สร้างสรรค์ไหมมัดหมี่ เพิ่มดีกรีเป็นสากล


วิโรจน์   แก้วเรือง1/

ศศิพิมพ์ ลิ่มมณี2/

สุรเดช ธีระกุล 3/

ความเป็นมา

            กรมหม่อนไหม มีวิสัยทัศน์ที่ว่า“อนุรักษ์ภูมิปัญญา พัฒนาไหมไทยสู่สากลดังนั้นนักวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ คนรุ่นใหม่ของกรมหม่อนไหม มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผ้าไหมไทยซึ่งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาติให้เป็นสินค้าวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์สู่สากล จึงได้จัดทำโครงการความร่วมมือสร้างสรรค์งานออกแบบผลิตภัณฑ์ไหมไทย ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ไหมไทยให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการของตลาด และกลุ่มเป้าหมาย และผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ไหมไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล โครงการนี้ดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ได้แก่ สำนักวิจัยและพัฒนาหม่อนไหม กรมหม่อนไหม ร่วมกับ สาขาการออกแบบทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตผ้าไหม ผู้ประกอบการและนักออกแบบ

การคัดเลือกกลุ่มเกษตรกร/ผู้ประกอบการ เข้าร่วมโครงการ

            ผู้เข้าร่วมโครงการนี้มาจาก 3 จังหวัดนำร่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดละ 4 ราย แบ่งเป็นเกษตรกรผู้ผลิตผ้าไหม / ผู้ประกอบการไหมไทยรายย่อย ด้านผ้าไหมมัดหมี่ 2 ราย ด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าไหมจำนวน 1 ราย รวมเกษตรกรผู้ผลิตผ้าไหม / ผู้ประกอบการไหมไทยทั้งสิ้น 12 ราย โดยมีเกณฑ์การคัดเลือก ดังนี้

- มีทัศนคติ และแนวคิดในการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีศักยภาพผลิตภัณฑ์สู่สากล 

- มีความสามารถและศักยภาพในการผลิต รวมถึงการขายได้ในเชิงพาณิชย์

- มีผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ หรือรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ของกรมหม่อนไหม เช่น เข้าร่วมแสดงสินค้า เข้าร่วมการประกวดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไหม หรือเคยได้รับรางวัลเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

การให้องค์ความรู้

            ผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 12 ราย ได้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยมีคณาจารย์จากสาขาการออกแบบทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ความรู้ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด 

การสร้างสรรค์งาน

            นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมโครงการยังได้ลงมือฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาและการนำเสนอ” โดยนำเอารายละเอียดเรื่องราว ประวัติความเป็นมา ภูมิปัญญา รวมถึงอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นนั้นๆ มาเป็นแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยมีทีมนักออกแบบ ทีมที่ปรึกษาด้านการออกแบบ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและกรมหม่อนไหม ที่สำคัญเรามี คุณอารยาอินทราสไตลิสต์ระดับแนวหน้า และนักออกแบบจากห้องเสื้อ "Theatre" มาให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการเข้าใจถึงความสำคัญของการออกแบบ และได้แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ

งานสร้างสรรค์ที่โดนใจ

            หลังเสร็จสิ้นการอบรม ผลงานการออกแบบแบบร่างผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม ทั้งลวดลายผ้าผืน และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าไหมทั้ง 12 ชิ้น จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากคณะดำเนินงานโครงการ และทีมที่ปรึกษา เพื่อผลิตเป็นผลงานจริง จำนวน 4 ชิ้น 

ซึ่งผลงานที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 4 ชิ้น มีดังนี้

 

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ

            เมื่อได้ผลงานที่จะนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากผู้ประกอบการทั้ง 4 รายแล้ว คณะดำเนินงานโครงการก็เริ่มลงพื้นที่ทั้ง 4 แห่งได้แก่ กลุ่มสตรีสหกรณ์ศูนย์การเรียนรู้หม่อนไหม บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่นกลุ่มไหมทองสุรนารี จังหวัดนครราชสีมากลุ่มแม่บ้านทอผ้าไหมบ้านหนองบัวจังหวัดขอนแก่นและบ้านหนองโก จังหวัดบุรีรัมย์โดยครั้งแรกเป็นการทำความตกลงและปรึกษารูปแบบการทำงานต้นแบบร่วมกัน และลงพื้นที่ครั้งที่ 2 เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน รวมถึงการให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต

ผลงานจากภูมิปัญญา พัฒนาจากการเรียนรู้

1. ผลิตภัณฑ์ประเป๋าจากผ้าไหมมัดหมี่:กลุ่มสตรีสหกรณ์ศูนย์การเรียนรู้หม่อนไหม บ้านหัวฝาย ตำบลปอแดง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

          แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเป๋าจากผ้าไหมมัดหมี่ของกลุ่มสตรีสหกรณ์ศูนย์การเรียนรู้หม่อนไหมเน้นการใช้อัตลักษณ์ดั้งเดิม คือลวดลายตารางสองสี ที่ผลิตจำหน่ายและเป็นที่นิยมอยู่แล้วรูปแบบประเป๋าอ้างอิงแนวโน้มแฟชั่น 2013 – 2014พร้อมกับการขยายกลุ่มลูกค้าจากเดิม ให้เป็นกลุ่มผู้เริ่มต้นวัยทำงาน (23-35 ปี)รวมถึงการใช้กระบวนการผลิตที่ทันสมัยแต่ยังคงสามารถพึ่งพาแรงงานดั้งเดิมอยู่ได้

         เมื่อได้รูปแบบผลิตภัณฑ์กระเป๋าที่ร่วมสมัย ทั้งในด้านรูปแบบ วัสดุ ลวดลายผ้าไหม วัสดุตกแต่งอื่นๆ และความประณีตจากกระบวนการผลิต ได้ตรงตามกลุ่มลูกค้าที่เป็นสังคมเมือง  กลุ่มผู้ผลิตสามารถผลิตได้ตั้งแต่กระบวนต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือ ผ้าผืน การผลิตตัดเย็บ รวมถึงการนำเสนอผู้จัดจำหน่าย

 

2. ผ้าไหมมัดหมี่ทอมือ ลายลูกมะพร้าว และใบมะพร้าว:  กลุ่มไหมทองสุรนารี ตำบลเมืองปักธงชัย อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

            กลุ่มไหมทองสุรนารี ต้องการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ทอมือที่มีเอกลักษณ์ โดยใช้รูปทรงของต้นมะพร้าว ลูกมะพร้าว ใบมะพร้าว ที่มีอยู่มากมายในหมู่บ้านเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มอ้างอิงแนวโน้มแฟชั่น 2013 – 2014ใช้เทคนิคการมัดลวดลายใหม่ผสมผสานกับการทอเส้นยืนหลากสี เลือกใช้โทนสีที่อ่อนลงจากที่เคยผลิตเพื่อขยายฐานลูกค้าวัยเริ่มทำงาน (23-35 ปี)และขยายตลาดได้ในระดับสากล

            เมื่อได้รูปแบบลวดลายบนผ้าไหมมัดหมี่ที่เป็นอัตลักษณ์จากการวิเคราะห์ของตัวแทนกลุ่ม คือ ลายลูกมะพร้าว และใบมะพร้าว ตรงตามกลุ่มลูกค้าที่เป็นสังคมเมือง  กลุ่มผู้ผลิตสามารถผลิตได้ตั้งแต่กระบวนต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ  และสามารถต่อยอดเข้าสู่สินค้าแฟชั่นได้ในระดับสากล

3. ผ้าไหมมัดหมี่ทอมือ: กลุ่มแม่บ้านทอผ้าไหมบ้านหนองบัวตำบลคุ้มหัวหนอง อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น

            กลุ่มแม่บ้านทอผ้าไหมบ้านหนองบัว ต้องการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ทอมือที่มีเอกลักษณ์ จดจำได้ และสร้างสรรค์จากกลุ่มด้วยตนเอง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยได้ใช้อัตลักษณ์จากเรื่องราวของท้องทุ่งถิ่นอีสาน และสัญลักษณ์ของบ้านหนองบัว อ้างอิงแนวโน้มแฟชั่น 2013 – 2014 และขยายกลุ่มลูกค้าเริ่มต้นวัยทำงาน (23-35 ปี) ใช้การย้อมสีใหม่ที่ดูอ่อนลง แตกต่างจากที่เคยผลิต ทำให้ดูมีราคา และร่วมสมัยมากขึ้น

           เมื่อได้รูปแบบลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์จากการวิเคราะห์ของตัวแทนกลุ่ม ได้ตรงตามกลุ่มลูกค้าที่เป็นสังคมเมือง  กลุ่มผู้ผลิตสามารถผลิตได้ตั้งแต่กระบวนต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ  และสามารถต่อยอดเข้าสู่สินค้าแฟชั่นได้

 

4. ผ้าไหมมัดหมี่ทอมือ ลายนกยูง:บ้านหนองโก ตำบลดอนกอก อำเภอนาโพธิ์จังหวัดบุรีรัมย์

          แนวทางในการพัฒนาลวดลายผ้าของบ้านหนองโก จังหวัดบุรีรัมย์ คือ การใช้อัตลักษณ์ดั้งเดิม คือลวดลาย “นกยูงมัดหมี่เขียนลวดลายทอง” ที่เป็นที่นิยมและเป็นที่จดจำของลูกค้าหลักอยู่แล้ว อ้างอิงแนวโน้มแฟชั่น 2013 – 2014 ขยายกลุ่มลูกค้าเริ่มต้นวัยทำงาน (23-35 ปี)ตัดทอนลวดลายดั้งเดิมและจำนวนสีลงช่วยให้การมัดลวดลายมัดหมี่ง่ายขึ้นอ้างอิงแนวโน้มแฟชั่นที่เรียบง่าย

       เมื่อได้รูปแบบลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์จากการวิเคราะห์ของตัวแทนกลุ่ม คือ ลายส่วนหางของนกยูงได้ตรงตามกลุ่มลูกค้าที่เป็นสังคมเมือง  กลุ่มผู้ผลิตสามารถผลิตได้ตั้งแต่กระบวนต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และต่อยอดเข้าสู่สินค้าแฟชั่นได้

         นอกจากนี้คณะดำเนินโครงการได้นำผลงานต้นแบบทั้ง 4 ชิ้นจัดแสดงในงาน“ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-12 สิงหาคม 2556 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในงานดังกล่าวมีผู้เข้าชมผลงานของกลุ่มเกษตรกร/ผู้ประกอบการ จำนวนมาก และแสดงความสนใจในลวดลายผ้าผืน และผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหมที่ได้รับการพัฒนา

 

จุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์งานร่วมกัน

          โครงการนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นที่ผู้ผลิตได้ร่วมคิดสร้างสรรค์งานกับนักออกแบบแฟชั่น เพื่อให้ชิ้นงานที่ผลิตออกมาโดนใจลูกค้าที่นิยมชมชอบผ้าไหมไทย และผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ หลังจากชิ้นงานต้นแบบออกสู่สายตาผู้บริโภค การสั่งซื้อสินค้าและยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ อีกทั้งยังเป็นบทสรุปว่าโครงการที่จะดำเนินการต่อๆไปต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร อย่างไรก็ดีโครงการนี้แม้เป็นโครงการเล็กๆ แต่ทำให้นักวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ของกรมหม่อนไหมได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยร่วมกับนักออกแบบแฟชั่น และเกษตรกร/ผู้ประกอบการ เพื่อให้ไหมไทยเป็นสินค้าวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับผู้ที่อยู่บนเส้นทางไหมไทยได้อย่างยั่งยืนตลอดไป

 

บรรณานุกรม

สำนักวิจัยและพัฒนาหม่อนไหม กรมหม่อนไหม และวิชาเอกออกแบบแฟชั่น สาขาการออกแบบทัศนศิลป์

       คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 2556. เอกสารสรุปรายละเอียดการดำเนินงาน

       โครงการร่วมมือสร้างสรรค์งานออกแบบผลิตภัณฑ์ไหมไทย ปี 2556. 

ผู้เขียน

1/ ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์หม่อนไหม กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทรศัพท์/โทรสาร 02-5587948

  084-4387107 e-mail: [email protected], website: www.qsds.go.th

2/ นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ สำนักวิจัยและพัฒนาหม่อนไหม กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทรศัพท์ 

  089-1481505 e-mail: [email protected], website: www.qsds.go.th

3/ นักวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ปฏิบัติการ สำนักวิจัยและพัฒนาหม่อนไหม กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทรศัพท์ 084-096-2096 e-mail: [email protected], website: www.qsds.go.th

 

ที่มา : colourway ปีที่ 19 ฉบับที่ 109 (พ.ย.- ธ.ค.56) เขียนโดย วิโรจน์ แก้วเรือง ศศิพิมพ์ ลิ่มมณี และสุรเดช ธีระกุล

หมายเลขบันทึก: 554295เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2013 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2013 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เยี่ยมมากๆครับ

อยากให้ความรู้แบบนี้ตกถึงคนทั่วไปและชาวบ้านที่สนใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท