ที่นี่...เมืองบางขลัง : พลังแห่งเครือข่าย (๑ ใน ๒๔ แห่งจากทั้งประเทศที่มีผลงานเป็นเลิศรางวัลพระปกเกล้า ประจำปี ๒๕๕๖)


          การได้รับรางวัลจากองค์กรต่างๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะได้รางวัลต้องมีเงื่อนไข มีกระบวนการ มีการดำเนินงานที่สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรม สามารถตรวจสอบได้ ที่สำคัญต้องส่งผลดีต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก นักเรียน เยาวชน และประชาชน

         โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับองค์กรปกครองท้องถิ่นแล้ว เป้าประสงค์หลักคือการดูแลประชาชนทุกคน ตั้งแต่เกิดจนตาย ให้เขาเหล่านั้นได้มีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุขกาย สบายใจ อยู่รวมกันในสังคมด้วยความสมานฉันท์และสันติสุข

          การทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่ยาก เพราะมันกว้างและครอบคลุมประชาชนในท้องถิ่นในหลายมิติ ดังนั้นจึงได้มีองค์กรต่างๆ พยายามที่จะเข้ามาส่งเสริม สนับสนุน ไม่ว่าจะในเรื่องของงบประมาณ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีการประกวด แข่งขัน คัดเลือก เพื่อมอบรางวัลให้เป็นการเชิดชูเกียรติ ให้เป็นขวัญ กำลังใจในการทำงาน เช่น รางวัลพระปกเกล้า รางวัลธรรมาภิบาล รางวัลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รางวัลพิษสุนัขบ้า รางวัลกระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ

          รางวัลต่างๆ ที่มอบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น สามารถแยกออกได้เป็น ๒ ประเภท ได้แก่

          ๑. ประเภทมีเงินรางวัล เช่น รางวันธรรมาภิบาล รางวัลพิษสุนัขบ้า ในประเภทนี้ รางวัลที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือ รางวัลธรรมาภิบาล เพราะมีเงินรางวัลมอบให้เป็นจำนวนมาก องค์กรที่ได้รับรางวัลจะได้ ไม่น้อยกว่า ๑-๕ ล้านบาท รางวัลผ่านเกณฑ์ (ชมเชย) ๓ แสนกว่าบาท

          ๒. ประเภทไม่มีเงินรางวัล รางวัลส่วนใหญ่จะอยู่ในประเภทนี้ เช่น รางวัลกระทรวงวัฒนธรรม รางวัลประเภทต่างๆ ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รางวัลพระปกเกล้า เป็นต้น ในส่วนของรางวัลประเภทนี้ที่ถือได้ว่าเป็นรางวัลที่ได้ยากที่สุด คือ รางวัลพระปกเกล้า เพราะมีการประเมินถึง ๓ รอบ

          รางวัลพระปกเกล้า เป็นรางวัลที่ให้โดยสถาบันพระปกเกล้าที่ถือกันว่าเป็นสถาบันทางวิชาการอันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขว้าง ในการจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ มี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขาธิการสถาบันฯ รศ.วุฒิสาร ตันชัย เป็นรองเลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้าตระหนักถึงความสำคัญการปกครองท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะที่เป็นหัวใจและรากฐานสำคัญของการพัฒนาประชาธิปไตย ในปี ๒๕๔๔ จึงได้เริ่มมอบรางวัลให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเลิศด้านความโปร่งใส และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ปี ๒๕๔๙ ได้เพิ่มรางวัลพระปกเกล้าทองคำ คือ องค์กรใดได้รับรางวัลระดับเป็นเลิศอย่างน้อย ๒ ครั้ง ภายใน ๕ ปี จะได้รับการพิจารณาเข้าร่วมโครงการ

          ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ สถาบันพระปกเกล้าได้ขยายขอบเขตการมอบรางวัลเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเลิศด้านความโปร่งใส และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน, ประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเลิศด้านการเสริมสร้างสันติสุขและสมานฉันท์, ประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเลิศด้านการเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชน และประชาสังคม โดยให้เลือกส่งประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น 

          ปี ๒๕๕๖ เป็นปีที่ ๑๓ แล้วของรางวัลอันทรงเกียรตินี้ มีการให้รางวัล ๓ ประเภท มีการประเมิน ๓ รอบเช่นเดิม

          รอบที่ ๑ เป็นการประเมินคุณสมบัติเบื้องต้น โดยพิจารณาให้คะแนนจากเกณฑ์ตัวชี้วัดพื้นฐาน   และตัวชี้วัดขั้นพัฒนา (แยกตามประเภทรางวัล) ซึ่งเอกสารมีข้อมูลค่อนข้างมาก จึงทำให้หนาเกือบ ๔๐๐ หน้า หรือมากกว่านั้น

          รอบที่ ๒ การประเมินคุณสมบัติเฉพาะประเด็น ได้แก่ การประเมินความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่, การประเมินโครงการและกิจกรรม ในรอบนี้จะประเมินด้วยข้อมูลภาคสนาม การสนทนากลุ่ม การสังเกตการณ์ และการสัมภาษณ์ประชาชน

          รอบที่ ๓ คณะกรรมการจากส่วนกลางลงพื้นที่เพื่อประเมินกลั่นกรองในรอบสุดท้าย

          ขั้นตอนสุดท้าย  คณะกรรมการพิจารณารางวัลฯ ประชุมตัดสินเพื่อรับรางวัล

          วันที่ ๔ พ.ย.๒๕๕๖ คณะกรรมการพิจารณารางวัลประปกเกล้า ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งแวดวงวิชาการด้านการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น แวดวงส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสื่อมวลชนจากองค์กรชั้นนำ ได้ร่วมกันพิจารณามอบรางวัลพระปกเกล้าแก่องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้ารอบสุดท้าย จำนวน ๒๖ แห่งจากทั่วประเทศ และยังมีการพิจารณาโดยนำข้อมูลการร้องเรียนที่ได้จากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในประเด็นเรื่องทุจริต ความไม่โปร่งใสในการบริหารงานมาร่วมพิจารณา ส่งผลให้การพิจารณาตัดสินของคณะกรรมการฯ จึงเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรมและโปร่งใส (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ ๗ พ.ย.๒๕๕๖ หน้า ๑๕)

          ในกรณีของ อบต.เมืองบางขลัง ได้ส่งเข้ารับการพิจารณาด้านการเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชน และประชาสังคม ได้ผ่านเข้ารอบ ๓ โดยมีคณะกรรมการจากส่วนกลาง ๔ ท่าน มาตรวจประเมิน เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๖ ได้แก่ รศ.ตระกูล มีชัย คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน, ดร.ชาตรี ทองสาริ ผอ.สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงาน ป.ป.ช., คุณนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์มติชน, คุณสุมามาลย์ ชาวนา วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า

          เครือข่ายเด่นที่นำเสนอ ได้แก่ เครือข่าย “โครงการการศึกษาอัจฉริยลักษณ์ชุมชนโบราณเมืองบางขลังเพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองบางขลัง” (งบประมาณโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมี ผศ.ดร.ชุลีรัตน์ จันทร์เชื้อ ม.ราชภัฏพิบูลสงครามเป็นผู้ดูแล), เครือข่าย “โครงการส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนตำบลเมืองบางขลัง (งบประมาณโดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุโขทัย), เครือข่าย “โครงการบริหารจัดการขยะและอนามัยสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน (งบประมาณโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)), เครือข่าย “โครงการพลังชุมชนเครือข่ายตำบลสุขภาวะเพื่อพัฒนาท้องถิ่นน่าอยู่ (งบประมาณโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.))

          ผลการตัดสินของคณะกรรมการ ปี ๒๕๕๖ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลงานเป็นเลิศ จำนวน ๒๔ แห่ง ได้แก่  ด้านความโปร่งใส และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน จำนวน ๑๑ แห่ง, ด้านการเสริมสร้างสันติสุขและสมานฉันท์ จำนวน ๑ แห่ง, ด้านการเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชน และประชาสังคม จำนวน ๑๒ แห่ง (ได้รับใบประกาศผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ๑๕ แห่ง)

          อบต.เมืองบางขลัง เป็น ๑ ใน ๒๔ แห่งจากทั้งประเทศที่มีผลงานเป็นเลิศได้รับรางวัลพระปกเกล้า เป็น ๑ ใน ๑๒ แห่ง ที่มีผลงานเป็นเลิศด้านการเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชน และประชาสังคม และเป็น ๑ เดียวของจังหวัดสุโขทัยที่ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งได้สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ อบต.เมืองบางขลัง ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน

          เมื่อปี ๒๕๕๒ อบต.เมืองบางขลังได้รับรางวัลพระปกเกล้าเป็นเลิศด้านการเสริมสร้างเครือข่ายฯ

          ปี ๒๕๕๔ ได้รับใบประกาศฯ สถาบันพระปกเกล้า ด้านเสริมสร้างสันติสุขและสมานฉันท์

          ปี ๒๕๕๕ ได้รับใบประกาศฯ สถาบันพระปกเกล้าด้านการเสริมสร้างเครือข่ายฯ

          จากเกณฑ์ที่ว่า องค์กรปกครองท้องถิ่นใดได้รับรางวัลพระปกเกล้าในระดับเป็นเลิศอย่างน้อย ๒ ครั้ง ภายใน ๕ ปี จะได้รับการพิจารณาเข้าร่วมโครงการรางวัลพระปกเกล้าทองคำ... ทำให้ผู้เขียนแอบฝันถึงรางวัลพระปกเกล้าทองคำขึ้นมาเสียแล้ว ไม่รู้ว่าฝันเกินตัวไปหรือเปล่า ?   อย่างไรก็ตาม...

                                              ขอขอบพระคุณ...

                ก้อนอิฐ ศิลาแลงทุกก้อน  ที่ยืนหยัดคงทนผ่านกาลเวลที่สาดซัดกัดกร่อน

                          โครงกระดูกในไหและดวงวิญญาณบรรพชนทุกดวง

                      ที่ยังคงเฝ้าเวียนวนบอกกล่าวเรื่องราวในอดีตให้คนรุ่นหลัง

                                             ขอขอบพระคุณ...

                          ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง มิ่งมิตรทุกสถาน ทุกหน่วยงาน

                    ที่ร่วมถ่ายทอดกลิ่นอายและความหมายแห่งก้อนอิฐ ศิลาแลง

                        ลำน้ำฝากระดาน และชุมชนโบราณเมืองบางขลังแห่งนี้

                                             ขอขอบพระคุณ...

                                   กาลเวลาที่นำพาให้เรามาพบกัน

                          ได้มาร่วมรังสรรค์ ร่วมแรง สร้างบ้านแปลงเมือง

                    หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรา...จะจับมือมุ่งมั่นสร้างวันพรุ่งนี้ด้วยกัน.

หมายเลขบันทึก: 552737เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 08:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 08:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท