อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (2)


อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (2)

       ในตอนที่แล้ว (click) ผมได้บันทึกไว้ว่าจะให้ความเห็น 7 ประเด็นใหญ่ ๆ ในบันทึกนี้จะเป็นเรื่องแรก   คือการทำสงครามครับ

       ผมมอง Megaproject ด้านอุดมศึกษาและวิจัยนี้เชื่อมโยงกับการสร้าง transition ของระบบอุดมศึกษา   เชื่อมโยงกับ transition ของสังคมไทยสู่สังคมที่มีความรู้เป็นฐาน

       เป็นการมองว่าสังคมไทยกำลังเปลี่ยนจากสังคมบนฐานทรัพยากร (resources) ซึ่งเมื่อมีการใช้ก็จะร่อยหรอและหมดไป   ไปสู่สังคมบนฐานความรู้ - ปัญญา   ซึ่งเมื่อมีการใช้ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

       Megaproject นี้จึงน่าจะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนระบบอุดมศึกษาและระบบวิจัย   ให้เป็นระบบที่รองรับและขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมที่มีความรู้เป็นฐาน   และในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงระบบวิจัยและระบบอุดมศึกษาเอง   ให้เป็นระบบที่มีความสามารถในการสร้างความรู้แะสร้างคน (PhD,  Postdoc) ได้ด้วยตนเอง   ไม่ใช่ถ้าจะสร้างอาจารย์/นักวิจัยระดับ PhD ก็มุ่งแต่ตั้งงบประมาณ  ตั้งทุน  ส่งคนไปศึกษาต่อต่างประเทศเพียงถ่ายเดียว   เรื่องการส่งคนไปศึกษาต่อต่างประเทศนี้ผมเคยให้ความเห็นไว้แล้ว (click)

       ผมจึงมองว่าโครงการ Megaproject นี้เป็นการทำสงคราม   ทั้งสงครามทางความคิด   และสงครามทางการปฏิบัติในการพัฒนาระบบอุดมศึกษา  และระบบวิจัย

การต่อสู้ที่ผมพอจะมองเห็น (คงจะไม่ครบถ้วน) มีดังนี้
1. การต่อสู้กับการทำวิจัยแบบคุณภาพต่ำ   ทำแบบไม่จริงจัง   ทำหลอก ๆ พอให้ได้ชื่อว่ามีการทำงานวิจัย   หรือเพียงเพื่อให้ได้ไปต่างประเทศ   เพียงให้ได้เงิน
2. การต่อสู้กับระบบงานและการบริหารงานแบบเล่นพวก   เอาพวกพ้องเป็นหลัก   หรือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เป็นหลัก   ไม่สนใจเรื่องผลงาน   ไม่สนใจคุณภาพของผลงาน
3. การต่อสู้กับกระบวนทัศน์อุดมศึกษาแบบโรงเรียนมัธยมต่อยอด   ไม่ใช่อุดมศึกษาอย่างแท้จริง   ไม่ใช่อุดมศึกษาแบบเรียนรู้และสร้างความรู้  แต่เป็นอุดมศึกษาแบบสอนหรือฝึกอบรม
4. การต่อสู้กับกระบวนทัศน์ "อุดมศึกษาเอกภาพ"   ให้เห็นว่าอุดมศึกษาจะเป็นระบบเดียวไม่ได้   มหาวิทยาลัยไทยทุกแห่งจะเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยทั้งหมดไม่ได้   ในแต่ละประเทศจะต้องมีทั้งมหาวิทยาลัยวิจัย   มหาวิทยาลัยสร้างคน   และมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน   การวิจัยของมหาวิทยาลัยแต่ละกลุ่มจะต้องไม่เหมือนกัน   มีความเป็นเลิศคนละแบบ   มีระบบเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการคนละแบบ   จะต้องต่อสู้เพื่อให้ผลประโยชน์ของประเทศในภาพรวมอยู่เหนือ "ศักดิ์ศรี" ของมหาวิทยาลัยเป็นราย ๆ
5. การต่อสู้กับกระบวนทัศน์อาณานิคมทางวิชาการที่ถือต่างประเทศเป็นศูนย์กลางหรือเป็นฐาน   คิดว่าศักดิ์ศรี  เกียรติยศคือการไปศึกษาต่อต่างประเทศ   ไปทำวิจัยต่างประเทศ   การทำตามแบบอย่างต่างประเทศ   โดยตนเองไม่มีความคิดของตนเอง   ไม่เป็นตัวของตัวเอง
6. การต่อสู้กับความคิดว่า   เครือข่ายกลยุทธทั้ง 20 เครือข่ายจะต้องมีโครงสร้างแบบเดียวกัน   มีกฎเกณฑ์กติกาที่เหมือนกันแบบพิมพ์เดียวกันหรือมีกฎเกณฑ์กติกาที่กำหนดเป็นการตายตัวของศูนย์กลาง
7. การต่อสู้กับศัตรู (หรือผู้หวังดี) ภายนอกที่มีมิจฉาทิฐิ
8. การต่อสู้กับศัตรูภายในคือ   ผู้ปฏิบัติงานเอง   ที่อาจมีความเข้าใจผิด   ขาดทักษะบางประการ   หรือขาดความรู้ความเข้าใจบางเรื่อง   และที่สำคัญที่สุดความหลงตัวเอง   หลงอำนาจ   ไม่ฟังคนอื่น
9. การต่อสู้กับศัตรูที่ยังมองไม่เห็นตัวหรือไม่ปรากฎตัวในขณะนี้   แต่จะค่อย ๆ ดาหน้าเข้ามาหรือโผล่ตัวขึ้น   เมื่อทำงานไปเรื่อย ๆ โดยต้องไม่ลืมว่าศัตรูที่ร้ายที่สุดคือตัวเราเอง

        ในภาพรวม   ผมมองว่าเป็นสงครามระหว่าง 2 ค่ายคือ   ค่าย mediocre กับค่าย excellence    โดยที่ตามธรรมชาติค่าย mediocre จะมีกำลังพลมากกว่า   ทำอย่างไรอภิมหาโครงการนี้จะเป็นผู้กำหนด "ธรรมาธรรมะสงคราม" ที่ค่าย excellence เป็นผู้กุมอำนาจการจัดการและกุมการสร้างวัฒนธรรมวิจัย   ให้ในที่สุดแล้วไม่ต้องบอกว่าใครเป็นค่ายไหน   แต่ร่วมกันทำงานเพื่อประเทศไทย   เพื่อการสร้างสรรค์ระบบอุดมศึกษาไทย   โดยการที่เราช่วยกันทำงานด้วยฝีมือนักวิจัยนักวิชาการไทยเป็นส่วนใหญ่   ใช้พลังต่างประเทศบ้างแต่เป็นส่วนน้อยและใช้ตามข้อกำหนดของเราเอง

วิจารณ์  พานิช
  16 ต.ค.48

หมายเลขบันทึก: 5538เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2005 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท