เรียนรู้แบบครูศิลป์


เรียนรู้แบบครูศิลป์

      ปรมาจารย์ทางศิลปะ มักกล่าวว่า การเรียนรู้สรรพสิ่งตามธรรมชาติและความเป็นจริง แล้วสื่อสารออกมา เป็นแก่นของศิลปะ ที่ต้องเรียนรู้ด้วยการซึมซับ รับรู้ ผ่านกระบวนการสอนศิลปะที่มีบรรยากาศเป็นสมาธิ เป็นสิ่งที่ครูทุกคนเข้าใจกันดี แต่ในทางปฏิบัติเรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นปัญหาไม่ใช่น้อยสำหรับครูสอนศิลปะในโรงเรียนประถมศึกษาบ้านนอก โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้จบวิชาเอกศิลปะมาโดยตรง หรือผู้มีฝีมือทางศิลปะแต่ไม่เชื่อมั่นตนเองในการสอนให้เด็กบรรลุถึงแก่นของ“ศิลปะ” ครูสอนศิลปะจำเป็นต้องขวนขวาย ใฝ่หากิจกรรมวิธีสอนใหม่ๆ บทบาทของผู้นิเทศอย่างผมจึงต้องเข้าไปร่วมทาง

     ผมคลุกคลีกับครูสอนศิลปะมาตั้งแต่เริ่มรับราชการ จนรู้ซึ้งถึงข้อจำกัดในการสอนศิลปะในโรงเรียนประถมศึกษา ครูผู้ที่ไม่รักงานศิลปะจริงหรือเข้าไม่ถึงศิลปะจริงๆ มักทดท้อกับข้อจำกัดรอบตัวและมุมมองศิลปะคือวิชาวาดรูปที่สบายๆจึงเอาวิชาภาษาไทย อังกฤษ คณิต วิทยาศาสตร์ สังคม มาเบียดคาบเวลาศิลปะไป ยัดเยียดวิชาการใส่สมองเด็กหวังให้ตัวเลขผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น (ตามระบบเรียนเพื่อสอบ เรียนแบบกวดวิชา) มองข้ามวิชาชีวิตอย่างศิลปะที่ต้องเรียนรู้ด้วยสุนทรียภาพในความเป็นมนุษย์ ปล่อยให้การเรียนรู้ศิลปะเป็นโอกาสเฉพาะบุคคลที่ต้องแสวงหาเอาเอง การสอนศิลปะในโรงเรียนจึงขึ้นอยู่กับตัวครูที่มีประสบการณ์ มีความสามารถความถนัด เป็นทุนเดิม ผู้นิเทศก็เช่นกัน แม้จะอาศัยตำรา ศึกษาจากผู้รู้มากมาย แต่ในเชิงปฏิบัติก็ยังค้นหาตนเองไม่พบในทางศิลปะ เวลาเขียนภาพคราวใดเป็นต้องออกไปทางการ์ตูนที่ถนัดทุกที เป็นดั่งคำที่อาจารย์ศักดา วิมลจันทร์ได้อธิบายไว้ว่า “จิตรกรรมเป็นอัตนัย ส่วนการ์ตูนเป็นปรนัย”...มันคนละทางกัน

      ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา ผมจัดทำโครงการจัดกิจกรรมพัฒนาครูสอนศิลปะระดับเขตพื้นที่ปีละ1 โครงการอย่างต่อเนื่องคำถามที่ผมต้องหาคำตอบให้ได้ก็คือ ทำยังไงครูจึงจะสอนศิลปะเป็น สอนศิลปะเก่ง และมีทักษะทางศิลปะอย่างถูกต้องเต็มตามศักยภาพของตน ผมวิเคราะห์ผลงานเด็กที่มาแข่งขันทักษะการวาดภาพระบายสีหรือศิลป์สร้างสรรค์ในแต่ละปี ก็พอสะท้อนได้ว่า เด็กสื่อสารออกมาจากความคิดของผู้สอนมากกว่าความคิดใสๆของเด็ก กลยุทธ์แรกที่นำมาใช้ก็คือ สลายอัตตาหรืออีโก้ หรือภาษาทางพระว่า “อหังการ”ของครูผู้สอนก่อน โดยระบบพี่สอนน้อง สร้างเครือข่ายครูสอนศิลปะ จัดกิจกรรมค่ายศิลปะเด็ก ให้มีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด แนวการสอนที่ถูกต้อง สร้างระบบการตัดสินผลงานศิลปะของเด็กจากสิ่งที่เด็กสื่อสารออกมาให้ครบถ้วนองค์ประกอบ ให้เกิดการยอมรับให้เกียรติซึ่งกันและกัน ก่อนอบรมเชิงปฏิบัติการสัมมนาปัญหาการสอนศิลปะ ศึกษาแนวการสอนศิลปะตามหลักสูตร สุดท้ายก็ฝึกปฏิบัติทักษะพื้นฐานทางศิลปะ เพราะความสามารถทางศิลปะของครูคือศรัทธาเบื้องแรกของเด็กในตัวครู คนที่จุดประกายตรงนี้ต้องเป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะตัวจริง

      ผมมองหาวิทยากร แหล่งเรียนรู้ทางศิลปะอยู่ไม่นาน ทีมงานก็แนะนำให้ไปพบกับอาจารย์สมาน คลังจัตุรัส ครูศิลปินจากศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ประธานชมรมศิลปินอิสระ ผู้มีเลือดเนื้อเชื้อไขชาวเมืองชัยภูมิ ผู้มีอุดมการสูงส่งสร้างหอศิลป์คลังจัตุรัสไว้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่คนรุ่นหลัง ตอบแทนบุญคุณแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน ช่างเป็นบุญของผมแท้ๆ ที่โครงการที่วาดไว้กลายเป็นความจริง ครูสอนศิลปะกลุ่มใหญ่ได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้เปิดโลกทัศน์ใหม่กับครูศิลปินท่านนี้ ยิ่งเข้าไปสัมผัสยิ่งแน่ใจว่าท่านมีแต่ให้ ได้ทั้งบรรยากาศอันร่มรื่นรอบหอศิลป์ที่เปิดกว้างให้ทุกคนเข้าไปเสพงานศิลป์ที่สะพรั่งไปด้วยผลงานของศิลปินทั่วฟ้าเมืองไทย ได้เรียนรู้เทคนิควิธีการเรียนรู้ศิลปะพื้นฐานอันเป็นเสาเข็มที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะต่อไปได้ตามที่ใจปรารถนา ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยากรในเครือข่ายศิลปินอิสระอย่างอาจารย์นพดล เนตรดี ครูศิลปินผู้เชี่ยวชาญภาพสีน้ำ อาจารย์กุสุมา คลังจัตุรัส ทายาทหน่อศิลปินผู้รักเด็กๆ มีศิลปินอิสระในเครือข่ายแวะเวียนมาเยี่ยมเยือน มันทำให้ทุกคนอิ่มใจ โลกแห่งศิลปะไม่เคยคับแคบเลย ในปีต่อมาผมจัดโครงการรอบสองนำครูสอนศิลปะที่สมัครใจ พร้อมกับเด็กที่มีความสามารถทางศิลปะเกือบร้อยคนเข้าไปเรียนรู้ในหอศิลป์คลังจัตุรัสอีกครั้ง กับครูศิลปินครอบครัวคลังจัตุรัส กับเครือข่ายศิลปินอิสระอีกหลายคน ผลการเรียนรู้กับครูศิลปิน เป็นประสบการณ์ตรงที่ติดทนติดแน่น อาจารย์สมาน คลังจัตุรัส ยังมีเมตตาอาสาจัดกิจกรรมศิลปะนอกรอบสำหรับครู โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ผูกติดกับงบประมาณราชการ ผมแอบชื่นชมท่านอยู่ลึกๆว่า จิตใจศิลปินท่านนี้ช่างงดงามละเมียดละไมเหมือนภาพที่ท่านวาดจริงๆ  ขณะบันทึก...ทุกคนกำลังรอว่าเมื่อไรจะเป่านกหวีดเท่านั้น...

      ดูเหมือนปีนี้จะเป็นปีทองของเครือข่ายครูสอนศิลปะ หลังจากเราเรียนรู้กับครูศิลปินได้ไม่นาน ทาง สพฐ.ก็จัดนิทรรศการผลงานศิลปะของเด็กที่ชนะเลิศจากงานศิลปหัตถกรรมระดับประเทศ  ที่หอศิลป์สมด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ผ่านฟ้า กทม.ผมไม่รอช้า รีบชวนเพื่อนครูสอนศิลปะกลุ่มแถวหน้าที่สมัครใจออกค่าใช้จ่ายเองไปศึกษาเรียนรู้เชิงประจักษ์จากผลงานศิลปะของเด็กที่ได้รางวัลระดับชาติ ให้คลายสงสัยเสียทีว่า การสื่อสารผ่านผลงานศิลปะทำได้ยังไง ลักษณะภาพสีเอกรงค์เป็นยังไง...?...?

      ตอนนี้ผมพอสรุปได้ว่า การนิเทศการสอนศิลปะของผมไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องอบรม ห้องเรียน แต่ได้เปิดกว้างช่องทางการเรียนรู้อย่างเต็มที่แล้ว ส่วนผลจะออกมายังไง ก็ขึ้นอยู่กับตัวครูเองแล้วละ...

หมายเลขบันทึก: 552442เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2013 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2013 22:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

 

ยังไม่เคยเจอการอบรมศิลปะรูปแบบนี้เลย...สุดยอด..!!

รวมพลังงานศิลป์เลยนะคะ ดีมากเลยค่ะ

"ส่วนผลจะออกมายังไง ก็ขึ้นอยู่กับตัวครูเองแล้วละ"...ครับถูกต้องครับท่าน...เพราะครูแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันถึงแม้จะจบศิลปะแขนงเดียวกันปีเดียวกันฯ..ก็ตามผลงานก็ย่อมมีความแตกต่างกันอยู่ดี...ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท