ปรัชญาการศึกษากลุ่มพัฒนานิยม


[1]ปรัชญาการศึกษากลุ่มพัฒนานิยม

 ปรัชญาการศึกษากลุ่มพัฒนานิยมเป็นปรัชญาการศึกษากลุ่มที่ยึดแนวปรัชญาปฏิบัตินิยม (Experimentalism หรือ Pragmatism – อนุภวนวาท) นักเรียนจะเรียนรู้โดยอาศัยประสบการณ์        ครูมีหน้าที่จัดประสบการณ์ที่ดีและเหมาะสมให้แก่นักเรียน นักเรียนจะต้องลงมือศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองโดยการปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ นโยบายสำคัญคือ ต้องการให้นักเรียนรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

                ส ศิวรักษ์ เรียกปรัชญาการศึกษากลุ่มนี้ว่า อนุกรรมวาท เจ้าลัทธิของทฤษฎีนี้ชื่อ Frances Barker ซึ่งเสนอให้ปฏิรูประบบโรงเรียนมาตั้งแต่ ค.ศ.๑๘๗๐ คนสำคัญที่ทำให้ปรัชญาการศึกษานี้แพร่หลายได้แก่ John Dewey ซึ่งได้เสนอความคิดของท่านในหนังสือ Schools of Tomorrow ตีพิมพ์แพร่หลายตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๕

                นักปรัชญาการศึกษา กลุ่มพัฒนานิยมเชื่อว่า สาระสำคัญแห่งสัจภาวะมิได้คงที่ ฉะนั้นการศึกษาจึงควรแปรสภาพไปตามความเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ นักการศึกษาจึงควรพร้อมที่จะปรับปรุงวิธีการและนโยบายของการศึกษาเมื่อได้รับความรู้ใหม่ ๆ และเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป คุณวิเศษของการศึกษามิได้อยู่ที่สอนให้เข้าถึงตัวความงาม ความดี และความจริง หากอยู่ที่ปรับการสอนให้เข้ากับผลการค้นคว้า และทดลองใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับสังคมมนุษย์ John Dewey เขียนไว้ในหนังสือ Democracy and Education ว่า “เราอาจนิยมคำว่า การศึกษา อย่างเป็นทางการได้แล้วว่า คือการสร้างสรรค์ประสบการณ์ขึ้นใหม่หรือปรับปรุงประสบการณ์ขึ้นใหม่เพื่อให้ประสบการณ์นั้นมีความหมายมากขึ้นและให้มีความสามารถมากขึ้น”

ปรัชญาการศึกษากลุ่มพัฒนานิยม มีหลักอยู่ ๖ ประการ คือ

๑.      การศึกษาคือชีวิต ไม่ใช่เตรียมตัวเพื่อชีวิต

๒.     การเรียนควรเป็นเรื่องที่เด็กสนใจโดยตรง ครูคอยช่วยแนะนำให้สนใจในทางที่ถูกที่ควรมากขึ้นเท่านั้น เพราะครูมีประสบการณ์มากกว่าโดยเจริญเติบโตมาเต็มที่กว่า

๓.     การเรียน เรียนโดยอาศัยวิธีแก้ปัญหาสำคัญกว่าเรียนจำเนื้อหาสาระต่างๆ

๔.     ครูมีบทบาทในทางแนะนำ ไม่ใช่สั่งหรือบงการ

๕.     โรงเรียนควรเป็นสถานที่ช่วยให้เกิดความร่วมมือกัน ไม่ใช่แข่งขันกันเอาชนะและเอาแพ้กัน

๖.      วิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น ที่ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์กันทางความคิดและทางบุคลิกภาพอย่างเสรี

หลักการของปรัชญาการศึกษากลุ่มนี้มีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และมีที่คัดค้านเป็นจำนวนมากแต่อย่างไรก็ตาม ปรัชญานี้ก็เจริญรุ่งเรืองมากในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย หลายประเทศ ข้อที่ถูกโจมตีและคัดค้านเป็นอย่างมากอยู่ในประเด็นที่ว่า การปล่อยให้เด็กมีอิสระหรือให้เด็กได้เจริญงอกงามตามหลักธรรมชาติ เพราะเด็กยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอ การปล่อยให้เด็กมีอิสระในการเรียนอาจจะเป็นผลเสีย เพราะเด็กยังขาดวินัยในตนเอง เด็กมีมโนธรรมเพียงใด มีโลกทัศน์กว้างไกลแค่ไหน จึงจะปล่อยให้มีอิสรเสรีอย่างเต็มที่ได้ ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นที่สำคัญมาก น่าจะได้คิดวิเคราะห์กันต่อไป

นักเรียน ปรัชญานี้ให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนมาก ถือว่าผู้เรียนโดยธรรมชาติมีอินทรีย์ที่จะสืบเสาะแสวงหาประสบการณ์และพร้อมที่จะรับประสบการณ์ (เมธี  ปิลันธนานนท์ 2523 : 90) ผู้เรียนจะได้ประสบการณ์ด้วยการลงมือกระทำด้วยตนเอง (Learning by doing) ผู้เรียนจะต้องมีอิสระในการเลือกตัดสินใจและต้องทำงานร่วมกัน (Participation) เพื่อให้การเรียนการสอนตรงกับความถนัดความสนใจและความสามารถของผู้เรียน

กระบวนการเรียนการสอน

การเรียนการสอนตามแนวปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยมเน้นการฝึกการกระทำ (LEARNING BY DOING) เพื่อให้เกิดประสบการณ์โดยตรง การเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริงต้องใช้กระบวนการแก้ปัญหา (PROBLEM SOLVING) โดยนำหลักการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์มาใช้และต้องเน้นให้เด็กมีความสามารถแก้ปัญหาในห้องเรียน สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ที่เป็นกันเองโดยอาศัยหลักการแบบประชาธิปไตย คือต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมอภิปรายอย่างกว้างขวาง เพื่อหาข้อสรุป ข้อสำคัญหรือทฤษฏีต่าง ๆ ซึ่งได้จากการลงมือกระทำจริง ความรู้จากการยึดการกระทำจริงจะโยงไปสู่หลักการหรือทฤษฏีซึ่งจะติดตัวเด็กไปได้นานกว่าความรู้ที่ได้จากการท่องจำ

พิพัฒนาการ หรือ Progressive หมายถึง การเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง การจัดการศึกษาต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง จึงได้เชื่อว่า “แนวทางแห่งความมีอิสระเสรีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง วัฒนธรรมและสังคม”

 ความเป็นมา

 พิพัฒนาการนิยมเกิดขึ้นเพื่อต่อต้านแนวคิดและวิธีการศึกษาแบบเดิมที่เน้นแต่เนื้อหา สอนแต่ท่องจำ ไม่คำนึงถึงความสนใจของเด็ก และพัฒนาเด็กแต่เพียงสติปัญญาเท่านั้น ทำให้ผู้เรียนขาดความ ริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่มีความมั่นใจในตนเอง อีกอย่างหนึ่งเพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ความนิยมในประชาธิปไตยและพัฒนาการใหม่ ๆ ทางจิตวิทยาการเรียนรู้

 จัง จ๊าค รุสโซ, จอห์น เฮนรี่, เปสตาลอสซี่, เฟรด เดอริค ฟรอเบล เป็นผู้มีแนวคิดทางปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยมเป็นพวกแรก ของยุโรป ค.ศ. 1870 ฟรานซีส ดับเบิลยู ปาร์คเกอร์ ได้เสนอให้มีการปฏิรูประบบโรงเรียนขึ้นใหม่ แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับ ต่อมา จอห์น ดุย ทำการทดลองเพิ่มเติมจนทั่วโลกได้รู้จักปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยมของเขา มีนักการศึกษาร่วมอยู่ด้วย วิลเลียม เอช คิลแพททริค, จอห์น ไซล์ค และเฮนรี่ บาร์นาร์ด สหรัฐอเมริกาจัดตั้งสมาคมการศึกษาพิพัฒนาการขึ้นในปี ค.ศ.1919 ได้จัดทำหลักสูตรการศึกษาเพื่อชีวิต (The Life-Centered Curriculum) ขึ้นใช้ในโรงเรียนอย่างกว้างขวาง

 จอห์น ดุย ได้ยกย่องปาร์คเกอร์ ว่าเป็นบิดาของปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม ก่อตั้งขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง(ราว ค.ศ.1920) และ นำมาใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดในยุคปัจจุบัน สำหรับวงการศึกษาไทยได้ต้อนรับปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม(แบบก้าวหน้า)อย่างกระตือรือร้น โดยรู้จักกันในนามว่า “การศึกษาแผนใหม่“

 แนวคิดพื้นฐาน

 พิพัฒนาการนิยม มีแนวคิดเช่นเดียวกับปรัชญาปฏิบัตินิยม เชื่อว่าชีวิตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอตามกาลเวลาและสิ่งแวดล้อม องค์ประกอบที่มีอิทธิพลสูงสุดในการกำหนดรูปแบบของวัฒนธรรมและสังคม คือ การค้นคว้า ทดลอง และประสบการณ์ของมนุษย์ที่ได้เห็นประจักษ์ เชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้กำหนดอนาคตโชคชะตาของตนเอง มนุษย์ควรจะนั้นความสำคัญและคุณค่าของแต่ละบุคคลให้มาก ดังนั้น การศึกษาในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจะต้องเปลี่ยนแปรสภาพไปด้วยเมื่อถึงความจำเป็นการศึกษาไม่ใช่สอนให้คนยึดมั่นในความจริง หรือถูกกำหนดไว้ตายตัว หากจะต้องหาทางปรับปรุงการศึกษาเพื่อจะเป็นแนวทางนำไปสู่การค้นพบความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ

 ความหมายของการศึกษา

พิพัฒนาการนิยมเชื่อว่าการศึกษาคือชีวิตไม่ใช่เป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิต หมายความว่า การที่จะให้ได้มาซึ่งความรู้ก็โดยการลงมือกระทำ จริง ๆ ที่จะก่อให้เกิดประสบการณ์กับผู้เรียน กิจกรรมการเรียนการสอนจึงมุ่งการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาไปพร้อม ๆ กัน สามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข

ความมุ่งหมายของการศึกษา

 จุดมุ่งหมายการศึกษาในปรัชญาการศึกษา พิพัฒนาการนิยม สรุปได้ว่า

มุ่งให้ผู้เรียนพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาไปพร้อม ๆ กัน

มุ่งให้ผู้เรียนรู้จักปรับตัวเองเข้ากับสังคมได้อย่างมีความสุข

มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนตามความถนัด ความสนใจ และตามความสามารถของผู้เรียน

ส่งเสริมประชาธิปไตยทั้งในและนอกห้องเรียน

มุ่งให้ผู้เรียนรู้จักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง

มุ่งให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ในการดำรงชีวิตเป็นหมู่คณะ และรู้จักปกครองตนเอง

ธรรมชาติของมนุษย์

เชื่อว่ามนุษย์เป็นคนดีมาแต่กำเนิด มนุษย์ไม่ได้โง่หรือฉลาดมาแต่กำเนิด มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความว่างเปล่า ความฉลาดหรืออุปนิสัยอื่น ๆ มนุษย์มาได้รับภายหลังและจากประสบการณ์ทั้งสิ้น มนุษย์มีอิสระเสรี มิได้อยู่ใต้การลิขิตของผู้ใด มีศักยภาพที่จะพัฒนาตัวเองให้ดี

ญาณวิทยา

เชื่อว่าความรู้ที่ตายตัวแน่นอนอันเป็นความจริงสูงสุดนั้นไม่มี ความรู้มีวิวัฒนาการอยู่เสมอ ความรู้มีหน้าที่ช่วยมนุษย์แก้ปัญหา และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด ความรู้ต้องนำไปใช้ได้ผลจริง ๆ

กระบวนการของการศึกษาถือว่าประสบการณ์และการทดลองมีความสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ และการเรียนรู้เป็นเรื่องของการกระทำ (Doing) มากกว่ารู้ (Knowing) และจะต้องให้ผู้เรียนได้รู้จักที่จะแก้ไขปัญหาของตนเองและสังคมได้ และจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่าง บุคคลด้วย

สถาบันการศึกษา

เชื่อว่าสถาบันการศึกษา คือ แบบจำลองที่ดีงามของชีวิตและสังคม โดยจัดประสบการณ์ให้สอดคล้องกับสภาพสังคม และการดำเนินชีวิตจริง แต่ต้องเหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียน เพื่อผู้เรียนสามารถแก้ไขปัญหาชีวิตและสังคมได้ดีขึ้น สถาบันการศึกษาจะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความร่วมมือกันสร้างบรรยากาศเป็นประชาธิปไตย เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสันติสุข

ผู้บริหาร

ผู้บริหารจะเป็นผู้ดำเนินงานไปตามข้อตกลงหรือมติของคณะกรรมการของสถาบันการศึกษา

ผู้บริหารจะต้องเป็นนักประชาธิปไตยให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมในการบริหารงาน

บทบาทหน้าที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน

เชื่อว่าผู้สอนและผู้เรียนร่วมมือกันในการเรียนรู้ และเน้นการทำงานในรูปของประชาธิปไตย ความเสมอภาค และผู้สอนจะต้องจัดกิจกรรมที่สนองความอยากรู้อยากเห็นของผู้เรียน พร้อมทั้งยังคอยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ

ผู้สอน

จะต้องมีบุคลิกที่ดี เห็นอกเห็นใจและเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็กได้ดี

บทบาทที่สำคัญของผู้สอน คือ จะต้องเป็นผู้กระตุ้น ให้ผู้เรียนได้สนใจด้วยตนเอง ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ด้วยตนเอง

บทบาทของผู้สอนไม่ใช่เป็นผู้ใช้อำนาจหรือออกคำสั่ง แต่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะแนวทางให้กับผู้เรียน

ผู้เรียน

ให้ความสำคัญกับตัวผู้เรียนมาก ถือว่าผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้มีประสบการณ์ตรง หรือลงมือกระทำด้วยตนเอง (Learning by Doing) ผู้เรียนมีอิสระที่จะเลือกตัดสินใจด้วยตนเอง

 วิธีสอน

มุ่งให้ผู้เรียนรวมกลุ่มทำกิจกรรม ใช้วิธีการสอนแบบ “แก้ปัญหา“นำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ ทดลองแก้ปัญหาด้วยตนเอง เห็นความสำคัญของงานที่มีต่อตนเอง ต่อสังคม การสอนจึงเน้นในเรื่องการสาธิต การอภิปราย การค้นคว้า การรายงาน การประชุม การวางแผน ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้ความสามารถอย่างแท้จริง และได้รับประสบการณ์จริงด้วยตนเอง คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ศักยภาพของผู้เรียน ระวังไม่ให้เด็กเรียนอ่อนเกิดปมด้อย

 หลักสูตร

หลักสูตรแบบประสบการณ์หรือหลักสูตรแบบกิจกรรม เน้นการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข หลักสูตรเน้นวิชาที่เสริมสร้างประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับสังคม เนื้อหาของหลักสูตรจะต้องไม่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า หลักสูตรที่ดีต้องมุ่งไปที่การเรียนรู้ทุกชนิดที่จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาในทุกด้าน

 การวัดและการประเมินผล

เชื่อว่าความรู้เป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยมนุษย์ในการแก้ปัญหาเท่านั้น การที่จะได้มาซึ่งความรู้ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ การวัดผลและประเมินผลจะต้องดูว่าเนื้อหาวิชาเหล่านั้นสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้มากน้อยเพียงใด

การที่จะทำให้นักเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างเป็นระบบและเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น ตามศักยภาพเฉพาะตนนั้น จำเป็นต้องอาศัยหลักการและแนวคิดที่สอดคล้องกับบริบทดังกล่าว นั้นคือ ตามหลักปรัชญาพิพัฒนาการนิยม ที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆของมนุษย์ ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 13 หลักการ ดังนี้

1) หลักความจำเป็น คือ ต้องทำ ให้นักเรียนตระหนักว่าการศึกษาเป็นงานจำเป็นสำหรับชีวิตของคนทุกคน

2) หลักความเชื่อมั่น ต้องเชื่อมั่นว่า บุคคลสามารถเรียนรู้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด

3) หลักความครอบคลุม การศึกษาครอบคลุมการศึกษาทุกประเภท ทุกระดับ

4) หลักความเสมอภาค ประชาชนทุกคนควรได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเสมอภาคกันทุกรูปแบบ โดยปราศจากข้อจำกัดในเรื่องเพศ อายุ ร่างกาย สติปัญญา อาชีพ พื้นฐานการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม

5) หลักการผสมผสาน ในแต่ละช่วงอายุ บุคคลควรได้รับการศึกษาหลายรูปแบบผสมผสานกัน เพื่อการพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ

6) หลักการเทียบโอน ควรให้มีการเทียบโอนหลักฐานการศึกษาหรือการเรียนรู้กันได้ทั้งในการศึกษาประเภทเดียวกัน และระหว่างการศึกษาทั้งสามประเภท เพื่อให้บุคคลมีโอกาสศึกษาต่อเนื่อง และสามารถเลือกเรียนด้วยการศึกษาประเภทใดก็ได้ตามความต้องการ

7) หลักความหลากหลายและเป็นประชาธิปไตย ควรจัดบริการการศึกษาที่หลากหลาย มีสาขาวิชาและกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนและฝึกฝนอย่างอิสระตามความต้องการ ความสนใจ และความถนัดของแต่ละบุคคล

8) หลักความยืดหยุ่น สร้างความยืดหยุ่นในกฎเกณฑ์ระเบียบต่าง ๆ ทั้งในประเด็นของวิธีการ เวลา และสถานที่

9) หลักความต่อเนื่อง การจัดการศึกษาควรจัดอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอมีแหล่งการเรียนรู้บริการโดยสนองความประสงค์ของผู้เรียนได้เพียงพอ การเรียนรู้ควรเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่

10) หลักความกลมกลืนและสัมพันธ์กับชีวิต ควรจัดการศึกษาให้สัมพันธ์โดยตรงและกลมกลืนกับการดำเนินชีวิตของบุคคลและชุมชน เพื่อให้ทุกคนตระหนักชัดว่า การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต

11) หลักในการแสวงหาความรู้ กระบวนการเรียนรู้มุ่งให้ความสำคัญแก่ตัวผู้เรียนหรือบุคคลเป็นหลัก จึงส่งเสริมให้แต่ละบุคคลพัฒนาเต็มศักยภาพ ให้กำหนดหรือเลือกวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง และรู้วิธีแสวงหาความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสม

12) หลักความสำคัญของครอบครัวและชุมชน ครอบครัวและชุมชนเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญ ทั้งด้านวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต

13) หลักการมีส่วนร่วม การศึกษาจะประสบผลสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของ ทุกฝ่าย ทั้งจากทุกหน่วยงาน ทุกสถาบันการศึกษาและแหล่งความรู้ทุกประเภท

ข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม

นักการศึกษาหลายคนกล่าวว่าปรัชญาสาขานี้ทำให้เด็กมีความรู้ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ขาดระเบียบวินัย ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม และทำให้เด็กขาดทัศนคติที่จะอนุรักษ์สถาบันใด ๆ ของสังคมไว้ต่อไป ทำให้การศึกษาด้อยในคุณภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านสติปัญญา การสอนที่เน้นความต้องการและความสนใจของเด็กนั้น เด็กส่วนมากยังขาดวุฒิภาวะพอที่จะรู้ความสนใจของตนเอง ธรรมชาติของเด็กชอบเล่นมากกว่าชอบเรียน การจัดหลักสูตรให้สนองความต้องการและความสนใจของผู้เรียนทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ความสนใจและความต้องการบางอย่างของผู้เรียนอาจจะไม่มีประโยชน์ในชีวิต การเรียนการสอนที่เน้นการปรับตัวของนักเรียนให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมอาจทำให้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง

 

 

 

 

 

 

[1] วรวิทย์ วศินสรากร ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษา กรุงเทพฯ : พัฒนาศึกษา ๒๕๔๔ หน้า64 มี104 หน้า

คำสำคัญ (Tags): #khonmuang
หมายเลขบันทึก: 552215เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2013 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2013 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท