คำนำหนังสือ การสร้างการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ ๒๑


การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ นั้น หลายส่วนแตกต่างแบบตรงกันข้าม กับการเรียนรู้ในรูปแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย โดยตัวการที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็วและพลิกผัน รวมทั้งชุดความรู้ที่เคยเป็นความจริงและใช้ได้ผล ก็จะหมดสภาพไป มีความรู้ชุดใหม่ขึ้นมาแทนที่ เป้าหมายหลักของการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ จึงไม่ใช่ตัวเนื้อหรือสาระความรู้ แต่เป็นการฝึกฝนทักษะ (และฉันทะ) ของการเรียนรู้ ต่อเนื่องตลอดชีวิต

คำนำหนังสือ การสร้างการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ ๒๑

 

คำนำ

หนังสือ การสร้างการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ ๒๑

........................

 

หนังสือเล่มนี้ถอดจากคำบรรยายในเวลา ๑ ชั่วโมง   แก่ครูในโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้เพื่อวางรากฐานการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง   เข้ากับหลักการเรียนรู้แนวใหม่ หรือการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑   ซึ่งเมื่อจบการบรรยายแล้ว คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล บอกผมทันทีว่า ต้องถอดคำบรรยายออกพิมพ์เผยแพร่    เธอบอกว่า เป็นการบรรยายหลักการของการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ชัดเจน ในเวลาอันสั้น   ควรเผยแพร่อย่างกว้างขวาง

เนื่องจากการบรรยายครั้งนั้น เน้นการพูดกับครู เน้นบทบาทของครูเป็นหลัก   หนังสือเล่มนี้จึงพุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ และเปลี่ยนบทบาทของครู เป็นหลัก

ในหน้า ๒๙ - ๓๓ กล่าวถึงสาระสำคัญ ๗ ประการของการสอนที่ดีในหนังสือ How Learning Works นั้น   บัดนี้ มูลนิธิสยามกัมมาจลได้นำสาระการตีความหนังสือเล่มนี้ พิมพ์เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ชื่อ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร  สามารถ ดาวน์โหลดฟรีได้ที่ http://www.scbfoundation.com/news_publish_detail.php?cat_id=6&nid=880

ที่จริงเรื่องการสร้างการเรียนรู้ให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของคนยุคใหม่นั้น   ยังจะต้องมีการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องไปอย่างไม่หยุดยั้ง    สาระในหนังสือเล่มนี้ไม่สมบูรณ์ครบถ้วนในตัวเอง   แต่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี   ที่ผู้เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้จะได้นำไปตีความต่อ และนำไปปฏิบัติหรือทดลองใช้ ให้เหมาะสมต่อแต่ละสภาพแวดล้อมของนักเรียน โรงเรียน และสังคม    อันจะนำไปสู่การเรียนรู้ และค้นพบวิธีใหม่ๆ ว่าด้วยวิธีจัดการเรียนรู้ที่ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา   ที่ดีกว่าผลสัมฤทธิ์ในปัจจุบันอย่างมากมาย

การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ นั้น หลายส่วนแตกต่างแบบตรงกันข้าม กับการเรียนรู้ในรูปแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย    โดยตัวการที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็วและพลิกผัน    รวมทั้งชุดความรู้ที่เคยเป็นความจริงและใช้ได้ผล ก็จะหมดสภาพไป    มีความรู้ชุดใหม่ขึ้นมาแทนที่   เป้าหมายหลักของการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ จึงไม่ใช่ตัวเนื้อหรือสาระความรู้    แต่เป็นการฝึกฝนทักษะ (และฉันทะ) ของการเรียนรู้ ต่อเนื่องตลอดชีวิต

ผมขอขอบคุณคณะผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ออกเผยแพร่   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณศศินี ลิ้มพงษ์ และคุณสุจินดา งามวุฒิพร บรรณาธิการ   รวมทั้งคุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้ริเริ่มให้จัดทำหนังสือเล่มนี้   คุณงามความดีและบุญกุศลจากผลงานชิ้นนี้ ขอยกให้แก่ท่านทั้งสามนี้ทั้งหมด    และหากท่านผู้อ่านท่านใดอ่านแล้วนำไปปฏิบัติจนเกิดผลดีต่อนักเรียนนักศึกษา   ก็ขอให้ได้รับบุญกุศลยิ่งใหญ่ คือเกิดความสุข ความชุ่มชื่นหัวใจ จากการทำความดีนี้   ผมเชื่อว่าสะเก็ดเล็กๆ ของบุญกุศลเหล่านี้สามารถรวมพลังกัน สร้างคุณค่ายิ่งใหญ่ต่อการเปลี่ยนแปลงวงการศึกษาไทยได้

วิจารณ์ พานิช

............................

download หนังสือได้ ที่นี่

 

หมายเลขบันทึก: 553785เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2013 07:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2013 07:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

๗ ประเด็นหลัก ที่ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ ได้เขียนไว้ เป็นประโยชน์ มากครับ ที่ครูเพื่อศิษย์ ต้องวางแผนการเรียนรู้ อย่างรอบคอบในแต่ละคาบการเรียนรู้ในทุกทุกระดับของผู้เรียน

 ๑. พื้นความรู้เดิมของผู้เรียน มีผลต่อการเรียนรู้  

 ๒. วิธีที่ผู้เรียนจัดระเบียบโครงสร้างความรู้ของตน มีผลต่อการเรียนรู้

 ๓. ปัจจัยอะไรบ้าง ที่จูงใจผู้เรียนให้เรียน

 ๔. ผู้เรียนพัฒนาการเรียนรู้รอบด้าน (Mastery Learning)  

 ๕. การลงมือทำและการป้อนกลับ (Feedback) แบบไหน ที่ส่งเสริม การเรียนรู้

 ๖. ทำไมการพัฒนาผู้เรียนและบรรยากาศในชั้นเรียนมีผลต่อการ เรียนรู้

 ๗. ผู้เรียนพัฒนาขึ้นเป็นผู้รับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างไร

เมื่อเช้านี้ผมได้นำเรื่องหนังสือการสร้างการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ ๒๑ ไปแบ่งปันใน Facebook ปรากฎว่า ยังไม่ถึง ๒๔ ชม. มีผู้นิยมกด Like ให้ ๓๕ ราย มีผู้นำไปแบ่งปันต่ออีก ๒๕ ราย

จึงเรียนรายงานมาให้อาจารย์ทราบ และขออนุญาตย้อนหลังด้วยครับ

เรียนคุณพีรวัศ ที่นับถือ

ไม่ใช่แค่อนุญาตครับ ขอขอบคุณอย่างสูง ที่ช่วยกันเผยแพร่ เพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองของเรา

วิจารณ์

กราบขอบพระคุณสำหรับกำลังใจครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท