การบริการวิชาการแก่ชุมชนเพื่อชุมชนแข็งแรง


                (ปาฐกถาพิเศษ วันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2549 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารวิจัยและการศึกษาต่อเนื่องฯ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)

                 เรียนท่านอธิการบดี ท่านคณาจารย์ นักศึกษา ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน ผมควรจะเริ่มด้วยอย่างนี้นะครับ (ตุ๊กตาหัวเราะ) จะเป็นครั้งแรกรึเปล่าไม่ทราบที่ประเทศไทยมีกิจกรรมหัวเราะเพื่อสุขภาพ ในต่างประเทศเขามีมาสักพักหนึ่งแล้ว มีการนัดกันไปในที่กลางแจ้งแล้วก็หัวเราะกันเป็นการใหญ่ สารพัดเทคนิควิธีการในการหัวเราะ ซึ่งสร้างสุขภาพทั้งทางกาย ทางใจ ทางจิตวิญญาณ เพราะการหัวเราะนั้นทำให้ร่างกายเกิดการสูบฉีดโลหิต หลั่งสารที่เรียกว่าสารความสุขออกมา ต้องขอชื่นชมในความริเริ่มที่ดีของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยเฉพาะความริเริ่มในการให้บริการแก่ชุมชน รวมทั้งความมุ่งประสงค์ที่จะให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน หรือในที่นี้ใช้คำว่าชุมชนแข็งแรง

                วันนี้เป็นการมานำเสนอผลการดำเนินงานของโครงการต่างๆ ผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายจะได้ทบทวนประสบการณ์ที่ทำมาแล้วเพื่อเรียนรู้ สรุปบทเรียน ข้อคิด ทั้งในเชิงที่เป็นกำลังใจให้เราทำในสิ่งที่ดีต่อไป และในเชิงการค้นพบสิ่งที่สามารถจะแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นในปีต่อๆไป นั่นคือเข้าหลักการพัฒนาที่เป็นวงจร อาจจะใช้สูตรที่เรียกว่า PDCA ท่านคงคุ้นอยู่ Plan Do Check Action คือเมื่อได้คิดแล้วนำมาปฏิบัติ ปฏิบัติแล้ววัดผล ประเมินผล จากนั้นนำไปสู่การคิดใหม่เพื่อปรับปรุงพัฒนา อภิวัฒน์ให้ดีขึ้นไปอีก  

การเข้าไปสู่พื้นที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย

                การให้บริการแก่ชุมชนเป็นการเดินเข้าไปสู่พื้นที่ใหม่ที่ท่านคณาจารย์และนักศึกษาอาจจะยังไม่คุ้นเคย สิ่งที่ท่านคุ้นเคยคือการเรียนการสอน การวิจัย แต่การให้บริการวิชาการแก่สังคมหรือแก่ชุมชนเทียบกับการเรียนการสอนและการวิจัย น่าจะถือเป็นพื้นที่ใหม่ ผมจงใจใช้คำว่าพื้นที่ใหม่เพราะนึกไปถึงเรื่องซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ เมื่อวันที่ 4 กันยายน ในที่นี้หลายท่านคงจะรู้จัก Mr.Steve Irwin ที่มีสมญานามว่านักล่าจระเข้ Crocodile Hunter มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เขาเป็นคนที่คุ้นเคยมากกับเรื่องบนบก หรือกึ่งบกกึ่งน้ำก็คือเรื่องของจระเข้ งู สัตว์เลื้อยคลานนี้เขาชำนาญมาก เขาสามารถไปจับจระเข้ ไปจับงู เขาไปให้อาหารจระเข้ตัวใหญ่ด้วยมือข้างหนึ่ง และมืออีกข้างหนึ่งอุ้มลูกอายุไม่ถึงปี แสดงถึงความมั่นใจและต้องการให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องสัตว์เลื้อยคลาย สัตว์ที่ดุร้าย ตั้งแต่ยังพูดไม่ได้ แต่ครั้งนั้นก็ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางว่าเอาเด็กเล็กๆ ไปเสี่ยงโดยเขาไม่รู้เรื่องด้วย เมื่อวันที่ 4 กันยายน Mr.Steve Irwin เข้าไปในถิ่นที่เขาไม่คุ้นเคย หรือคุ้นเคยน้อยกว่า ก็คือลงไปใต้น้ำ จะไปถ่ายทำสารคดีกับปลากระเบน ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Stingray ด้วยเหตุผลที่อาจจะอธิบายชัดเจนไม่ได้ ปรากฏว่าปลากระเบนซึ่งปกติไม่ทำร้ายใคร เว้นแต่คับขัน ได้เอาเงี่ยงที่ปลายหางแทงเข้าไปที่หน้าอกของ นาย Steve Irwin ทะลุถึงหัวใจ Steve ดึงออกมา ทำให้บาดแผลเจ็บปวดรุนแรงมาก แล้วก็ทนความเจ็บปวดไม่ไหว เสียชีวิตไป เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ว่าเป็นอุทาหรณ์ว่าเวลาเราเข้าไปในถิ่นที่ไม่คุ้นเคย ไม่ควรประมาท ควรต้องศึกษาสถานการณ์ให้ถ่องแท้ รวมทั้งมีความเคารพยำเกรงในสิ่งที่เราอาจจะไม่รู้ หรือรู้ไม่ถ้วนทั่ว ด้วยความไม่ประมาท เมื่อได้ศึกษาได้เรียนรู้ให้ถ่องแท้ มีความยำเกรงตามสมควรแก่สิ่งที่เราอาจจะยังไม่รู้ มีความไม่ประมาท สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นก็คือ การให้ความรัก ความปรารถนาดีต่อสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง พยายามเห็นถึงคุณค่าสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ ทำให้เกิดความชื่นชม ความนับถือ และความเคารพ หรืออย่างน้อยที่สุดก็พึงเคารพในสิ่งที่มีอยู่และเป็นอยู่ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นมนุษย์ คน สัตว์ หรือพืช จากนั้นการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง จะเป็นการให้บริการ จะเป็นการเรียนรู้ด้วยกัน วางแผนด้วยกัน จะเป็นการพัฒนาในทางใดทางหนึ่ง จึงจะเกิดขึ้นด้วยความเหมาะสม  ปลอดภัยและเกิดความเจริญวัฒนาร่วมกัน

                 อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ผมพูดมาถึงหลักการในการที่เข้าไปในถิ่นที่เราไม่คุ้นเคย หรือแม้แต่ในถิ่นซึ่งเราอาจจะคิดว่าเราคุ้นเคย แต่ความรู้นั้นเท่าไหร่ก็ไม่หมด ฉะนั้นการที่มีความยำเกรง มีความไม่ประมาท เอาใจใส่ที่จะศึกษาเรียนรู้ให้ถ่องแท้ ก็คือ การเข้าใจ หรือความพยายามจะเข้าใจ การมีความรักความปรารถนาดี การเห็นคุณค่า การเคารพ การนับถือ ก็คือ การเข้าถึง และการให้บริการ หรือการมีปฏิสัมพันธ์ ร่วมเรียนรู้ ร่วมพัฒนาด้วยกัน คือการพัฒนา กระผมได้ขออนุญาตนำพระราชดำรัส หรือพระบรมราโชวาทที่ใช้ถ้อยคำว่า “เข้าใจ  เข้าถึง  และพัฒนา”  มาประยุกต์ใช้ทั้งกรณีศึกษาเรื่องของ Mr.Steve Irwin และโยงเข้าสู่เรื่องที่เราจะพูดกันในวันนี้ คือ “การบริการวิชาการแก่ชุมชนเพื่อชุมชนแข็งแรง” 

 การจัดการดูแลตนเองของชุมชน

                ผมอาจจะมีความรู้ไม่มากในเรื่องหลายเรื่องที่ท่านทั้งหลายไปให้บริการ ตามรายการโครงการต่างๆ ที่ท่านทำ หลายโครงการเป็นโครงการที่อาศัยความรู้พิเศษ ความชำนาญพิเศษ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเรียนการสอนและการวิจัยของมหาวิทยาลัย แต่ก็มีบางโครงการที่เข้าไปเพื่อให้บริการแก่ชุมชนเป็นการทั่วไปและในภาพรวม เช่นที่อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นต้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนในภาพรวม การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนหรือความแข็งแรงของชุมชน เป็นเรื่องที่ผมพอจะมีความรู้ความเข้าใจอยู่พอสมควร เนื่องจากได้เกี่ยวข้องมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี มากบ้างน้อยบ้างไม่ได้เข้มข้นตลอด ในชุมชนท้องถิ่นของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้มีพัฒนาการในเรื่องของการดูแลตนเอง จัดการตนเอง พัฒนาตนเอง โดยมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐและที่ไม่ใช่ของรัฐเป็นผู้สนับสนุน นับว่ามีเป็นอันมาก ในบทบรรยายที่ผมได้ให้เอกสารแก่ท่านทั้งหลายไปเกี่ยวกับเรื่องจิตสำนึกและระบบคิดในการพัฒนาชุมชน ซึ่งผมได้ไปพูดที่สโมสรโรตารีบางรักเมื่อไม่นานมานี้ ผมได้พูดถึง คุณประยงค์  รณรงค์ ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ซึ่งได้รับรางวัลแม็กไซไซเมื่อ 2 ปีมาแล้ว เป็นผู้นำชุมชนคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลแม็กไซไซ ก่อนหน้านั้นจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในระดับชาติ คุณประยงค์ รณรงค์ เป็นระดับชาวบ้านคนแรก วุฒิการศึกษาเพียง ป.4 แต่ถ้าถามถึงความรู้ความสามารถ ผมคิดว่าเทียบเท่าปริญญาเอกได้ ซึ่งคุณประยงค์ก็ได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์จากหลายมหาวิทยาลัยหลังจากที่ได้รับรางวัลแม็กไซไซ

                เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วผมได้ร่วมในคณะไปเยี่ยมประเทศภูฏาน ไม่ได้ไปตามเจ้าชายจิ๊กมี แต่ไปตามล่าแนวคิดเรื่อง GNH  Gross National Happiness ความสุขมวลรวมประชาชาติ มีคุณประยงค์ รณรงค์ ไปด้วย ก็ได้เห็นถึงความรู้ความสามารถของคุณประยงค์ และมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภูฏาน ในเรื่องการพัฒนาชุมชน โดยให้คุณประยงค์เป็นผู้นำเสนอ และระหว่างเดินทางคุณประยงค์ก็ได้พูดหลายสิ่งหลายอย่างให้คณะได้ฟัง ซึ่งคณะที่ไปมีทั้งแพทย์ ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ จบปริญญาเอกปริญญาโทมากมาย ต่างประทับใจในความรู้ความสามารถของคุณประยงค์ รณรงค์ นั่นเป็นสิ่งสะท้อนอย่างหนึ่งว่าสิ่งที่เรานึกว่าเป็นชาวบ้านหรือว่าเป็นคนท้องถิ่นที่อาจจะมีความรู้น้อยในความหมายของการเรียนรู้แบบตามระบบ แต่ความรู้ความเข้าใจที่เดี๋ยวนี้เราเรียกว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น และมีบุคคลจำนวนมากที่ได้รับการขนานชื่อว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ได้สะท้อนถึงความรู้ความสามารถของชุมชน หลายชุมชนนับร้อยนับพันขณะนี้ที่สามารถทำแผนพัฒนาชุมชน นั่นคือระบบการจัดการตนเองของชุมชน สามารถเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล จัดระบบข้อมูล นำมาสะท้อนให้เห็นปัญหา โอกาส ศักยภาพในการพัฒนา แล้วทำโครงการพัฒนาโดยเน้นการพึ่งตนเอง ไม่หวังพึ่งคนอื่น แต่ถ้าจะมีการสนับสนุนจากที่อื่นก็ไม่ได้ปฏิเสธ แต่จะพยายามประสานการสนับสนุนให้สอดคล้องต้องกัน 

 ความเข้มแข็งของชุมชนในชนบทและในเมือง

                ชุมชนบางตำบลเขาสามารถที่จะบอกกับหน่วยราชการทั้งหลาย รวมทั้งหน่วยงานวิชาการ หรือหน่วยงานเอกชนว่า ถ้าจะไปสนับสนุนเขาขอให้ไปถามเขาก่อน ให้เขาเห็นชอบก่อน ถ้าจะเอาป้ายไปปัก เขาจะปักให้ แต่เขาจะเลือกว่าปักที่ไหน ถ้าจะไปพบเขา เขาจะนัดวันให้ไปพบ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ไป เช่นเดือนหนึ่งเขาจะกำหนดไว้ 2 วัน ใครจะมาให้มาใน 2 วันนี้ หรือให้มาพร้อมกัน นี่คือความสามารถของชุมชนในการจัดการตนเอง เกิดสิ่งที่เรียกว่าแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง หรือแผนชีวิตชุมชน ที่ทำกันเป็นขบวนการ และผู้นำชุมชนขับเคลื่อนขบวนการกันเอง ไม่ใช่หน่วยงานไปขับเคลื่อน ชาวบ้านขับเคลื่อนกันเอง เกิดขึ้นมาในรอบประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา แต่มาทำเข้มข้นประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา คุณประยงค์ รณรงค์ เป็นผู้ริเริ่มที่สำคัญ ซึ่งทำมากว่า 10 ปี มีคนไปค้นพบแล้วนำมาเผยแพร่ ทำให้เกิดการขยายผล แต่ที่สำคัญและขยายผลมากๆ อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ก็คือในช่วงที่ขยายผลด้วยพลังของชุมชนเอง ก่อนหน้านั้นมีความพยายามของหน่วยราชการที่จะไปขยายผลแบบครอบคลุมทั่วประเทศ มีหน่วยงาน 5 หน่วยงานร่วมกัน ส่งวิทยากรไปทั่วประเทศขยายผลครบหมดทุกตำบลทั่วประเทศ ได้ผลเชิงปริมาณแต่ไม่ได้ผลเชิงคุณภาพ อย่างไรก็ตามไม่ได้ถือว่าเสียหายไปหมด ชุมชนที่ฉลาดที่เข้าใจได้นำเอาสิ่งที่ดีมาปะติดปะต่อ ร่วมกำลังกันเป็นเครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค และขับเคลื่อนขบวนการกันมาได้ 4 – 5 ปีแล้ว ขณะนี้ได้สามารถทำไปถึงขั้นที่ไปประสานกับทางจังหวัดให้กลายเป็นแผนบูรณาการระดับจังหวัด โดยชุมชนมีบทบาทสำคัญ ได้เริ่มไป 12 จังหวัดเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ขยายไปอีก 30 จังหวัด และคงจะขยายต่อไป

                 สำหรับในเมืองได้มีขบวนการบ้านมั่นคง เป็นสภาพชุมชนเข้มแข็งแบบคนจนในเมือง ในเมืองนั้น คำว่า “ชุมชน” จะมีความหมายค่อนข้างหลากหลาย การรวมตัวกันเพื่อเป็นขบวนการที่จัดการเรื่องที่อยู่อาศัยให้เรียบร้อย  เรียกว่า บ้านมั่นคง แต่พร้อมๆ กับการจัดการเรื่องที่อยู่อาศัย ได้จัดการเรื่องการใช้ชีวิต การออมทรัพย์ การจัดสวัสดิการ การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และอื่นๆ เรียกว่าเป็นขบวนการชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมือง โดยอาศัยโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งเป็นโครงการที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พ.อ.ช. เป็นผู้ดำเนินการ  โดยได้งบประมาณจากรัฐ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องจัดงบประมาณอยู่แล้วในการที่จะดูแลชุมชนรายได้น้อยต่างๆ เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะสนับสนุนในเรื่องของสาธารณูปโภค  สาธารณูปการ เช่นเดียวกับที่ทำให้กับประชาชนทั่วไป รวมถึงเช่นคนที่ไปซื้อบ้านเอื้ออาทรที่การเคหะแห่งชาติจัดอยู่ จะได้รับบริการสาธารณูปโภค   สาธารณูปการจากรัฐบาล  ส่วนค่าบ้านนั้นก็ต้องซื้อ  ต้องผ่อนส่ง  เช่นเดียวกัน ชุมชนแออัดในเมือง ชุมชนรายได้น้อย ในส่วนของตัวบ้าน ซึ่งต้องสร้าง ต้องผ่อนส่งเหมือนกัน เพียงแต่มีแหล่งเงินที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ให้ผ่อนระยะยาว ทำให้เขาสามารถที่จะมีบ้าน มีที่อยู่อาศัยเล็กๆที่พออยู่ได้ สำหรับคนที่ถือว่ารายได้น้อย แต่มิได้แปลว่าเขาได้รับฟรีนะ เขาซื้อ  เขาผ่อนส่ง เขาลงทุน  เหตุนี้เขาจึงต้องมีการออมทรัพย์และจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เพื่อจะทำโครงการให้สหกรณ์เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย  และสมาชิกผ่อนส่งกับสหกรณ์  ถ้าสมาชิกไม่อยู่   ทรัพย์สินนั้นยังเป็นของสหกรณ์ สามารถที่จะจัดการดูแลกันต่อไปได้   นั่นคือเรื่องของการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนทั้งในชนบทและในเมือง ที่ชุมชนจัดการกันเอง  ดูแลกันเอง จะกล่าวว่าสมบูรณ์เป็นที่น่าพอใจหรือยัง คงยัง ยังจะต้องพัฒนาไปอีกมาก แต่ถือว่าได้เริ่มมาอย่างดี และเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม น่าภูมิใจ  ที่ผู้คนที่เราถือว่ามีรายได้น้อย อาจจะเรียกว่ายากจนหรือด้อยโอกาส สามารถที่จะจัดการตนเอง ขับเคลื่อนตนเองได้ดีเช่นนี้  

การพัฒนาที่ชุมชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ

                วิธีการทำนองนี้สอดคล้องกับแนวทางที่องค์การระหว่างประเทศคือธนาคารโลก พยายามสนับสนุนอยู่ เขาเรียกว่า Community-Driven Development (CDD) ซึ่งต่างจากคำว่า Community-Based Development จะเห็นว่าคำพูดมีความหมาย ทำไมเขาจึงจงใจประดิษฐ์คำพูดนี้ขึ้นมา เพราะเขาเห็นว่าที่แล้วมานั้น เวลามีการพัฒนาชุมชน เริ่มต้นรัฐจะเป็นคนไปจัดการให้ คือชุมชนเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว ปรากฏว่าไม่ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ชุมชนไม่เข้มแข็ง

                 ต่อมาอีกขั้นหนึ่งเรียกว่า Community-Based Development ก็คือการพัฒนาที่มีฐานอยู่ที่ชุมชน ถึงแม้จะไปเกี่ยวเอาชุมชนเข้ามาเป็นฐาน เรียกว่า Community-based ก็พบว่ายังโน้มไปในทางที่ชุมชนไม่ได้มีบทบาทสำคัญเพียงพอ ฝ่ายรัฐหรือฝ่ายองค์กรพัฒนาเอกชน หรือในบางกรณีอาจจะเป็นสถาบันการศึกษา ยังมีบทบาทสำคัญ ทำให้การพัฒนาของชุมชนก็ยังไม่ยั่งยืน ไม่แท้จริงและไม่ยั่งยืน เหมือนกับลูกที่เลี้ยงไม่โตทำนองนั้น พ่อแม่ยังดูแลอยู่เรื่อย ต่อมาวิวัฒนาการล่าสุดจึงได้พบว่าถ้าจะให้ชุมชนเข้มแข็ง แข็งแรงจริงๆ เกิดการพัฒนายั่งยืน ต้องให้ชุมชนมีบทบาทสำคัญ เป็นคนคิด เป็นคนศึกษา เป็นคนเรียนรู้ เป็นคนตัดสินใจ เป็นคนทำ รับผลของการทำ ถ้าทำไม่ถูก ทำไม่ดี ก็รับผลไม่ดี แล้วเรียนรู้จากผลที่ไม่ดี นี่คือวิธีที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ถ้าจะเปรียบเทียบก็ไม่ต่างอะไรกับการเลี้ยงลูกที่ต้องให้ล้มบ้าง ต้องให้พบความผิดพลาด แล้วเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือใกล้เข้ามา การจัดการเรียนการสอนที่เราเรียกว่า Child-centered บ้าง Student-centered บ้าง คือการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ที่มีคนไปแผลงเป็น ควาย Center เป็นการพูดตลกๆ แต่ว่าสะท้อนถึงความไม่เข้าใจของคนจำนวนมากในเรื่องการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ที่จริงที่นี่เป็นสถาบันการศึกษา คงจะมีความเข้าใจในเรื้องนี้ดี แต่ผมคิดว่าในประเทศไทยโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย  การเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ถ้าจะมีบ้างก็คงเป็นการเริ่มต้น ยังไม่ได้พัฒนาไปมากจนน่าพึงพอใจ แต่เชื่อว่าท่านที่อยู่ในทีนี้คงเข้าใจและพยายามอยู่ เพียงแต่การที่จะเปลี่ยนจากระบบเดิมที่เป็นการเรียนการสอนที่ผู้สอนเป็นศูนย์กลาง เปลี่ยนมาเป็นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ไม่ง่าย  เพราะว่าไปติดกับระบบต่างๆ เช่นเดียวกับการพัฒนาชุมชนที่จะเปลี่ยนจากการพัฒนาชุมชนที่ผู้พัฒนาก็คือ หน่วยงานรัฐ หรือว่าหน่วยงานภายนอกเป็นศูนย์กลาง จะเปลี่ยนไปเป็นการพัฒนาที่ประชาชนหรือชุมชนเป็นศูนย์กลาง เปลี่ยนไม่ง่าย แต่ที่ผมเล่าให้ฟังนั้นชี้ให้เห็นว่าในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนไปแล้วอย่างสำคัญ คำว่าอย่างสำคัญแปลว่าทำมาเป็นเวลาพอสมควร อย่างน้อย 4-5 ปี และได้ผลที่สามารถชี้ให้เห็นได้ พาไปดูได้ เขียนออกมาเป็นรายงานได้ และมีรายงานอยู่มากพอสมควร ถ้าท่านสนใจ อย่างน้อยที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีเอกสาร มีเว็บไซต์ มีซีดี ดีวีดีอยู่เยอะมาก ที่จะไปศึกษาเรียนรู้  

การให้บริการเพื่อชุมชนแข็งแรง

                เมื่อคำนึงถึงความเป็นจริงเช่นนี้ผมคิดว่าการที่จะไปให้บริการแก่ชุมชนเพื่อชุมชนแข็งแรง ต้องเน้นคำหลังนี้ว่าเพื่อชุมชนแข็งแรง ถ้าเราจะให้บริการแบบให้พอใจ ให้ชอบใจ เหมือนกับไปลูบหลัง ไปโอบกอด เอาของไปให้ เอาขนมไปให้ เอาเงินไปให้ อย่างนี้ไม่ยาก อย่างนี้เรียกว่าให้บริการที่ผู้ให้แข็งแรง เหมือนอย่างเราเอาเงินไปแจกใคร คนแจกมีความสุขเพราะได้แจก คนรับก็จะมีความสุขตอนรับแจก แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วผู้รับอาจไม่มีความสุขเหลืออยู่ ในขณะที่คนให้ให้แล้วมีความสุขไปเรื่อยๆ เพราะเป็นคนให้ การให้ทำให้มีความสุขซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและควรได้รับการส่งเสริม แต่ผู้รับจะมีความสุขตอนรับ หลังจากนั้นไม่นานความสุขอาจจะหายไป อาจจะเกิดความทุกข์ขึ้นมาแทน เพราะยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ จัดการตนเองไม่ได้ ก็ต้องมาขอรับใหม่ เพื่อจะมีความสุขใหม่ กลายเป็นเสมือนเสพสิ่งเสพติด ฉะนั้นถ้าเราเน้นพยางค์หลังคือเพื่อชุมชนแข็งแรง การให้บริการแก่ชุมชนจึงต้องใช้หลักเดียวกับที่ท่านใช้ในกรณีการเรียนการสอน ก็คือต้องผู้ให้รับบริการเป็นศูนย์กลาง ผมเชื่อว่าในโครงการที่ท่านทำท่านมีความพยายามอย่างนั้นอยู่แล้ว เป็นต้นว่าไปศึกษาไปเรียนรู้เรื่องของชุมชนในท้องถิ่นที่ท่านจะไปให้บริการ แต่ผมไม่ทราบละเอียดพอว่า ความละเอียดลออ ความแน่วแน่ ความมุ่งมั่นในการที่จะให้ประชาชนหรือชุมชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ถึงกับง่ายนักจากประสบการณ์ที่ผมพบ คือคนให้มีแนวโน้มที่ว่าอาจจะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา การที่จะให้ความละเอียดลออและอดทน อดทนที่จะให้ผู้รับบริการได้คิด ได้ไตร่ตรอง ได้ศึกษา ได้พิจารณา แล้วก็มีเวลาที่จะพัฒนาตนเอง อาจจะล้มลุกคลุกคลานบ้าง ผิดบ้าง เรียนรู้จากความผิด มันใช้เวลา คนให้บริการอาจจะรู้สึกไม่ทันใจ อาจจะถูกกดดันจากการทำโครงการที่มีเงื่อนเวลา จะต้องใช้เงินเมื่อนั้น ต้องทำเวลานี้ ไม่เช่นนั้นโครงการจะล่าช้า จะถือว่าโครงการไม่ดีไม่มีประสิทธิภาพ เรื่องนี้จะเกิดขึ้นกับหน่วยราชการเป็นอันมาก เพราะหน่วยราชการจะถูกระบบงบประมาณกดทับอยู่ คุณต้องใช้ คุณต้องทำให้ทันเมื่อนั้นเมื่อนี้ ยิ่งสมัยนี้มีการให้คะแนน เพื่อจะดูว่าผลงานดีแค่ไหน เพื่อจะมาให้รางวัลตอนครึ่งปีหรือปลายปี ต่างๆ นานา ทำให้มีความกดดัน ฉะนั้นโอกาสที่ผู้ให้บริการจะใจร้อนเกินไป เร่งรีบเกินไป รวบรัดเกินไป มีอยู่เสมอ ทั้งๆที่อยากจะพยายามทำในหลักการที่ให้ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง แม้เชื่อในหลักการ ที่ผมประสบมา เวลาทำจริงโอกาสจะเบี่ยงเบนไปจากหลักการมีอยู่เสมอ ด้วยความบีบคั้นของปัจจัยต่างๆ เช่น ปัจจัยเรื่องแผนงาน ปัจจัยเรื่องงบประมาณ ปัจจัยผู้บังคับบัญชา หรือบางครั้งก็จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตนเอง มีอยู่เหมือนกัน 

 สามเสาหลักของชุมชนเข้มแข็ง

                โดยทั่วไปชุมชนจะแข็งแรง ชุมชนจะเข้มแข็ง ผมคิดว่ามีเสาหลักหรือฐานหลักอยู่ใหญ่ๆ 3 ประการ

                 เสาหลักประการแรก ได้แก่ ความดี ความดีนี้รวมถึงความมีคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต คิดดี พูดดี ทำดี ถ้าใช้คำของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์  พลเอกเปรมบอกว่า สี่คำ ซื่อสัตย์ สุจริต คุณธรรม จริยธรรม  พลเอกเปรมจะพูดอยู่เรื่อย พูดเสียจนถูกมองว่าไม่เป็นกลาง พูดถึงความดีมากไปไม่เป็นกลาง เป็นกลางนี่ต้องอยู่ตรงกลางระหว่างความดีกับความเลว ซึ่งคุณอานันท์ก็บอกว่าผมไม่เป็นกลาง ผมจะไม่อยู่ตรงกลางระหว่างความดีกับความเลว ผมต้องอยู่ข้างความดี ฉะนั้นพลเอกเปรมจึงบอกว่าต้องซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม จริยธรรม แต่ความดีก็รวมถึงความรัก ความเมตตา กรุณา ความชื่นชมยินดีเวลาคนอื่นเขาทำดี ถ้าถามคนว่าความดีคืออะไร ผมคิดว่าคนจะรู้ จะตอบได้ อย่างน้อยเขาก็รู้ว่ารอบๆ ตัวเขาอะไรดี อะไรไม่ดี เขาบอกได้  ฉะนั้นเสาหลักข้อที่ 1 คือความดี

                เสาหลักข้อที่ 2 การเรียนรู้ ชุมชนจะเข้มแข็งต้องเรียนรู้ เรียนรู้หมายถึงสามารถวิเคราะห์ ศึกษา ค้นหา สรุปความรู้ จัดหมวดหมู่  นำมาคิดพิจารณา ไตร่ตรอง สรุปเป็นข้อคิด สรุปเป็นข้อพึงกระทำ หรือสรุปเป็นแผนงาน นี่คือการเรียนรู้  ที่ชาวบ้านทำแผนแม่บทชุมชน มีการเรียนรู้สูงมาก เพราะเขาไปเก็บข้อมูลเอง ข้อมูลรายได้ ข้อมูลรายจ่าย ข้อมูลทรัพย์สิน หนี้สิน ข้อมูลทรัพยากร  บางครั้งบางแห่งไปไกลถึงทุนทางสังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ เขามีนะ บางแห่งไปไกลถึงขนาดนั้น การไปเก็บข้อมูลแล้วมาคิดวิเคราะห์กัน คือการเรียนรู้ทั้งสิ้น จากการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ แล้วทำเป็นแผนงาน จากนั้นลงมือทำ ทำเสร็จมาปรึกษากันเป็นระยะๆ ว่าเป็นอย่างไร เป็นการเรียนรู้  ที่ตำบลของคุณประยงค์ รณรงค์ จะมีโรงเรียนมังคุด โรงเรียนเงาะ โรงเรียนยาง เขาจะเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และเป็นการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยต้องไปเรียนจากชาวบ้าน เขาทำได้จริง ที่สุพรรณบุรีก็มีโรงเรียนชาวนา มาเรียนกันทุกสัปดาห์ ใครปลูกข้าวแบบไหน  ใช้ปุ๋ยธรรมชาติ ใช้วิธีการต่างๆ เช่น ปลูกข้าวโดยไม่ต้องไถ หรือว่านำเอาหอยเชอร์รี่มาทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ หรือการทดลองปลูกข้าวด้วยวิธีต่างๆ ชาวบ้านเรียนรู้ที่นครสวรรค์ก็มี และบางครั้งชาวบ้านทำแล้วได้ผลดีมาก ขนาดนักวิชาการจากกระทรวงเกษตรบอกไม่เชื่อ แต่พอไปดูแล้วเขาเชื่อ ว่าชาวบ้านทำได้ สรุปได้ว่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในระดับชุมชนมีเยอะมาก

                 เสาหลักข้อที่ 3 คือการจัดการ การจัดการหมายถึงการที่รู้จักนำเอาปัจจัยต่างๆ กระบวนการต่างๆ มาเข้าระบบ เข้าวิธีการ แล้วทำให้เกิดผลที่พึงปรารถนา การจัดการกับการเรียนรู้จะไปด้วยกัน การจัดการที่ดีต้องมีการเรียนรู้ แต่การจัดการจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงได้ นอกจากเรียนรู้แล้วต้องอาศัยความดีด้วย                 ฉะนั้น 3 เสาหลักนี้  ความดี  การเรียนรู้  และการจัดการ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ชุมชนได้พัฒนาความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นต้นว่า ขาดเรื่องความดี ชุมชนจะไปได้ไม่ไกล ความเสื่อมถอยจะเข้ามา ความยั่งยืนจะไม่เกิด ซึ่งเราได้พบเห็นมากมาย ฉะนั้น ความดี คุณธรรม จริยธรรม ความดีงาม ความมีน้ำใจ ความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดีต่อกัน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จริงไม่ใช่เฉพาะในระดับชุมชน ในระดับสังคมก็เป็นเช่นนั้น สังคมคือชุมชนใหญ่นั่นเอง เราต้องการทั้ง 3 อย่าง คือความดี การเรียนรู้ และการจัดการ ทั้งในสังคมและในกรณีของชุมชน 

ชุมชนต้องเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

                เมื่อเป็นเช่นนี้ ในการไปให้บริการกับชุมชน ผมเองจะระมัดระวังเรื่องถ้อยคำ เพราะว่าถ้อยคำจะสื่อความคิด เช่น คำว่าไปสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ผมจะไม่ใช้ เพราะถ้าเราบอกว่าเราไปสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ก็เหมือนกับว่า อย่างผมจะไปสร้างความเข้มแข็งให้สุขภาพของท่าน ผมทำไม่ได้หรอก ท่านทั้งหลายต้องสร้างสุขภาพขึ้นมาเอง ฉันใด ชุมชนก็ต้องสร้างความเข้มแข็งของเขาขึ้นมาฉันนั้น ฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำได้คือไปให้บริการ ไปสนับสนุน ไปอำนวยความสะดวก ไปเอื้ออำนวย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า facilitation ให้ชุมชนได้มีการเรียนรู้และพัฒนาด้วยตัวเขาเอง นั่นถึงจะเป็นการทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน ฉะนั้นความคิดตรงนี้สำคัญ ในบทบรรยายที่ผมได้ให้ข้อเขียนกับท่านไป ได้พูดถึงจิตสำนึกและระบบคิด ถ้าเรามีจิตสำนึกและระบบคิดอย่างหนึ่ง การคิด การพูด การทำ จะเป็นแบบหนึ่ง ถ้าเรามีจิตสำนึกและระบบคิดในเชิงที่เอาตัวเราเป็นตัวตั้ง นึกว่าชุมชนอ่อนแอ เราจะต้องไปช่วยให้แข็งแรง เวลาเราคิด เราพูด เราทำเป็นโครงการ จะออกมาในแนวสงเคราะห์เป็นหลัก แต่ถ้าจิตสำนึกและระบบคิดของเรามีความลึกซึ้งในเรื่องของความเข้มแข็งของชุมชน  ตามแนวที่ผมได้พูดถึง เวลาเราไปพูดกับชาวบ้าน เราจะมุ่งให้ชาวบ้านได้คิดที่จะพัฒนาตนเองเป็นสำคัญ

                ฉะนั้นหวังว่าท่านทั้งหลายที่ไปให้บริการกับชุมชนเพื่อชุมชนแข็งแรง จะได้คำนึงถึงปัจจัยสำคัญๆ ที่ผมได้กล่าวมา ที่จะเป็นฐานของความแข็งแรงของชุมชน และความสำคัญของการที่ชุมชนต้องเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ถ้าจะให้บริการ ก็ให้บริการที่ชุมชนเป็นศูนย์กลาง แม้ในกรณีที่ท่านมีความชำนาญพิเศษไป ก็ไม่ได้แปลว่าความชำนาญพิเศษของท่านจะเป็นที่ต้องการทันที หรือกระบวนการที่ชุมชนจะต้องการ อาจจะไม่เหมือนกัน จังหวะเวลาจะต่างๆ ไป หรือการประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตของเขา ที่จะให้เกิดประโยชน์

คำสำคัญ (Tags): #การพัฒนาชุมชน
หมายเลขบันทึก: 55338เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2006 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท