาทด้วยตัวเอง    ทรงเตือนสติมากกว่าที่จะเป็นการตัดสินว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิด  

หลักการเหล่านี้เป็นสิ่งที่พระสงฆ์สามารถนำมาเป็นต้นแบบในการวางตัวทางการเมืองได้เป็นอย่างดี   โดยเฉพาะกับสภาพการเมืองไทยในสมัยปัจจุบัน    ที่เกิดความขัดแย้งกันในทางการเมือง  จนเป็นที่หวั่นวิตกว่าเราจะหาทางออกให้กับประเทศไทยของเราได้อย่างไร   นักการเมืองทั้งสองฝ่ายส่วนใหญ่ก็เป็นชาวพุทธด้วยกัน    ถ้าพระสงฆ์เราไปเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมสร้างความไม่พอใจให้เกิดกับอีกฝ่ายหนึ่งแน่นอน และทั้งสองฝ่ายล้วนแล้วแต่เป็นชาวพุทธด้วยกันทั้งนั้น     

สิ่งที่พระสงฆ์ควรทำในสถานการณ์อย่างนี้  ก็คือการชี้แนะทางออก ชี้แนะหลักการ  โดยไม่ยิดติดกับบุคคลหรือฝักฝ่าย   ต้องชี้บอกให้ประชาชนทราบถึงผลเสียของการแตกแยกว่าจะก่อให้เกิดผลเสียแก่บ้านเมืองอย่างไร  โดยไม่ไปตำหนิตัวบุคคลว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนผิด  แต่ต้องชี้ให้เห็นถึงความถูกความผิดตามหลักการ  และต้องชี้ให้เห็นว่า ถ้ามีความขัดแย้งและมีการเผชิญหน้ากันแล้ว ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นฝ่ายชนะก็ตามที  แต่ผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชน ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นฝ่ายชนะก็ตาม  ก็เป็นการชนะที่ไร้ความหมายเพราะชนะบนซากปรักหักพังของบ้านเมือง   ตามพระดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๓๕     ทำให้เหตุการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีอย่างฉับพลัน    ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลักการที่พระองค์ทรงนำมาใช้ในเหตุการณ์ครั้งนั้น    สอดคล้องกับหลักการทีพระพุทธองค์ทรงดำเนินมาทุกประการ

 

[๑]สมบูรณ์  สุขสำราญ , พุทธศาสนากับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม 
(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ๒๕๒๗) , หน้า ๑.

[๒]ไพโรจน์  อยู่มณเฑียร , วาทะท่านพุทธทาส (กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์ , ๒๕๓๓ ) , หน้า ๑๐๓.

[๓] ขุ.ธ.  ๒๕ / ๓๐ / ๓๖.

๒๓ พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ , รัฐธรรม (กรุงเทพฯ : ธรรมสภา , ๒๕๔๑) , หน้า ๕.

๒๔ ที.ม. ๑๐ / ๖๗ - ๗๐ / ๖๕ - ๖๘ ; องฺ.สตฺตก.  ๒๓ / ๒๐ / ๑๘ - ๒๒.

๒๕ ที.ปา. ๑๑ / ๕๔ / ๖๔.

๒๖ สามเณรอุทิศ  ศิริวรรณ , ธรรมบทภาค ๖ แปลโดยพยัญชนะ  ( กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เลี่ยงเซียง , ๒๕๓๑ ) , หน้า ๑๓๒ - ๑๓๔.

๒๗ เรื่องเดียวกัน หน้า ๑๒๘.

๒๘ พระมหาจรรยา  สุทธิญาโณ  อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๒๓ หน้า ๖.

๒๙พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต) , จาริกบุญ - จาริกธรรม  พิมพ์ครั้งที่ ๒
(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สหธรรมิก , ๒๕๓๙) , หน้า ๕.

๓๐พระมหาจรรยา  สุทธิญาโณ  อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๒๒  หน้า ๘.

๓๑พระสูตรและอรรถกถาแปล  ๖๒ / ๕๓๖ .

๓๒ พระสูตรและอรรถกถาแปล  ๖๒ / ๕๓๘ - ๕๓๙.

๓๓ พระสูตรและอรรถกถาแปล  ๔๒ / ๓๖๔.

๓๔ พระสูตรและอรรถกถาแปล  ๔๒ / ๓๖๔ - ๓๖๕.

๓๕ พระสูตรและอรรถกถาแปล  ๖๒ / ๕๔๐.

หมายเลขบันทึก: 554356เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2013 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2013 08:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อย่าเพิ่งให้วรรณกรรมใหม่ๆมาสวมรอยกิจกรรมของพระพุทธเจ้าเลย

พระพุทธเจ้าซิ ที่ริเริ่ม และ กระทำการอย่างจริงจัง ในการยกเลิก ปลดแอก ระบบชั้นวรรณนะ ที่มีมาก่อน มิใช่ยกความพึงใจไปให้ผู้อื่นได้ง่ายๆ. เรา จงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้าแค่ไหน. และวันนี้ ในบริษัทฯที่พระพุทธเจ้าจัดตั้ง โดยที่รักษาสันติธรรม ไม่ให้มีเรื่องในวันที่มีผู้คนนัดกันมา(ต้องนัด เพราะ คนตั้ง1250คน มากันโดยมิได้นัดหมาย ในวันที่โทรศัพท์มือถือก็ไม่มี ใครจะเชื่อเราไม่ว่า แต่เราใช้เหตุผลแล้วปัจจัยทุกประการแล้ว ต้องนัดกันอย่างแน่นอน แต่เราตอบเพราะคะแนนที่ครูมีล่อไว้ ตอบอย่างอื่นอีกทางไม่ได้คะแนน) ในบริษัทนี้ ยังคงมีการนั่งต่ำนั่งสูงต่อกันอยู่เลย เห็นไหมว่า ขัดกับ เจตนารมท่านฯอยู่.

ปรัชญาที่ไม่แน่นอน บางครั้งก็ว่าเกี่ยวการปกครอง บางครั้งก็ว่าต้องแยกกัน มันsubjective ไง บอกไม่ถูกนะ บนทุกๆ เวที ไม่พบว่าใครใช้ระบบ "ธรรมมะ ชนะ อธรรม"สักเวที. แม้แต่เวทีความขัดแย้งภาคใต้. เห็นใช้การสอนให้ฆ่ากลับ ไปชนะ อธรรมที่มีผู้ทุจริตก่อขึ้นทั้งนั้น

เห็นด้วยครับ มีแง่คิดดีมากและมีหลักฐานอ้างอิงน่าเชื่อถือ..ขอให้นำมุมมองใหม่ๆ มาเสนอพวกเรามากๆนะครับ

ขอเสนอความเห็นร่วมนะครับ หลักการสายกลางของพุทธมีพลวัตรพอที่ใช้กับสังคมกรุงเทพได้ โดยไม่เกิดข้อความขัดแย้งหรือโต้กลับอย่างไร..เมื่องทางสุดโต่งทั้งสองของไทยสุดซอย พุทธจะอยู่ถนนใหญ่อย่างไร จะตัดทางใหม่ให้เขาเดินได้อย่างจึงไม่ถูกมองว่า ไม่ใช่ฝ่ายฉัน..ลึกไปกว่านั้น ถ้ากลุ่มชาวพุทธไปใช้หลักพุทธนำพากลุ่มเช่นนั้น กลุ่มสายกลางจะกระเทือนไปด้วย เนื่องจากว่า พุทธไร้จุดยืนหรือไม่ ฉะนั้น ชาวพุทธควรมีหลักทั้งสองคือ ในส่วนตัวใช้หลักพุทธ เพื่อบริหารด้านจิตตนเอง ด้านส่วนรวมก็ใช้หลักพุทธในแง่ปัญญาบนฐานความถูกต้อง ถูกธรรม.. แต่ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มคนที่ไม่ถูกต้อง ถูกธรรมละ จะบริการแบบประนีประนอมอย่างไร นี่คือ ปัญหาชาวพุทธไทย

เป็นเรื่องที่ดีมากในสมัยนั้น แต่สมัยนี้เลวมาก บอกว่าให้ต่อสู้ในสภาจะให้ต่อสู้ได้อย่างในเมื่อพวกมากขนาดนั้น และการที่กล่าวรัฐสภาสามารถแก้กฎหมายได้โดยไม่ต้องใช้ฝ่ายอื่นทำไปได้อย่างไร การไม่รับฟังคำตัดสินของศาลเป็นไปได้อย่างไร ถ้าข้าพเจ้าเป็นฝ่ายค้านจะร่วมโกงกับรัฐบาลให้รู้แล้วรู้รอดไป

ธรรมมะชนะอธรรมหรอไม่

หากทุกเวที แม้แต่เวทีนักบวช เวทีนักการเมือง นักการศาสนา นักการสอน นักการธนาคาร นักการเงิน ฯลฯ

สามารถยึดหลัก ธรรมมะชนะ อธรรม กันได้. มีเครื่องมือที่ใช้คือ รู้เขา รู้เรา รู้ความจริง ไม่ต้องรบสักครั้ง ชนะทุกคนทุกฝ่าย ได้

แต่ทีนี้ ความจริงจะไปหาได้จากไหนล่ะ. ขอยืนยันว่าหาได้ หากท่านฝึกฝนที่จะค้นหาความจริง ความจริงนั้นมีอยู่แต่ท่านอาจต้องการการฝึกฝนที่จะค้นหา

สารเล่มเดียวในปัจจุบัน ที่แยกแยะระหว่างวรรณกรรม กับคัมภีร์ได้ เพราะในนั้น ไร้ ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์(ที่มาสโลว์กล่าว)

ปรากฎในนั้น เพื่อเป็นสิ่งจูงใจของผู้มอบสารให้มา และที่สำคัญที่สุดคือ หากอ่านแล้วสามารถพบผลประโยชน์แม้กระพี้เล็บได้ ผู้นั้นก็เข้าถึงธรรมไปแล้วหละ แต่ก็ยังมีสิ่งสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก ค่อ ไม่มีใครสามารถชี้ตัว นำตัวผู้ที่จะรับผลประโยชน์ที่พบใน คัมภีร์(อัล-กุรอาน)ได้เลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท