ปฏิรูปการศึกษา สู่การฝึกพลังจินตนาการของมนุษย์


............................ผมปิ๊งแว้บว่า มิติสำคัญอย่างยิ่ง ของการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑ คือการฝึกพลังจินตนาการ ที่มีมากับความเป็นมนุษย์ แต่การศึกษาแบบที่ยึดถือกันในปัจจุบัน กลับทำลายหรือลดคุณค่าของมันเสีย

 

          ระหว่างนั่งฟังการประชุมโต๊ะกลมกับ Vice President of Education, John Couch จัดโดยบริษัท แอปเปิ้ล วันที่ ๓ ต.ค. ๕๖    ผมปิ๊งแว้บว่า มิติสำคัญอย่างยิ่ง ของการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑   คือการฝึกพลังจินตนาการ ที่มีมากับความเป็นมนุษย์    แต่การศึกษาแบบที่ยึดถือกันในปัจจุบัน กลับทำลายหรือลดคุณค่าของมันเสีย

          ย้ำว่า มนุษย์เรามีความสามารถด้านจินตนาการติดตัวมาทุกคน    และหากได้รับการฝึกฝนจากการศึกษา  จากการเลี้ยงดูของพ่อแม่  และจากการฝึกด้วยตัวเอง    พลังนี้จะงอกงาม สร้างคุณค่าต่อชีวิตอย่างล้นเหลือ

         ย้ำอีกที ว่าแม้ผู้สูงอายุ หรือคนแก่อย่างผม ก็ยังต้องฝึกฝนตนเองด้านจินตนาการ   เพราะมันให้พลังชีวิต   ส่งพลังไปยังการทำหน้าที่ต่างๆ ทุกด้าน   เป็นทุนในการดำรงชีวิตที่ดี หรือในการประกอบสัมมาชีพ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดซื้อหามา

          ทำให้ผมกลับมาไตร่ตรองต่อที่บ้านว่า    ที่จริงของฟรีมีอยู่มากมายในชีวิต    หากเรารู้จักฝึกฝนตนเอง ให้มีพลังที่จะเข้าถึงสิ่งเหล่านั้น   การฝึกฝนตนเองเหล่านั้นแหละที่เรียกว่า “การศึกษาที่แท้”    ผมฝันอยากเห็น ครูเพื่อศิษย์ของไทยจัดการศึกษาที่แท้ ให้แก่ศิษย์    ที่จะมีทุนชีวิต

          ของแปลกคือ ทุนอย่างอื่นใช้แล้วหมด    แต่ทุนชีวิตยิ่งใช้ยิ่งงอก (และประสบการณ์ของผมบอกว่า ยิ่งใช้-เรียนรู้ แล้วแบ่งปัน จะยิ่งงอกมากขึ้นไปอีก)

          การฝึกพลังจินตนาการ ต้องไม่ใช่ฝึกฝันเฟื่อง    ต้องฝึกฝันแล้วลงมือทำ เพื่อให้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์    ว่าจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร    มีปัจจัยอะไรบ้างที่จะใช้นำไปสู่ความสำเร็จ    หากทำไม่สำเร็จ ได้รับข้อเรียนรู้อะไรบ้าง

          จินตนาการแบบฝันเฟื่องเพื่อโอ้อวดว่าตนคิดเก่ง    ไม่ใช่จินตนาการในความหมายของบันทึกนี้   และการเรียนรู้ที่นักเรียน/นักศึกษา มีเป้าหมายเพื่อโอ้อวดว่าตนเรียนเก่งเหนือคนอื่น    ไม่ใช่การศึกษาแบบที่พึงประสงค์ในยุคนี้    เพราะมันไม่ส่งเสริมให้ผู้นั้นเรียนรู้เป็นทีม แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ    และไม่ส่งเสริมให้เจ้าตัวเรียนสู่เป้าหมาย “รู้จริง” (mastery learning)    

          โปรดสังเกตว่า เป้าหมายของการเป็นคนเรียนเก่ง    กับเป้าหมายเรียนแล้วรู้จริง เป็นคนละสิ่งกัน

และจินตนาการแบบฝันเฟื่อง  กับฝันเพื่อลงมือปฏิบัติ ก็เป็นคนละสิ่ง    ให้ผลต่อการเรียนรู้แบบรู้จริงแตกต่างกันเหมือนฟ้ากับดิน

          มนุษย์ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเป็นคนที่มีดีแตกต่างจากคนอื่น    ต้องเรียนรู้เพื่อฝึกให้ส่วนที่เป็น “เพชร” ของตนได้รับการเจียระไนออกมา    โดยที่หลักการศึกษาสมัยใหม่บอกว่า คนเราเป็น “เพชร” ทุกคน    แต่แตกต่างกัน

          การศึกษาที่ส่งเสริมให้เด็กกล้าคิด กล้าจินตนาการ กล้าเอาไปทดลองทำ    จะช่วยให้เขาเผยส่วนที่เป็น “เพชร” ของเขาออกมา    เอามาเจียระไนด้วยการฝึกฝนต่อเนื่อง    จนกลายเป็น “ความแตกต่าง” ที่ตนมี เพื่อการทำมาหากิน เพื่อการดำรงชีวิต ที่เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ต่อสังคม

          คนที่ค้น “เพชร” ของตนพบ    จะเป็นคนที่มั่นใจตนเอง  เคารพตนเอง    และพร้อมที่จะเคารพผู้อื่น เคารพความแตกต่าง    นี่คือคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของการเป็นมนุษย์แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ที่มีความสุขในชีวิต

          John couch เริ่มการบรรยายด้วย quote จาก Albert Einstein ว่า " Every body is a genius. But if you judge a fish by its ability to climb a tree, it will live its whole life believing that it is stupid."

          ในตอนหนึ่งของการบรรยาย เขาบอกว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ เรียนแบบ feel-imagine-do-share โดยเขาอ้าง Dale's Cone of Experience ซึ่งคล้ายคลึงกับ Learning Pyramid มาก

   

         

 

วิจารณ์ พานิช

๓ ต.ค. ๕๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 553343เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2013 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2013 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท