ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๔๐. นักเทคโนโลยีดีเด่น ปี ๒๕๕๖


สี่ท่านทางขวามือคือผู้ได้รับรางวัล

 

 

 

 

สองพ่อลูกที่ได้รับรางวัลจากผลงานรถตัดอ้อย

 

 

 

ดร. สมวงษ์ และ ดร. บุญรัตน์

 

 

          ในวันที่ ๙ ต.. ๕๖ มีงานแถลงข่าวนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี ๒๕๕๖   ในงานมีการเสวนาพิเศษเรื่องทคโนโลยีกับการพัฒนาประเทศไทย”    . ดร. ยงยุทธยุทธวงศ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์    ให้ความเห็นว่า ระดับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ล้าหลังระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งอยู่ที่ระดับราวๆ อันดับที่ 30 ของโลก    ในขณะที่ระดับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ที่ประมาณอันดับที่ 50    จุดอ่อนแออยู่ที่งบประมาณวิจัยของประเทศ ซึ่งคงที่อยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 0.2 ของ จีดีพี มาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี    ทำให้ประเทศต่างๆ แซงหน้าไป    หากยังเป็นเช่นนี้ ประเทศจะอ่อนแอในระยะยาว

          ดร. ทวีศักดิ์กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช.   ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยควรมียุทธศาสตร์ซื้อเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ต่อยอด    ไม่ใช่ซื้อเทคโนโลยีสำเร็จรูปอยู่เรื่อยไป อย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

          ดร. ดำริ สุโขธนังอดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม    และที่ปรึกษา สวทน.   ให้ข้อมูลว่าสวทน. ตั้งในปี ๒๕๕๑สมัยที่ ศ. ดร. ยงยุทธ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์    ไทยจ่ายค่า technololy fee ปีละ 1.6 แสนล้าน    หากมีการลงทุนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามแผนยุทธศาสตร์ ที่ สวทน. จัด    ประเทศจะประหยัดได้มาก

          ที่น่าชื่นใจคือ ปีนี้ภาคเอกชนได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นคือนายสามารถ ลี้ธีระนานนท์ กับนายวิทูร ลี้ธีระนานนท์ สองพ่อลูกแห่ง หจก. สามารถเกษตรยนต์ ที่ จ. ชัยนาท   จากผลงานรถตัดอ้อยที่มีกระบะบรรทุกท่อนอ้อย ทำงานแบบอัตโนมัติ    โดยที่นายสามารถเรียนจบแค่ ป. ๗ เท่านั้น    โดยรถตัดอ้อยโมเดลนี้นับเป็นโมเดลที่ ๖   ที่มีการพัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ    โมเดลนี้ส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซีย บราซิล และอินเดีย   ราคาขายในประเทศ ครึ่งหนึ่งของที่นำเข้า     แต่บริการซ่อมจะดีกว่า

          รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประเภทกลุ่ม ได้แก่สถาบันจีโนม สวทช., และสถาบัน ดีเอ็นเอ เทคโนโลยีมก.   โดยมี ดร. สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง เป็นหัวหน้า    จากผลงานการใช้เทคโนโลยีฐานจีโนมมิกส์ ตรวจสอบจีโนมอย่างรวดเร็ว ใช้ควบคุมคุณภาพอาหารส่งออก และส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์พืช  

          ผมชอบใจมาก ที่ ดร. สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง บอกว่า  เทคโนโลยี = วิทยาศาสตร์ + การจัดการ + ศิลปะ   เป็นรูปธรรมจับต้องได้

          สถาบันจีโนม เริ่มตั้งปี๒๕๔๒  ใช้ตรวจพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม    พบว่าไม่ใช่พันธุ์ตามเป้าหมาย  นำไปสู่การแก้ไข    ทำให้  ปีต่อมาไม่ต้องนำเข้า   ประหยัดหลายพันล้านบาท   ตรวจพันธุ์ข้าว ยืนยันคุณภาพต่อลูกค้าต่างประเทศ    ทำให้ขายส่งออกได้ราคา จากตันละ $500 เป็น 800  ได้เงินเป็นแสนล้าน    เวลานี้แยกเป็นหน่วยตรวจข้าวโดยเฉพาะ    โดยสถาบันจีโนมทำงานพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตรวจผลิตภัณฑ์การเกษตรอย่างอื่นต่อไป เช่น ถั่ว

          ดร. สมวงษ์บอกว่า การตรวจนี้ไม่ใช่ของใหม่    ในต่างประเทศมีให้บริการ    แต่สู่ของสถาบันจีโนมไม่ได้ เพราะแม่นยำ  เร็ว  ราคาไม่สูง  จึงแข่งกับต่างประเทศได้    หน่วยงานนี้เป็นผลของความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับ มกเป็นหน่วยหารายได้พึ่งตนเองได้ ยั่งยืน    กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนเงิน๔๐ ล้านเพื่อตั้งหน่วยตรวจข้าวส่งออก    ผลงานชิ้นนี้ช่วยการบังคับใช้กฎหมายโดยกระทรวงพาณิชย์

 

          รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ได้แก่ ดร. บุญรัตน์โล่ห์วงศ์วัฒน หน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมโลหะ ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ    จากผลงาน การออกแบบวัสดุโดยใช้หลักการทางอุณหพลศาสตร์และการปรับปรุงโครงสร้างเชิงโลหะวิทยา เพื่อพัฒนาระบบโลหะผสม และคิดค้นเทคนิคการผลิตใหม่สำหรับอุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับไทย    ซึ่งเมื่อฟังแล้ว ก็เห็นว่าน่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมเครื่องประดับ     

          เพราะได้ค้นพบวิธีผลิตโลหะผสมเช่น ทอง 18k ให้เป็น metallic glass    คือขึ้นรูปได้แบบปลาสติค    สมารถใช้กระบวนการผลิตแบบปลาสติค มาใช้กับโลหะได้    เวลานี้อยู่ระหว่างคุยกับโรงงาน 2-3 แห่ง

          ผมได้รับทราบด้วยความตกใจว่า  นักวิจัยด้านโลหะวิทยาทั้งประเทศมีเพียง 30 คน

          ผมเห็นด้วยกับผู้พูดบนเวทีว่า  ข่าวรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นนี้ น่าจะช่วยจุดประกายให้เด็กไทยสนใจเรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีจะช่วยให้ประเทศไทยออกจาก middle income trap   โดยเราต้องเพิ่มจำนวนนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับความสามารถสูง อีกหลายเท่าตัวของที่มีอยู่ในปัจจุบัน    และเราต้องช่วยกันเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาคำพูด ตามนโยบายเพิ่มงบประมาณวิจัยของประเทศเป็น 1% GDP

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ต.ค. ๕๖

 

 

 

   

หมายเลขบันทึก: 554208เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2013 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2013 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท