หลักนิติธรรม (Rule of Law) กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน


นัทธี จิตสว่าง

นับตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 ที่องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ที่เน้นไปที่การขจัดความยากจน การพัฒนาการศึกษา การสาธารณสุข การรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ รวม 8 ข้อ โดยกำหนดระยะเวลา 15 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในปี ค.ศ. 2015 นี้ ระยะเวลาที่เหลืออีก 2 ปีจากนี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่โลกจะต้องกลับมาทบทวนกับสิ่งที่ได้ทำไปตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมาว่าทำอะไรไปได้แค่ไหนเพียงไรและหลังปี ค.ศ.2015 จะกำหนดเป้าหมายการพัฒนากันใหม่อย่างไร

 

เป้าหมายของการพัฒนาของโลกหลังปี ค.ศ.2015 จึงเป็นเรื่องสำคัญที่องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้ มีการประชุมร่วมกันของผู้แทนจากต่างประเทศต่างๆหลายครั้ง โดยเฉพาะการประชุมใหญ่สามัญประจำปีขององค์การสหประชาชาติในปีนี้ ได้กำหนดหัวข้อหลักของการประชุมหัวข้อหนึ่งว่า เราจะพัฒนาโลกไปในทิศทางใดหลังปี ค.ศ.2015

เป้าหมายในการพัฒนาประการหนึ่งที่ได้รับความสนใจและมีการกล่าวถึงกันเป็นอย่างมากในหมู่นักวิชาการและในแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะหลัง ก็คือเรื่องหลักของนิติธรรม โดยเฉพาะในประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างหลักนิติธรรมกับการพัฒนาที่หลักนิติธรรมไม่เป็นเพียงเครื่องมือที่จะนำไปสู่การพัฒนาเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเป้าหมายของการพัฒนาด้วย การที่เรื่องหลักนิติธรรมน่าจะเป็นประเด็นสำคัญและเป็นเป้าหมายหลักประการหนึ่งของการพัฒนาของโลกหลังปี ค.ศ. 2015 ทั้งนี้เพราะทศวรรษที่ผ่านมาทำให้โลกเรียนรู้ว่า การพัฒนาที่ปราศจากหลักนิติธรรมนั้นยากที่จะบรรลุเป้าหมายได้ เนื่องจากหลักนิติธรรมเป็นปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง การพัฒนาที่ขาดหลักนิติธรรมจะนำไปสู่ความไม่น่าเชื่อถือ ไม่ไว้วางใจ ไม่กล้าลงทุนและการชะงักงันทางเศรษฐกิจ รวมตลอดถึงความขัดแย้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น การพัฒนาต่างต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและเท่าเทียมภายใต้กฎหมายเดียวกัน มิฉะนั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความไม่สงบตามมา

 

โดยเหตุที่เรื่องหลักนิติธรรม ครอบคลุมถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคที่ทุกฝ่ายอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน มีการเคารพถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ดังนั้น หลักนิติธรรมจึงสอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย การที่ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยต้องเคารพในหลักนิติธรรม เพราะจะทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ภายใต้กฎหมายที่เท่าเทียมไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือการละเมิดกฎหมายเพราะทุกฝ่ายจะต้องตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของกฎหมายเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ การคอร์รัปชั่นจึงเกิดขึ้นได้ยากในสังคมที่กฎหมายเป็นกฎหมายไม่ละเว้นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด

หลักนิติธรรมยังไปสู่ความเชื่อมั่นและความเชื่อถือในรัฐ เพราะรัฐก็ต้องอยู่ภายใต้หลักนิติธรรมที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายจะอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ เมื่อรัฐเคารพกฎหมาย ความเชื่อถือ ไว้ใจของประชาชนก็จะตามมา ทำให้การบริหารงานใดๆจากรัฐจะได้รับความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมจากประชาชน

 

หลักนิติธรรม ยังนำไปสู่ความเท่าเทียมกันในโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆในประเทศหรือของโลก การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนหรือทุกฝ่ายมีความเท่าเทียมกันในการเข้าใช้ประโยชน์ ทั้งฝ่ายนายทุน และชาวบ้านมีโอกาสได้เข้าถึงและเข้าใช้ทรัพยากรได้เสมอกัน    รับฟังซึ่งกันและกัน ไม่นับถึงการเข้าถึงการศึกษาหรือการเข้าถึงบริการสาธารณสุขต่างๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและยุติธรรมของกลุ่มคนต่างๆ

 

สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานสำคัญ สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development) เป็นการพัฒนาของคนใน ยุคนี้ที่คำนึงถึงลูกหลานและคนรุ่นต่อๆไปให้ได้ มีโอกาสใช้ทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน และด้วยการมีหลักนิติธรรมเท่านั้นที่จะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืนตลอดไป

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงบทบาทนำของประเทศไทยในการผลักดันให้เรื่องของหลักนิติธรรมไปเป็นเป้าหมายหนึ่งของการพัฒนาของโลกหลังปี ค.ศ. 2015 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาจึงได้ทรงดำริให้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice: TIJ) ซึ่งทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาของสถาบันฯ จัดการประชุมระหว่างประเทศในหัวข้อ “The Bangkok Dialogue on the Rule of Law, Justice and Security for the Post-2015 Development Agenda” ขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 โดยมีผู้นำระดับประเทศและนักวิชาการระดับโลกหลายท่านมาร่วมอภิปรายและกล่าวปาฐกถานำ ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นช่วงเวลาที่ทั้งโลกจะจับตามองที่ประเทศไทยที่เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนหลักนิติธรรมให้เป็นเป้าหมายของการพัฒนาของสหประชาชาติหลังปีค.ศ. 2015

การสัมมนาในครั้งนี้จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของเวทีระหว่างประเทศด้านการพัฒนาอีกครั้งหนึ่งที่ประเทศไทยได้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาของโลกหลังปี ค.ศ. 2015 ขณะเดียวกันก็เป็นการจุดประกายความสนใจของสังคมไทยที่มีต่อหลักนิติธรรมซึ่ง จะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป

************************

หมายเหตุ: ภาพประกอบบางส่วนจากอินเตอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 552972เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2013 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2013 11:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หลักนิติธรรม ต้องศรัทธาต่อผู้พิพากษาสูงสุดผู้เดียว ที่ทุกคนต้องศรัทธามั่นว่า เที่ยงธรรม เป็นพื้นฐาน

คนไทย เข้าไม่ค่อยถึงผู้มีความยุติธรรมสูงสุด ไม่มีเอนเอียง ไม่เคยเรียกรับผลประโยชน์ ไม่ต่องการสิ่งเสพใดใด

ดังนั้น จึงยังไม่ค่อยพบ ผู้ทำนิติธรรม ได้อย่างเที่ยงตรง รือ มอบตัวในทุกผืด ทั้งจำได้และจำไม่ได้ทุกๆคดีต่อ ผู้ยุติธรรมสุดนั้น

จากนั้นเดินออกไปในโลกุตระ อย่างสง่าผ่าเผย อัยการไม่มีสอ่งใดมาชี้ผิดแล้ว ทนายก็ไม่ต้องจ้างให้สู้คดีไหนทั้งนั้น

นั่นคือ ยักโทษที่รอลงอายา โดยที่ดำรงมั่นว่าจะพยายามไม่ก่อคดีเพิ่มอีกอย่างเด็ดขาด รอการสั่งคดี อย่างเต็มใจ

พร้อมกับรอโอกาสในการลดหย่อนโทษ(ก็มอบตัวสารภาพทุกคดีแล้วไงล่ะ) และ นอการอภัยโทษ ระหว่างรอคำสั่งคดี ก็ไปเที่ยว มัลดีฟก่อน ก็ยังได้ ถ้าต้องการไป

แต่คนไทย ไม่ต่อยรู้จักผู้พิพากษาที่สูงสุดนั้นไงล่ะ จึงไม่ทราบว่าจะมอบตัวที่ไหน อย่างไร จงจ้างทนายสู้คดี มีการเสียเบี้ยเสียข้าวถังสี เพื่อสู้คดีมีการหวาดกลัว อัยการว่า จะชี้คดี ชี้ผิดเราวันไหน กังวลเป็นทุกข์

กระพริบตาเดียว เป็นคนดีที่มอบตัวแล้วได้เลย หากท่านศึกษา รู้จัก บริหารสายสัมพันธ์ต่อ ผู้พิพากษานั้น อย่างเที่ยงแท้กันเป็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท