ฤดูที่แตกต่าง


ไม่ว่าเรียนเนื้อหาอะไร เด็กจะมีส่วนร่วม ได้คิด ได้เลือก ได้แสดงความคิดเห็น ครูมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและเสริมความรู้เติมเต็มให้ครบตามหลักสูตรปฐมวัย

       ได้เคยเล่ามาแล้วในบันทึกก่อนๆว่า KGE หรือ Kindergarten English Program มีการเรียนการสอน แบบ ThematicApproach คือเรียนแบบมีหัวเรื่องเป็นตัวกำหนด หัวเรื่องละ 2 สัปดาห์ เพื่อให้ครูทั้ง ไทยและฝรั่งร่วมกันคิดกิจกรรม ถ้อยคำ และภาษา ประกอบกิจกรรมนั้นๆ เพื่อให้เด็กได้ทั้งภาษา ความรู้ และสนุกสนานไปพร้อมๆกัน ครูจะประชุมกันล่วงหน้าว่า ในสองสัปดาห์นั้นๆ วันไหนจะเรียนหัวข้อย่อยอะไร ที่เกี่ยวเนื่องกับหัวข้อใหญ่ เป็นการปูเนื้อหามาจนถึงวันศุกรสุดท้ายของสองสัปดาห์  ก็จะจัดกิจกรรมใหญ่ ที่ให้เด็กร่วมเล่น ร่วมเลือกว่า แต่ละคนจะมีบทบาทอะไรตามเนื้อหาที่ได้เรียนมาแล้วตลอดสองสัปดาห์ แต่ละห้องแต่ละระดับ ก็จะมีกิจกรรมยากง่ายแตกต่างไปตามวัยของเด็กๆ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกห้อง แต่จะอยู่ในหัวเรื่องเดี่ยวกัน

KGE 3 คือชั้นอนุบาลสาม เป็นเด็กที่พร้อมกว่าเพื่อน กิจกรรมที่คิดร่วมกันระหว่างครูจึงดูเป็นเรื่องเป็นราวน่าสนใจมากกว่าระดับเล็กๆ เขาเรียนเรื่องฤดูกาลที่แตกต่างกัน ในปีหนึ่งๆ ในประเทสไทย   มีฤดูร้อน  ฤดูฝน   และฤดูหนาว ถ้าจะสอนกันแบบง่ายๆ ครูเป็นผู้บอกเล่า สอนวันเดียวก็คงจะจบเรื่อง  ถ้าจะมีรูปประกอบก็คงจะเรียกความสนใจเด็กเพิ่มได้อีกนิดหน่อย แต่ที่ห้องนี้ เขาสามารถยืดเนื้อหามาสอน มาเล่นกันได้ ถึงสองสัปดาห์ แต่ก็ไม่ได้สอนกันแค่เรื่องฤดู เพราะครูสามารถบูรณาการเอาเรื่องต่างๆ ในหลักสูตรปฐมวัย ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษา ดนตรี กิจกรรมเข้าจังหวะ และเทคโนโลยี่   เข้ามาเกี่ยวข้องได้ตลอดเวลา

 

 

รูปข้างบนนี้ เป็นภาพของการเรียนเรื่องฤดูร้อน ครูอาจจะตั้งคำถามกว้างๆแบบปลายเปิด ว่า” เราทำอะไรกันบ้างในฤดูร้อน” เด็กๆก็จะหาคำตอบที่หลากหลาย ขึ้นมา  แล้วก็มาถึงบทบาทสมมุติ ตามที่เห็นในภาพ ครูฝรั่งก็จะหาคำหรือประโยคสั้นๆเข้ามาใช้ ควบคู่ไปกับสถานการณ์

รูปต่อไป เป็นฤดูฝน ครุอาจจะมีคำถามปลายเปิดที่แตกต่างไปจากเดิม ว่า “ถ้าฝนตกเราควรต้องทำอย่างไร” เด็กช่วยกันตอบแล้วก็จบลงด้วยบทบาทสมมุติประกอบ   พร้อมภาษาอังกฤษกำกับ

 

รูปต่อไป เป็นรูปชุดต่างๆที่ใช้ในฤดูหนาว ที่เมืองไทยมีน้อยเต็มที่  แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง หาเสื้อผ้า รองเท้า ผ้าพันคอ หมวกฯลฯ ให้เด้กแต่งกันมาอย่างเต็มที่ ครูฝรั่งจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเพราะเขามาจากเมืองที่หนาวมากกว่าเมืองเรา เสื้อผ้าต่างๆจึงมีชื่อต่างๆ มากกว่าคำว่าเสื้อหนาวของบ้านเรา   ครูฝรั่งก็จะมาแจกแจงชื่อเรียก เสื้อผ้า หมวก รองเท้าฯลฯ ให้เด็กได้รู้จัก และเล่าถึงฤดูหนาวที่เมืองเขาและเมืองเราว่าแตกต่างกันอย่างไร

 

วันศุกรสุดท้าย  จะเป็นการเดินแบบ seasons collection ชุดในฤดูต่างๆ ที่ครูฝรั่งจะเป็นพิธีกร  กล่าวเชิญนายแบบนางแบบตัวเล็กๆเดินออกมาตามชุดที่ใส่ในฤดูต่างๆ เพื่อดูว่าเด็กเข้าใจสิ่งที่ได้เรียนไปแล้วหรือไม่  มีการสัมภาษณ์ตอบคำถามง่ายๆเป็นภาษาอังกฤษ เป็นการทบทวนความรู้ ครูก็สนุก เด็กก็สนุก แถมผู้ปกครองก็มาร่วมสนุกด้วย โดยการมาถ่ายรูป มาติดตามเฟสบุค มาคอมเมนท์ เรียกว่า มีการเชื่อมโยงแบบสามประสานคือ ครู นักเรียนและผู้ปกครอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 553330เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2013 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2013 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท