ภาษาอังกฤษสำคัญที่สุดจริงหรือ ? ในสังคมอาเซียน


ถึงอย่างไรก็ตามประเด็นที่สำคัญจากชื่อ “ภาษาอังกฤษสำคัญที่สุดจริงหรือ?” คำตอบคือ “ไม่ใช่” ในมุมมองของผู้เขียน หากทุกคนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ถ้วนทั่วทุกตัวคน คนที่น่าสงสารคืออาชีพล่าม มิได้หมายความว่า “ภาษาอังกฤษไม่สำคัญ” เพียงแต่กำลังบอกว่า “เราให้ความสำคัญที่สุดผิดไป” เท่านั้นเอง แล้วอะไรละคือสิ่งสำคัญที่สุด?

          หลายฝ่ายมุ่งมั่นและกำลังทุ่มเทสุดตัว เพื่อการรวมตัวของประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุด โดยเฉพาะในสถานศึกษาคือการพยายามส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษ จริงหรือ? ที่ภาษาอังกฤษมีความสำคัญและจำเป็นที่สุดในการเริ่มต้นเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่สำหรับมุมมองของผมภาษาอังกฤษคงไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน เรากำลังหลงประเด็นและให้ความสำคัญผิดที่หรือไม่?

          หลายสถานศึกษาคงเริ่มต้นที่จริงจังสำหรับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาและการใช้ภาษาในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งภาษานั้นก็ไม่ใช่ภาษาของประเทศประชาคมอาเซียนด้วย “ภาษาอังกฤษ” ซึ่งเท่าที่สังเกตพบว่าอาจจะเป็นการทุ่มเทที่ไม่คุ้มค่าการลงทุน

          ผมเคยคุยกับเพื่อนเล่นๆ ว่า การส่งคนไปเรียนต่างประเทศจำนวนมาก ต้องใช้ทุนมากหรือไม่? สมมติส่งไปเรียนปีละ ๒๐ คน มีคนไทยเก่งในวิทยาการต่างประเทศ เพิ่ม ๒๐ คนหรือ ๑๐๐ คน? แต่ถ้าเราส่งคนที่เก่งภาษานั้นๆ ไปประจำประเทศนั้นๆ ประเทศละ ๕ คน แล้วให้เขาแปลตำราต่างๆ ในประเทศนั้นส่งกลับเมืองไทย จะมีคนไทยได้เรียนรู้ ได้อ่านตำราเล่มนั้นอีกกี่แสนคน น่าจะคุ้มค่ากว่าหรือไม่?

          เรากำลังสบสนทางความคิด กล่าวคือ ด้านหนึ่งเรากำลังมองว่าการใช้ภาษาไทยของเด็กทุกวันนี้น่าเป็นห่วง ใช้ได้ไม่ถูกต้อง ใช้ผิด อาจจะนำมาซึ่งภาษาวิบัติ มีการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง อีกด้านหนึ่งเรากำลังส่งเสริมการเรียนรู้และการใช้ภาษาอังกฤษอย่างหน้ามือตามัว ผลที่เกิดขึ้นคือ “ภาษาไทยก็จะไปไม่รอด ภาษาอังกฤษก็กำลังจะจอดทุกระดับ” อะไรเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ยากที่จะทำได้ควบคู่กัน

          การเป็นประชาคมอาเซียนหากพุ่งความสำคัญไปที่ภาษาอังกฤษ ก็คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมองปัญหาการใช้ภาษาไทยของเด็กเป็นปัจจัยที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางภาษาที่สำคัญและยิ่งใหญ่มากเมื่อภาษามีการสัมผัสกัน โดยธรรมชาติภาษาต้องมีการเปลี่ยนแปลงและอาจจะผสมผสานจนเราเริ่มที่จะหลงลืมว่า “ภาษาใดเป็นภาษาใด”

          ถึงอย่างไรก็ตามประเด็นที่สำคัญจากชื่อ “ภาษาอังกฤษสำคัญที่สุดจริงหรือ?” คำตอบในมุมมองของผู้เขียน คือ “ไม่ใช่” หากทุกคนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ถ้วนทั่วทุกตัวคน คนที่น่าสงสารคืออาชีพล่าม มิได้หมายความว่า “ภาษาอังกฤษไม่สำคัญ” เพียงแต่กำลังบอกว่า “เราให้ความสำคัญที่สุดผิดไป” เท่านั้นเอง แล้วอะไรละคือสิ่งสำคัญที่สุด?

          การเข้าใจวัฒนธรรมและสังคมของกันและกันน่าจะมีความสำคัญที่สุด ยกตัวอย่างง่ายๆ เราอาจจะไม่ต้องพูดคุยกันเลยก็ได้ แต่เมื่อเราแสดงอะไรออกไปทุกคนมองเห็นและตีความตามวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งอาจจะผิดพลาดทางความหมายในอีกวัฒนธรรม เช่นในขณะที่เราอยู่ท่ามกลางคนไทย คนอิสลาม เราอาจจะสั่งอาหารที่มีหมูและกินอย่างเอร็ดอร่อย ในอีกมุมมองเขากลับมองว่า “หมู” เป็นของสกปรก กินลงไปได้อย่างไร หรือแม้แต่สุนัขตัวเล็กสวยๆ ซึ่งมันก็คือสัตว์สวยงามที่เราเลี้ยงไว้ นำติดต่อไปไหนต่อไหนด้วยตลอดเวลา  วันหนึ่งเรานำมันไปด้วยขณะเที่ยวชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มคนที่มองว่าสุนัขเป็นของสกปรก เขาจะรู้สึกอย่างไร? การกระทำ ๒ ตัวอย่างนี้มีความหมาย โดยจะเห็นได้ว่าเราไม่ต้องพูดจากันเลย แต่มันมีผลกระทบทางจิตใจของอีกฝ่ายไปเรียบร้อยแล้ว การเข้าใจสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ควรได้รับการส่งเสริมและผลักดันเป็นสำคัญก่อนที่เราจะไปขับเน้นเรื่องของภาษาที่ควรจะมีความสำคัญมาในอันดับรองๆ

                                               

 

                                                                             กึมซ็อก

                                                                         ๑๗ /๑๑/๑๓

หมายเลขบันทึก: 553811เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2013 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2013 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท